Big Data ของมณฑลซานตง สร้าง New Smart City ผ่านแอปพลิเคชัน ‘Love Shandong’
Technology & Innovation

Big Data ของมณฑลซานตง สร้าง New Smart City ผ่านแอปพลิเคชัน ‘Love Shandong’

  • 29 Mar 2021
  • 1798

มณฑลซานตงเป็นฐานอุตสาหกรรมทางตะวันออกของจีน และมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีมากมาย ได้สร้างสวนอุตสาหกรรมความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อดึงดูดความร่วมมือจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ให้เข้ามาตั้งศูนย์วิจัยและลงทุนธุรกิจเทคโนโลยี เช่น การผลิตข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตนวัตกรรมเพื่อยานยนต์อัจฉริยะ (IOVs-internet of vehicle) ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross-border e-commerce) การผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ การทำระบบค้าปลีกอัจฉริยะ (IoT smart retail) โดยบูรณาการเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น IoT, AI, Big data และตั้งเป้าหมายให้บริษัทที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี AI เกิดขึ้นกว่า 500 แห่งภายในปี 2022

โดยข่าวจากสำนักงานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) แห่งมณฑลซานตง เปิดเผยว่า ในปี 2021 นี้ รัฐบาลมณฑลซานตงได้ผลักดันการสร้างเมืองอัจฉริยะรูปแบบใหม่ (New smart city) ร่วมกับเขตเศรษฐกิจใหญ่ในมณฑลทั้ง 3 เขต ได้แก่ เขตเศรษฐกิจเมืองเอก เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก และเขตเศรษฐกิจภาคใต้ พร้อมกับอีก 16 เมืองภายในมณฑล โดยพัฒนาการประยุกต์ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ในการสร้างแพลตฟอร์มสั่งการแบบบูรณาการ และสร้างแอปพลิเคชัน “Love Shandong” (爱山东)ที่รวบรวมบริการจากภาครัฐบาลมณฑลซานตงในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต อย่างเช่น

บริการข้อมูล (Information service) เชื่อมต่อกับข้อมูลของรัฐ รวมทั้งประกันสุขภาพ ประกันสังคม การศึกษา อสังหาริมทรัพย์

บริการอำนวยความสะดวก (Convenience services) มีระบบการจ่ายเงินค่าสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าอินเทอร์เน็ต รวมถึงค่าประกันส่วนบุคคล ภาษี ค่าเทอม และค่าบริการทุกอย่างที่ประชาชนต้องใช้จ่าย

บริการโต้ตอบ (Interactive Service) มีระบบบริการให้คำปรึกษา ร้องเรียนบริการ และตอบแบบสอบถามที่เกี่ยวข้องกับเมือง

บริการส่วนบุคคล (Personal service) โดยแอปจะเชื่อมต่อกับระบบพิสูจน์ตัวตนของมณฑล เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานบริการขอเอกสารส่วนบุคคล ซึ่งแอปจะรวมบริการทั้งหมดไว้ในระบบเดียว โดยไม่จำเป็นต้องโหลดแอปพลิเคชันอื่นเพิ่ม


©vectorpouch/FeePix

Big data ขุมคลังสู่การเป็น Digital China
นับตั้งแต่จีนปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปีหลังเปิดประเทศ มีนโยบายพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีนในระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021- 2025) ที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น โดยก่อนหน้านี้ สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศจีน (CAICT) เผยตัวเลขเศรษฐกิจดิจิทัลจีนในปี 2018 ว่ามีมูลค่ารวม 31.3 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 135.41 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.9 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นร้อยละ 34.8 ของจีดีพีของทั้งประเทศ ทำให้เห็นได้ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว

การพัฒนาเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าเชิงบูรณาการของจีนเริ่มต้นมามากกว่า 5 ปีแล้ว โดยตั้งแต่ปี 2014 รัฐบาลกลางตั้งเป้าหมายรุกด้านเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจผู้พัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ จึงตั้งมณฑลกุ้ยโจวเป็นฐานการทดลองระบบเครือข่ายบิ๊กดาต้าครบวงจร และดึงบริษัทด้านธุรกิจเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งประเทศมาลงทุนในศูนย์ข้อมูลนี้ โดยเฉพาะ Big 3 ของวงการธุรกิจเทคโนโลยีอย่าง Alibaba เจ้าของอีคอมเมิร์ซชื่อดัง Taobao, TMall รวมทั้ง Alibaba Cloud Computing ผู้ให้บริการด้านจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ และแอปการเงิน Alipay


©upklyak/FeePix

Tencent Group ที่เติบโตจากแพลตฟอร์มแชตจนคุมตลาดโซเชียลมีเดีย อย่าง WeChat แอปแชตที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และธุรกิจเกมออนไลน์ชื่อดังอย่าง League of Legends และ Honor of King หรือ RoV โดยเทนเซนต์จะนำเสนอโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแบบใหม่ให้แก่องค์กรต่าง ๆ ในประเภทซอฟต์แวร์ คลาวด์คอมพิวติ้ง ปัญญาประดิษฐ์ และบริการด้านความปลอดภัยของบิ๊กดาต้าโดยมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านบริการของภาครัฐ การบริโภค บริการด้านการผลิต สุขภาพ ตลอดจนการปกป้องสิ่งแวดล้อม ไปสู่การเป็นเมืองดิจิทัล

และ Baidu ที่มุ่งมั่นจะเป็นผู้นำด้านการแข่งขัน AI ส่วนภาคการเงิน ไป่ตู้ร่วมกับธนาคารไชน่ากวงฟาไป่ตู้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาผู่ตงแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Pudong Development Bank) ไชน่า ยูเนี่ยนเพย์ (China UMS) และกลุ่มประกันภัยไท่คัง (Taikang Insurance Group) ร่วมกันพัฒนาระบบการเงินอัจฉริยะ หรือ Smart Finance

รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ ของจีนอีกมากมาย อาทิ Didi Chuxing เทคสตาร์ทอัพผู้เปิดบริการแอปเรียกรถแท็กซี่เริ่มแรกชื่อ Didi Dache (ตีตี ต่าเชอ แปลว่า เรียกรถแท็กซี่) จนกระทั่งสามารถเข้าซื้อกิจการ Uber China มาได้, Meituan-Dianping แอปส่งอาหาร, Huawei Group ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม และตั้งเป้าให้เกิด ‘จีนดิจิทัล’ (Digital China) โดยร่วมกับพาร์ทเนอร์ธุรกิจ เสนอการสร้างเมืองอัจฉริยะที่ครอบคลุมการนำไปใช้ในหลายภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา การขนส่ง การดูแลสุขภาพ พลังงาน โดยหัวเหว่ยได้พัฒนาไปกว่า 160 เมือง จาก 40 ประเทศทั่วโลกให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ ส่วนในจีนได้ออกแบบการสร้างเมืองอัจฉริยะขั้นสูงไปแล้วมากกว่า 60 เมือง อาทิ ปักกิ่ง เซินเจิ้น กุ้ยหลิน เป็นต้น


©FeePix

แม้บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะมุ่งเน้นไปในด้านธุรกิจที่ตนถนัดต่างกัน แต่สำหรับการลงทุนด้านบิ๊กดาต้านั้นมีส่วนร่วมเดียวกัน คือ การวางฐานข้อมูลขนาดใหญ่ซึ่งรวบรวมไปเพื่อใช้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวกับบิ๊กดาตาซึ่งธุรกิจเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาข้อมูลมหาศาลนี้ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ของจีดีพีเมืองกุ้ยโจว ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีจีน ยังตอกย้ำว่าจะมุ่งเน้นการพัฒนาใน 7 ด้านสำคัญ คือ พัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะในอุตสาหกรรมนวัตกรรม พัฒนาระบบอินเทอร์เน็ต 5G, พัฒนาคลาวด์คอมพิวติ้ง พัฒนาระบบดิจิทัลที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่การดำรงชีวิตของประชาชน ยกระดับภาคธุรกิจโดยพัฒนาระบบติดตามในการขนส่งโลจิสติกส์ ส่งเสริมการบริโภคสินค้าดิจิทัลในรูปแบบสินค้า AI สินค้าบันเทิง 3D และพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซ ระบบไลฟ์เพื่อขยายตลาดดิจิทัลให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเน้นสนับสนุนการค้าระดับบุคคล (C2C- Customer to Customer) ในภูมิภาค เพื่อช่วยลดปัญหาความยากจนให้แก่ประชาชนในประเทศ


©China Daily

ทั้งนี้ รายงานของบริษัทวิจัยตลาดไอดีซี (IDC) คาดการณ์ว่าจีนจะลงเงินสูงถึง 38.92 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.20 ล้านล้านบาท) ในโครงการริเริ่มด้านเมืองอัจฉริยะภายในปี 2023 โดยกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 5 ของเมืองในทั่วโลกที่ใช้งบลงทุนไปกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะมากที่สุด และยังคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า บรรดาเมืองอัจฉริยะจะมีความหลากหลายมากขึ้นด้วยเม็ดเงินทุนที่เติบโตอย่างรวดเร็วในด้านนวัตกรรมเพื่อยานยนต์อัจฉริยะ (IOVs) เทคโนโลยีจำลองวัตถุทางกายภาพเสมือนจริง (Digital Twin) รวมถึงการเปิดข้อมูลเสรี (Open Data)

บิ๊กดาต้าอาจจะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่กำลังกลมกลืนเข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนมากขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในสมาร์ทซิตี้ที่เทคโนโลยีดิจิทัลจากธุรกิจบิ๊กดาต้านั้นสร้างความสะดวกสบายให้แก่ชีวิตทุกด้าน และจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนจีนยุคใหม่รวมทั้งมนุษย์ทุกชาติในโลกไปสู่อนาคตด้วย

ที่มาภาพเปิด : Xinhua

ที่มา :
บทความ “มณฑลซานตงผลักดันการสร้างเมืองอัจฉริยะรูปแบบใหม่ (New Smart City)” จาก thaibizchina.com
บทความ “‘เศรษฐกิจดิจิทัลจีน’ เติบโตก้าวกระโดด สร้างโอกาสมหาศาล” จาก xinhuathai.com
บทความ “ความฝันเมืองอัจฉริยะของเทคโนโลยีประเทศจีน” โดย Greg Grigorian จาก pandaily.com
บทความ “บิ๊กดาต้าจะช่วยจัดสภาพอนาคตเศรษฐกิจจีนได้อย่างไร” โดย Jonathan Merry จาก scmp.com
บทความ “จีนผลักดันการสร้างศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่แห่งใหม่ทั่วประเทศเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของอุตสาหกรรม” จาก scmp.com
บทความ “ทำให้ทุกสิ่งง่ายขึ้นบนฝ่ามือ ด้วยการดาวน์โหลด ‘Love Shandong’ บทโทรศัพท์มือถือ” จาก daydaynews.cc

เรื่อง : ศิริกัญญา เลี้ยวรัศมี