คุณค่าของแพลตฟอร์มออนไลน์กับกลุ่มเยาวชน LGBTQ+
Technology & Innovation

คุณค่าของแพลตฟอร์มออนไลน์กับกลุ่มเยาวชน LGBTQ+

  • 25 Dec 2020
  • 1311

การเป็น Digital Native ของคนรุ่นใหม่มีส่วนช่วยให้กลุ่มเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) สามารถเข้าถึงความรู้และคำแนะนำการใช้ชีวิตในทางเลือกที่ตัวเองต้องการ อีกทั้งยังสามารถแชร์เรื่องราวของตัวเองเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจและความกล้าให้กับคนรุ่นเดียวกันทั่วโลกได้ 

ยูทูบเบอร์อย่างเชลลา แมน (Chella Man) ชายข้ามเพศผู้พิการทางการได้ยินวัย 22 ปี มีอาชีพเป็นทั้งนักแสดง นายแบบ และศิลปิน รวมทั้งยังเป็นกระบอกเสียงของคนข้ามเพศและผู้พิการ แมนสูญเสียการได้ยินตั้งแต่อายุได้ 4 ขวบ และได้รับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมถึงสองครั้งในชีวิต ตลอดมาเขาต้องเผชิญกับภาวะทุกข์ใจในเพศสภาพ (Gender Dysphoria) จนกระทั่งปี 2017 เขาตัดสินใจเริ่มต้นกระบวนการเปลี่ยนเพศ (Transition) เป็นผู้ชาย ตั้งแต่การผ่าตัดหน้าอก การใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ และได้บันทึกการเปลี่ยนแปลงของร่างกายผ่านโซเชียลมีเดียเป็นประจำ ปัจจุบันเชลลา แมน มีผู้ติดตามบนยูทูป 260,000 คน และ อินสตาแกรมถึง 460,000 คน เขายังได้รับบทในซีรีส์ Titans ของค่ายดีซีคอมมิค ในบทบาทเจริโก (Jericho) ซูเปอร์ฮีโร่ผู้เป็นใบ้ ไม่เพียงแค่แมน แต่กลุ่มคนข้ามเพศทั้งวัยมิลเลนเนียลและเจนซีต่างก็ใช้ยูทูบเพื่อแสดงตัวตนและชีวิตประจำวันของตัวเอง ทั้ง เจมี เรเนส (Jamie Raines) และ สเตฟ ซานจาติ (Stef Sanjati) ที่ขึ้นแท่นเป็นอินฟลูเอนเซอร์มีผู้ติดตามมากมาย 

สำนักวิจัยพิว (Pew Research Center) เผยว่าในปี 2018 กว่า 85% ของ วัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 13-17 ปี เข้าใช้ยูทูบเป็นประจำ ประกอบกับช่องทางดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการรวบรวมเนื้อหาที่มีความหลากหลาย รวมถึงเนื้อหาที่ผลิตจากคนข้ามเพศที่ต้องการแบ่งปันความรู้ ให้กำลังใจ บอกเล่าชีวิตและประสบการณ์ส่วนตัว จนถึงการแนะนำเรื่องการแปลงเพศที่ถูกต้องให้กับผู้ที่สนใจเหมือน ๆ กัน ทำให้ยูทูบกลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเยาวชนที่อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ขาดคนคอยให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความวิตกกังวล ซึมเศร้า และอาจถึงขึ้นทำร้ายตนเอง

เช่นเดียวกับ TikTok อีกแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นเจนซีมากที่สุด TikTok เป็นเสมือนพื้นที่ในการปลดปล่อยและเปิดเผยเพศสภาพได้อย่างเป็นอิสระ เช่น เทรนด์การเปิดตัว (Coming Out) ถึงรสนิยมทางเพศของตัวเองให้กับครอบครัวและเพื่อน ในรูปแบบของการร้องเพลงที่มีความหมายแทนความในใจ หรือการบันทึกวิดีโอวินาทีที่ตัวเองเปิดเผยตัวเองให้ผู้ปกครองรับทราบ ซึ่งเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ ความประหลาดใจ และโมเมนต์ดี ๆ ที่ชวนให้รู้สึกอบอุ่น

การได้รับคำปรึกษา มีพื้นที่ให้ปรับทุกข์ และได้รับการยอมรับจากสังคม นับเป็นส่วนสำคัญที่สามารถลดอัตราการฆ่าตัวตายในเยาวชนได้ รายงานจาก Trevor Project องค์กรป้องกันการฆ่าตัวตายในเยาวชนกลุ่ม LGBTQ+ เก็บข้อมูลวัยรุ่นอายุระหว่าง 13-24 ปี จำนวน 40,000 คน พบว่า 68% เป็นโรควิตกกังวล และ ถึง 40% เคยคิดถึงการฆ่าตัวตายอย่างจริงจัง ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ของการถูกปฏิเสธ การตกเป็นเหยื่อ และการถูกดูถูกเหยียดหยาม ที่ล้วนเป็นปัญหาจากภายนอก สภาพแวดล้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เยาวชนเหล่านี้มีชีวิตในแบบที่พวกเขาต้องการได้อย่างมีความสุข

ที่มาภาพ : unsplash/@deninlawley

ที่มา : 
บทความ “18 Things to Know About Chella Man” โดย Emily Burack จาก heyalma.com
บทความ “For Many Young Trans People, YouTube Is a Mentor” โดย Mary Retta
บทความ “Identity” จาก vice.com
บทความ “National Survey on LGBTQ Youth Mental Health 2020” โดย thetrevorproject.org
บทความ “Teens, Social Media & Technology 2018” โดย pewresearch.org

เรื่อง : นพกร คนไว