ข้อมูลทางภูมิศาสตร์รักษาธรรมชาติได้อย่างไร
Technology & Innovation

ข้อมูลทางภูมิศาสตร์รักษาธรรมชาติได้อย่างไร

  • 02 Apr 2021
  • 1331

การสร้างชุดข้อมูลเชิงลึกด้านภูมิศาสตร์จะช่วยให้ธุรกิจคาดการณ์และแก้ปัญหาเฉพาะทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ (Location Intelligence) ที่อาศัยการสร้างชุดข้อมูลด้วยเครื่องมือหลายประเภท เช่น ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ GIS  ข้อมูลประชากร การจราจร อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย เพื่อประกอบกันเป็นข้อมูลแผนที่ที่แสดงความสัมพันธ์ของชุดข้อมูลได้อย่างชัดเจนนั้น นอกจากเป็นประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว ก็ยังช่วยประเมินความสูญเสียและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้ดังตัวอย่างเหล่านี้อีกด้วย


©esri.com

สำรวจทุกซอกมุมของมหาสมุทร
การเข้าใจโลกใต้ท้องทะเลอาจไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เมื่อบริษัทอีเอสอาร์ไอ (Esri) ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้าน GIS ที่ได้พัฒนาแผนที่สามมิติ Ecological Marine Units (EMUs) ขึ้นเพื่อช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานและเข้าใจความสัมพันธ์ทางกายภาพของมหาสมุทรได้ลึกถึงเขตอบิสโซเพลาจิก (Abyssopelagic Zone) ที่ระดับน้ำลึกกว่า 4,000 เมตร ทั้งยังสามารถแสดงผลด้านอุณหภูมิ ความเค็ม ระดับออกซิเจนในท้องทะเลทั่วโลก โดยมีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับองค์กรที่มีพันธกิจในด้านการรักษาระบบนิเวศทางทะเล การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ และการประมงแบบยั่งยืน ให้เข้าใช้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชันได้อย่างสะดวก โดย ดอว์น ไรต์ (Dawn Wright) นักภูมิศาสตร์และสมุทรศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ของบริษัทอีเอสอาร์ไอ กล่าวว่า “ข้อมูลทางภูมิศาสตร์จะช่วยให้เรามองเห็นความซับซ้อนของท้องทะเลได้อย่างถูกต้อง” 


©natureserve.org

ต่อชีวิตให้สัตว์ใกล้สูญพันธ์
Map of Biodiversity Importance (MOBI) เป็นผลงานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ชื่อ NatureServe ซึ่งได้สร้างรูปแบบแผนที่ที่แสดงบริเวณวิกฤตของแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชที่ใกล้จะสูญพันธ์ไว้กว่า 2,216 ชนิด ด้วยความช่วยเหลือในด้านทรัพยากรและความเชี่ยวชาญจากโครงการ AI for Earth ของบริษัทไมโครซอฟท์ บริษัทอีเอสอาร์ไอ และองค์กร The Nature Conservancy พร้อมด้วยระบบ Machine Learning ทำให้ MOBI สามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำนายวิวัฒนาการของระบบนิเวศอันจะช่วยให้การคาดการณ์ความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่เสี่ยงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 


©chengetawildlife.org

พิทักษ์ป่าด้วยแผนที่อัจฉริยะ
ผลกระทบที่เราอาจคาดไม่ถึงของการระบาดของโควิด-19 ก็คือจำนวนการรุกล้ำพื้นที่ป่าและการล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมายที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถลาดตระเวนได้ทั่วถึง จนส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโดยเฉพาะในเขตสาธารณรัฐแอฟริกากลาง แคเมอรูน คองโก มาลี และบูร์กินาฟาโซ องค์กร Chengeta Wildlife จึงได้พัฒนาการการเก็บข้อมูลเชิงแผนที่เพื่อใช้แก้ปัญหาการล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย ที่เริ่มจากการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ให้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ตรวจสอบพื้นที่ และแกะรอยการตั้งแคมป์และล่าสัตว์ของเหล่านายพรานผิดกฎหมาย จากนั้นจึงนำข้อมูลส่งต่อแก่ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างแผนที่เพื่อคาดการณ์การล่าสัตว์ในอนาคต แผนที่นี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น


©unsplash/@she_sees

เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างปลอดภัย
ผลกระทบของปรากฏการณ์ทะเลกรดที่เกิดจากมหาสมุทรดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศจนเกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำทะเล ส่งผลให้ค่า pH ของน้ำทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้น และเป็นปัญหาหลักของการทำฟาร์มประมง ทำให้บริษัท Taylor Shellfish Farms หนึ่งในฟาร์มหอยรายใหญ่ของอเมริกาได้พัฒนาการเก็บข้อมูลแบบ Location Intelligence เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการสูญเสียของฟาร์มหอยนางรมจากความเป็นกรดของน้ำทะเล โดยสร้างระบบติดตามหอยในแต่ละฟาร์มเพื่อให้สามารถสังเกตสุขภาพของหอยที่กำลังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และยังติดตั้งตัววัดค่ากรดของน้ำทะเลที่สูบขึ้นไปเลี้ยงหอยให้มีค่าความเป็นกลางอยู่เสมออีกด้วย 

รักษาความยั่งยืนให้แนวประการังแคริบเบียน
ประชากรกว่า 44 ล้านคนที่อาศัยในประเทศและหมู่เกาะแคริบเบียนต่างมีชีวิตประจำวันที่สอดคล้องไปกับทะเล กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับแนวประการังสร้างรายได้ให้กับผู้คนในภูมิภาคนี้ถึง 7.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี อย่างไรก็ตาม ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แนวประการังในแถบทะเลแคริบเบียนได้ลดลงกว่า 60% จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่การรักษาแนวประการังจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม The Nature Conservancy จึงได้ร่วมมือกับ Arizona State University Center for Global Discovery and Conservation Science (ASU GDCS) และบริษัท Planet Labs สร้างแผนที่คุณภาพสูงที่เก็บบันทึกภาพถ่ายแนวประการังในทะเลแคริบเบียนไว้กว่า 38,000 รูป ทั้งภาพถ่ายจากเครื่องบิน โดรน และภาพถ่ายใต้น้ำ เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวกับข้องได้เห็นข้อมูลของแนวประการังและใช้ประกอบการตัดสินในการทำธุรกิจประมงหรือท่องเที่ยว ตลอดจนการประเมินพื้นที่เพื่อการฟื้นฟูแนวประการัง และเป็นข้อมูลในการศึกษาเพื่อนำความยั่งยืนของระบบนิเวศทางทะเลกลับมาอีกครั้ง

การมีชุดข้อมูลเชิงลึกทางด้านภูมิศาสตร์สามารถสร้างประโยชน์อย่างมหาศาลให้แก่การฟื้นฟูและรักษาระบบนิเวศที่ไม่เพียงเป็นประโยชน์ในด้านสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังช่วยคาดการณ์การเติบโตของระบบเศรษฐกิจได้ด้วย ในอนาคตเราอาจได้เห็นเทคโนโลยีที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้นที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถรักษาพื้นที่ทางธรรมชาติหรือระบบนิเวศให้ยั่งยืน ไปพร้อมกับความชาญฉลาดในการนำข้อมูลมาใช้เพื่อขยายการเติบโตของเศรษฐกิจระดับโลก

ที่มาภาพเปิด : unsplash/@spacex

ที่มา :
บทความ “Chengeta Wildlife Wields Location Intelligence to Fight Poachers” โดย David Gadsden จาก esri.com
บทความ “Five Myths about Location Intelligence” โดย Matthew Lewin จาก esri.com
บทความ “From Constellation to Coral Reefs” จาก nature.org
บทความ “Mapping the deep: A new age of exploration” โดย Dawn Wright จาก greenbiz.com
บทความ “New Map Sets Framework for Describing Ocean Ecology in Unprecedented Detail” โดย Esri Insider จาก esri.com
บทความ “The Nature Conservancy Publishes First-Ever Detailed Maps of All Caribbean Coral Reefs” จาก esri.com
บทความ “The Map of Biodiversity Importance” โดย Esri Insider จาก natureserve.org
บทความ “Tracing Each Oyster from Tide to Table” โดย Caitlyn Raines จาก esri.com

เรื่อง : นพกร คนไว