สำรวจ “ทวิตภพ” โลกที่เอียงซ้าย พื้นที่ผดุงความยุติธรรม และความคู่ขนานที่รอวันบรรจบ
Technology & Innovation

สำรวจ “ทวิตภพ” โลกที่เอียงซ้าย พื้นที่ผดุงความยุติธรรม และความคู่ขนานที่รอวันบรรจบ

  • 01 Oct 2020
  • 8457

อาจเป็นเพราะความตลกร้ายในสังคมไทยก็ได้ที่ทำให้ชาวทวิตเตอร์ดูเหมือนเป็นคนขี้แซะ การสรรหากลวิธีเล่าเรื่องและเลือกใช้ภาษาที่เผ็ดร้อนเพื่อติดแฮชแท็กเล่าถึงประเด็นอันซับซ้อนและบางครั้งก็ดูสุ่มเสี่ยง ทำให้พื้นที่ในทวิตเตอร์ช่างดูมีสีสันและเป็นดั่งโลกที่ดูมีความหวังยิ่งกว่าในโลกจริง แต่อำนาจของสื่อที่ให้เราได้แสดงความเห็นเพียง 280 ตัวอักษรในพื้นที่แห่งความเร็วที่อะไร ๆ ก็ติดเทรนด์ได้ตลอดเวลานี้ จะสามารถเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมและพลิกหน้าประวัติศาสตร์ให้ดีขึ้นอย่างที่คนรุ่นใหม่คาดหวังได้หรือไม่ มาดูตัวอย่างทวิตภพในบริบทของประเทศต่าง ๆ ดูว่า “โลกของฉัน” เหมือนหรือต่างจาก “โลกของเธอ” อย่างไร แล้วการสร้าง “โลกของเราทั้งหมด” ที่ไม่จำเป็นต้องแซะหรือตั้งการ์ดแบ่งแยกกันจะเป็นไปได้หรือไม่

©Unsplash/@purzlbaum

The Tool to Bring Back Justice
ณ เวลาย่ำรุ่งของวันที่ 17 ธันวาคม 2012 ทวีตแรกที่กล่าวถึงคดีสะเทือนขวัญของเหตุการณ์เมื่อคืนก่อนหน้าที่นักศึกษาสาวอนาคตไกลถูกกลุ่มชายฉกรรจ์รุมข่มขืนและทำร้ายร่างกายบนรถบัสในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย จนเหยื่อเสียชีวิตในที่สุด กลายเป็นข่าวที่ถูกรีทวีตและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกทวิตเตอร์ จนในวันเดียวกันนั้นเอง เหล่านักศึกษาร่วมสถาบันกับเหยื่อผู้โชคร้ายได้รวมตัวกันไปที่สถานีตำรวจใกล้จุดเกิดเหตุเพื่อทวงถามความยุติธรรมและไม่ให้เรื่องเงียบหายไปราวกับว่าการข่มขืนเป็นเพียงแค่เหตุการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นปกติในสังคมอินเดีย

ดีปา เรย์ (Deepa Ray) และ โมนิดีปา ทาราฟดาร์ (Monideepa Tarafdar) เจ้าของงานศึกษาในหัวข้อ “How Does Twitter Influence A Social Movement?” ได้ทำการวิเคราะห์ทวีตจำนวน 1,585 ทวีตหลังเหตุการณ์นี้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อหาคำตอบว่ากิจกรรมในโลกทวิตเตอร์ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างไร พวกเขาพบว่าในจำนวนทวีตดังกล่าว เกือบ 62% ได้ทวีตเพื่อแบ่งปันข้อมูลและบทความข่าวที่เกิดขึ้น 26% ทวีตในเชิงแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบคดี รวมถึงการเมืองและกฎหมายในคดีอาชญากรรม เกือบ 10% ทวีตเพื่อแสดงความรู้สึกต่าง ๆ เช่น เศร้า กลัว โกรธแค้น และรังเกียจ เป็นต้น เกือบ 7% เป็นการแสดงความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงนักการเมืองที่อยู่ในอำนาจ และอีก 2-3% ทวีตเชิงเรียกร้องให้มีการดำเนินการหรือกระตุ้นให้เกิดการระดมพลเพื่อทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม จะเห็นได้ว่าทวีตในเชิง “Call to Action” ที่เป็นเพียงสัดส่วนเล็ก ๆ ในโลกทวิตเตอร์นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการจุดชนวนให้เกิดการประท้วงเพื่อทวงคืนความยุติธรรมในประเด็นการต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงให้เกิดขึ้นจริงในสังคมอินเดีย

โดยงานศึกษานี้ให้ข้อสังเกตด้วยว่า หลังจากที่เซเลบริตีของอินเดียออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้กันอย่างเผ็ดร้อน รวมกับการรีทวีตแผนการประท้วงโดย อันนา ฮาซาร์ (Anna Hazare) นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวอินเดียที่มีชื่อเสียงบนโลกทวิตเตอร์ วันต่อมาก็เกิดการประท้วงขึ้นจริงและเกิดแคมเปญบนโลกออนไลน์ตามมาอีกมาก อาทิ “Stop Rape Now” และ "Wear Black" เพื่อเรียกร้องให้ผู้ข่มขืนได้รับโทษทางกฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งการออกมาประท้วงในครั้งนั้นยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนตำรวจต้องใช้กำลังและก๊าซน้ำตาเพื่อให้การรวมพลยุติลง แต่ภาพการใช้กำลังของตำรวจที่ถูกแชร์ในโลกทวิตเตอร์อย่างกว้างขวางกลับยิ่งสร้างความโกรธแค้นให้ประชาชนยิ่งขึ้นไปอีก จนในวันที่ 22 ธันวาคม 2012 คณะกรรมการตุลาการจึงได้ตัดสินใจจัดแถลงการเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้หญิงที่เป็นธรรมมากขึ้น โดยภายหลังจากเหตุการณ์นี้ราวหนึ่งเดือนก็นำไปสู่การใช้กฎหมายต่อต้านความรุนแรงทางเพศฉบับใหม่ที่ระบุเพิ่มโทษในคดีข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงให้มีการประหารชีวิตในคดีข่มขืนบางคดีอีกด้วย และกฎหมายฉบับใหม่นี้เองที่ส่งผลให้กลุ่มนักโทษในคดีข่มขืนครั้งนี้โดนตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

แต่แม้ครอบครัวของเหยื่อและผู้ประท้วงจะร่วมกันฉลองความยินดีหลังจากนักโทษถูกประหารชีวิตแล้ว และผู้เป็นแม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าในที่สุดลูกสาวของเธอก็ได้รับความเป็นธรรม ส่วนผู้เป็นพ่อก็ประกาศด้วยว่าศรัทธาในตุลาการได้ฟื้นคืนชีพแล้ว แต่เอาเข้าจริงสังคมอินเดียในปัจจุบันก็ยังคงเผชิญกับปัญหาการคุมคามทางเพศ โดยในปี 2017 สำนักงานสถิติอาชญากรรมแห่งอินเดียเผยว่า โดยเฉลี่ยใน 1 วันจะมีเหตุข่มขืนเกิดขึ้น 90 คดี หรือคิดเป็นทุก ๆ 20 นาทีจะมีการข่มขืนเกิดขึ้น 1 ครั้งในอินเดีย ซ้ำร้ายเด็กกลับตกเป็นเหยื่อในคดีข่มขืนมากขึ้นถึงเกือบ 2 เท่าหลังเหตุการณ์ประท้วงที่ผ่านมา

เราไม่อาจสรุปได้ว่าการต่อสู้อันยาวนานของเรื่องนี้เป็นสิ่งสูญเปล่า เพราะอย่างน้อย ๆ หนึ่งครอบครัวก็ได้รับการปลดปล่อยจากความร่วมด้วยช่วยกันของประชาชนที่ไม่อยากทนอยู่กับความอยุติธรรมอีกต่อไป และคนทั่วโลกก็ได้รับรู้ถึงความโหดร้ายในสังคมที่กดขี่เพศหญิงมายาวนาน ด้วยข้อความเพียง 280 ตัวอักษรที่เป็นดั่งเครื่องฉายสปอตไลต์เรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ก็อาจนับได้ว่าเพียงพอแล้วในการชี้ช่องของปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

©Unsplash/Chris J Davis

ทวิตภพไทย ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ทวีตชาติใดในโลก!
รู้หรือไม่ว่าจำนวนผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในไทยมีมากจนติดอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก โดยทวิตภพไทยถือได้ว่าเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคิดเป็นสัดส่วนกลุ่มผู้ใช้งานที่แอ็กทีฟมากที่สุดดังนี้ อายุ 16-24 ปี (40%) อายุ 25-34 ปี (26%) อายุ 35-44 ปี (19%) อายุ 45-54 ปี (11%) และอายุ 55-64 ปี (4%) ในปีที่ผ่านมาเทรนด์มาแรงที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทยให้ความสนใจได้แก่ #Happening หรือเหตุการณ์ที่กำลังถูกพูดถึงในขณะนี้ ตั้งแต่ข่าวสารบ้านเมือง บีทีเอสเสีย หรือกระทั่งประเด็นสงสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ว่าเราควรลวกบะหมี่หยกก่อนกินหรือไม่ ฯลฯ เทรนด์อีกแบบที่มักจะติดอยู่ในไทยแลนด์เทรนด์ก็คือ กระแสละครดังที่ออนแอร์อยู่ขณะนั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนเสพสื่อหลายทางไปพร้อม ๆ กันและต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแบบเรียลไทม์ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ใช้งานหลักและต่อเนื่องของทวิตเตอร์ในไทยยังคงเป็นกลุ่มแฟนคลับของศิลปินจากเกาหลีใต้ ซึ่งในปี 2018 มีแฮชแท็กที่คนไทยใช้เพื่อพูดถึงเรื่องราวศิลปิน K-Pop ในดวงใจถึง 800 ล้านครั้งทีเดียว

#Saveเท่าไรถึงจะพอ
ดูเหมือนว่านอกจากหน้าที่กรี๊ดศิลปินเกาหลีของผู้ใช้งานทวิตเตอร์ส่วนใหญ่ในไทยแล้ว กลุ่มผู้ใช้งานที่ส่วนมากเป็นเจเนอเรชันซี (Gen Z) และมิลเลนเนียลยังมีอีกงานสำคัญ นั่นคือการผดุงความยุติธรรมด้วยการ #Save บุคคลต่าง ๆ ที่ประสบกับเหตุการณ์ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องส่วนตัวของบุคคลดัง ไปจนถึงชีวิตชาวบ้านธรรมดา ๆ และเยาวชนที่โดนข่มขู่หรือถูกภัยคุกคามทางการเมืองในยามที่ประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเมืองและการปกครองไทยได้อย่างเต็มปาก

 

“Twitter Revolution” in the Age of Doubt
คงไม่มีเหตุการณ์ใดจะอธิบายความหมายของ “การปฏิวัติทวิตเตอร์” (Twitter Revolution) ได้ดีไปกว่าปรากฏการณ์ “อาหรับ สปริง” หรือคลื่นปฏิวัติทางการเมืองของประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นในปี 2010 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นแรกที่หมู่มวลประชาชนได้ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านความอยุติธรรมของรัฐบาลประเทศตูนิเซียผ่านเครือข่ายโซเชียลมีเดีย จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศ และจากความสำเร็จของตูนีเซียในครั้งนั้นก็ได้กลายเป็นต้นแบบให้เกิดการปฏิวัติอีกหลายชาติตามมา อาทิ อียิปต์ อิหร่าน ยูเครน ลิเบีย เยเมน ฯลฯ ซึ่งประชาชนนิยมใช้เครื่องมือการสื่อสารอย่าง “ทวิตเตอร์” เป็นตัวจุดประกายและตัวเร่งทำให้เกิดการประท้วง เดินขบวน และผลักดันให้เกิดการปฏิวัติทางการเมืองจนทำให้ประธานาธิบดีในบางประเทศที่กล่าวมาข้างต้นต้องยอมลงจากตำแหน่ง และเกิดการปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหญ่ในโลกแถบตะวันออกกลางที่มีสื่อออนไลน์เป็นแรงผลักดันสำคัญ

©Unsplash/Charles Deluvio

“เราใช้เฟซบุ๊กประกาศตารางการเดินประท้วง ทวิตเตอร์เพื่อหาแนวร่วม และยูทูบในการกระจายข้อมูลให้โลกได้รับรู้” พาวาซ ราเชด (Fawaz Rashed) หนึ่งในผู้ประท้วงชาวอียิปต์ทวีตถึงแผนการปฏิวัติการเมืองที่เกิดขึ้น โดยก่อนหน้าการรวมพลของชาวอียิปต์ราว 2 ล้านคนที่มาประท้วงโค่นล้มรัฐบาลในครั้งนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการที่มีผู้ใช้งานทวิตเตอร์ (ที่ร้อยละ 60 เป็นคนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปี) ได้ช่วยกันรีทวีตหรือปั่นแฮชแท็ก #Jan25 ซึ่งเป็นวันที่ประชาชนนัดแนะกันมาร่วมเดินขบวนขับไล่รัฐบาลเป็นจำนวนมากกว่า 2 แสนครั้งต่อวัน ส่งผลให้แฮชแท็กนี้ติดลมบนอยู่ในเทรนด์ทวิตเตอร์ตลอดช่วงเวลาการประท้วง ความกดดันของการต่อต้านรัฐบาลที่ยังคงรุนแรงและไม่มีท่าทีว่าจะยอมแพ้ทั้งในโลกโซเชียลมีเดียและท้องถนนที่กินเวลาร่วม 18 วัน ก็ทำให้ ฮอสนี มูบารัก (Hosni Mubarak) ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในที่สุด เหตุการณ์ปฏิวัติอียิปต์ในปี 2011 (Egyptian Revolution) ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในกรุงไคโร รวมทั้งปรากฏการณ์อาหรับ สปริงก็เป็นสิ่งยืนยันอำนาจของโซเชียลมีเดียที่ทำให้คนทั่วโลกเห็นได้ชัดเจนที่สุดด้วยเช่นกัน

แต่ภายหลังชัยชนะของประชาชน อียิปต์กลับไม่ได้มีอนาคตงดงามอย่างที่คาด เพราะหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย กลับมีประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาลชุดใหม่อีกระลอก จนกองทัพกลับมายึดอำนาจอีกครั้ง วาเอล โกนิม  (Wael Ghonim) หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังเฟซบุ๊กเพจสำคัญที่ช่วยจุดชนวนให้ชาวอียิปต์ลุกฮือมาต่อกรกับรัฐเผด็จการ ได้ออกมาเปิดใจถึงความผิดหวังหลังเหตุการณ์ปฏิวัติที่ผ่านมา 5 ปีในเวทีเท็ดทอล์กเอาไว้ว่า แม้สังคมออนไลน์จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนล้มล้างเหล่าผู้นำเผด็จการได้ แต่มันก็ทำให้สังคมเกิดความแตกแยกและนำไปสู่การแบ่งขั้วอำนาจที่ยากจะกลับมาสมานฉันท์ด้วยเช่นกัน “เมื่อเราต่างถูกขับเคลื่อนด้วยความเร็วและกระชับของสื่อออนไลน์ ที่เขียนความคิดเห็นได้จำกัดแค่ 280 ตัวอักษร เราจึงพุ่งประเด็นไปได้แค่ข้อสรุป แม้ประเด็นนั้นจะซับซ้อนและต้องการคำอธิบายมากแค่ไหนก็ตาม มันจึงยากมากที่จะเปลี่ยนมุมมองหรือความคิดเห็นของกันและกัน เรามีแรงน้อยมากที่จะเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมีการค้นพบหลักฐานใหม่ภายหลัง เพราะครั้งที่เราเขียนอะไรไปแล้ว มันก็จะคงอยู่บนโลกออนไลน์ตลอดกาล” โกนิมกล่าว โดยการออกมาพูดในเวทีเท็ดทอล์กครั้งนี้มีข้อความสำคัญคือการทำให้ผู้คนตระหนักถึงวิกฤตของสื่อออนไลน์ที่เราจำเป็นต้องมีการรับมือกับข่าวลือและข่าวลวงได้ดีกว่านี้ ทำอย่างไรให้เราไม่ได้รับสารเพียงด้านเดียว และมีส่วนร่วมในการถกเถียงและแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์มากกว่าแค่การใช้สื่อเพื่อการส่งต่อข่าวสาร “ผมได้เห็นเป็นพยานแล้วว่าเรื่องท้าทายเหล่านี้ส่งผลให้สังคมอียิปต์แตกแยกไปเรียบร้อยแล้ว และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องของอียิปต์ประเทศเดียว เพราะการแบ่งขั้วอำนาจกำลังเกิดมากขึ้นในทั่วทุกมุมโลก ตอนนี้เราจำเป็นต้องหาทางนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหามากกว่าการใช้มันเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา”

 

ในโลกทวิตภพ ใครกันที่กุมอำนาจ?
  • Pew Research ได้วิเคราะห์ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในประเทศสหรัฐฯ จำนวน 2,791 คนเมื่อปี 2019 เพื่อศึกษาถึงประเด็นที่ว่าผู้ใช้งานทวิตเตอร์มีความแตกต่างจากคนทั่วไปที่ไม่ได้ใช้หรือไม่อย่างไร โดยงานศึกษานี้พบว่า โดยทั่วไปผู้ใช้งานทวิตเตอร์มักเป็นคนที่มีอายุน้อย ฐานะดี และได้รับการศึกษาที่ดีกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้พวกเขายังมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่เอียงซ้ายมากกว่าอีกด้วย โดยผู้ใช้งานทวิตเตอร์ 64% ให้ความเห็นว่าคนผิวสีได้รับความเป็นธรรมน้อยกว่าคนผิวขาว เมื่อเทียบกับอีก 54% ที่คิดแบบเดียวกันแต่เป็นคนทั่วไปในประเทศ ความแตกต่างนี้อาจอธิบายได้ว่าเหตุใดผู้ใช้งานทวิตเตอร์ถึงมีแนวคิดที่ก้าวหน้ามากกว่า และในงานศึกษาเดียวกันนี้ก็พบด้วยว่า มีจำนวนผู้ใช้งานทวิตเตอร์เพียง 10% เท่านั้นที่เป็นผู้สร้างคอนเทนต์ให้เกิดขึ้นในโลกทวิตเตอร์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 80% ในขณะที่ผู้ใช้งานอีก 90% เป็นเพียงผู้เสพคอนเทนต์และกระจายข่าวสารเท่านั้น ดังนั้นจึงดูเหมือนว่าผู้ที่กุมอำนาจในทวิตภพฝั่งสหรัฐอเมริกาจะเป็นเพียงเสียงของคนกลุ่มน้อย ที่ยังไม่อาจเป็นตัวแทนทั้งหมดของสังคมแห่งความจริงได้ 
     
  • แม้จะยอมรับว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์ส่วนมากจะมีมุมมองทางการเมืองแบบเอียงซ้าย (Left-Wing Politics) แต่ แจ็ค ดอร์ซีย์ Jack Dorsey ซีอีโอของทวิตเตอร์ก็ยืนยันว่าองค์กรไม่มีนโยบายเลือกข้างทางการเมืองและแบนคอนเทนต์แบบ Shadowban ซึ่งเป็นการปิดกั้นไม่ให้ชาวทวิตฯ เห็นคอนเทนต์บางส่วนโดยผู้ใช้งานไม่สามารถรู้ได้ว่าถูกแบน เพียงแต่มีการใช้อัลกอริทึมเพื่อจำกัดการมองเห็นทวีตบางรายการ ซึ่งไม่ได้ดูจากเนื้อหาทางการเมืองแต่ยึดจากพฤติกรรมการใช้งานของชาวทวิตฯ เป็นหลัก และในปีที่ผ่านมาดอร์ซีย์ก็ได้ประกาศชัดว่าทวิตเตอร์จะยกเลิกการให้โฆษณาเพื่อการเมืองทุกประเภท เพราะเชื่อว่าประชาชนควรเข้าถึงเรื่องของการเมืองได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่้ถูกซื้อพื้นที่สื่อเพื่อให้ได้รับข้อความทางการเมืองเพิ่มขึ้น

A World Divided?
นอกจากการเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการสะท้อนภาพสังคมและความคิดเห็นส่วนตัวที่อาจเปลี่ยนแปลงโลกได้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ควรตระหนักคือ โลกทวิตภพที่เราอยู่ในตอนนี้อาจจะไม่ใช่โลกใบเดียวกับที่ผู้อื่นเห็น เพราะมันอาจถูกบดบังด้วยอคติที่เกิดจากการรับข้อมูลเพียงฝั่งเดียวและเพิกเฉยกับชุดข้อมูลอื่นที่ขัดกับความเชื่อของเรา (Confirmation Bias)

"Filter Bubble Effect" และ “Echo Chamber Effect” เป็นสองปรากฏการณ์ที่บางครั้งก็ใช้แทนกันได้เพื่ออธิบายถึงการเลือกสื่อสารกับผู้ที่มีความคิดเห็นคล้ายกับตัวเองจนอาจปิดกั้นมุมมองที่แตกต่าง และทำให้ความคิดเห็นของอีกฝั่งเป็นเสมือนโลกอีกใบที่ยากจะยอมเข้าใจ ในงานศึกษาเรื่อง "Modeling Echo Chambers and Polarization Dynamics in Social Networks" โดยฟาเบียน เบามันน์ (Fabian Baumann) และคณะ ได้ทำการสร้างภาพจำลองที่ถูกพัฒนาขึ้นจากข้อมูลจำนวนหลายพันทวีตที่ผู้คนในโลกทวิตเตอร์โต้แย้งกันในประเด็นหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ กฎหมายประกันสุขภาพโอบามาแคร์ กฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้ง และการควบคุมอาวุธปืน เพื่อดูว่าภาพที่ได้จะออกมาเป็นอย่างไร ผลปรากฏว่า ผู้คนในโลกทวิตเตอร์มักจะทวีตหรือรีทวีตกับคนที่มีความคิดเห็นคล้ายกับพวกเขา และแทบจะไม่แลกเปลี่ยนความเห็นกับคนที่คิดต่างกันเลย อีกทั้งในประเด็นที่เสียงแตกมาก ๆ โลกทวิตฯ ที่ทั้งสองกลุ่มอยู่ก็จะยิ่งห่างกันมากขึ้นไปอีก งานศึกษานี้ยังให้ข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่แอคทีฟมาก ๆ มักมีความคิดเห็นที่ค่อนข้างสุดขั้ว (Extreme Opinions) พวกเขาจึงมีบทบาทสำคัญในการแบ่งขั้วของการสนทนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม งานศึกษานี้ไม่ได้นำเอาประเด็นเรื่องความชอบส่วนตัวหรือตัวกรองอัลกอริทึมมาเป็นตัวแปรของการศึกษาที่อาจทำให้ผลลัพธ์ต่างออกไป 

มาถึงจุดนี้ คำถามจึงน่าจะอยู่ที่ว่า โลกตรงกลางที่เปิดทางให้เราได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบไม่เกลียดชังกันจะยังสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าสังคมออนไลน์ที่แคร์กับการเพิ่มยอดขายโฆษณามากกว่าการหาวิธีรับมือกับการแบ่งขั้วทางสังคมที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้อาจจะยังไม่ใช่คำตอบ หรือไม่แน่ว่าหนทางตรงกลางนั้นสามารถเริ่มต้นได้ ถ้าหากเราลองเปิดใจข้ามไปยังโลกอีกฝั่งดูสักครั้ง

ที่มาภาพเปิด : shutterstock

ที่มา :
งานวิจัย "How Does Twitter Influence A Social Movement?" (ตุลาคม 2017) โดย Deepa Ray และ Monideepa Tarafdar จาก aisel.aisnet.org
บทความ "Egypt Five Years On: Was It Ever A 'Social Media Revolution'?" จาก Theguardian.com
บทความ "Nirbhaya Case: Four Indian Men Executed For 2012 Delhi Bus Rape And Murder" จาก bbc.com
บทความ "Twitter Ceo Jack Dorsey's Hearing On Conservative Shadowbanning Was A Mess" จาก Mashable.com
บทความ "Twitter Users Are Richer And More Woke Than The Rest Of Us" จาก Wired.com
บทความ "Visualizing Twitter Echo Chambers" จาก Insidescience.org
บทความ "พฤติกรรมฮิตบนทวิตเตอร์ของคนไทยปี 2019" จาก Komchadluek.net
วิดีโอ "Let's Design Social Media That Drives Real Change" โดย Wael Ghonim จาก Ted.com

เรื่อง : วรรณเพ็ญ บุญเพ็ญ