การรับมือกับยุคแห่งพลเมืองโลก (Global Citizen) ตอนที่ 2
Technology & Innovation

การรับมือกับยุคแห่งพลเมืองโลก (Global Citizen) ตอนที่ 2

  • 23 Sep 2020
  • 13391

การรวมคนที่หลากหลายเข้ามาอาศัยในพื้นที่เดียวกันแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย รายงานจาก The Guardian ระบุว่า ในอดีตนั้นเขตชุมชนเมืองหรือเมืองใหญ่มีอัตราการเกิดอันตรายได้บ่อยกว่าชุมชนชานเมืองหรือชนบท อย่างในลอนดอน นิวยอร์ก ปารีส และโรม ที่ต้องรับมือกับการโจรกรรม ลักทรัพย์ หรือการถูกทำร้ายจากแก๊งมิจฉาชีพในทุกๆ วัน ไม่เว้นเฉพาะนักท่องเที่ยว ซึ่ง 20% จากความอันตรายทั้งหมดมาจากการใช้อาวุธปืนและมีดในการก่ออาชญากรรม ทางตรงกันข้ามการพัฒนาที่เติบโตตามเขตเมืองโดยมีระบบสาธารณะและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถพัฒนาไปพร้อมกันได้ จึงส่งผลให้กลุ่มคนผู้กระทำผิดกฎหมายรายใหญ่อย่างผู้มีอิทธิพล ค้ายา ค้ามนุษย์ ค้าประเวณี และแก๊งปล้นทรัพย์ เริ่มลดน้อยลงในเขตเมืองในบางประเทศในระยะเวลาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะการเพิ่มจำนวนตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ควบคุมความปลอดภัย แต่เป็นการสร้างระบบความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวทันภยันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ อย่างการมีสมาร์ทคาร์ที่ยากต่อการโจรกรรมปลดล็อก เซ็นเซอร์ตรวจจับขโมยภายในห้างสรรพสินค้า ระบบกล้องวงจรปิดในย่านที่มีความเสี่ยง และสิ่งอำนวยความสะดวกอีกมากมายที่เอื้อแก่การดำรงชีวิตของคนเมืองให้ปลอดภัย และประเทศที่สามารถลดอัตราการก่ออาชญากรรมจากเทคโนโลยีที่เด่นชัดที่สุด นั่นคือประเทศญี่ปุ่น
ข้อมูลจากรายงาน New Urban Agenda และ 2030 Agenda for Sustainable Development ขององค์กรสหประชาชาติ ระบุว่าเมืองหรือประเทศในทวีปแอฟริกาและเอเชีย มีการเติบโตของเขตเมืองรวดเร็วที่สุด ซึ่งอัตราการเติบโตยังไม่สามารถผสานเข้ากับอัตราการตั้งรับจากผลที่ตามมาได้ทัน จึงเป็นหน้าที่ของเทคโนโลยีลที่จะนำเอานวัตกรรมอัจฉริยะ เพื่อแข่งขันกับอัตราเร่งในการพัฒนาเมือง ซึ่งยังคงเพิ่มจำนวนการเติบโตนี้ไปจนถึงปี 2050 การพัฒนาของนวัตกรรมอัจฉริยะในแอฟริกาและเอเชียสอดคล้องกับรายงานของ UNICEF ที่เชื่อว่านวัตกรรมที่สามารถสร้างความปลอดภัยให้เมืองตลอด 24 ชั่วโมง คือ การพึ่งพาระบบดิจิทัลในทุกระบบของหน่วยสาธารณูรูป ซึ่งสิงคโปร์ โคเปนเฮเกน และลอนดอน ถูกจัดว่าเป็นเมืองที่ประชาชนสามารถปรับตัวเข้ากับระบบความปลอดภัยในรูปแบบดิจิทัลได้ค่อนข้างดีเยี่ยม สามารถส่งผลไปยังการลงทุนของภาคธุรกิจที่พัฒนาพื้นที่สาธารณะให้คนเมืองมากยิ่งขึ้น ขณะที่บริษัทผู้ผลิตกล้องวงจรปิดระบบ IntelliVision พัฒนาประสิทธิภาพของการสอดส่องในภาพที่ชัดเจนแบบพาโนรามา เพื่อค้นหาความเสี่ยงจากจุดอับสายตา รวมถึงพัฒนาที่ควบคู่ไปพร้อมกันของนวัตกรรม AI กับการเปรียบเทียบหน้าตาของอาชญากรที่เดินผ่านกล้องด้วยความแม่นยำ 99% จากการรวบรวมข้อมูลบนกูเกิลและเฟซบุ๊กที่อัพเดททุกวินาที โดยยึดถือการสอดส่องที่มีผลต่อข้อกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งประเทศที่ร่วมมือในการกำหนดเงื่อนไขในอัตราการเกิดความเสี่ยงนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เยอรมัน และอินเดีย

©International Monetary  Fund (2017-2030)

กระบวนการเกิดเมืองสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความเหลื่อมล้ำในภาพรวม เพราะทำให้เมืองและชนบทมีความแตกต่างกัน ในหลายกรณีบางเมืองมองว่าการเติบโตของเมืองเป็นสาเหตุของการเหลื่อมล้ำด้วยซ้ำ อย่างเช่นในฟิลิปปินส์ที่มีการประเมินว่ากระบวนการกลายเป็นเมืองทำให้ความเหลื่อมล้ำภายในประเทศเพิ่มขึ้น 3 เท่า ในขณะที่จีนการขยายตัวของเมืองทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทสูงขึ้นกว่า 43% รายงานการสำรวจปัญหาความเหลื่อมล้ำทั่วโลกฉบับปี 2018 ของ Oxfam ชี้ว่าความเหลื่อมล้ำของโลกที่กำลังขยายตัวมากขึ้น โดยประชากรร่ำรวยทั่วโลกราว 1% เป็นเจ้าของทรัพย์สินกว่า 45% ทั่วโลก โดยในหลายประเทศเอเชียกำลังอยู่ในระดับวิกฤตในความเหลื่อมล้ำนี้ ขณะที่จำนวนประชากรร่ำรวยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเป็น "เงื่อนไขที่จำเป็น" ในการลดความยากจน แต่นี่ไม่ใช่ปัจจัยเดียวของเรื่องนี้ ในหลายประเทศการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปอย่างทั่วถึงที่เพียงพอ เนื่องจากธรรมชาติของภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องจักรและทุนเข้มข้น (capital-intensive industries) นั้นมักสร้างงานค่อนข้างน้อยในภูมิภาค เช่น แถบตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา อินเดีย และจีนในบางเมือง การใช้แรงงาน คือ แหล่งรายได้หลักของคนจน ดังนั้นหากไม่มีโอกาสงานในเขตเมืองสำหรับคนงานประเภทนี้ปัญหาความยากจนจึงลดลงได้ยาก ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ไม่เฉพาะจากการที่ประชากรมีรายได้เท่านั้น แต่ยังต้องเข้าถึงการศึกษา และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี อย่างในมาเลเซียมีระบบที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้ ส่งผลให้ความยากจนในเขตเมืองของมาเลเซียได้กลายเป็นศูนย์มาตั้งแต่ปี 2013 โดยพิจารณาจากมาตรฐานของนานาชาติ การลดปัญหาความยากจนให้ได้ภายในปี 2030 คือหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ประเทศร่ำรวยที่ได้พัฒนาศักยภาพและนโยบายที่จัดให้มีสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า เช่น การศึกษา และสาธารณสุข จึงสามารถจัดการปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้ จึงเป็นความท้าทายของประเทศที่กำลังพัฒนายัง ซึ่งยังจำเป็นต้องพัฒนานโยบายเพื่อวางมาตรฐานส่วนที่จำเป็นแก่ประเทศ จึงจะสามารถลดจำนวนคนจนได้รวดเร็วกว่าการช่วยเหลือคนยากจนเพียงผิวเผินแต่ไม่ยั่งยืน 

รายงานการสำรวจความเหลื่อมล้ำของโลกฉบับล่าสุดปี 2018 ของ Oxfam บ่งชี้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทั่วโลกกำลังขยายตัวมากขึ้น อินเดีย ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ แต่กลับพบว่ามีความพยายามแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศได้แย่ที่สุด แม้จะมีนโยบายแก้ปัญหาความยากจนเป็นนโยบายหลักของชาติ แต่กลับอ่อนแอด้านการกระจายความมั่งคั่ง ปัญหาความเหลื่อมล้ำของอินเดียสะท้อนได้ว่า รัฐบาลไม่สามารถจัดการปัญหาใหญ่นี้ได้ โดยอินเดียใช้งบประมาณสำหรับการศึกษา สาธารณสุข และความปลอดภัยทางสังคมน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 1.3 พันล้านคน สำหรับประเทศที่มีความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ดีที่สุดในเอเชีย ได้แก่ เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย เนื่องด้วยอินโดนีเซีย ได้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ พยายามสร้างความเท่าเทียมภายในประเทศอย่างจริงจัง ทั้งยังเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุข และจัดทำสวัสดิการแห่งรัฐในการช่วยเหลือด้านรายได้แก่ประชาชน เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่ได้รับความชื่นชมจากการที่รัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถึง 16.4% ในปี 2018 รวมถึงเพิ่มงบประมาณทางด้านการศึกษา และสาธารณสุขมากขึ้น อีก 6% หากเทียบดัชนีความเหลื่อมที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำที่สุดในโลก อย่างเดนมาร์ก ซึ่งอยู่อันดับ 1  ได้รับการยกย่องว่า มีนโยบายการจัดเก็บภาษีที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก รวมถึงนโยบายที่มีต่อแรงงาน และการปกป้องผู้หญิงในสังคมการทำงานที่ดีที่สุดในโลก รวมไปถึงความโดดเด่นทางด้านงบประมาณการศึกษา และสาธารณสุข ที่มีมากถึง 65%

นอกจากประเด็นของความเหลื่อมล้ำที่เกิดแก่คนจนในเมืองแล้ว การขับเคลื่อนนโยบายในการพัฒนาเมืองที่สนับสนุนการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ซึ่งเป็นแนวทางที่ World Bank เสนอแนะว่าจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นเช่นกัย หากมีการเติบโตที่ก่อให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน และสร้างโอกาสอย่างเสมอภาคกันระหว่างคนทุกกลุ่มในสังคมที่ดีขึ้น อีกทั้งจะเป็นการผลักดันกลยุทธ์เชิงนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งใน 17 เรื่องของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งจะเป็นเป้าหมายการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัยทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเมืองและผู้คนในเมืองโดยตรง เสริมการศึกษาที่เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างกลุ่ม โดยทำให้โอกาสก้าวหน้าทางการประกอบอาชีพของประชากรถูกจำกัด 

นอกจากนี้การเพิ่มความรู้ในการบริหารจัดการเงินทุนที่ได้รับมาเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ นำความรู้ในด้านเทคโนโลยีเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับอาชีพของตนเอง หรือนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นโอกาสที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนก็มีจำกัด ซึ่งการวางแผนจัดการทรัพยากรถูกกำหนดขึ้นโดยหน่วยงานรัฐส่วนกลางมากกว่าส่วนท้องถิ่น การสร้างโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นเพื่อการจัดการตนเอง โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากรเชิงพื้นที่ เช่น ปฏิบัติการเพื่อวางแผนและวางผังพัฒนาเมืองด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นและการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆ กันจะเป็นกระบวนการหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่และการจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้สำหรับอนาคตคนเมือง

ที่มาภาพ : resources.symphonytalent.com

ที่มา :
บทความ “Urban trends by world regions” จาก eea.europa.eu
บทความ “World Urbanization Prospects 2018” จาก population.un.org
บทความ “68% of the world population projected to live in urban areas by 2050, says UN” จาก un.org
บทความ “Mapping the World’s Urban Population in 2050” จาก visualcapitalist.com