Clean Energy for Life
หากถามว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลก เราจะนึกถึง “น้ำ” เพราะน้ำถือเป็นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด มนุษย์เราจึงตื่นเต้นทุกครั้งที่พบเจอน้ำ หรือแม้แต่ร่องรอยการมีอยู่ของมันบนดาวเคราะห์อื่น
แต่ถ้าถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ สรรพสิ่ง ซึ่งรวมทั้งสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิตดำรงอยู่ได้ สิ่งนั้นก็ควรจะเป็น “พลังงาน”
13,000 ล้านปีก่อน เอกภพอันแสนกว้างใหญ่จนเกินจินตนาการ กำเนิดขึ้นจากการระเบิดครั้งใหญ่ของจุดที่เล็กกว่าอะตอมหรือที่เรียกว่า “บิกแบง” เมื่อนั้นพลังงานทุกอย่างควบรวมเปลี่ยนเป็นอะตอม ก่อร่างเป็นสสาร รวมกันเป็นดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ น้อยใหญ่ กระจายตัวไปทั่วจักรวาล พลังงานทั้งหมดถูกซุกซ่อนอยู่ในทุกตารางนิ้วของเอกภพ
ดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลกก็เริ่มก่อร่างขึ้นมาในตอนนั้น จากดาวเคราะห์หินร้อน ๆ ที่ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ ซึ่งยังคงปล่อยพลังงานต่อเนื่องจากปฏิกิริยาฟิวชัน และด้วยระยะห่างที่เหมาะสมของดาวทั้งสองดวง โลกค่อย ๆ เย็นตัวลง จนมีอุณหภูมิพอเหมาะที่จะก่อเกิดสิ่งมีชีวิต น้ำ และชั้นบรรยากาศ
สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวในยุคแรกสามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นพลังงานของตัวเอง ขยายเซลล์ด้วยการจับเอาคาร์บอนในอากาศมาเป็นองค์ประกอบในตัว ดำรงชีวิตและตายลงตามกาลเวลา ซึ่งความสามารถนี้ถูกส่งต่อมายังสิ่งมีชีวิตยุคหลัง
©Chris Barbali/Unsplash
จากพลังงานแสงอาทิตย์สู่ความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุดของมนุษย์
กว่า 4.500 ล้านปีของอายุขัยโลก สิ่งมีชีวิตชนิดแล้วชนิดเล่าต่างวิวัฒนาการ เปลี่ยนแปลง ผ่านการขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ คงไว้แต่ซากของพวกมันที่เก็บกักไว้ซึ่งคาร์บอนมหาศาล ทับถมอยู่ในชั้นดินของเปลือกโลก
จนกระทั่งการเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์โฮโมเซเปียน ที่รู้จักการนำพลังงานที่อยู่ในธรรมชาติมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอาจใช้เพียงพลังงานจากแสงอาทิตย์หรือจากอาหารที่กินเข้าไปเพื่อเคลื่อนไหวอวัยวะของตน แต่มนุษย์สามารถนำสิ่งรอบตัวมาเปลี่ยนเป็นพลังงานเพื่อใช้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่การนำกิ่งไม้มาเผาฟืน เป็นพลังงานความร้อนหุงอาหาร การทำกังหันน้ำเพื่อแปลงพลังงานน้ำมาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น โรงเลื่อยไม้ โรงสี หรือโรงตีเหล็ก ไปจนถึงเรือสำเภาการค้าที่แล่นไปทั่วโลกด้วยพลังงานของลม
ในช่วงศตวรรษที่ 18 อุตสาหกรรมการล่าวาฬกลายเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลก เพราะน้ำมันของพวกมันสามารถนำมาจุดตะเกียงส่องสว่างได้ยาวนานและไม่มีควัน ไขมันบริเวณหัวของวาฬสเปิร์มที่เรียกว่า Spermaceti กลายเป็นแหล่งพลังงานของตะเกียงส่องสว่างทั่วโลก จวบจนการมาถึงของยุคตื่นน้ำมันกลางศตวรรษที่ 18
©Grant Durr/Unsplash
ทองคำสีดำ...จากมูลค่าสู่ภาระของโลก
การค้นพบของเหลวสีดำนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของพลังงาน น้ำมันดิบที่มีองค์ประกอบซับซ้อนของไฮโดรคาร์บอนเกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์นับล้านปี แน่นอนว่าความบริสุทธิ์ของมันไม่สามารถสู้กับไขมันวาฬได้ แต่เมื่อมนุษย์รู้จักการกลั่นน้ำมัน ทำให้ปิโตรเลียมสามารถใช้ทดแทนพลังงานทุกอย่างที่กล่าวมาข้างตนได้อย่างหมดจด
ตัวเลขการขุดเจาะน้ำมันจาก 2 พันบาเรลต่อวันในปี 1859 กลายเป็น 100 ล้านบาเรลต่อวันในปี 2019 ปริมาณการบริโภคที่เพิ่มขึ้นหลายล้านเท่าตัวนี้มาพร้อมกับความเจริญที่ก้าวกระโดดของมนุษยชาติ น้ำมันดิบนำมาซึ่งความร้อน ความเย็น แสงสว่าง ไฟฟ้า เครื่องจักรไอน้ำ การเดินทาง ยานอวกาศ และทุกอย่างที่มนุษย์สามารถจินตนาการถึง
หากในอดีตเรามีสติเพียงพอ พวกเราคงตั้งคำถามตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า น้ำมันหลายล้านบาเรลต่อวันเหล่านั้น เมื่อเผาไหม้เป็นพลังงานแล้วจะทิ้งอะไรเอาไว้ แล้วสิ่งนั้นจะส่งผลกระทบอะไรตามมา น่าเสียดาย ที่กว่าเราจะเริ่มตั้งคำถาม ผลกระทบก็มาอยู่ตรงหน้าเราแล้ว
เช้าวันหนึ่ง ในปี 1943 ที่เมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา หมอกควันจำนวนมากปกคลุมทั่วท้องฟ้าของเมือง ยอดตึกไม่สามารถถูกมองเห็น เมื่อยังอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ประชาชนจึงต่างคิดว่าเป็นฝีมือของทหารญี่ปุ่นที่โจมตีด้วยก๊าซพิษ แต่หารู้ไม่ว่าหมอกควันเหล่านั้นเป็นฝีมือพวกเขาเอง รถยนต์ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวประกอบกับภูมิประเทศ ทำให้แอลเอกลายเป็นเมืองของหมอกควันมาอีกหลายทศวรรษ ไม่ต่างอะไรกับภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การพัฒนาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ซึ่งตามมาด้วยปัญหามลพิษที่หนักข้อขึ้น เกิดการรณรงค์ประท้วงเพื่อเรียกร้องอากาศสะอาดทั่วประเทศ จนกระทั่งในปี 1963 กฎหมาย Clean Air Act ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้านอากาศฉบับแรกของโลกจึงถูกประกาศใช้ แรงกระเพื่อมด้านสิ่งแวดล้อมยังคงส่งผลต่อเนื่อง และตามมาด้วยการประกาศให้วันที่ 22 เมษายน ของทุกปีเป็นวันคุ้มครองโลก (Earth Day) มาตั้งแต่ปี 1970
©Sippakorn/unsplash.com
แม้ว่าการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมจะได้ผล มีการค้นพบอันตรายและทำการแบนสารเคมีอันตรายหลายชนิดที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม เช่น สาร CFCs ในเครื่องทำความเย็น สารตะกั่วในน้ำมันเชื้อเพลิง สาร DDT และ PCBs ในอุตสาหกรรมเคมี แต่ก็ยังมีโมเลกุลพื้นฐานเล็ก ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่มีความอันตรายอะไร พวกมันเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อให้พลังงาน สิ่งนั่นก็คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นแปรผันตรงกับปริมาณการผลิตปิโตรเลียม ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 1800 อยู่ที่ 290 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ในขณะที่ในปี 1970 อยู่ที่ 325 ppm และในปี 2021 นี้อยู่ที่ 416 ppm ตัวเลขเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่ต่างกันมาก แต่หากเราลองพล็อตกราฟค่าคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ จะพบว่าค่าสูงสุดตลอด 8 แสนปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 300 ppm เท่านั้นเอง
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เข้มข้นมากขึ้น ทำหน้าที่เหมือนเรือนกระจกเก็บกักความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ควรจะถูกสะท้อนออกไปนอกโลก ให้ยังอยู่ในพื้นผิวโลก ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาโลกร้อน (Global Warming) และตามมาด้วย โลกรวน (Climate Change) แม้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นจะมีส่วนหนึ่งที่มาจากการทำลายธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเล หรือการปศุสัตว์ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตัวแปรสำคัญที่จะต้องหยุดให้ได้เช่นกันคือ การใช้พลังงานฟอสซิลของมนุษย์ และนั่นจึงเป็นที่มาของ พลังงานสะอาด
©Science in HD/Unsplash
พลังงานสะอาดเพื่อชีวิต
พลังงานสะอาด (Clean Energy) พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) หรือพลังงานทดแทน อาจมีคำนิยามที่ใกล้เคียงกัน แต่โดยหลักการแล้ว หมายถึงพลังงานที่ไม่มีวันหมด และเมื่อเรานำมาใช้แล้วไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใด ๆ เพิ่มขึ้นให้กับโลกอีก ซึ่งจะเป็นแบบนั้นได้ ก็ต้องเป็นพลังงานที่มีอยู่แล้วโดยเราไม่ต้องขวนขวายใด ๆ
แสงอาทิตย์เป็นพลังงานชนิดแรกที่เราทุกคนจะนึกถึงหากพูดถึงพลังงานสะอาด และเป็นทรัพยากรธรรมชาติเพียงชนิดเดียวของโลกใบนี้ที่ไม่มีวันหมด เหมือนกับคำพูดที่เรามักให้กำลังใจกันว่า ไม่ว่าอย่างไร พรุ่งนี้พระอาทิตย์ก็ยังขึ้นทางทิศตะวันออกเสมอ
เพราะนอกจากความสม่ำเสมอตรงต่อเวลาของดวงอาทิตย์แล้ว พลังงานที่ดวงอาทิตย์ส่งมายังโลกในแต่ละวันยังมีปริมาณมากจนไม่อาจใช้ได้หมด ในแต่ละชั่วโมงแสงอาทิตย์ที่ตกมาถึงผิวโลกมีค่าเท่ากับ 173,000 เทระวัตต์ต่อชั่วโมง (TWh) ในขณะที่มนุษย์ทั้งโลกบริโภคพลังงานตลอดทั้งปีประมาณ 160,000 TWh พูดง่าย ๆ คือ พลังงานแสงอาทิตย์แค่ชั่วโมงเดียว เพียงพอให้มนุษย์ใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตลอดทั้งปีและยังมีเหลือ ๆ อีกด้วย
แต่ต้องไม่ลืมว่าความท้าทายไม่ได้อยู่ที่ปริมาณของพลังงาน แต่อยู่ที่การจะเก็บเกี่ยวมาใช้ว่าจะได้มากน้อยแค่ไหนต่างหาก เพราะตลอดเวลา 130 ปีของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ การเปลี่ยนพลังงานแสงแดดเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือที่เรารู้จักกันในรูปของ “แผงโซลาร์เซลล์” นั้น ปัจจุบันมีความสามารถในการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุดเพียง 20 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่นวัตกรรมของแผงโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่ถูกพัฒนาไปในเชิงของรูปแบบ ทั้งการเปลี่ยนเป็นแผ่นกระเบื้องหลังคาที่เป็นโซลาร์เซลล์ไปในตัวของ Tesla ซึ่งมองแทบไม่ออกว่าคือแผงโซลาร์เซลล์ หรือการพัฒนาโซลาร์เซลล์ให้เหลือเพียงแผ่นกระดาษบาง ๆ เพื่อให้ติดตั้งได้ทุกที่อันเป็นนวัตกรรมของ Google
©American Public Power Association/Unsplash.com
ปัจจุบัน ความคุ้มค่าของการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปแล้ว เพราะราคาต่อวัตต์ลดลงจาก 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัตต์ ในปี 1975 เหลือเพียง 1.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัตต์ในปี 2020 แต่การหาพื้นที่ติดตั้งต่างหากที่เป็นอุปสรรค พื้นที่หนึ่งที่เหมาะกับการการวางแผงโซลาร์เซลล์และแทบจะไม่ส่งผลกระทบอะไรกับสิ่งแวดล้อมก็คือบริเวณผิวน้ำนิ่ง ซึ่งในประเทศไทยเอง โปรเจ็กต์โซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่เขื่อนสิรินธรก็ใกล้จะใช้งานได้แล้วในเดือนมิถุนายนปี 2021 นี้
หากแต่ในบางพื้นที่ แสงอาทิตย์ไม่ใช่สิ่งที่จะพบเห็นได้ทุกวัน ที่อังกฤษ ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องอากาศแปรปรวน วันที่คนอังกฤษได้เห็นแสงอาทิตย์จึงพิเศษกว่าวันอื่น ๆ ทางเลือกพลังงานแสงอาทิตย์จึงไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก แต่คือพลังงานลม (Wind Power) ต่างหากที่มีอย่างเหลือเฟือ อังกฤษจึงมีกังหันลมมากกว่าโซลาร์เซลล์ และผลิตไฟฟ้าได้ใกล้เคียงกับพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน คาดว่าพลังงานลมและแซงหน้าพลังงานฟอสซิลในเวลาไม่ถึง 10 ปีต่อจากนี้ ส่วนหลายประเทศในทวีปยุโรปก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน
©facebook.com/vortexbladeless
ปัญหาหลักของกังหันลมผลิตไฟฟ้าคือ การใช้พื้นที่ ซึ่งกังหันลมขนาด 2 เมกะวัตต์ 1 ต้นจะต้องใช้พื้นที่ประมาณ 3.75 ไร่ ทำให้กังหันลมส่วนใหญ่ต้องตั้งอยู่ในบริเวณห่างไกล ใกล้เขตป่าไม้ หรือตั้งกลางมหาสมุทร Vortex Blandeless สตาร์ตอัพจากสเปน จึงมีแนวคิดว่ากังหันลมไม่จำเป็นจะต้องมีใบพัดเสมอไป จึงได้ออกแบบกังหันลมไร้ใบพัดขึ้น ซึ่งหลักการทำงานคือเมื่อลมกระทบกังหันจะเกิดการสั่นสะเทือนให้แท่งกังหันโยกไปมา แล้วทำการหมุนแม่เหล็กผ่านแกนขดลวดเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งขดลวดจะวางแนวตั้ง ต่างจากกังหันลมทั่วไปที่วางแนวนอน ผู้คิดค้นบอกว่ากังหันลมแนวตั้งนี้ นอกจากจะมีประโยชน์ช่วยประหยัดพื้นที่แล้ว ต้นทุนการดูแลรักษายังต่ำกว่า เพราะมีส่วนที่เคลื่อนไหวหรือต้องการน้ำมันหล่อลื่นน้อย และยังอ่อนไหวต่อลมเพียงเล็กน้อยอีกด้วย
อีกไอเดียของกังหันลมที่คล้าย ๆ กันอยู่ที่ ประเทศตุรกี เมื่อสามนักประดิษฐ์หนุ่มมองเห็นพลังงานลมที่เกิดจากการสัญจรไปมาของรถ พวกเขาจึงคิดกังหันลมแนวตั้งที่ชื่อว่า Enril เพื่อจับเอาลมที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของรถยนต์โดยเฉพาะถนนไฮเวย์ซึ่งรถวิ่งเร็วและมีกระแสลมแรง โดยกังหันนี้สามารถนำไปติดกับเสาไฟกลางถนนได้ด้วย
©cadalyst.com
นอกจากพลังงานลมแล้ว พลังงานจากน้ำ (Hydropower) ก็มีต้นกำเนิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเช่นเดียวกัน ลมเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของสองพื้นที่ไม่เท่ากัน คลื่นก็เกิดจากการพัดพาของลมและกระแสน้ำที่อุณหภูมิต่างกัน ในขณะที่ฤดูกาลก่อเป็นเมฆฝนตกลงมาบนพื้นแผ่นดิน ไหลจากที่สูงลงที่ต่ำเกิดเป็นพลังงานจากการไหลของน้ำ ข้อได้เปรียบของพลังงานจากน้ำ คือมีความสม่ำเสมอกว่าแสงอาทิตย์และลมมาก ทำให้สัดส่วนของพลังงานจากการไหลของน้ำ หรือการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตพลังงาน มีสัดส่วนสูงที่สุดในบรรดาพลังงานสะอาดที่ใช้ผลิตไฟฟ้า
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ไม่จำเป็นจะต้องสร้างเขื่อนเสมอไป แม้เราอาจจะคุ้นเคยกับโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่มาจากเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพลฯ ซึ่งเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของไทยและภูมิเอเชียอาคเนย์ โดยการผลิตไฟฟ้ารูปแบบนี้จะต้องทำการเก็บกักน้ำไว้จำนวนมาก แต่ยังมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำโดยที่เราไม่จำเป็นจะต้องสร้างอ่างเก็บน้ำ เรียกว่า “โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบไหลผ่านตลอดปี” คือมีการติดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าบริเวณใต้แม่น้ำที่มีการไหลอยู่ตลอด เช่น เขื่อนปากมูล จ. อุบลราชธานี รวมถึงยังมีโรงไฟฟ้าแบบพลังงานน้ำสูบกลับ ที่ใช้หลักการเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากอ่างเก็บน้ำ แต่ใช้การสูบน้ำเพื่อให้ไหลผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแทน เช่น โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ. นครราชสีมา เป็นต้น
©egat.co.th
ในบรรดาพลังงานสะอาดทั้งหมด พลังงานชีวมวล (Biomass Energy) ดูจะเป็นพลังงานที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุด อาจเป็นเพราะของเสียที่เกิดขึ้นหลังกระบวนการ ที่ไม่ต่างอะไรกับการเอาเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเผา กล่าวคือ มีทั้ง CO2 ขี้เถ้า รวมถึง PM2.5 (หากไม่มีเทคโนโลยีในการจัดการที่ดีพอ) แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ ผลผลิตจากการเกษตรเหล่านี้ อาทิ เศษไม้ ฟางข้าว ชานอ้อย มูลสัตว์ หรือแม้กระทั่งน้ำมันปาล์ม ล้วนเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นาน เป็นผลิตผลของการกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์และคาร์บอนเข้าไปในเซลล์ที่เคยมีชีวิต ในระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อเผาเพื่อปลดปล่อยพลังงานความร้อนออกมา ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงคาร์บอนที่เพิ่งกักเก็บเข้าไปเท่านั้น จึงถือว่าก๊าซเรือนกระจกที่เกิดเพิ่มขึ้นเป็นศูนย์หรือที่เรียกว่า Carbon Neutral นั่นเอง
©egat.co.th
พลังงานชีวมวล พลังงานจากชีวิตและการใช้ชีวิต
แม้ดูเหมือนว่า พลังงานชีวมวลจะใช้เทคโนโลยีโบราณ ไม่ใช้นวัตกรรมใด ๆ แต่เทคโนโลยีชีวภาพหลายอย่างก็พัฒนาขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ และ “สาหร่ายสีเขียว” อาจจะเป็นพระเอกในเรื่องนี้ เพราะความสามารถในการสังเคราะห์แสงที่เร็วกว่าพืชทั่วไป ทำให้สามารถนำมาทำไบโอดีเซลได้เร็วกว่า รวมถึงสามารถบังคับให้สาหร่ายพวกนี้ผลิตก๊าซไฮโดรเจนสำหรับเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้อีกด้วย แต่ก็ยังเป็นเพียงขั้นต้นของการพัฒนาเท่านั้น
แล้วพลังงานจาก “ขยะ” ที่มีอยู่มากจากการใช้ชีวิตประจำวันล่ะ จะเป็นพลังงานสะอาดหรือไม่
ถ้าอธิบายตามคำนิยามของพลังงานสะอาด พลังจากขยะจะไม่ใช่พลังงานสะอาดแน่นอน เพราะมาจากแหล่งที่ใช้แล้วหมดไป อีกทั้งยังก่อคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเพิ่มให้กับชั้นบรรยากาศ เพราะขยะที่ว่าไม่ได้มีแต่ขยะอินทรีย์หรือกระดาษที่มาจากธรรมชาติ แต่ยังรวมถึงพลาสติกที่มาจากปิโตรเลียมอีกด้วย
แต่ใช่ว่าการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะขึ้นชื่อว่าขยะ ถ้าไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ปลายทางก็คือบ่อฝังกลบซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการฝังระเบิดไว้ใต้ดิน รอวันที่จะกลายเป็นปัญหา ซึ่งการเปลี่ยนให้ขยะกลายเป็นพลังงาน อย่างน้อยก็สามารถนำมาทดแทนพลังงานที่ไม่ยั่งยืนชนิดอื่นได้ไม่มากก็น้อย
หลายปีที่ผ่านมา พลังงานสะอาดจึงกลายเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกมุ่งไป ตัวเลขการเติบโตของพลังงานทดแทนทุกชนิดอยู่ที่ 4.5% ต่อปีเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี สูงกว่าพลังงานฟอสซิลที่เพิ่มขึ้นเพียง 1.5% แต่หากเทียบสัดส่วนการใช้ทั้งหมด พลังงานสะอาดก็ยังมีสัดส่วนเพียง 10.6% เท่านั้น อีกทั้งใช่ว่าการใช้พลังงานสะอาดจะไม่ส่งผลกระทบอะไรเลย ขยะจากพลังงานสะอาดก็ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่ต่างกับปัญหาขยะพลาสติก แผงโซลาร์เซลล์ที่เสื่อมสภาพ ใบพัดกังหันลมที่ใช้งานไม่ได้ แบตเตอรีลิเธียมที่เสียแล้ว และอื่น ๆ อีกมาก รวมถึงข้อกังขาในเรื่องผลกระทบต่อธรรมชาติ การถางป่าเพื่อวางแผงโซลาร์เซลล์ กังหันลมที่คร่าชีวิตนกทะเล เขื่อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชีวภาพของป่าบริเวณนั้น เป็นต้น เหล่านี้เป็นประเด็นซึ่งเราควรเร่งให้ความสนใจ เพื่อให้ประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอยเหมือนกับที่เราเคยละเลยการใช้พลังงานฟอสซิล จนกระทั่งกระทบไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในวันนี้
สตยาบันของโลกเพื่อสิ่งแวดล้อมพลังงานสะอาด IPCC (The Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีคณะทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก ได้ออกรายงานสำคัญฉบับหนึ่งที่น่าจะเป็นเอกสารซึ่งก่อให้เกิดความตื่นตัวทางด้านสิ่งแวดล้อมมากที่สุดฉบับหนึ่งในรอบทศวรรษ ข้อความในวันที่ 8 ตุลาคม 2018 ส่งสารถึงผู้คนทั่วโลกว่า ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน “อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แทนที่จะเป็นเป้าหมาย 2 องศาเซลเซียสตามเดิมที่ทุกรัฐบาลยอมรับ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ จำเป็นจะต้องลดลงให้ได้ 45% ภายในปี 2030 และกลายเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ไม่เช่นนั้นแล้ว อุณหภูมิของโลกมีโอกาสจะสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นจุดที่ไม่อาจหวนคืนได้อีก กล่าวคือธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเข้าสู่ยุคที่เสื่อมลงจนสิ่งมีชีวิตยุคปัจจุบันอาศัยอยู่ไม่ได้อีกต่อไป ประชากรกว่า 420 ล้านคนจะเผชิญกับคลื่นความร้อน ปะการังจะถูกทำลายถึง 9 ใน10 ของทั้งหมด น้ำแข็งขั้วโลกเหนือจะละลายหมดภายใน 10 ปี รวมถึงการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่พืชและสัตว์จะสูญพันธุ์กว่า 80% และแน่นอนว่า มนุษย์ก็คือหนึ่งในนั้น นี่คือความท้าทายยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ ที่เดิมพันด้วยความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตนับล้าน ๆ รวมถึงเผ่าพันธุ์มนุษย์ เราตระหนักดีแล้วว่า พลังงานที่สะสมมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ถึงแม้จะดูเหมือนว่าทรัพยากรเหล่านั้นเป็นของฟรี แต่เราก็รู้ว่าของฟรีไม่มีในโลก ผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรที่สะสมไว้ตามอำเภอใจ ยากเกินกว่าจะจินตนาการได้ถูก ...จะดีกว่าไหมหากเรารู้จักใช้พลังงานจากปัจจุบัน แทนที่พลังงานจากอดีต เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนกว่า |
ที่มาภาพเปิด : Andreas Gücklhorn/Unsplash
เรื่อง : ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป
บทความนี้สนับสนุนโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) www.erc.or.th