TIPS เครื่องมือขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม เน้นการบริหารจัดการทุนมนุษย์ ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถทางดิจิทัล
The Evolving Business Environment of the 21st Century
โลกศตวรรษที่ 21 เต็มไปด้วยปัจจัยที่ก่อให้เกิดเทรนด์และการขับเคลื่อนในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะความรวดเร็วของเทคโนโลยี ความเปลี่ยนแปลง ความซับซ้อน ความเสี่ยง และเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซึ่งอาจเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ทั้งในแง่ดีและไม่ดี ตัวอย่างง่าย ๆ เมื่อช่วงต้นปี 2020 แค่เดือนมกราคม ก็เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นมากมาย ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของผู้คน เช่น ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในออสเตรเลีย ภูเขาไฟระเบิดที่ฟิลิปปินส์ สงครามที่เกือบจะเกิดขึ้นระหว่างอิหร่านและสหรัฐอเมริกา การออกจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการของอังกฤษ และที่สำคัญคือการระบาดของไวรัสโคโรนาที่กลายเป็นปัญหาระดับโลกซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ ฯลฯ
เป็นไปได้สูงว่าตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป วัฏจักรของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ จะยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องและอาจมากขึ้น ดังนั้นเพื่อรักษาและกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเศรษฐกิจชั้นนำของโลกในปัจจุบัน ด็อกเตอร์เดตเลฟ ไรส์ (Dr. Detlef Reis), Founder & Chief Ideator of THINKERGY จากเยอรมนี แนะนำ TIPS เครื่องมือสำหรับองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม เพื่อรับมือกับช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงและการเข้าสู่ยุคดิจิทัล ในงาน What Talents Drive the (Digital) Innovation Economy? หนึ่งในเสวนาคุณภาพจากเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563
โดยหน้าที่สำคัญของเครื่องมือนี้คือการจัดการบริหารทุนมนุษย์ ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถทางดิจิทัล ค้นหาจุดเด่นและศักยภาพของคนให้เหมาะกับงาน ส่งเสริมความสามารถ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพและไปต่อได้ในอนาคต
Introducing TIPS, a New Cognitive Profiling Method Designed for Business & Innovation
คุณไรส์กล่าวว่า ทุกบริษัทควรคิดให้แตกต่างและคิดอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีที่สุด สิ่งที่เขาให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือการจัดการบริหารทุนมนุษย์ คุณสมบัติของผู้ที่เหมาะกับการทำงานในองค์กรนวัตกรรมดิจิทัล คือคนที่คล่องแคล่วว่องไว พร้อมปรับตัวและเปลี่ยนแปลง มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความสามารถทางดิจิทัล แต่บุคลิกภาพ (Personality) เพียงอย่างเดียวคงไม่อาจทำให้สรุปได้ว่าคน ๆ นั้นมีทุกคุณสมบัติที่องค์กรต้องการหรือไม่ หากต้องพิจารณาถึงรูปแบบการคิด (Cognitive Style) ของแต่ละบุคคลด้วย คุณไรส์แนะนำ TIPS (Talent, Innovation, People & Team, Self-Awareness) ซึ่งคิดค้นโดย THINKERGY เครื่องมือทดสอบและประเมินรูปแบบการคิดและบุคลิกภาพรูปแบบใหม่สำหรับผู้คนในองค์กรธุรกิจและนวัตกรรมดิจิทัล โดยรวบรวมเครื่องมือทดสอบในรูปแบบต่าง ๆ ไว้มากมาย ทั้งเครื่องมือประเมินผลทางจิตวิทยา เศรษฐศาสตร์แนวใหม่ และสังคมศาสตร์ เหมาะกับการประยุกต์ใช้ท่ามกลางเศรษฐกิจนวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในศตวรรษที่ 21
Put the Right People for the Right Job
แนวคิดหลักของ TIPS คือทุกคนมีจุดเด่นความถนัดในเรื่องที่แตกต่างกัน การค้นหาให้เจอว่าแต่ละคนมีจุดเด่นในด้านไหน และสนับสนุนเขาให้ทำงานในตำแหน่งที่ช่วยส่งเสริมความสามารถ จะส่งผลให้เกิดสมดุลของการทำงานในทีม และทีมจะช่วยสร้างผลงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ ทั้งนี้การค้นหาจุดด้อยและพยายามพัฒนาจุดด้อยของพนักงานยังไม่สำคัญเท่ากับการส่งเสริมจุดเด่น โลกทุกวันนี้ประกอบด้วยบุคคลจากหลายช่วงวัย ทั้งวัยอนุรักษ์นิยม (Traditionalists) เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomers) เจนเอ็กซ์ (Generation X) เจนวาย (Generation Y หรือ Millennials) และเจนซี (Gen Z) โดยเจนวายค่อนข้างคุ้นชินกับดิจิทัล ในขณะที่เจนซีเสพติดดิจิทัล อย่างไรก็ตาม การค้นหากลุ่มคนที่มีความเป็นผู้นำสร้างสรรค์และมีความสามารถในโลกดิจิทัล ต้องพิจารณาจากรูปแบบการคิดของเขามากกว่าภาพลักษณ์ภายนอก แล้วจึงจำแนกแยกแยะว่าคน ๆ นั้นมีคุณสมบัติใดที่เหมาะกับองค์กร และคุณสมบัติที่โดดเด่นในด้านใดของเขาที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
TIPS เน้น Talent, Innovation, People & Team, Self-Awareness
TIPS เป็นเครื่องมือที่ช่วยค้นหาและประเมินทั้งความสามารถที่โดดเด่นเฉพาะตัว ความสามารถทางนวัตกรรม ศักยภาพของพนักงานในองค์กร และรูปแบบการคิดเฉพาะบุคคล ทั้งนี้หลักพื้นฐานในการทำงานของ TIPS (TIPS Bases) แบ่งบุคคลเป็น 4 ประเภท คือมีหลักพื้นฐานในการทำงานโดยเน้นทฤษฎี (Theories) แนวคิด (Ideas) ผู้คน (People) และระบบ (Systems) จากนั้นวิเคราะห์เรื่องรูปแบบการทำงาน (TIPS Styles) ในลำดับถัดไปเป็น 4 ประเภท คือการคิด (Think) ซึ่งแบ่งเป็นคิดโดยอิงตัวเลขหรือโดยใช้จินตนาการ, การลงมือทำงาน (Work) ซึ่งแบ่งเป็นทำงานโดยใช้สมองซึ่งใช้เวลานานกว่าจะทำเสร็จหรือโดยใช้พละกำลังซึ่งทำให้เกิดเป็นงานเชิงปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ต้องทำให้เสร็จทุกวัน, การปฏิสัมพันธ์ (Interact) ซึ่งแบ่งเป็นรูปแบบการปฏิสัมพันธ์โดยอิงข้อมูลหรือโดยอิงความรู้สึก และการใช้ชีวิต (Live) ซึ่งแบ่งเป็นใช้ชีวิตอย่างมีรูปแบบหรืออย่างยืดหยุ่น นอกจากนี้ TIPS ยังมีแบบสอบถามต่าง ๆ ให้คุณตอบข้อมูลลงไป เพื่อประเมินรูปแบบความคิด บุคลิกภาพ จิตวิทยา ความสามารถ และมุมมองในเรื่องอื่นๆ อีกด้วย
ผลการทดสอบทั้งหมดจะทำให้สามารถระบุได้ว่าแต่ละบุคคลในทีมมีหลักพื้นฐานในการทำงาน (Bases) และรูปแบบการทำงาน (Styles) อย่างไร นำมาสู่การแบ่งประเภทของคนทำงานในองค์กรนวัตกรรม (Innovation Profiles) เป็น 11 ประเภท ได้แก่ นักทฤษฎี (Theorist) นักให้แนวคิด (Ideator) พันธมิตรทางธุรกิจ (Partner) นักพัฒนาระบบ (Systematizer) นักพัฒนาแนวคิด (Conceptualizer) ผู้สนับสนุน (Promoter) ผู้จัดงาน (Organizer) นักควบคุมเทคโนโลยี (Technocrat) โค้ช (Coach) นักทดลองค้นคว้า (Experimenter) และผู้ถนัดรอบด้าน (All-Rounder) พร้อมนำเสนอจุดเด่นและจุดด้อยของคนทำงานในแต่ละประเภท เพื่อให้องค์กรนำประโยชน์จากข้อมูลที่ได้นี้ไปใช้จัดแบ่งพนักงานให้ทำงานในตำแหน่งที่เขาสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ดังที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อัจฉริยะนักฟิสิกส์ชื่อก้องโลกเคยกล่าวไว้ว่า “ทุกคนคืออัจฉริยะ ปลาเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำเก่งมาก แต่ถ้าเราตัดสินความสามารถของปลาโดยให้มันปีนต้นไม้ มันจะตายไปพร้อมกับความเชื่อที่ว่าตัวมันไม่มีอะไรดีสักอย่าง”
Getting the Mix Right
สำหรับประเภทบุคคลที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรนวัตกรรมดิจิทัล คุณไรส์กล่าวว่าทางด้าน Digital Talents ก็เช่น นักทฤษฎี (Theorist) นักให้แนวคิด (Ideator) นักพัฒนาแนวคิด (Conceptualizer) ทางด้าน Creative Talents ก็เช่น นักให้แนวคิด (Ideator) ผู้สนับสนุน (Promoter) พันธมิตรทางธุรกิจ (Partner)
ในเชิงเทคนิค ผู้นำในองค์กรสตาร์ตอัพมักมีคุณสมบัติเหมือนกัน กล่าวคือทุกคนล้วนเป็นนักสร้างสรรค์ แต่การเป็นนักสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียว ไม่อาจทำให้ประสบความสำเร็จเสมอไป คุณไรส์แนะนำว่าบริษัทสตาร์ตอัพในอุดมคติควรมีคนที่แตกต่างกันมาก 3-4 ประเภท เป็นต้นว่าอาจมีผู้สนับสนุนองค์กร (Promoter) เป็นประธานกรรมการบริหาร (Chief Executive Officer: CEO) เพราะถนัดการ Pitch หรือการนำเสนอบริษัทให้แก่ลูกค้าหรือนักลงทุนที่สนใจลงทุนกับบริษัท, กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยี (Chief Technology Officer: CTO) ซึ่งโดยหลักรับหน้าที่พัฒนาด้านเทคโนโลยีและขับเคลื่อนทีม, กรรมการผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการ (Chief Operating Officer: COO) ซึ่งรับหน้าที่จัดงานต่าง ๆ และระดมทุนเพิ่มเติม รวมถึงกรรมการอำนวยการฝ่ายการเงิน (Chief Financial Officer: CFO) โดยควรให้นักควบคุมเทคโนโลยี (Technocrat) มารับหน้าที่นี้ บุคคลเหล่านี้จะช่วยสร้างสมดุลและขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้ อย่างไรก็ตามตั้งแต่ช่วงก่อตั้งบริษัทจนถึงเติบโตและต่อยอดสู่อนาคต ควรมีบุคคลในประเภทที่แตกต่างกันมาช่วยขับเคลื่อนองค์กรในแต่ละช่วงเวลา โดยเราสามารถนำเครื่องมือ TIPS มาประยุกต์ใช้ได้ เช่น ช่วงก่อตั้งอาจเน้นกลุ่มนักสร้างสรรค์ที่นำเสนอแนวคิดใหม่ๆ จากนั้นพึ่งพาผู้สนับสนุน (Promoter) ในการสร้างทีมที่แข็งแกร่งเพื่อสนับสนุนการสร้างยอดขาย และเพื่อให้บริษัทเติบโตขึ้น สิ่งที่องค์กรต้องการจึงเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Partner) เมื่อบริษัทถูกขยับขยายให้ใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจน เราจำเป็นต้องพึ่งผู้จัดงาน (Organizer) ให้เข้ามาช่วยจัดการเรื่องต่าง ๆ ของบริษัทให้เป็นระบบระเบียบและมั่นคง จากนั้นบริษัทจะเริ่มเติบโตในระดับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงจุดหนึ่งจะเกิดการอิ่มตัวและต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะถ้าไม่เปลี่ยนแปลง องค์กรก็จะไปต่อไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือการสร้างวงจรใหม่ของธุรกิจนวัตกรรมให้เกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม คุณไรส์ย้ำว่านอกจากจะจัดกลุ่มคนให้ทำงานที่เหมาะกับความสามารถของตนเองมากที่สุดและมีสมดุลมากที่สุด พึงระลึกว่าทุกคนในองค์กรยังมีความสำคัญเท่าๆ กันด้วย ดังที่สตีฟ จ๊อบส์ เคยกล่าวไว้ว่า “สิ่งที่ดีในการทำธุรกิจไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากคนเพียงคนเดียว แต่มันเกิดขึ้นจากการทำงานเป็นทีม”
ทำแบบทดสอบของ TIPS ทางออนไลน์ได้ที่นี่ (ค่าใช้จ่าย 89 เหรียญสหรัฐฯ)
เรื่อง : ศันสนีย์ เล้าอรุณ