10 ไอเดีย 10 ความเป็นไปได้ใหม่จากเวทีงานวิจัย Design Research Day (TH/EN)
Technology & Innovation

10 ไอเดีย 10 ความเป็นไปได้ใหม่จากเวทีงานวิจัย Design Research Day (TH/EN)

  • 25 May 2021
  • 4032

กลับมาอีกครั้งกับงานเทศกาลออกแบบกรุงเทพ 2564 หรือ Bangkok Design Week 2021 แม้ปีนี้จะมาในรูปแบบออนไลน์ แต่โปรแกรมทอล์กขาประจำอย่าง Design Research Day ก็ยังคงมีบรรดาสปีกเกอร์ขาเนิร์ดกลับมาระเบิดไอเดียจากงานวิจัยแน่น ๆ เช่นเคย

นักสร้างสรรค์ไทยกว่า 10 คนจากหลายสาขาวิชา จะมาส่งต่อไอเดียจากการทำงานจริงในสาขาที่ตนถนัด จนได้เป็นผลลัพธ์ออกมาเป็นทั้งผลิตภัณฑ์และบริการเจ๋ง ๆ ให้ได้ว้าวกัน สู่การผลักดันให้เกิดขึ้นและใช้งานได้จริง ไปดูกันเลยว่าปีนี้แต่ละคนเอาอะไรมาฝากบ้าง

Design Research Day คือวันแห่งการนำเสนอผลงานการออกแบบและนวัตกรรมใหม่ ๆ ผ่านการนำเสนอโปรเจ็กต์หรืองานวิจัยในรูปแบบการบรรยายที่เป็นกันเอง ภายในเวลาคนละ 20 นาที

 

• โรงแรมร่วมใจ
ช่วง 4 ปีที่แล้ว ธุรกิจโรงแรมกำลังเฟื่องฟู มีโรงแรมใหม่ ๆ ผุดขึ้นเต็มไปหมด รวมทั้งรูปแบบโรงแรมที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการเฉพาะของหมู่นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ แล้วหลายโรงแรมที่อยู่มานานกว่า 30 ปี จะปรับตัวอย่างไร 

โปรเจ็กต์ CO-HOTEL ของ กัญรัช บุญจันทร์ และ ณัฐมาน ธเนศนิตย์ จาก MIDKIT DESIGN CO., LTD. บริษัทงานดีไซน์และวางกลยุทธ์เชิงสร้างสรรค์ จึงเกิดความคิดที่จะสร้างความเป็นไปได้ใหม่ให้กับโรงแรมอิสระในกรุงเทพฯ ด้วยแนวคิด co-creation และบริบททางวัฒนธรรม ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ โดยศึกษาผ่านตัวอย่าง ดังนี้

  • Peep Inn Motel (1977) : โรงแรมม่านรูดที่เปลี่ยนฟังก์ชันมารองรับนักท่องเที่ยวยามค่ำคืนที่ดื่มหนักเพื่อพักผ่อนให้สร่างเมาก่อนกลับบ้าน

  • The Share Hotels (2017) : โครงการปรับปรุงอาคารเก่าทั่วญี่ปุ่นเพื่อเปลี่ยนเป็นที่พบปะของผู้คนในเมือง

  • Royal Hotel (1952) : เพิ่มพื้นที่ขายสินค้าเพื่อหารายได้เพิ่มจากการเปิดให้เข้าพักเพียงอย่างเดียว

  • Hotel Josh (2018) : ปรับอาคารเก่าเป็นโรงแรมไลฟ์สไตล์ และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าของโรงแรม

ข้อสรุปก็คือ “โรงแรมไม่ได้ทำหน้าที่เป็นโรงแรมเพื่อพักแรมเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว แต่ยังสามารถใช้เป็นพื้นที่ทางเลือกเพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้ด้วย” ซึ่งโรงแรมสามารถเพิ่มพื้นที่ขาย ไปจนถึงการสร้างสัมพันธ์กับคนในพื้นที่และคู่ค้าอื่น ๆ ที่จะช่วยขยายฐานลูกค้าให้ไกลกว่าเดิมจนเกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็งต่อไป

• ย้อมผ้าไม่ใช้น้ำสักหยด
ใครก็รู้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นสร้างมลพิษเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เนื่องจากผู้บริโภคที่ต้องการเสื้อผ้าที่เยอะขึ้นในราคาที่ถูกลง จึงทำให้กระบวนการผลิตเสื้อผ้าต้องใช้น้ำจำนวนมหาศาล แทนที่จะได้ใช้ไปเพื่อเลี้ยงปากท้องของคนยาก ก็ถูกนำมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าเสียหมด 

รู้ไหมว่าเสื้อยืดหนึ่งตัวใช้น้ำถึง 25 ลิตรในการย้อมสี แต่ถ้าใช้นวัตกรรม DryDye จะไม่ต้องเสียน้ำสักหยด เพราะแทนที่จะใช้น้ำเป็นตัวย้อมให้สีเข้าไปในผ้า จะใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวกลางแทน ซึ่งต้องใช้แรงดันอัดคาร์บอนไดออไซด์สูงถึง 250 บาร์ เมื่อแรงดันสูงสถานะของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงขยับไปอยู่ในช่วง Supercritical State หรือสถานะระหว่างของเหลวและก๊าซ ที่จะทำให้สามารถย้อมสีได้เหมือนใช้น้ำนั่นเอง “เราเชื่อว่าการแก้ปัญหาได้จริง ๆ คือการใช้เทคโนโลยีที่สะดวกและเข้าถึงง่าย เมื่อเข้าถึงง่ายก็แปลว่าเราจะสามารถทำมันได้บ่อยขึ้น ดีขึ้น และนานขึ้น”

• Hopping พื้นที่สาธารณะในยุคดิสรัปชัน 
“คนส่วนใหญ่มองว่า พื้นที่สาธารณะเป็นเพียงพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนเดินผ่าน ยิ่งช่วงโควิด-19 คนก็ยิ่งใช้พื้นที่สาธารณะน้อยลง” ประภวิษณุ์ อินทร์ตุ่น กล่าวถึงบทบาทของพื้นที่สาธารณะ และนำการศึกษาที่ได้ลงพื้นย่านศูนย์กลางธุรกิจที่ทองหล่อ-เอกมัย มาวิเคราะห์หาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในยุคดิจิทัลดิสรัปชัน ทั้งในมุมของพื้นที่อาคาร พิมพ์เขียวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมือง ด้วยการสร้างเส้นทางจำลองขึ้นมาให้คนเข้ามาฮ็อปปิงตามจุดต่าง ๆ ถึง 15 พื้นที่ในย่าน โดยใช้โปรแกรมสร้างพื้นที่สาธารณะให้เหมาะกับบริบทของพื้นที่นั้น ๆ และเก็บข้อมูลผ่านแอพพลิเคชัน จนได้ออกมาเป็นพื้นที่ขนาดต่าง ๆ กันที่มีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายเหมาะกับขนาดของพื้นที่ใช้งาน เช่น ให้คนปลูกผักในพื้นที่ขนาดเล็ก เพื่อนำมาปรุงอาหารที่พื้นที่ขนาดใหญ่ และยิ่งมีเชื่อมประสานไปมาระหว่างพื้นที่ ก็จะยิ่งทำให้เมืองยั่งยืนขึ้น โดยทั้งหมดนี้จะใช้โครงสร้างระบบโมดูลาร์ที่สามารถปรับขยับขยายพื้นที่ได้เพื่อรองรับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เช่น สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงต้องรักษาระยะห่าง รวมถึงยังสามารถปรับเป็นพื้นที่รับน้ำยามน้ำท่วมขังช่วงฝนตกได้ด้วย

• UX/UI สำหรับคุณปู่
ใครว่าผู้สูงวัยชอบเลือกใช้ของด้วยการพิจารณษฟังก์ชันการใช้งานเพียงอย่างเดียว แต่การออกแบบและความสวยงามก็เป็นอีกสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญและสนใจอย่างมากเช่นกัน 

งานวิจัยปริญญาเอกของ พิชญา นิลรุ่งรัตนา อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ก่อตั้งและครีเอทีฟไดเรคเตอร์ บริษัท Zlapdash Studio co.,ltd บอกว่า 3 สิ่งที่ต้องคำนึงเมื่อจะสร้างเครื่องมือดิจิทัลหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับผู้สูงอายุก็คือ การเข้าถึง (accessibility) การออกแบบ (design) และเนื้อหา (content) โดยอ้างอิงจากการศึกษาทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ผู้สูงอายุ จิตวิทยา UI/UX การพัฒนาซอฟต์แวร์ และสุนทรียะ

จากงานวิจัยได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการสร้าง UX/UI สำหรับผู้สูงอายุว่า 3 อันดับแรกของสไตล์การออกแบบที่ถูกพูดมากที่สุดถึงคือ 1) เรียบง่าย 2) ภาพการ์ตูน 3) ภาพจริง ส่วนการแพทย์และสุขภาพก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุพูดถึงมาก ในด้านสุนทรียะก็จะเปลี่ยนไปตามช่วงวัย เช่น ความคิดถึงช่วงวัยเด็ก (Nostalgia) ก็สามารถใช้เป็นแนวทางในการออกแบบหน้าตาของแอพพลิเคชันต่าง ๆ ได้ หรือการออกแบบปฏิทินที่แม้จะอยู่ในอุปกรณ์ดิจิทัลแต่ก็ยังมีหน้าตาที่คุ้นเคย ขณะที่การจัดวางเลย์เอาท์ของแอพฯ ต่างๆ ก็ต้องจัดให้มีระยะห่างและมีขนาดใหญ่มากพอ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานของผู้สูงวัย

งานวิจัยเหล่านี้ถูกรวมรวมอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ในรูปแบบเว็บไซต์ uiuxforelderly.com/ ที่ประกอบไปด้วยองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้ เพื่อให้นักออกแบบสามารถศึกษาและตักตวงความรู้เหล่านี้ไปใช้งานต่อ โดยนักออกแบบสามารถอัปโหลดภาพที่ออกแบบแล้วมาทดลองการมองเห็นของผู้สูงอายุ ก่อนที่จะส่งให้โปรแกรมเมอร์ทำงานต่อไป  เพราะ “สิ่งที่ดีที่สุดที่ทำให้เข้าใจผู้ใช้งาน คือการสวมแว่นตาคู่เดียวกันกับพวกเขานั่นเอง” 

• อีสาน x อิเล็กทรอนิกส์...ดนตรีอีสานทดลองจากคนต่างถิ่น 
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ ที่ต่อยอดมาจากโปรเจ็กต์ Sound of the City หรือสำเนียงแห่งเมือง ที่ ปภาณิน เกษตรทัต นักดนตรี นักเขียน และนักพิสูจน์อักษร ลงพื้นที่อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร แล้วหยิบเอาแรงบันดาลใจจากพื้นที่มาเป็นวัตถุดิบในการทำเพลง โดยทำออกมาในแนวเพลง “อีสานอิเล็กทรอนิกส์” 

ในครั้งนี้เธอได้เลือกเพลง “เต่างอย” เพลงหมอลำยอดฮิตติดหูในปี 2560 มาศึกษาบันไดเสียงและสำเนียงของเพลงอีสานที่แตกต่างจากบันไดเสียงทั่วไป คือการใช้บันไดเสียงเพนทาโทนิก (Pentatonic Scale) หรือบันไดเสียงแบบห้าเสียง และใช้ทำนองไมเนอร์เป็นหลัก 

เธอเริ่มทดลองด้วยการถอดเสียงโน้ตของอินโทรเพลงเต่างอยออกมาเป็นชุดตัวเลขของทำนองเพลง แล้วพลิกแพลงด้วยการงัด “เลขเด็ด” ของพระญาเต่างอยมาแทนค่าชุดตัวเลขเดิม โดยใช้เทคนิคของเพลงอิเล็กทรอนิกส์ คือ ใช้ชุดทำนองเดิมวนซ้ำไปเรื่อย ๆ มาผสมผสาน จากนั้นจึงใส่เทคนิคให้เสียงฟุ้งกระจาย พร้อมเปลี่ยนเนื้อเสียงไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เสียงก้องไปมา รวมถึงสลับทำนองจากหลังมาหน้า เหมือนการตีเลขเวลาซื้อลอตเตอรี สุดท้ายก็เอาเลขทั้งหมดที่ได้มาเรียงกันแล้วเพิ่มความเร็ว เรียบเรียงมาเป็นเพลงใหม่ แล้วใส่จังหวะ ออกมากลายเป็นเพลง “เลขเด็ดพระญาเต่างอย” ดนตรีอีสานอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยเปิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของวงการดนตรี และยังเข้าถึงจิตวิญญาณของคนไทยอย่างแท้จริง

• ระลึกถึงมรดกผ่านลวดลายประจำชุมชน
ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ตั้งอยู่บริเวณเยาวราช ประกอบไปด้วยชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนและอินเดีย จากการขุดค้นทางโบราณคดีในชุมชนเยาวราชพบว่า มีเครื่องดินเผาหลากหลายรูปแบบในบริเวณนี้ บ้างก็เคยใช้แทนเหรียญในบ่อนในสมัยนั้น

พิชชากร ชวนรุ่งเรือง ผู้ก่อตั้ง OKD studio ได้เลือกเอาลวดลายจากโบราณวัตถุมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เป็นผลงานเซรามิก โดยมุ่งไปที่ลายครามต่าง ๆ ที่มีความหมายในตัวเองมาใช้ในการวิจัย เช่น  ลายเมฆ หมายถึง อายุยืนยาว ลายกิเลน หมายถึง เกียรติยศและความสุขสบาย ลายดอกโบตั๋น หมายถึง ความสำเร็จและความสุข “ลายพวกนี้เป็นเหมือนมรดกที่ส่งมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และหน้าที่ของผมก็คือส่งต่อไปยังอนาคต” ผู้วิจัยกล่าว

เขาหยิบลวดลายดั้งเดิมมาผสมผสานกับลายใหม่ ๆ เพื่อสร้างลายเส้นให้เป็นแพตเทิร์นและเรื่องราวแปลกใหม่ที่ร่วมสมัยกว่าเดิม รวมถึงลายต่างกันที่สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างไม่รู้จบ แต่ยังคงสีเขียนเดิมคือสีครามเอาไว้ ผ่านกระบวนการทำเซรามิก และจับเอารูปแบบอาคารของชุมชนมาทำเป็นของที่ระลึก เพื่อคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชุมชน บอกเรื่องราวความเป็นมา และสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจในอนาคตได้ต่อไป

• กระดาษไหว้เจ้ากับชีวิตใหม่ในเมืองไทย
เมื่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและบริบทเมืองกำลังเคลื่อนไปข้างหน้า พิธีกรรมเก่าแก่ของคนไทยเชื้อสายจีนอย่างการเผากระดาษไหว้เจ้าจึงต้องปรับตัวไปด้วย  ถ้าไม่ใช้กระดาษไหว้ จะมีอะไรใช้แทนได้บ้างโดยที่ยังคงหัวใจหลักของพิธีกรรมอยู่

ปริณดา ศักดานรเศรษฐ์ นักออกแบบ UX/UI ได้ศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพิธีกรรมฝังศพดั้งเดิมของชาวจีน ก่อนที่จะมาเป็นกระดาษ ในยุคหนึ่งคนจีนนิยมฝังซานฉ่าย (Sancai) เครื่องเคลือบจีน 3 สี ได้แก่ ขาว อำพัน และเขียว ซึ่งใช้ในพิธีเผาศพชาวจีนโดยเฉพาะ

หลังจากได้สำรวจความเป็นไปได้ของพิธีกรรมจึงสรุปออกมาได้ 3 วิธีที่เหมาะสม คือ การใช้เซรามิก เพราะเวลาจัดโต๊ะไหว้เจ้าจีนจะเข้าเซ็ตกับกระดาษได้ดีซึ่งเซรามิกที่เลือกใช้อาจเป็นภาพทิวทัศน์ภูเขาน้ำของชาวจีน และเลือกใช้สีจากซานฉ่ายสามสีมาใช้เพื่อคงความหมายดั้งเดิมของพิธีกรรมเอาไว้ อย่างที่สองคือการบริจาคเงินในนามผู้ตาย แทนการซื้อเงินปลอมแล้วมาเผาอีกที ซึ่งให้ทั้งความรู้สึกถึงการให้และยังได้นำเงินไปบริจาคให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้จริง และอย่างสุดท้านคือการเผากระดาษด้วยน้ำ โดยหาวัสดุที่เป็นกระดาษละลายน้ำ และใช้เครื่องทำควันจากน้ำแทน เพื่อคงความรู้สึกของการเผาอยู่ แต่ก็เข้ากับบริบทบ้านสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน

• เสื้อผ้าถอดประกอบ ด้วยทฤษฎีโมดูลาร์
เป็นไปได้ไหมที่เราจะผลิตเสื้อผ้าโดยไม่มีเศษผ้าหลงเหลืออยู่เลย...ธรรมธรรศ เลี้ยงธรรมรัตน์ ดีไซน์เมเนเจอร์ จาก Pomelo Fashion ตอบว่าได้!

แนวคิดและระบบที่ทำให้เสื้อผ้าสามารถถอดประกอบได้และยืดระยะเวลาใช้งานจากระบบโมดูลาร์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการสร้างของเหมือน ๆ กันเป็นจำนวนมากนั้น นอกจากจะช่วยลดขั้นตอนการผลิตและประหยัดต้นทุนแล้ว ธรรมธรรศยังเลือกใช้แพตเทิร์นแบบไร้ขยะ ไร้เศษผ้า และเลือกใช้ผ้านีโอพรีน เพราะมีคุณสมบัติตัดแล้วไม่รุ่ยและสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้มาใช้งาน ไม้เด็ดของเขาคือการใช้สันรูดแทนการเย็บ และสร้างข้อต่อคล้ายเลโก้ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ เสื้อผ้าที่ออกมาจึงสามารถถอดประกอบได้ทุกชิ้นส่วน ทั้งยังดัดแปลงการใช้งานได้หลากรูปแบบ จะเปลี่ยนจากเสื้อโค้ทมาเป็นชุดเดรส หรือเปลี่ยนจากเดรสมาเป็นเสื้อก็ยังได้ แม้เสื้อผ้าเหล่านี้ถึงคราวที่หมดอายุการใช้งานหรือล้าสมัยไปแล้ว ก็แค่ถอดชิ้นส่วนออกจากกันเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อ กลายเป็นแฟชั่นที่สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ไม่รู้จบ

• ออกแบบงานอย่างไรในอนาคต
ในโลกยุคใหม่ที่อะไร ๆ ก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว “อาชีพ” ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราเคยอยากเป็นในตอนเด็ก อนาคตอาจจะไม่มีอยู่แล้วก็ได้ สมการของอาชีพจึงกลายเป็น “แพสชัน + โลกอนาคต = อาชีพในอนาคต” 

งานวิจัยของ วงศธร ชุณหะวัณ ผู้ร่วมก่อตั้งเพจมหาลัย 3 นาที และ 3 minutes จะมาช่วยเด็ก ๆ ในยุคนี้ค้นหาและชวนจินตนาการถึงงานในอนาคตของพวกเขาผ่านสิ่งของที่ให้เด็ก ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพได้ จากการทำเวิร์กช้อป ประดิษฐ์ของเล่น แบบสอบถาม และการสร้างเนื้อหาในโลกออนไลน์ “ไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ไหน แต่ถ้าปรับตัวได้ พวกเขาก็จะเติบโตได้อย่างมีความสุข”

ตัวอย่างเส้นทางการเรียนรู้ของเด็ก ๆ จากเวิร์กช้อปจะเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติ ว่าอาชีพในอนาคตจะมีความหลากหลายแบบที่เราอาจจะจินตนาการไม่ถึงจากการเปลี่ยนไปของโลกอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เด็ก ๆ ได้จินตนาการถึงอาชีพโดยอิงจากความชอบของตัวเองและสิ่งที่ตัวเองถนัดโดยไร้การตีกรอบ ก่อนที่จะทำการทดลองให้จับต้องได้ ด้วยการสร้างโปรโตไทป์จากของเล่นเก่า ๆ มาถอดและประกอบใหม่เป็นเครื่องมือที่จะเอาไว้ใช้ในอาชีพในฝันของตัวเอง สุดท้ายก็จะมาวิเคราะห์อาชีพผ่านสกิล โดยให้เด็ก ๆ ทำการแสดงวิธีใช้เครื่องมือต้นแบบที่สร้างขึ้นมา จึงนับเป็นวิธีการช่วยปูทางสู่อาชีพในอนาคตที่ทั้งเป็นไปได้จริงและยังตอบรับกับโลกยุคใหม่ที่พวกเขากำลังจะเติบโตต่อไปอีกด้วย  

• ชุมชนคนละคร BCT
อุตสาหกรรมศิลปการแสดง หรือ Performing Art นับเป็น 1 ใน 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย แม้จะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าได้น้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น แต่ BCT หรือ Bangkok Community Theatre ก็ยังยืนหยัดและรักษาจุดยืนของตัวเองได้เป็นอย่างดี

กฤษณะ พันธุ์เพ็ง อาจารย์ประจำภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงศึกษาปัจจัยที่ทำให้ชุมชนของคนละครนี้ยังรักษาสถานะและจุดยืนของตัวเองในฐานะชาวต่างชาติในเมืองไทย (Expat) ได้ว่า ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ซึ่งหลังจากการวิจัยปัจจัยภายในองค์กรก็สรุปผลออกมาได้ 5 ปัจจัย ดังนี้

  • การสร้างสัมพันธ์ที่มีความหมาย (Meaningful Relationship) ระหว่างคนในชุมชนและคนที่เพิ่งเข้ามาร่วมใหม่

  • การจัดการบริหารที่แข็งแกร่ง (Strong Organization Structure) ที่เอาใจใส่กับผู้บริหารของชุมชนเป็นอันดับแรก ๆ

  • ความหลงใหลในศิลปะการละคร (Passion for Theatre) เช่น การอ่านบทละครด้วยกันผ่านวิดีโอคอลในช่วงโควิด-19

  • การหลีกหนีสิ่งจำเจในชีวิต (Escapism) เสมือนได้ผ่อนคลายและได้บริหารความคิดสร้างสรรค์จากการนำเสนองานละครใหม่ ๆ

  • ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) แม้จะเป็นการละครสมัครเล่น (Amateur Theatre) แต่สมาชิกต่างก็ทุ่มเทแรงกายแรงใจเหมือนกับมืออาชีพจริง ๆ 

ด้วยหลักการทำงานที่ไม่ซับซ้อนแต่ขับเคลื่อนด้วยความหลงใหลในศิลปะการแสดงอย่างแท้จริงเหล่านี้ ย่อมทำให้องค์กรทางด้านวัฒนธรรมอื่นๆ ที่มีองค์ประกอบเป็นชาวต่างขาติและชาวไทยทำงานร่วมกัน สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ไม่ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตใดก็ตาม

ที่มา : การบรรยาย “Design Research Day” โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร