Design Research Day: ถอดรหัสความคิดผ่าน 10 ผลงานของ 10 นักสร้างสรรค์ไทย
Technology & Innovation

Design Research Day: ถอดรหัสความคิดผ่าน 10 ผลงานของ 10 นักสร้างสรรค์ไทย

  • 06 Mar 2020
  • 23738

Design Research Day คือ งานที่เปิดพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์ไทย 10 คนในหลากหลายสาขาวิชา มานำเสนอโปรเจ็กต์และผลงานวิจัยของตนเองภายในเวลา 20 นาที อันเป็นแนวคิดที่จะช่วยให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและเข้าใจงานวิจัยได้มากขึ้น และเราคาดหวังว่างานวิจัยหลาย ๆ หัวข้อจะถูกยกลงมาจากชั้นหนังสือเพื่อใช้ประโยชน์ได้จริง งานนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเวทีที่น่าสนใจของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week 2020 ที่ผ่านมา...มาดูกันว่านักคิดนักสร้างสรรค์จากหลากหลายสาขาในวันนี้ พวกเขากำลังสนใจประเด็นอะไรกันบ้าง

1) สถาปัตยกรรม: พื้นที่และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเมือง
Every day Architecture: สถาปัตยกรรมของทุกวัน (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคนเมือง) 
โดยชัชวาล สุวรรณวัสดิ์ สถาปนิกและนักเขียนคอลัมน์ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ เว็บไซต์ The Cloud

จากคอลัมน์ที่เล่าถึงเรื่องราวของพื้นที่สถาปัตยกรรมที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ชัชวาลได้นำข้อมูลมาพัฒนาเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการออกแบบวิธีแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวพันกับพื้นที่ และพบว่างานออกแบบสไตล์ไทย ๆ เหล่านี้มีจุดเชื่อมโยงกันในแง่ฟังก์ชัน วิธีการ และความคิดสร้างสรรค์ ส่วนใหญ่เป็นการนำข้าวของรอบตัวมาประยุกต์ใช้ ต่อเติม เพิ่มประโยชน์ใช้สอย เช่น ไม้กั้นที่ใช้เป็นป้ายห้ามจอดรถ การใช้ประตูรั้วและเชือกฟางแทนราวตากผ้า การใช้ผ้าคลุมรถเข็นริมทางเพื่อความปลอดภัยของสิ่งของภายใน แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ได้ผ่านมือนักออกแบบ ไม่มีแบบแผนชัดเจน แต่กลับมีเสน่ห์ที่สะท้อนถึงวิธีการแก้ปัญหา อีกทั้งยังมีศักยภาพที่จะต่อยอดกับการออกแบบสถาปัตยกรรมในอนาคต

ผังเมืองเจริญกรุง : ย่านสร้างสรรค์ฉบับคิด-ผลิต-ขาย (Charoenkrung : Making of Creative Industry Hub) 
โดยเบญจมินทร์ ปันสน

ความย้อนแย้งของนโยบายภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้เจริญกรุงกลายเป็นย่านสร้างสรรค์และเป็นศูนย์กลางของกระบวนการ ‘คิด-ผลิต-ขาย’ ที่ดึงดูดนักออกแบบ ผู้ประกอบการ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในย่านนี้ แต่ที่ผ่านมาเจริญกรุงกลับไม่เคยถูกกำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวเลย ขณะที่ย่านสร้างสรรค์อื่น ๆ ในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นโดยปราศจากการผลักดันเชิงนโยบาย งานวิจัยนี้ยังตั้งคำถามกับการพัฒนาย่านสร้างสรรค์เพื่อดึงดูดนักออกแบบและธุรกิจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม และเบียดขับคนในชุมชนที่มีฐานะน้อยกว่าออกไปจากย่าน และทิ้งท้ายว่าเจริญกรุงในวันนี้มีศักยภาพมากพอที่จะเป็นศูนย์กลาง ‘คิด-ผลิต-ขาย’ อย่างแท้จริง หรือเป็นเพียงแหล่งช้อปปิ้งเท่านั้น แล้วภาครัฐจะมีบทบาทในการพาผู้คิด ผู้ผลิต และผู้ขายในชุมชนมาช่วยกันสร้างย่านสร้างสรรค์ได้อย่างไร

ความต้องการของมนุษย์: สถาปัตยกรรมที่เข้าถึงได้ (The Human Needs : An Affordable Architecture) 
โดยกิจโชติ นันทนสิริกรม อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กิจโชติ นันทนสิริกรม ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ปรัชญาและทฤษฎีสถาปัตยกรรม ได้นำเสนอโครงการทดลองวิจัยระหว่างนักออกแบบไทยกับออสเตรีย เพื่อสำรวจความสอดคล้องระหว่างสถาปัตยกรรมกับความต้องการของมนุษย์ และความเป็นไปได้ที่ว่าคนๆ หนึ่งต้องการพื้นที่ใหญ่แค่ไหนในการดำรงชีวิต โดยปราศจากพื้นที่เหลือใช้ คณะวิจัยได้ต่อยอดข้อมูลจากหนังสือ “บ้านเรือนถิ่นไทยในช่วงเจ็ดทศวรรษ 2489- 2559" ซึ่งว่าด้วยการศึกษาสถาปัตยกรรมในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านมิติทางรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ จากนั้นจึงได้พัฒนากระบวนการทำงานภายใต้แนวคิดแบบองค์รวม เพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งาน สร้างวิธีการทำงาน พัฒนาต้นแบบ และนำไปทดลองในพื้นที่ของกรุงเทพฯ

Love Without Boundary 
โดยวิธินันท์ วัฒนศัพท์ สถาปนิกจาก witi9.studio

วิธินันท์ได้ตั้งโจทย์การออกแบบบ้านในอนาคต โดยมุ่งศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมที่เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ของครอบครัวและที่อยู่อาศัย ในอดีตค่านิยมของสังคมที่ดี คือ การมีครอบครัวเชิงเดี่ยว ประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก ซึ่งมีอิทธิพลต่อการออกแบบบ้านตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน บ้านในหมู่บ้านจัดสรรจึงมักจะมีองค์ประกอบหลัก คือ ห้องขนาดใหญ่สำหรับพ่อแม่ (Master Bedroom) ห้องเล็กสำหรับลูก (Bedroom) และพื้นที่ส่วนกลาง ผู้วิจัยจึงได้ศึกษามิติความสัมพันธ์แบบหลายรัก (Polyamory) ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมร่วมสมัย ส่งผลให้การออกแบบพื้นที่ภายในบ้านและนัยยะต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป เช่น ลำดับขั้นการเข้าถึงบ้าน (Hierarchy) องค์ประกอบภายในอาคาร และการจัดกิจกรรม ทำให้ผู้อยู่อาศัยปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยตามความสัมพันธ์ได้อย่างยืดหยุ่น นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้พื้นผิวชั้นเดียว (Single Surface) เพื่อทลายกรอบของพื้นที่ภายในบ้านที่ถูกแบ่งด้วยผนัง ประตู และหน้าต่าง

2) การศึกษา
Cycles โดย ภทรฤน พงษ์ประสิทธิ์ นิสิตปริญญาโท สาขานวัตกรรมการออกแบบ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
Cycles เป็นนิทรรศการเชิงปฏิสัมพันธ์ที่ตั้งคำถามกับระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน โดยเปิดให้นักศึกษาและคนทั่วไปได้ทดลองค้นหาตัวตนของตนเอง ผ่านกิจกรรมตอบคำถามและทำแบบทดสอบ 5 กิจกรรม ภทรฤนเลือกใช้สื่อดิจิทัลและแอนะล็อกในการออกแบบกิจกรรมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วมได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นผู้ถูกทดลอง (Lab Vibes) และนำข้อมูลการตอบคำถามไปวิเคราะห์บุคลิกภาพตามหลักจิตวิทยา โดยแบ่งตาม 9 ลักษณ์ (Enneagram) เพื่อที่จะนำไปออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล (Individual Learning) ในอนาคต

3) การจัดการข้อมูลเพื่อเก็บบันทึกและสร้างสรรค์สิ่งใหม่
รูปแบบสีของเมืองกรุงเทพฯ : Bangkok City Colourscape 
โดยธนสาร ช่างนาวา อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

งานวิจัยนี้เกี่ยวกับการค้นหา ‘รูปแบบสี’ ของกรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิดว่า สีเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมและสร้างอัตลักษณ์ให้กับเมือง ธนสารได้ยกตัวอย่างการศึกษารูปแบบสีของอาคารบนถนนบำรุงเมือง ผ่านการบันทึกภาพถ่าย 93 อาคาร เช่น เปลือกอาคาร ประตู และหน้าต่าง งานวิจัยนี้อาศัยการวิเคราะห์ 2 แนวทาง คือ การวิเคราะห์กลุ่มรูปแบบสี โดยจัดกลุ่มข้อมูลผ่าน AI และการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของรูปแบบสีตามทฤษฎีสี ผู้วิจัยได้สรุปว่ารูปแบบสีของถนนบำรุงเมืองมักจะเป็นทฤษฎีสีคู่ตรงข้าม และคาดหวังว่าโมเดลนี้จะมีผู้นำไปประยุกต์ใช้ในการกำหนดรูปแบบสีของพื้นที่ในชุมชนในอนาคต

Swing Notation: The Swing Dancical Notation 
โดยชิษณพงศ์ ธนาธีรสวัสดิ์ กราฟิกดีไซเนอร์

ชิษณพิงศ์ได้คิดค้น ‘สวิงโนเทชั่น’ (Swing Notation) หรือระบบตัวโน้ตเพื่อบันทึกท่าเต้นรำแบบสวิงแดนซ์โดยเฉพาะ เขาพบว่าท่าเต้นสวิงแดนซ์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1920 แต่เริ่มได้รับความนิยมลดลงและสูญหายไปในช่วงปี 1940 ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในช่วงปี 1980 แต่ที่ผ่านมาไม่มีเอกสารบันทึกท่าเต้นสวิงแดนซ์อย่างเป็นทางการ หลักฐานการบันทึกท่าเต้นดังกล่าวมีเพียงแค่วิดีโอที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวได้ไม่ครบถ้วน ซึ่งเกิดจากม้วนฟิล์มขาดและปัจจัยอื่น ๆ เขาจึงหาทางออกแบบระบบตัวโน้ตสำหรับท่าเต้นรำดังกล่าว โดยศึกษารูปแบบการเขียนโน้ตดนตรีบนกระดาษ และใช้กราฟิกดีไซน์เข้ามาช่วยสร้างสัญลักษณ์และตัวโน้ตเพื่อให้คนจดจำได้และใช้งานง่าย  ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกระบบตัวโน้ตของท่าเต้นสวิงแดนซ์เลยทีเดียว

4) เทรนด์ + โอกาสทางธุรกิจ
โครงการพัฒนาคุณภาพผ้าไหมให้มีคุณสมบัติทำความสะอาดตัวเองได้ 
โดยนัดดาวดี บุญญะเดโช อาจารย์ประจำหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอ และเครื่องตกแต่ง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ผ้าไหมไทยมักจะถูกมองว่าเป็นงานฝีมือขึ้นหิ้งราคาแพง ดูแลรักษายาก ไม่ทันสมัย แต่ผูู้วิจัยเลือกนำภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มทอผ้า อยุธยา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการทอผ้าไหมทอยกดอก มาออกแบบใหม่เป็นสินค้าแฟชั่นที่ดูร่วมสมัย ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่เคอะเขิน ผู้วิจัยยังพัฒนาผ้าไหมให้มีคุณสมบัติทำความสะอาดตัวเองได้ (Self-cleaning) เมื่อผ้าไหมที่เปื้อนคราบสกปรกโดนแสงอาทิตย์ จะทำให้เกิดปฏิกิริยาโฟโตแคตาไลติค ทำให้คราบสกปรกและกลิ่นจางหายไปภายใน 24 ชั่วโมง ในอนาคตผู้วิจัยมองว่าสามารถต่อยอดนวัตกรรมสิ่งทอนี้สู่สินค้าประเภทอื่นอีกมากมาย เช่น โซฟา ผ้าม่าน ร่ม โดยเพิ่มคุณสมบัติการป้องกันรังสียูวี

นวัตกรรมการใช้ดินเพื่อทดแทนวัสดุสิ่งทออันสะท้อนถึงการเห็นคุณค่าของตนเอง 
โดยขจรศักต์
นาคปาน อาจารย์พิเศษสาขาการออกแบบเครื่องแต่งกาย โรงเรียนบุนกะแฟชั่น
สีผิวของมนุษย์เกิดจากการผลิตเม็ดสีเมลานิน ซึ่งอยู่ในร่างกายและเป็นตัวกำหนดระดับความเข้มของสีผิว ขจรศักต์​ได้ศึกษาการจัดลำดับความเข้มของสีผิวตาม Fitzpatrick Scale และสำรวจผิวพรรณของกลุ่มตัวอย่างคนไทย โดยแบ่งตามอายุ ความเชื่อเกี่ยวกับสีผิว และสีเสื้อผ้าที่สวมใส่ จากนั้นจึงเกิดไอเดียที่จะนำวัสดุที่มีสีใกล้เคียงกับสีผิวของคน มาใช้พัฒนาเป็นวัสดุสิ่งทอ ซึ่งก็คือ ดิน ผู้วิจัยได้ทดลองสร้างเส้นใยจากดิน โดยอาศัยหลักการควบแน่นของเซลลูโลส ผลลัพธ์ที่ได้คือวัสดุใหม่ที่มีผิวสัมผัสนุ่มคล้ายผ้า มีความเย็น โปร่ง เบาบาง ถึงจะมีสีไม่สม่ำเสมอ แต่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ สอดคล้องกับเทรนด์การใช้วัสดุทดแทนในอุตสาหกรรมแฟชั่น อีกทั้งยังกลมกลืนกับสีผิวของมนุษย์

The Future Trend of Aging Society 2020-2021: ข้อมูลวิจัยเทรนด์ โอกาสใหม่ทางธุรกิจและคุณภาพชีวิตที่จะงอกเงยและเติบโตไปพร้อมกัน 
โดย ปรมา ทิพย์ธนทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซ็ปต์แห่งอนาคต BaramiziLab ร่วมกับ รศ.ดร.ณัฐพล อัสสะรัตน์

ผู้วิจัยได้นำเสนอข้อมูลวิจัยเทรนด์และโอกาสจากสังคมผู้สูงอายุ จากการสำรวจกลุ่มคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยแบ่งกลุ่มผู้บริโภควัยเก๋าเป็น 5 ประเภท (Aging Segmentation) ได้แก่  

  • New Age Elder วัยเก๋าที่แอคทีฟ ชอบลองสิ่งใหม่ ใช้เทคโนโลยีได้ไม่ต่างจากคนรุ่นใหม่ มีกำลังซื้อ 
  • Controller Age รู้สึกมีความสามารถในการควบคุมชีวิตของตนเอง ไม่ได้สนใจเรียนรู้หรือปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ ๆ 
  • Senior Aspirer ชอบจับจ่าย แต่งตัวตามสมัยนิยม แต่ไม่ค่อยปรับตัวตามเทคโนโลยี และมีกำลังทรัพย์ไม่มากนัก
  • Life-embraced Elder พอเพียง ปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา แต่ไม่ค่อยบริโภค
  • Unprepared Elder มีต้นทุนทรัพย์สินน้อย แต่อยากเรียนรู้ ทดลองสิ่งใหม่ คิดว่าไม่สามารถควบคุมชีวิตตนเองได้

นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้เปิดเผย 7 เทรนด์สำคัญที่น่าจะตอบโจทย์ความต้องการของวัยเก๋าในอนาคต ดังนี้

  • Dreamlike: ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่พร้อมจะเนรมิตให้ความฝันในวัยเยาว์ได้เป็นจริง 
  • Symbiosis Ecosystem: ธุรกิจที่เน้นการพึ่งพาอาศัยกัน เช่น โมเดลการอยู่อาศัยแบบ Co-housing จับคู่ระหว่างเจ้าของบ้านวัยเก๋ากับกลุ่มคนรุ่นใหม่ชาวมิลเลนเนียลที่มองหาที่พักในราคาย่อมเยา
  • New Friendship: ธุรกิจที่สร้างคอมมูนิตี้ จัดกิจกรรมให้เหล่าวัยเก๋าได้พบปะกันและมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน
  • Friend @ Home: เทคโนโลยีอัจฉริยะที่ตอบสนองการอยู่อาศัยในบ้านและเป็นเพื่อนยามเหงา (Aging in Place)
  • Experience Celebrated: ผู้สูงอายุที่แม้จะปลดเกษียณแล้วแต่ก็ยังมีไฟ แถมยังมากด้วยประสบการณ์ ทำให้เกิดการจ้างผู้สูงวัยทำงานพาร์ตไทม์ หรือแม้แต่ธุรกิจ BoomerPlus ที่จับคู่คนวัยเก๋ากับงานที่ใช่
  • Proactive Healthcare: การแพทย์เชิงรุกที่ใช้เทคโนโลยี IoT และการติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพรายบุคคล เพื่อใช้วิเคราะห์และป้องกันปัญหาสุขภาพล่วงหน้า
  • Personal Assistant: ผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยี AI ช่วยจัดการดูแลด้านต่าง ๆ อาทิ วางแผนการเงิน

เรื่อง : ปิยพร อรุณเกรียงไกร