การมาถึงของยานยนต์ยุคใหม่ของอีสาน
Technology & Innovation

การมาถึงของยานยนต์ยุคใหม่ของอีสาน

  • 19 Sep 2020
  • 9773

ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านครั้งประวัติศาสตร์ สำหรับประเทศไทยที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นฐานการประกอบรถยนต์ของโลกจนได้รับฉายาว่า “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” แต่ในวันที่เทคโนโลยีเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปภายในสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า การปรับตัวสำหรับการเปลี่ยนผ่านเพื่ออนาคตจึงเป็นเรื่องใหญ่เพื่อหาแนวทางที่ชัดเจน ในงานสัมนา EVolution of Automotive มีตัวแทนจากภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันยานยนต์ ประเด็นสำคัญขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 เรื่องที่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ 

  1. 1การลงทุนการผลิตชิ้นส่วน ถือเป็นเทคโนโลยีหลักซึ่งเป็นหัวใจสำคัญนำไปสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
  2. ประชาชนเข้าถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ในราคาประหยัด 
  3. รถยนต์ที่ชาร์จไฟฟ้าทำให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายการพัฒนาไฟฟ้า

โดยภาครัฐจะเน้นมาตรการการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนที่เป็นสาระสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวี (Electronic Vehicle – EV) เช่น แบตเตอรี ทั้งสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับ ตลอดจนการปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเชื่อมโยงกับซอฟต์แวร์ของรถยนต์ นอกจากนี้ สวทช. ยังถือเป็นผู้สนับสนุนในการทำหน้าที่ศึกษาวิจัย โดยเฉพาะเรื่องแบตเตอรีรถ EV และโครงสร้างตัวรถที่อาจจะมีน้ำหนักเบาขึ้น ขณะเดียวกันเริ่มต้นวางแผนแนวทางกำกับดูแลการจัดการข้อมูลที่ได้มาจากการขับขี่ ไม่เว้นแม้แต่มาตรการส่งเสริมสำหรับเอกชนที่ต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์เรื่องรถยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวข้อง โดยเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการต่อยอดงานวิจัยและเทคโนโลยี โดยจูงใจในเรื่องงานด้านวิจัยเพื่อยกเว้นภาษี 300% และการร่วมกับภาคธนาคารบริการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลา 7 ปี สำหรับโรงงานที่ต้องการปรับปรุงเทคโนโลยีให้ทันสมัย

คาดการณ์ว่าในปี 2030 ประเทศไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ถึง 2 ล้าน 5 แสนคัน โดยครึ่งหนึ่งจะเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า การเตรียมพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลง 2 ส่วน คือ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอีวี และกระบวนการผลิต เนื่องจากสังคมไทยเริ่มขาดแคลนแรงงานมากขึ้น หุ่นยนต์จะเริ่มเข้ามาแทนที่ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

นอกจากนี้รัฐบาลยังประกาศนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ผ่านการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งบรรดาค่ายรถยนต์ในประเทศไทยต่างตอบรับเข้าร่วมหลายค่าย ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐบาลมีการประกาศและคาดการณ์เป้าหมายว่า จะมีรถไฟฟ้าวิ่งทั่วประเทศอยู่ที่ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2576 หรือในอีก 18 ปีข้างหน้า โดยรถไฟฟ้าในนิยามของรัฐบาล หมายความรวมถึงรถไฟฟ้าแบบ Plug-in Hybrid และ Hybrid ด้วย

ในส่วนการชาร์จแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้านั้น จะแบ่งเป็น 2 แบบหลัก คือ แบบชาร์จปกติ ใช้ชุดชาร์จที่ติดมากับรถชาร์จไฟฟ้าจากที่บ้านหรือปลั๊กธรรมดา ที่มีข้อจำกัด คือ ใช้เวลานานหลายชั่วโมงในการชาร์จแต่ละครั้ง กับแบบชาร์จเร็ว ซึ่งจะมีหัวชาร์จแบบพิเศษ สามารถชาร์จได้ 0-80% ในเวลาประมาณ 30-40 นาที ขึ้นกับปริมาณกระแสไฟที่จ่ายเข้าซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ เนื่องจากด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน จำเป็นต้องพึ่งพาการชาร์จแบบรวดเร็ว เพื่อช่วยให้สามารถเดิน ทางอย่างต่อเนื่องซึ่งสถานีชาร์จไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 1,200 จุด ทั่วประเทศ

สำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นส่วนเดียวกับนิเวศสำหรับอนาคตในด้านการคมนาคม บริษัท ฟอมม์ เอเซีย ผู้ผลิตรถไฟฟ้าบริษัทแรกในไทย เปิดตัว FOMM One ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งถือว่าตอบโจทย์กับยุทธศาสตร์สำคัญของภาคอีสานเพราะเป็นศูนย์กลางธุรกิจ มีการติดต่อธุรกิจระหว่างนักธุรกิจชาวไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นอกเหนือไปจากนั้นแนวคิดรถยนต์ไฟฟ้ายังเหมาะกับเมืองขอนแก่นสมาร์ทซิตี้  ในรูปแบบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดเล็กขับเคลื่อนด้วยระบบพลังงานไฟฟ้า 100% ออกแบบโดยทีมงานวิศวกรชาวญี่ปุ่น นำโดย มร.ฮิเดโอะ ซูรุมากิ ขนาดเล็ก กะทัดรัด แต่สามารถรองรับได้ถึง 4 ที่นั่ง ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่เป็นเทคโนโลยีรุ่นใหม่ล่าสุดจากประเทศญี่ปุ่นคือ In-Wheel Motor ทำให้การสูญเสียพลังงานของมอเตอร์น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับมอเตอร์ทั่วไปในปัจจุบัน จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยอัตราสิ้นเปลืองเพียง 30 สตางค์ต่อกิโลเมตร ด้วยการชาร์จไฟฟ้าจากระบบภายในบ้านเพียง 6 ชั่วโมง (0-100%) คิดเป็นค่าใช้จ่ายเพียง 42 บาท แต่สามารถวิ่งได้ไกลถึง 160 กิโลเมตร (WLTC) อีกไฮไลต์ของ FOMM One คือ ติดตั้งระบบป้องกันน้ำเข้าภายในห้องโดยสาร พร้อมทั้งสามารถลอยตัวในน้ำได้เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมสูงเกิน 70 เซนติเมตร การออกแบบให้สามารถลอยตัวในน้ำได้นั้นเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ด้วยขนาดกะทัดรัดเพียง 2,585 x 1,295 x 1,560 มิลมิเมตร และน้ำหนักตัวรถเบาเพียง 445 กก. (ไม่รวมแบตเตอรี่) มีระบบขับเคลื่อนเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ In-Wheel ขนาด 5kWx2 แต่ให้แรงบิดสูงถึง 560 Nm ซึ่งถือว่าครบเครื่องในราคาที่เอื้อมถึงได้ไม่ยากนัก ซึ่งแนวโน้มที่เกิดขึ้นถือเป็นการตั้งต้น และเตรียมความพร้อมสำหรับนิเวศด้านยานยนต์ยุคใหม่ที่กำลังจะมาถึง

ที่มา : 
บทความ “ปี 2030 รถยนต์ไฟฟ้ามาแน่ แล้วฐานการผลิตรถยนต์สำคัญของโลกอย่างไทย เตรียมพร้อมไปถึงไหนแล้ว”, จาก themomentum.co
บทความ “รู้หรือไม่?? สถานีชาร์จรถไฟฟ้า!!มีเจ้าไหนบ้างในปัจจุบัน..”, จาก carzanova.com
บทความ “กฟภ.เปิดสถานีชาร์จรถไฟฟ้าแห่งแรกในอีสานที่โคราช”, จาก thansettakij.com