Digital Surveillance ชีวิตที่ถูกสอดแนมของคุณเป็นอย่างไร
Technology & Innovation

Digital Surveillance ชีวิตที่ถูกสอดแนมของคุณเป็นอย่างไร

  • 26 Oct 2020
  • 4609

“มีแง่มุมต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่คุณสามารถสร้างเป็นเรื่องราวได้ แต่สำหรับผมแล้ว ประเด็นสำคัญก็คือเรามีรูปแบบธุรกิจ (ของสังคมออนไลน์) ที่ไม่สอดคล้องกับอารยธรรมของมนุษย์ เช่นเดียวกับรูปแบบธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ส่งผลร้ายต่อสังคม คำถามจึงอยู่ที่ว่าเราจะรักษาอารยธรรมของเราได้อย่างไร หากวิธีการดำเนินธุรกิจขัดแย้งกับมนุษยชาติ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมต้องการเล่าเรื่องราวในแง่มุมนี้ เพราะเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ เราจำเป็นต้องแก้ไขมัน”

©Unsplash/William Hook

เจฟฟ์ ออร์โลวสกี (Jeff Orlowski) ผู้กำกับสารคดีเรื่อง “Social Dilemma” (2020) ได้กล่าวถึงเหตุผลของการเลือกเล่าเรื่องราวของโซเชียลมีเดียในปัจจุบันที่ไม่ต่างจากวายร้าย ซึ่งหลายครั้งเราก็เต็มใจให้มันคุกคามจิตใจโดยไม่รู้ตัว สารคดีเรื่องนี้ดำเนินไปด้วยการอธิบายถึงอิทธิพลของสังคมออนไลน์ที่มีต่อมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ ตั้งแต่มิติของการดีไซน์สื่อเพื่อให้มนุษย์ใช้มันอย่างเสพติด การใช้ประโยชน์จากข้อมูลของผู้ใช้งานเพื่อหากำไรสูงสุด ไปจนถึงผลกระทบในวงกว้างของการใช้เพื่อหาผลประโยชน์ทางการเมืองที่ทำให้สังคมปัจจุบันเกิดการแบ่งขั้วกันอย่างสุดโต่ง โดยทั้งหมดนี้ได้เล่าผ่านคำบอกเล่าและความคิดเห็นของอดีตผู้ร่วมงานกับบริษัทสื่อออนไลน์ยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กูเกิล เฟซบุ๊ก ยูทูบ อินสตาแกรม หรือพินเทอเรสต์ ไปจนถึงศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคม นักปรัชญาคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งหากใครที่เคยดูสารคดีเรื่องนี้ก็คงจะถูกกระตุ้นต่อมความกลัวไม่น้อยว่า เวลาที่เราใช้ไปกับสังคมออนไลน์ได้อย่างฟรี ๆ นี้ต้องแลกมากับอะไรที่จะเสียไปต่อจากนี้บ้าง

แม้สารคดีเรื่องนี้จะเล่าแง่มุมดำมืดของสังคมออนไลน์จากประสบการณ์ผู้ที่เคยอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนมัน แถมยังจำลองสถานการณ์ของการเสพติดสื่ออย่างไม่ระวังใจได้อย่างเห็นภาพขนาดไหน ก็เหมือนจะยังเทียบไม่ได้กับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วในโลกจริงของคดีอื้อฉาวระดับโลกที่สารคดีปี 2019 “The Great Hack” (แนะนำให้ดูต่อกัน) ออกมาเปิดโปงบริษัท Cambridge Analytica ที่ได้ลักลอบนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กนับล้าน ๆ คนไปใช้หาผลประโยชน์ทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ปี 2016 โดยมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มว่าจะถูกชักจูงได้ง่ายผ่านการนำเสนอคอนเทนต์และสื่อต่าง ๆ แบบเฉพาะกิจที่สร้างขึ้นมาป้อนให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เห็นเท่านั้น โดยเนื้อหาเหล่านั้นอาจจะทำขึ้นเพื่อสนับสนุนนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ หรือเพื่อโน้มน้าวไม่ให้คนออกไปใช้สิทธิ์โหวต รวมทั้งเนื้อหาที่ดิสเครดิตฮิลลารี คลินตัน โดยทั้งหมดนี้เป็นกลยุทธ์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อปั่นหัวผู้ที่มีสิทธิ์โหวตแต่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกใครให้มาอยู่ข้างทรัมป์ในที่สุด โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้บริษัทเฟซบุ๊กต้องเสียค่าปรับราว 150,000 ล้านบาท ในข้อหาการปล่อยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านคนโดยไม่ได้รับอนุญาต และประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาก็ได้ผู้นำคนใหม่อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาบริหารประเทศ

©Unsplash/Etienne Girardet

ตัวอย่างนี้น่าจะสะท้อนสิ่งที่ซ่อนเร้นของการใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างชัดเจนที่สุดว่าข้อมูลและความสนใจที่เราให้ไปฟรี ๆ นั้นอาจกลับมาล่อลวงและควบคุมเราในรูปแบบที่แยบยลและเราเองก็คาดไม่ถึง เซย์เนพ ตูเฟคชี (Zeynep Tufekci) นักสังคมวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเซ็นเซอร์และผลกระทบทางสังคมของเทคโนโลยีประจำมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา อธิบายถึงปรากฏการณ์การถูกยิงแอดที่ตรงใจและสังคมดิสโทเปียที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกนำข้อมูลในสื่อออนไลน์ไปใช้เป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายตรงข้ามที่นำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่ยากจะบรรจบ เริ่มต้นจากการป้อนข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อให้เครื่องจักรเกิดการเรียนรู้ (Machine Learning) และสร้างชุดคำสั่งที่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเรามีจุดแข็งหรือจุดอ่อนอย่างไร กำลังสนใจอะไร คาดเดาความต้องการและพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของคน ๆ หนึ่งได้โดยที่มนุษย์เองก็ไม่อาจรู้ได้แน่ชัดอีกต่อไปว่าเครื่องจักรนั้นทำงานอย่างไร ในแง่หนึ่ง ข้อดีของมันก็คือความสะดวกสบายที่เราสามารถหาซื้อสินค้าและบริการได้อย่างตรงใจนึก แต่สิ่งที่แลกมากับการถูกสอดแนมชีวิตดิจิทัล (Digital Surveillance) โดยบริษัทสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังการส่งเสริมมันนั้น อาจจะกำลังคุมคามอิสรภาพและควบคุมจิตใจของเราได้อย่างไม่รู้ตัว

“เราไม่อาจรู้ได้อีกต่อไปว่ากำลังเห็นข้อมูลข่าวสารเดียวกันหรือไม่ หรือสิ่งที่คนอื่นเห็นเป็นอย่างไร และเมื่อปราศจากพื้นฐานข้อมูลข่าวสารร่วมกัน การอภิปรายโต้เถียงสาธารณะก็กำลังจะเป็นไปไม่ได้” ตูเฟคชีกล่าว โดยสิ่งที่เธอกังวลที่สุดก็คือ หากยังไม่มีมาตรการปกป้องข้อมูลส่วนตัวในโลกดิจิทัลที่ชัดเจนและยังไม่มีผู้ใดออกมาค้านอำนาจอันทรงพลังที่ยากจะมองเห็นจากการใช้ข้อมูลส่วนตัวมหาศาลของผู้คนสร้างประโยชน์โดยไม่ชอบแบบนี้ต่อไป ก็มีความเป็นไปได้ว่าเราจะต้องอยู่ในสังคมที่มีระบบอำนาจนิยมครอบงำ "นี่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ว่าเรากำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการสอดแนมตามแบบลัทธิอำนาจนิยมขึ้นมา เพียงเพื่อให้ผู้คนคลิกเข้าไปในโฆษณา… ถ้าลัทธิอำนาจนิยมแบบเดิมกำลังคุกคามและข่มขู่เรา ทุกคนก็จะตกใจกลัวและสุดท้ายเราก็จะต่อต้านมัน แต่ถ้าคนที่อยู่ในอำนาจนั้นกำลังใช้ชุดคำสั่งเพื่อเฝ้ามองดูเราอย่างเงียบ ๆ และโน้มน้าวเราทีละคน โดยการใช้จุดอ่อนและความเปราะบางส่วนตัวชักจูงเราผ่านทางหน้าจอ... อำนาจนิยมแบบนี้จะครอบงำเราไว้ราวกับใยแมงมุม และเราอาจไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเราอยู่ในนั้น”

ทางออกเรื่องนี้ไม่ง่าย การลบบัญชีผู้ใช้งานทิ้งไปอาจเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เพราะปัญหาจริง ๆ นั้นจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนที่โครงสร้างและแผนการธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยีและสังคมออนไลน์ใหม่ทั้งหมด  จารอน ลาเนียร์ (Jaron Lanier) นักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เริ่มต้นจากโฆษณาออนไลน์ไม่อาจเรียกได้ว่าโฆษณาอีกต่อไปหากเบื้องหลังของมันคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ รวมทั้งเครือข่ายทางสังคมที่เราใช้งานอยู่ก็ไม่ใช่ชุมชนออนไลน์อีกต่อไป แต่เป็นอาณาจักรแห่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavior Modification Empires) ในแง่ร้ายที่สุด เขายังเชื่ออีกว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์จะไม่อาจอยู่รอดได้หากเรายังไม่แก้ไขสิ่งนี้ เพราะแน่นอนว่า หากข้อมูลในชีวิตดิจิทัลของเรากำลังถูกสอดแนมและซื้อขายได้ไม่ต่างจากสินค้า ผู้ที่เป็นเจ้าของสินค้านั้นก็ย่อมสามารถทำอะไรกับมันก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่ทำลายมัน

©Unsplash/Sharon McCutcheon

Welcome to the Age of Surveillance Capitalism
ทุนนิยมสอดแนม (Surveillance Capitalism) คือสิ่งที่โชชานา ซูบอฟฟ์ (Shoshana Zuboff) นักจิตวิทยาสังคม นักปรัชญา ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และผู้เขียนหนังสือ “The Age of Surveillance Capitalism” ได้อธิบายถึงระบบทุนนิยมในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลส่วนตัวของเราจากการใช้บริการสืบค้นข้อมูลจากกูเกิล และข้อมูลการติดต่อสื่อสารและแสดงความรู้สึกผ่านสังคมออนไลน์ เช่นเฟซบุ๊ก กลายเป็นวัตถุดิบที่ได้มาฟรี ๆ และถูกซื้อขายเป็นสินค้า เพื่อนำมาวิเคราะห์และทำนายพฤติกรรมของมนุษย์ โดยตลาดที่ว่านี้สามารถสร้างผลกำไรได้หลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ สิ่งที่ซูบอฟฟ์ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นของทุนนิยมสอดแนมไว้อย่างน่าสนใจก็คือ “ตอนนี้เราเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ที่เกิดความไม่เท่าเทียมกันอย่างมากในเรื่องการเรียนรู้ พวกเขารู้เกี่ยวกับเรามากกว่าที่เรารู้เกี่ยวกับตัวเอง หรือมากกว่าที่เรารู้เกี่ยวกับพวกเขา รูปแบบใหม่ของความไม่เท่าเทียมทางสังคมเหล่านี้ เป็นการขัดขวางระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

 

ที่มาภาพเปิด : Unsplash/@ev

ที่มา:
บทความ "Interview: 'The Social Dilemma' Documentary Director Jeff Orlowski" จาก firstshowing.net
บทความ "The goal is to automate us: welcome to the age of surveillance capitalism" จาก theguardian.com
วิดีโอ "How we need to remake the internet" โดย Jaron Lanier จาก ted.com
วิดีโอ "We're building a dystopia just to make people click on ads" โดย Zeynep Tufekci จาก ted.com
สารคดี "The Great Hack" (2019) โดย Karim Amer และ Jehane Noujaim
สารคดี “Social Dilemma” (2020) โดย Jeff Orlowski

เรื่อง : วรรณเพ็ญ บุญเพ็ญ