3D PRINTING X SKATEBOARD ตามมาดู SKATEBOARD สาย 3D PRINT กัน!
Technology & Innovation

3D PRINTING X SKATEBOARD ตามมาดู SKATEBOARD สาย 3D PRINT กัน!

  • 24 Mar 2021
  • 1477

การเล่นเซิร์ฟสเก็ต (Surf Skate) กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก แผ่นกระดานและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเล่นเซิร์ฟสเก็ตไม่เพียงราคาพุ่งทะยานติดจรวดยิ่งกว่าบิตคอยน์ แต่ถึงขั้นขาดตลาด หาซื้อยากยิ่งกว่าอะไรดี ในฐานะที่เราก็เป็นคนหนึ่งที่อยากเล่นแต่ก็หาซื้อมาเล่นไม่ได้เหมือนกัน เลยเกิดความคิดว่า ในเมื่อหาซื้อไม่ได้ก็ทำขึ้นมาเล่นเองเลยแล้วกัน 

ส่วนวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำเล่นเองนั้นก็คือ การพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เมื่อมองหาในอินเทอร์เน็ตอยู่นานก็ไม่พบคนพิมพ์เซิร์ฟสเก็ตออกมาเล่นกันตรง ๆ แต่ก็มีหลายคนที่ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ พิมพ์สเก็ตบอร์ดออกมาเล่นกันอยู่บ้าง ถ้างั้นลองตามมาดูงานพิมพ์ที่น่าสนใจและมีแนวโน้มจะเล่นได้จริงกัน 

3DNA Penny Board
3D Printer System: FDM

3DNA Penny Board พัฒนาขึ้นโดย ซิโมน ฟอนตานา (Simone Fontana) ซึ่งถูกพัฒนาต่อยอดไปจาก Penny Board โดยเฉพาะการพัฒนาให้ตัวบอร์ดมีน้ำหนักเบาและสามารถพิมพ์ได้จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติขนาดมาตรฐานทั่วไปได้ ด้วยการแยกบอร์ดออกมาเป็น 4 ชิ้น เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วจึงนำมาประกอบเข้าด้วยกัน 

อาจจะสงสัยใช่ไหมครับว่าแล้วการประกอบแบบนี้จะแข็งแรงหรือ...ต้องบอกว่าแข็งแรงครับ เพราะเป็นบอร์ดแบบเสริมเส้นเหล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6.4 มิลลิเมตร จำนวน 2 เส้น เสียบทะลุเสริมความแข็งแรงให้สามารถเล่นได้จริง แต่ก็มีข้อแนะนำว่าผู้เล่นจะต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 70 กิโลกรัม

3DNA Penny Board เป็นสเก็ตบอร์ดแบบ 22 นิ้วนะครับ ดังนั้นขนาดของมันจะเล็กมาก ไม่สามารถเอามาเล่นเป็นเซิร์ฟสเก็ตได้ แต่จากการที่ 3DNA Penny Board สามารถเล่นได้จริง ก็ทำให้เรามั่นใจยิ่งขึ้นว่า เครื่องพิมพ์ 3 มิติ จะต้องสามารถพิมพ์เซิร์ฟสเก็ตได้แน่ ๆ  

ที่มา : 3DNA Penny Board

Land Minnow Skate Board
3D Printing System: FDM

Land Minnow Skate Board พัฒนาขึ้นโดย John21 โดยแรงบันดาลใจมาจาก Penny Board เช่นกัน แต่ดัดแปลงให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจากชนิด 22 นิ้ว เป็นขนาด 23 นิ้ว เนื่องจากมีการเสริมหางปลาที่ท้ายบอร์ดซึ่งจะไม่มีใน Penny Board ชิ้นส่วนของ Land Minnow Skate Board มีเพียง 2 ชิ้นเท่านั้น ดังนั้นสำหรับใครที่สนใจจะพิมพ์เจ้า Land Minnow Skate Board ก็จะต้องมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่สามารถพิมพ์งานที่มีความสูงมากหน่อย โดยการประกอบ Land Minnow Skate Board จะต้องมีการเพิ่มวัสดุเสริมแรงเช่นกัน John21 เลือกใช้ฉากอลูมิเนียม (Angle Aluminum) จำนวน 4 เส้น ซึ่งทำให้สามารถรับน้ำหนักผู้เล่นได้ถึง 80 กิโลกรัมเลยทีเดียว 

ที่มา : Land Minnow Skate Board

MakerBot Design Series: The 3D printed Skateboard
3D printing System: FDM 

อีกหนึ่งบอร์ดที่ได้รับความนิยมอย่างมากคงหนีไม่พ้นของ MakerBot บริษัทที่ผลิตเครื่องพิมพ์ 3 มิติในราคาที่จับต้องได้เข้าสู่ตลาด และเป็นหนึ่งในบริษัทที่ผลักดันให้เกิดการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติอย่างแพร่หลายเช่นทุกวันนี้ 

MakerBot ได้มีการพัฒนาสเก็ตบอร์ดของตัวเองขึ้นมาเพื่อใช้ในการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเครื่องพิมพ์ 3 มิติขนาดใหญ่ของตัวเองที่ชื่อว่า MakerBot Replicator Z18 ที่สามารถพิมพ์วัตถุที่มีความสูงได้ถึง 18 นิ้ว จึงทำให้สเก็ตบอร์ดนี้ถูกพิมพ์ขึ้นมาทั้งชิ้นได้โดยไม่ต้องพิมพ์แยกส่วนเพื่อมาประกอบกันภายหลัง

พร้อมกันนี้ MakerBot ยังได้มีการนำเสนอวัสดุสำหรับพิมพ์ชิ้นงานชนิดใหม่ที่ชื่อว่า MakerBot Tough IMPLA ซึ่งมีความเหนียวและทนทานเป็นพิเศษ ทำให้สเก็ตบอร์ดที่ถูกพิมพ์ขึ้นจากวัสดุชนิดนี้มีความแข็งแรงสูง จึงไม่ต้องมีการเสริมแรงหรือแทรกเส้นโลหะเข้าไปในกระดาน ส่งผลให้สเก็ตบอร์ดจาก MakerBot ไม่เพียงสามารถใช้เล่นได้จริงแล้ว แต่ยังสามารถนำไปเล่นในลักษณะผาดโผนได้ด้วย 

ที่มา : MakerBot Design Series: The 3D Printed Skateboard

SummitID Industrial Design
3D Printing System: SLS

SummitID Industrial Design นำเสนอแนวคิดในการออกแบบสเก็ตบอร์ดสุดล้ำด้วยการใช้วิธีการที่เรียกกันว่า “Topology Optimization” ในการสร้างรูปทรงแผ่นกระดานสเก็ตบอร์ดซึ่งจะส่งผลให้ลักษณะของแผ่นกระดานมีความแปลกตา ดูแล้วคล้ายกับโครงสร้างของโครงกระดูกสิ่งมีชีวิต 

Topology Optimization คือการให้คอมพิวเตอร์คำนวณการรับแรงต่าง ๆ ที่กระทำกับสเก็ตบอร์ดแล้วสร้างรูปทรงโครงสร้างขึ้นมาเพื่อรับแรงนั้น ๆ ส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้มีการรับแรงหรือต้องรับน้ำหนักก็ให้เป็นที่ว่าง และใช้วัสดุที่เรียกว่า Laser Sintered Polyamide จึงส่งผลให้ลักษณะของวัตถุที่เกิดจากวิธีการนี้ เกิดเป็นรูปทรงที่มีความซับซ้อน ซึ่งจะต้องใช้วิธีการผลิตรูปแบบพิเศษเท่านั้นจึงจะสามารถผลิตออกมาได้ ในที่นี้ก็หมายถึงการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิตินั่นเอง อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าในตอนนี้ สเก็ตบอร์ดของ SummitID Industrial Design จะยังเป็นเพียงแค่ต้นแบบและไม่สามารถใช้เล่นได้จริง แต่ก็นับว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ สเก็ตบอร์ดชนิดนี้จะถูกพัฒนาต่อไปจนสามารถใช้เล่นจริงได้ในที่สุด

ที่มา : SummitID Industrial Design

ใครมีผลงาน 3D print Skateboard อื่นๆ ก็มาแชร์กันได้นะครับ เพราะในประเทศไทยเองก็มีบริษัท Septillion ที่นำเข้าเครื่อง BlackBelt 3D มาพิมพ์ Skateboard Deck ด้วยเหมือนกัน ถ้าใครสนใจอยากดูว่าเครื่องนี้พิมพ์หน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อพิมพ์แล้วจะใช้ได้จริงไหม ก็ลองติดต่อไปได้ที่ www.septillion.co.th

หรือแวะมาที่ FabCafe Bangkok ในวันเสาร์ที่ 3 เมษายน 2564 นี้กันได้ เพราะจะมีกิจกรรม Material Experiment for SURF SKATE ที่ FabCafe Bangkok ร่วมกับ Material Connexion Bangkok เปิดให้ผู้ที่สนใจช่วยกันนำเสนอวัสดุเข้ามาทดลองสร้างสรรค์เซิร์ฟสเก็ตด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยใครสนใจเข้าร่วมก็ยังสามารถเสนอวัสดุเข้ามาให้พิจารณากันได้จนถีงวันที่ 26 มีนาคมนี้ 

#CEA #FabCafeBangkok #FabCafeXTCDC #WhatdoyouFAB #Surfskate #deck #MTRL #Materialconnexionbangkok #septillion #skateboard

เรื่อง : ผศ. สมรรถพล ตามพันธุ์ FabCafe Bangkok