The Secret of Paper ความลับของกระดาษ
Technology & Innovation

The Secret of Paper ความลับของกระดาษ

  • 02 Apr 2021
  • 2701

รู้หรือไม่ว่า "กระดาษ" ซ่อนความลับไว้มากกว่าที่เห็น...

เพราะกระดาษคือหนึ่งในวัสดุอมตะที่ไม่มีวันตาย ด้วยเสน่ห์เฉพาะตัวของกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของผิวสัมผัสที่มีความเฉพาะตัว กระบวนการผลิตอันละเอียดอ่อน รวมไปถึงการนำไปใช้งานได้หลากหลายในแทบทุกอุตสาหกรรม นี่เป็นเหตุผลเพียงส่วนหนึ่งว่า ทำไมกระดาษถึงเป็นวัสดุที่ยังคงได้รับความนิยมอยู่เสมอ

โดยทั่วไปกระดาษมีองค์ประกอบหลักร่วมกันคือ "เส้นใยเซลลูโลส" (Cellulose) ซึ่งเป็นเส้นใยที่ได้จากธรรมชาติ เป็นตัวแปรหลักที่ทำให้เกิดเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของกระดาษ ทั้งด้านความแข็งแรง ความเรียบ การซึมผ่าน และความโปร่งแสง รวมไปถึงหลักการพื้นฐานของการผลิตกระดาษนั้น ไม่ว่าจะเป็นกระดาษทำมือหรือในเชิงอุตสาหกรรม ที่จะประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ 1) เตรียมเยื่อหรือเส้นใยที่ได้จากพืชตีกระจายในน้ำ 2) ขึ้นรูปเป็นแผ่นกรองน้ำออกแต่ให้เส้นใยมีความกระจายตัวสม่ำเสมอ 3) ทำให้แห้ง 

ด้วยการใช้เส้นใยจากธรรมชาติ จึงทำให้กระดาษแต่ละท้องถิ่นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไปตามชนิดของพืชที่ถูกนำมาใช้ เช่น ไม้เนื้ออ่อนอย่างต้นสนจะมีเส้นใยที่มีขนาดยาวและลักษณะเรียวแหลมกว่า จึงส่งผลให้มีความแข็งแรงมากกว่าเส้นใยสั้นที่ได้จากไม้เนื้อแข็งอย่างต้นยูคาลิปตัส แต่ถึงแม้ว่ากระดาษที่ผลิตด้วยเส้นใยที่มีขนาดสั้นจะไม่แข็งแรง แต่กลับให้ผิวหน้าที่มีความเรียบมากกว่าเส้นใยยาว และนี่คือเคล็ดลับแรกที่ช่างทำกระดาษได้ซ่อนไว้ในการใช้งานกระดาษแต่ละประเภท แต่ทว่านอกจากเรื่องของชนิดเส้นใยแล้ว กระดาษกลับซ่อนไปด้วยสิ่งต่าง ๆ อีกมากมาย แทบเรียกได้ว่าการผลิตกระดาษนั้นคล้ายกับการปรุงอาหารที่ต้องการความเอาใจใส่ในแทบทุกขั้นตอน ทั้งการคัดเลือกวัตถุดิบที่เหมาะสม อัตราส่วนที่ใช้ รวมไปถึงเทคนิคตั้งแต่การเตรียมเส้นใยจนถึงขั้นตอนการตากแห้งที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะประเภท “กระดาษทำมือ หรือ Handmade Paper” ที่ต้องใช้ทักษะและความละเอียดอ่อนของช่างฝีมือในกระบวนการผลิต จากกรรมวิธีที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่นภายในครอบครัว การเชื่อมโยงจิตวิญญาณเข้ากับกระดาษ ความงดงามที่เครื่องจักรไม่สามารถทดแทนได้ ร่วมกับการใช้ประโยชน์จากพืชพื้นถิ่น ส่งผลให้กระดาษที่ผลิตได้นอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังมีคุณค่าต่อจิตใจทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้งานอีกด้วย ดังเช่นเรื่องราวในนิทรรศการ "PAPER BLOG: บันทึกที่ยังไม่สิ้นสุดของกระดาษทำมือ" ที่นำเสนอเรื่องราวของกระดาษทำมือ และมุมมองของช่างกระดาษมากฝีมือทั้งสองท่านในพื้นที่ภาคเหนือของไทย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่พร้อมด้วยพืชพรรณและลุ่มน้ำสายหลักที่ไหลพัดผ่านจากประเทศจีนและสหภาพเมียนมาร์ ที่นอกจากจะนำพาความอุดมสมบูรณ์แล้ว ก็ยังพัดพาวัฒนธรรมล้านนาเข้ามาหล่อหลอมเกิดเป็นวิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณี ในการใช้งานหัตถกรรมจากกระดาษทำมืออย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เช่น ร่มบ่อสร้าง โคมยี่เป็ง ตุงล้านนา ด้วยความแข็งแรงเฉพาะตัวของเส้นใยจากพืชเฉพาะถิ่นอย่างต้นปอสา สนสามใบ ปอแก้ว ข่อย รวมไปถึงไผ่ ผสมผสานเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดเป็นผลงานศิลปะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ในชุมชน 

ภายในนิทรรศการจะเห็นถึงการปรับตัวของศิลปินในการประยุกต์ใช้เทคนิคดั้งเดิมบวกกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับกระดาษทำมือ ไม่ว่าจะเป็นการทดลองปรับอัตราส่วนเส้นใยที่ใช้ การผสมผสานวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร โดยยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของกระดาษทำมือประจำภูมิภาคที่เต็มไปด้วยคุณค่าและความงดงาม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการยกระดับกระดาษทำมือสัญชาติไทยสู่มาตรฐานสากล

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ "PAPER BLOG: บันทึกที่ยังไม่สิ้นสุดของกระดาษทำมือ" ได้ในระหว่างวันที่ 16 มีนาคม - 25 เมษายน 2564 ตั้งแต่เวลา 10:30 - 19:00 น. เปิดบริการวันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) ที่ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ ชั้น 2 และ Creative Space ชั้น 5, TCDC กรุงเทพฯ 

เรื่อง : มนต์นภา พานิชเกรียงไกร