บทบาทของโดรนในการขนส่งสินค้า
การใช้โดรนขนส่งสินค้าคาดว่าจะเติบโตมากขึ้นโดยการพัฒนาร่วมกับเครือข่ายการบินที่ใหญ่ขึ้นอย่าง Boeing หรือ Airbus ไปจนถึงการพัฒนาร่วมกับแพลตฟอร์ม Ridesharing อย่าง Uber เพื่อมีส่วนร่วมในการขนส่งทั้งรูปแบบโดรนผู้โดยสารและโดรนส่งสินค้า ปัจจุบัน Uber มีกำหนดการทดสอบรถบินได้ที่ลอสแอนเจลิสภายในปี 2020 เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นบริการแท็กซี่ และคาดว่าจะพร้อมใช้งานเชิงพาณิชย์ในปี 2023 โดยได้รับความร่วมมือจาก Bell Helicopter และผู้พัฒนาอากาศยานสัญชาติอเมริกันค่ายอื่นๆ ในการพัฒนา
ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกการเติบโตไม่แพ้สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพพัฒนาการสร้างโดรนแบบผสมผสานระหว่างความรวดเร็วและพลังงานขับเคลื่อนที่ช่วยลดมลภาวะทางอากาศ เพื่อพัฒนาธุรกิจ e-commerce ที่เติบโตขยายตัวแบบไร้พรมแดนและก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว การลงทุนของบริษัทในจีนและอินเดียให้กับบริษัท JD.com ทำให้รัฐบาลจีนมีโดรนขับเคลื่อนอยู่ในฐานเศรษฐกิจ e-commerce ซึ่งมีเป้าหมายส่งออกโดรน 150 ลำ เฉพาะในมณฑลเสฉวนตะวันตกเฉียงใต้ภายในปี 2020 เช่นเดียวกับวันนี้เทคโนโลยีโดรนและระบบอัตโนมัติได้ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านระยะทางไปอีกขั้น JD.com บริษัทค้าปลีกออนไลน์ชั้นนำในจีนได้จับมือกับรัฐบาล ใช้โดรนอัตโนมัตินำยารักษาโรคไปส่งถึงหมู่บ้านในมณฑลเสฉวน ซึ่งตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชันเหนือระดับน้ำทะเล 1,400 เมตร แน่นอนว่าหากเป็น 5 ปีที่แล้ว การขนส่งพัสดุย่อยหรือสินค้าไม่กี่ชิ้น (Parcel Delivery) ไปตามหมู่บ้านแถบชนบทที่ห่างไกลจากตัวเมืองนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะในประเทศที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ นอกจากนี้สำนักข่าว South Morning China รายงานว่าในอดีตชาวบ้านต้องเดินลงบันไดมาซื้อยา ซึ่งนอกจากจะยุ่งยากแล้ว ยังใช้เวลาไปกลับนานถึง 6-9 ชั่วโมง ผิดกับการใช้โดรนซึ่งใช้เวลาแค่ 10 นาทีเท่านั้น
©chinadaily.com
นอกจาก JD.com แล้ว บริษัทเอกชนในจีนกำลังทุ่มงบประมาณพัฒนาโดรนขนส่งสินค้าในรูปแบบต่างๆ เช่น SF Express ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุแบบเร่งด่วนรายใหญ่ในตลาด มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ชนบท กระบวนการทำงานจะเริ่มจากขนส่งทางเครื่องบินเพื่อกระจายสินค้าไปตามคลังสินค้าในหัวเมืองใหญ่และหัวเมืองรองทั่วประเทศ จากนั้นโดรนขนาดใหญ่จะส่งต่อไปยังคลังสินค้าระดับท้องถิ่น และใช้โดรนขนาดเล็กบินไปส่งถึงมือผู้รับ ส่วน Beihang Unmanned Aircraft (UAS) เน้นการใช้ โดรนสำหรับขนส่งคาร์โก้หนัก 1-1.5 ตัน บินระยะทาง 1,500 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 400 กิโลเมตร/ชั่วโมง
การจัดการระบบขนส่ง เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ Supply Chain Management ซึ่งรวมถึงเรื่องการวางแผนการดำเนินการ การควบคุม การไหลเวียน การจัดเก็บวัสดุสินค้า การบริการ และสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จากแหล่งจุดกำเนิดของวัตถุดิบ จนถึงจุดบริโภคหรือจุดการใช้งาน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เป็นกิจกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเกือบทุกประเภท อีกทั้งเป็นต้นทุนพื้นฐานที่สำคัญซึ่งกระทบต่อต้นทุนรวมของผลิตภัณฑ์และบริการหากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบนี้ได้สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ขยะปริมาณมหาศาลจากกล่องกระดาษและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีประโยชน์ในระยะเวลาสั้นๆ ไปจนถึงมลพิษจากยานพาหนะ สถาบันด้านพลังงาน Energy Policy Institute จากมหาวิทยาลัยชิคาโกได้เปิดเผยข้อมูลปี 2016 ว่าการขนส่งเดินทางเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในสหรัฐอเมริกา แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างโรงงานไฟฟ้าได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1979 ทางสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency: EPA) พุ่งเป้าไปที่การจัดการและพัฒนายานยนต์ที่ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งเดินทางอย่างน้อย 1 ใน 4 บริการ Last-mile Delivery ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขที่สำคัญของการตัดสินใจลงทุนในองค์กรทุกประเภทในอนาคตร่วมด้วยเช่นกัน
ที่มา : Unsplash/Valentin Lacoste
ที่มา :
บทความ “e-Conomy SEA 2018: Southeast Asia's internet economy hits an inflection point”, จาก thinkwithgoogle.com
บทความ “Global Drone Logistics & Transportation Market, 2019 to 2024: Freight Drones Anticipated to Experience the Highest Growth”, จาก prnewswire.com
บทความ “Self-driving trucks will cut logistics costs in half and boost GDP”, จาก nextbigfuture.com