Irony Man หุ่นยนต์จิ๋วที่มาพร้อมความยียวนกวนประสาท
Technology & Innovation

Irony Man หุ่นยนต์จิ๋วที่มาพร้อมความยียวนกวนประสาท

  • 01 Oct 2020
  • 14134

เพราะการ “พูด” นั้นเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการสื่อสารจึงได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องร่วมกับนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เพื่ออำนวยความสะดวกสูงสุดให้กับผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นหลากหลายเทคโนโลยีผู้ช่วยอัจฉริยะที่แฝงตัวอยู่ในอุปกรณ์สมาร์ตโฟนอย่าง Google Assistant หรือ Siri ที่สามารถใช้งานผ่านคำสั่งเสียงในการเชื่อมต่อหรือค้นหาข้อมูลได้โดยอัตโนมัติ

ถึงแม้ว่าผู้ช่วยเหล่านี้จะทำงานได้รวดเร็วทันใจเพียงใด แต่กลับยังมีข้อเสียตรงที่ว่า การตอบรับของผู้ช่วยเหล่านี้ไม่สามารถแสดงอารมณ์ผ่านน้ำเสียงหรือตอบกลับมาเป็นประโยคอะไรได้มากนัก จนบางครั้งก็ดูเหมือนว่าจะไม่เข้าใจสิ่งที่เราพูดออกไปเสียเลย ทำให้ผู้ใช้งานมีความรู้สึกแตกต่างกับการสื่อสารระหว่างบุคคลด้วยกันที่มักแทรกอารมณ์ขันผ่านทางคำพูด ไม่ว่าจะเป็นการจิกกัด ประชดประชัน หรือการใช้น้ำเสียง รวมไปถึงการแสดงอารมณ์ผ่านหน้าตา ท่าทาง เพื่อทำให้คู่สนทนามีอารมณ์ร่วมและเข้าใจในเรื่องที่สนทนากันได้ชัดเจนมากขึ้น 

และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการให้หุ่นยนต์โต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Augsburg ประเทศเยอรมนี จึงได้คิดค้นและพัฒนา “Irony Man” หุ่นยนต์อัจฉริยะตัวจิ๋วที่จะมาเป็นเพื่อนคุยแก้เหงาคอยสร้างความเพลิดเพลิน เพราะสามารถตอบโต้ประโยคที่เราพูดด้วยได้อย่างลื่นไหลพร้อมสอดแทรกคำเสียดสี ประชดประชัน ผ่านการแสดงอารมณ์บนใบหน้าและน้ำเสียงได้มากกว่าหุ่นยนต์ทั่วไป เช่น ในบทสนทนาเกี่ยวกับสภาพจราจร เมื่อเราบ่นออกไปว่า “ทำไมรถติดไม่ขยับเลย…” Irony Man จะตอบกลับมาว่า “แต่ฉัน ‘รักกกกก’ การติดอยู่ที่นี่” ในน้ำเสียงเรียบ ๆ พร้อมหน้าตาที่แฝงไปด้วยความกวนประสาทไม่น้อย  

เบื้องหลังความกวนของ Irony Man เกิดจากการที่ผู้พัฒนาได้สร้างระบบที่ผสมผสานการโต้ตอบแนวประชดประชันเข้ากับบทสนทนาทั่วไปผ่านกระบวนการคิดทบทวนและเปรียบเทียบจากหลายแนวทางการประชดจนได้คำตอบที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ มากที่สุด ซึ่งข้อความแนวประชดที่แทรกอยู่เหล่านี้จะช่วยปรับปรุงรูปแบบการโต้ตอบที่เน้นการสื่ออารมณ์ ร่วมกับการแสดงสีหน้าท่าทางของหุ่นยนต์ ซึ่งจากการทดลองเปรียบเทียบกับการสนทนาทั่วไปพบว่า การแสดงสีหน้าร่วมกับคำพูดที่มีการใช้คำประชดประชันนี้ ช่วยให้คู่สนทนาของหุ่นยนต์รับรู้ถึงเนื้อหาในการสนทนาเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมด้วยความรู้สึกร่วมและความสุนทรีย์ในการพูดคุยมากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่าทุกอย่างย่อมเหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน เพราะแม้มันจะช่วยเติมเต็มด้านอารมณ์ในบทสนทนา แต่เจ้าหุ่นยนต์จิ๋วนี้ก็ยังไม่ฉลาดพอที่จะรู้ว่าเมื่อไรควรหรือไม่ควรประชดกับมนุษย์ และยังไม่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นหรือค้นหาข้อมูลให้ได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในอนาคตเราน่าจะได้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มเติมที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์หรือผู้ช่วยอัจฉริยะที่จะตอบโจทย์ความต้องการได้ทั้งการใช้งาน และตอบความต้องการด้านอารมณ์และความรู้สึกของผู้ใช้ได้อย่างเต็มที่ 

ที่มา : บทความ “Irony Man More Likable than Most Bots” โดย Toni Denis จาก seeflection.com
รายงานวิจัย “Irony Man: Augmenting a Social Robot with the Ability to Use Irony in Multimodal Communication with Humans” โดย Hannes Ritschel และคณะ จาก Augsburg University 

เรื่อง : มนต์นภา ลัภนพรวงศ์