เมื่อทุกจุดเติบโตจากการเชื่อมต่อ ตอนที่ 1
Technology & Innovation

เมื่อทุกจุดเติบโตจากการเชื่อมต่อ ตอนที่ 1

  • 16 Sep 2020
  • 9068

ขณะที่ค่ายรถยนต์และบริษัทไอทีกำลังประชันกันอย่างดุเดือดในศึกรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ บรรดาบริษัทสถาปนิกและหน่วยงานด้านโครงสร้างพื้นฐานในเมืองต้องทำงานแข่งกับเวลา เตรียมความพร้อมสำหรับการขนส่งเดินทางบนระบบอัตโนมัติ เป้าหมายหลักคือการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของเมืองด้วย Internet of Thing หรือ IoT เชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างยานพาหนะกับยานพาหนะ (Vehicle-to-Vehicle: V2V) และระหว่างยานพาหนะกับโครงสร้างพื้นฐานรอบตัว (Vehicle-to-Infrastructure: V2I) เช่น สัญญาณไฟจราจร สะพาน อุโมงค์ ที่จอดรถ เป็นต้น

โครงสร้างพื้นฐานมีผลต่อการสัญจร การเชื่อมต่อ ระบบเดินทาง และระบบขนส่งสาธารณะ หลายประเทศพยายามสร้างทางเลือกใหม่ๆ ตั้งแต่การขนส่งใต้ดิน บนดิน และลอยฟ้า เพื่อค้นหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประชากรในเมืองใหญ่ที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ ถึงแม้ว่าธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันจะไม่สามารถแก้ปัญหาของระบบคมนาคมขนส่งแบบเดิมได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เปิดทางให้ผู้คนในเมืองวางแผนและเลือกรูปแบบการเดินทางที่เหมาะสมตามความต้องการของตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพารถยนต์ส่วนตัวหรือระบบขนส่งสาธารณะเสมอไป นี่คือประโยชน์ของแนวคิด MaaS (Mobility as a Service) ที่เปลี่ยนการคมนาคมขนส่งมาเป็นบริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์ “MaaS” ในที่นี่เป็นธุรกิจที่รวมทุกบริการที่เกี่ยวข้องมาไว้ในที่เดียวกันแบบครบวงจรและสามารถเข้าถึงทุกพื้นที่

The e-Palette "Tokyo 2020 Version"
©global.toyota

อนาคตเทคโนโลยีในธุรกิจ MaaS จะพัฒนาขึ้นในทุกการคมนาคมสัญจร อย่างยานยนต์ไร้คนขับที่เป็นระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบจะสร้างโอกาสใหม่ให้กับเมื่อไม่มีใครจำเป็นต้องขับรถเอง รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะไร้คนขับ ที่สามารถใช้บริการรถสัญจรขับเคลื่อนอัตโนมัติไปส่งยังปลายทางเมื่อไรก็ได้ อย่างค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Toyota ซึ่งเคยทำยอดขายมากที่สุดในโลกจนตกมาอยู่อันดับสาม ได้ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ของบริษัทว่าจะเปลี่ยนจากผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำเป็นผู้ให้บริการเคลื่อนที่ (Mobility Service Company) โตโยต้าได้เปิดตัวแนวคิดของรถไร้คนขับ e-Palette ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบและใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ไฟฟ้า ด้านในมีหน้าจออินเทอร์เฟสเป็นแผงควบคุมแทนพวงมาลัย ที่น่าทึ่งกว่านั้น e-Palette ถูกออกแบบให้เป็นแพลตฟอร์มเคลื่อนที่ ปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบตามความต้องการ ตั้งแต่รถโดยสารประจำทาง ออฟฟิศเคลื่อนที่ คลินิก โชว์รูม ร้านค้า จนถึงร้านสะดวกซื้ออัตโนมัติ 

นอกจากยานยนต์สาธารณะที่อำนวยความสะดวกในประเทศ ทุกวันนี้คนทั่วโลกต่างกำลังตั้งความหวังใหม่กับการเดินทางสัญจรระหว่างเมืองด้วยอัตราความเร็วสูง ระบบขนส่งไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) เป็นหนึ่งในการจุดประกายแนวคิดการเดินทางด้วยระบบขนส่งรูปแบบใหม่นี้ให้เป็นจริงก็คือ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอบริษัท Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า SpaceX บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศ และ SolarCity บริษัทผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ แรกเริ่มนั้นทีมงาน Tesla และ SpaceX ได้พัฒนาต้นแบบมาจากแบบร่างรถไฟท่อสุญญากาศ (Vactrian) ของ Robert Goddard ในช่วงปี 1960 และแนวคิดการสร้างระบบการขนส่งด้วยความเร็วสูงที่ไม่สร้างมลพิษและเร็วไม่แพ้เครื่องบิน คอนเซ็ปต์นี้คิดค้นขึ้นช่วงต้นปี 1812 และเผยแพร่ในเอกสาร “The Very High Speed Transit System” ปี 1972 ของบริษัท Rand Corporation ในเอกสารระบุว่าห้องโดยสารสามารถเคลื่อนที่กลางอากาศด้วยพลังงานของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทีมงานของอีลอนได้ต่อยอดเป็นเวอร์ชั่นใหม่ นั่นคือ ระบบขนส่งเดินทางเคลื่อนที่ในรูปแบบพ็อด (Pod) หรือแคปซูลโดยสารผ่านท่อระบบปิดที่มีแรงดันอากาศต่ำหรือแทบจะปราศจากแรงเสียดทาน เป้าหมายคือการบรรทุกขนส่งคนและสินค้าด้วยความเร็วสูงสุดถึง 1,220 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยอาศัยหลักการคล้ายกับรถไฟรางเดี่ยว ยิงตรงจากจุด A ไปยังจุด B นอกจากจะเร็วกว่ารถไฟความเร็วสูงถึง 2-3 เท่าแล้ว Hyperloop ยังขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์และลม ใช้พลังงานน้อยกว่าเครื่องบิน และรถไฟความเร็วสูง

ปัจจุบันมีบริษัทเอกชน 2 รายหลักที่นำคอนเซ็ปต์นี้ไปพัฒนาต่อ คือ HyperloopTT และ Virgin Hyperloop One ซึ่งต่างก็ได้รับความสนใจจากรัฐบาลหลายประเทศ ในปี 2018 HyperloopTT ได้ลงนามข้อตกลงกับสำนักงานถนนและการขนส่ง (RTA) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เปิดตัวต้นแบบไฮเปอร์ลูปในเมืองดูไบ โดยคาดว่าจะวิ่งด้วยอัตราความเร็วสูงสุด 1,200 กิโลเมตร/ชั่วโมง รองรับผู้โดยสารได้ 10,000 คน/ชั่วโมง และใช้เวลาเดินทางระหว่างเมืองดูไบกับกรุงอาบูดาบีเพียง 12 นาทีเท่านั้น ซึ่งนับว่าเร็วกกว่าการเดินทางด้วยรถยนต์ 90 นาที ทางสำนักงานถนนและการขนส่งตั้งเป้าว่าจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการภายในปี 2020 นี้

ที่มา : Unsplash/Bradley Jasper Ybanez

ที่มา :
บทความ “China’s Massive Belt and Road Initiative”, จาก cfr.org
บทความ “Call for Conference: Belt and Road Summit 2020, 18 & 19 March, Dubai”, จาก oboreurope.com