Welcome to Metaverse ชีวิตโลกเสมือนที่อีกไม่นานจะสัมผัสได้จริง
“… มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเองเสมอ อย่างการที่เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือชุมชน ไปจนถึงการเป็นส่วนหนึ่งในความคิดของคนอื่น ๆ แต่ตอนนี้สิ่งที่ดูเหมือนจะใหญ่กว่าตัวเรากลายเป็นเรื่องของดิจิทัล สิ่งนี้จะทำให้มนุษย์มีความเป็นมนุษย์น้อยลงไหม เพราะมันดูไม่เหมือนมนุษย์สักเท่าไร แต่อย่าลืมว่าโครงสร้างดิจิทัลพวกนี้ถูกสร้างมาโดยมนุษย์ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำงานรับใช้มนุษย์ หรือคุณจะเถียงว่าเครือข่ายดิจิทัลพวกนี้ไม่เหมือนเราเพียงเพราะภาพลักษณ์ของมันขัดแย้งกับขนบแบบเดิม ๆ ก็อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ แต่มันก็คงยากจะปฏิเสธว่านี่อาจเป็นวิวัฒนาการของเราเช่นกัน..."
นิโคลัส เบิร์กกรูน (Nicolas Berggruen) มหาเศรษฐีและนักลงทุนผู้ก่อตั้ง Berggruen สถาบันวิจัยที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งกำลังศึกษาประเด็นที่น่าสนใจอย่างเรื่องประชาธิปไตยในยุคโลกาภิวัตน์และทุนนิยมดิจิทัล กล่าวถึงมุมมองที่เขามีต่อการใช้ชีวิตในสังคมดิจิทัลว่ามันกำลังจะทำให้มนุษย์สูญเสียความเป็นมนุษย์ไปหรือไม่ เพราะโลกปัจจุบันกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลที่นับวันจะยิ่งแนบสนิทไปกับวิถีชีวิตของมนุษย์ และในอนาคตอันใกล้ระบบทัชสกรีนจะไม่ได้หยุดอยู่แต่เพียงหน้าจอใด ๆ แต่เทคโนโลยีที่สัมผัส โต้ตอบ และสั่งการได้จะอยู่รอบตัวเราทุกที่เมื่อต้องการ เพียงแค่สวมใส่อุปกรณ์บางอย่าง มนุษย์ก็สามารถอยู่ได้ทั้งโลกจริงและโลกเสมือนที่มีตัวคุณเองเป็นผู้ควบคุม และเราเรียกโลกเสมือนใบนี้ว่า “เมตาเวิร์ส” (Metaverse)
©theglimpsegroup.com
Work From Home ตัวเร่งที่เปลี่ยนอนาคต
ในขณะที่โควิด-19 ยังคงระบาด มันคือไฟต์บังคับที่ทำให้มนุษย์ทำงานต้อง Work From Home ให้เวิร์ก ซึ่งได้เปลี่ยนมุมมองการทำงานของเราไปตลอดกาลว่า มนุษย์ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ไหนอีกแล้ว แค่มีระบบคลาวด์ แพลตฟอร์มการทำงานร่วมกัน และอินเทอร์เน็ตที่แรงพอ มนุษย์ก็สามารถขับเคลื่อนงานไปข้างหน้าได้ไม่ต่างจากการทำงานแบบเดิม และสิ่งนี้น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนครั้งสำคัญที่กระตุ้นให้มนุษย์เดินหน้าสร้างโลกเสมือน ที่ที่เราจะสามารถทำงานและใช้ชีวิตได้ง่ายดั่งใจที่สุด
ก้าวแรกของการสร้างโลกเสมือนหรือเมตาเวิร์ส เริ่มต้นมาจากการที่มนุษย์มีความสามารถที่จะใช้ชีวิตแบบ “Always Online” ซึ่งเปิดทางให้เราทำงานได้จากระยะไกล (Remote Work) จากที่ไหนก็ได้ รวมถึงการมีอิสระในการทำงานมากขึ้น และดูเหมือนว่าโควิด-19 ได้เร่งผลักดันให้ธุรกิจหรือองค์กรที่ยังลังเลต่อวิธีการทำงานแบบนี้ ให้ต้องรีบเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ไม่ใช่เพียงบริษัทด้านเทคโนโลยีเท่านั้นที่พร้อมและน้อมนำวิธีการทำงานระยะไกลมาใช้แบบไม่ลังเล แต่ธุรกิจทางการแพทย์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ก็ได้ปรับตัวและนำเทคโนโลยีการรักษาแบบใหม่ที่เรียกว่า TeleHealth หรือบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมาใช้เพื่อต่อสู้กับโรคระบาด และเพิ่มโอกาสการรักษาผู้ป่วยในอนาคตเช่นกัน
หากพิจารณาดูจากไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีธุรกิจจำนวนมากย้ายการทำงานไปยังระบบคลาวด์ที่พนักงานสามารถทำงานได้จากที่บ้าน พร้อมทั้งการมีบริการของแพลตฟอร์มการสื่อสารมากมายที่เชื่อมต่อให้คนทั้งองค์กรสามารถทำงานร่วมกันได้ อาทิ ระบบ Windows Virtual Desktop, แอพพลิเคชันแชตผ่าน Slack, การทำงานร่วมกันผ่านระบบบ Microsoft Teams และการประชุมผ่าน Google Meet และ Zoom เป็นต้น เทคโนโลยีที่พร้อมเหล่านี้ทำให้องค์กรและธุรกิจมากมายปรับตัวเข้าสู่การทำงานจากที่ไหนก็ได้ แต่ปัญหายังอยู่ที่ว่า ลึก ๆ แล้วมนุษย์เรายังคงโหยหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน แม้เทคโนโลยีทั้งหมดที่กล่าวมาจะตอบโจทย์การทำงานระยะไกลได้ดีแค่ไหน แต่ก็ยังไม่เป็นคำตอบที่ใช่ที่สุดอยู่ดี เทคโนโลยีแบบโลกเสมือน (Virtual Reality: VR) จึงกำลังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เราสามารถทำงานและใช้ชีวิตได้แบบเสมือนจริงมากที่สุด
ออฟฟิศเสมือนที่ทำงานได้จริง
เมื่อความรู้สึกของการขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานและการสื่อสารที่ยังสู้การเจอหน้ากันไม่ได้ เป็นปัญหาที่เกิดจากการทำงานทางไกล ความพยายามในการสร้างออฟฟิศเสมือน (VR Office) ที่ทำให้ทุกคนที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนสามารถทำงานร่วมกันได้จริง ๆ จึงกำลังเกิดขึ้นแล้ว
แดน โรบิตซ์สกี (Dan Robitzski) ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวออนไลน์ Futurism บรรยายถึงประสบการณ์ที่เขาได้ลองทำงานในสำนักงาน Glimpse Group บริษัทพัฒนาแพลตฟอร์มโลกเสมือนจริง (Virtual & Augmented Reality Platform) ณ กรุงนิวยอร์ก ที่ได้จำลองออฟฟิศเสมือนบางส่วนให้ได้ใช้งานกันจริง ๆ โดยโรบิตซ์สกีเล่าว่า เมื่อสวมอุปกรณ์ VR ไว้บนหัวแล้ว เขาก็เหมือนหลุดเข้าไปในอีกโลกหนึ่งที่ข้างหน้าเป็นจอภาพขนาดยักษ์ 18 จอซึ่งกำลังแสดงผลข้อมูลและกราฟตัวเลขต่าง ๆ แบบ 3 มิติซึ่งเรียกกันว่า “Dataview VR” โดยเวิร์กสเตชันลักษณะนี้ถูกออกแบบมาเพื่อคนทำงานด้านการเงิน ซึ่งในอนาคตแต่ละคนจะมีเวิร์กสเตชันส่วนตัวที่ถูกออกแบบมาให้ใช้สำหรับการทำงานในแต่ละประเภทนั่นเอง
ไลรอน เบนโตวิม (Lyron Bentovim) ประธานและซีอีโอกลุ่มบริษัท Glimpse Group แสดงวิสัยทัศน์ของอนาคตการทำงานในโลกเสมือนจริงไว้ว่า บริษัทต่าง ๆ จะลงทุนกับการสร้างสำนักงานเสมือนจริงแทนที่จะเป็นสำนักงานทางกายภาพ ซึ่งในโลกเสมือนจริงนี้ ผู้คนจะสามารถเข้าออกบริษัทได้ตลอดเวลาและง่ายดายเพียงกะพริบตาเท่านั้น และนั่นยังหมายถึงโอกาสในการร่วมทำงานกันแบบเห็นหน้าหรืออย่างน้อย ๆ ก็เห็นร่างอวตารดิจิทัลของเพื่อนร่วมงานที่อาศัยอยู่ทั่วโลก แต่ในวันนี้เบนโตวิมยอมรับว่า สำนักงานเสมือนจริงที่ทำงานได้แบบเต็มร้อยยังเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องพัฒนาอุปกรณ์ VR สำหรับสวมหรือแว่น VR ให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้เสียก่อน
แต่ข่าวดีไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เพราะล่าสุดเฟซบุ๊กก็ได้เปิดตัวเทคโนโลยีที่เรียกว่า Infinite Office พื้นที่ทำงานเสมือนจริงที่ใช้งานได้ด้วยการสวมใส่แว่น VR Oculus Quest โดยผู้ใช้งานจะทำงานจากที่ไหนก็ได้เมื่อสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว และยังทำงานได้ในหลาย ๆ หน้าจอพร้อมกัน นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังร่วมมือกับ Logitech บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีชั้นนำเพื่อพัฒนาคีย์บอร์ดบางรุ่นให้สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ VR ดังกล่าวได้อย่างไม่มีสะดุด โดยเฟซบุ๊กตั้งใจเปิดตัว Infinite Office สำหรับการใช้งานส่วนตัวมากกว่าการใช้งานสำหรับองค์กร
Genesis City เมืองเสมือนจริงที่มีที่ดินแพงจริง ๆ นะ หากพูดถึงย่านที่ฮอตฮิตที่สุดใน Decentraland คงต้องยกให้ Genesis City ซึ่งมีที่ดินเสมือนขนาดประมาณเท่ากรุงวอชิงตันดีซี แค่พื้นที่เปล่า ๆ ในขนาดเพียง 1,100 ตร.ฟุต ก็มีราคาสูงถึง 2 แสนเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่าคุณต้องซื้อมันด้วยเงินจริง ๆ โดยหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ที่ดินในโลกเสมือนแห่งนี้มีราคาสูงลิ่วอาจเป็นเพราะสัญญาณของการมาถึงโลกเสมือนที่มนุษย์จะสามารถใช้ชีวิตในเมืองแห่งนี้ได้อีกไม่นาน และอีกหนึ่งเหตุผลก็คือการซื้อขายที่ดินใน Decentraland เป็นการซื้อขายผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนที่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่า บริษัทผู้สร้าง Decentraland จะไม่สามารถริบที่ดินคืนจากผู้ซื้อขายหรือผู้ถือครองที่ดินในนั้นได้ โดยคาดกันว่า บรรดาเจ้าของที่ดินในเมืองเสมือน Genesis City กำลังผลักดันสร้างพื้นที่เสมือนในย่านนี้ให้กลายเป็นแหล่งบันเทิงแบบผสมผสานเหมือนกับเมืองลาสเวกัส ที่อาจจะมีคาสิโนและแหล่งบันเทิงต่าง ๆ ในอนาคต |
Metaverse is Coming
เรื่องดีของการที่เรากำลังเคลื่อนเข้าสู่โลกเสมือนมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือความเป็นไปได้ของการที่โลกเสมือนจะช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์กำลังประสบ การไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานโดยรถยนต์ที่จะสร้างมลภาวะทางอากาศในแต่ละวัน หรือการไม่ต้องรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติเพื่อขยายสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ มากมายสำหรับมนุษย์ อาจแก้ไขได้ด้วยการที่เราอยู่ในโลกเสมือนให้มากขึ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานหลักสำหรับการอยู่ในโลกเสมือน) แน่นอนว่าโลกเสมือนอาจไม่สามารถแก้ปัญหาของโลกจริงได้ทั้งหมด และการใช้ชีวิตอยู่ในนั้นก็ยังเป็นที่ถกเถียง แต่คงปฏิเสธได้ยากแล้วว่าเรากำลังขยับเข้าใกล้โลกเสมือนเข้าไปทุกที และก่อนที่เราจะไปถึงจุดนั้น แน่นอนว่ามันยังมีเวลาพอให้เราได้คิดทบทวนถึงโอกาสในการใช้ชีวิตและแนวทางการสร้างธุรกิจที่สอดคล้องกับโลกเสมือนที่กำลังจะเกิดขึ้น
มาถึงจุดนี้หากใครที่ยังมองภาพไม่ออก เราขอจำลองการใช้ชีวิตของ “เคธี” ในโลกปี 2028 ที่เรื่องราวชีวิตของเธอในหนึ่งวันถูกเขียนขึ้นมาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี VR และ AR และนี่อาจเป็นภาพจำลองการใช้ชีวิตในโลกเมตาเวิร์สของเราที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
©Dreamworld AR
A Day in Katie’s Life
เช้าวันนี้เคธีตื่นขึ้นมาด้วยเสียงนาฬิกาปลุกเบา ๆ จากแว่น AR ของเธอที่วางอยู่ข้างเตียง เมื่อมองจากภายนอก แว่นอันนี้มีดีไซน์ไม่ต่างจากแว่นตาธรรมดา ๆ หากแต่มันเป็นแว่นที่มีกรอบและฐานเป็นเทคโนโลยีทรงพลังซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เมื่อเคธีหยิบแว่น AR ขึ้นมาใส่ แว่นของเธอก็เชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ผ่านเครือข่าย 6G เพื่อเรียกดูตารางข้อมูลทั้งหมดที่เคธีต้องทำในวันนี้ พอเธอดูตารางงานคร่าว ๆ เสร็จ เคธีจึงเริ่มต้นวันของเธอด้วยการจิบกาแฟและมองออกไปนอกหน้าต่าง เธอสั่งให้แว่น AR เปลี่ยนภาพวิวเมืองตึกสูงเป็นวิวทุ่งหญ้าเขียวสว่างสุดลูกหูลูกตา เพื่อที่เธอจะได้ฟังเสียงธรรมชาติที่สงบอันเป็นการเริ่มต้นวันที่สดใส
เมื่อดื่มกาแฟเสร็จแล้ว เธอก็คิดได้ว่าวันหยุดในอาทิตย์หน้าเธออยากจะพาครอบครัวไปพักผ่อนแถวริมทะเลสาบสักที่ เคธีไม่รอช้าจึงรีบค้นหาบ้านพักที่ต้องการ และเมื่อเธอเจอที่ที่ถูกใจเธอก็สั่งให้แว่นเปลี่ยนเป็น โหมดภาพสมจริง (Immersive Mode) เพื่อดูว่าที่พักนั้นถูกใจเธอมากแค่ไหน และเพียงแค่พริบตาบ้านของเธอก็เปลี่ยนเป็นสภาพบ้านพักที่เธอดูอยู่ เมื่อเธอเห็นวิวทะเลสาบและบรรยากาศบ้านพักสวยถูกใจ เคธีจึงไม่รีรอที่จะกดจองที่พัก จากนั้นเธอก็แชร์ข้อมูลและตารางการเข้าพักทั้งหมดไปที่ปฏิทินของครอบครัวเพื่อให้สมาชิกคนอื่นได้รับรู้ทันที
ตอนนี้ก็ใกล้เวลาที่เธอต้องทำงานแล้ว เธอจึงไปประจำที่เวิร์กสเตชัน และเพราะเคธีทำงานเป็นนักเทคโนโลยีสำหรับสายงานการผลิต หน้าที่หนึ่งของเธอจึงเป็นการออกแบบระบบการฝึกอบรมสำหรับพนักงานการผลิต เธอใช้เวลาแปลงข้อมูลจากคู่มือในกระดาษให้เป็นระบบดิจิทัลเพื่อให้พนักงานสามารถฝึกอบรมได้ด้วยระบบ AR เคธีลากปุ่มและวางลูกศรไปมาบนหน้าจออย่างคล่องแคล่ว แต่มีช่วงหนึ่งที่เธอเกิดปัญหากับระบบ เคธีจึงพูดกับแว่นของเธอว่า “เฮ้ มีใครช่วยฉันได้บ้าง” ในไม่กี่อึดใจ แว่นของเธอก็เข้าไปเช็กสถานะการทำงานของเพื่อนร่วมงานของเคธี และตัดสินใจติดต่อไมค์ที่ว่างพร้อมช่วยเหลือเธออยู่พอดี ภาพโฮโลแกรมของไมค์ถูกฉายอยู่ข้าง ๆ โต๊ะทำงานของเธอ เมื่อไมค์เห็นเคธี เขาก็ทักทายว่า “อรุณสวัสดิ์เคธี คุณอยากให้ผมช่วยตรงไหน” จากนั้นทั้งคู่ก็สามารถแก้ปัญหางานนั้นร่วมกันได้สำเร็จ
พอถึงช่วงพักกลางวัน เคธีอยากลองเมนูใหม่ ๆ ดูบ้าง เธอจึงให้แว่นช่วยหาร้านอาหารใกล้บ้านที่เธอยังไม่เคยลอง ในไม่ช้าตรงหน้าเคธีก็มีภาพร้านอาหารใหม่พร้อมเส้นทางและเมนูแนะนำ เธอเลือกเมนูอาหารและสั่งจองไว้ล่วงหน้า เมื่อเดินไปถึงร้านเคธีกดยืนยันการจ่ายเงินผ่านแว่น ใบเสร็จดิจิทัลปรากฏให้เห็นตรงหน้า เธอจึงเลือกเก็บมันเข้าไปอยู่ในคลังรายการการใช้จ่ายส่วนตัว เคธีเดินออกจากร้านเพื่อมานั่งรับประทานอาหารกลางวันในสวนสาธารณะ ก่อนที่จะกลับ เจ้านายของเคธีโทรมาพอดี เมื่อเคธีกดรับก็ปรากฏภาพโฮโลแกรมของเจ้านายตรงหน้า เจ้านายนั่งลงข้าง ๆ เธอและปรึกษาเรื่องโปรเจ็กต์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เมื่อคุยเสร็จ เคธีเดินกลับบ้านและทำงานที่เหลือของเธอต่อ
หลังเลิกงาน เคธีเข้าครัวทำอาหารเย็นพร้อมให้แว่นช่วยฉายภาพนิวฟีดดูว่าวันนี้เพื่อน ๆ ของเธอเป็นอย่างไรกันบ้าง เธอสังเกตเห็นว่าเพื่อนจากมหาวิทยาลัยคนหนึ่งของเธอจะจัดปาร์ตี้ในตอนค่ำ เคธีอยากไปเจอเพื่อนหลังจากที่ไม่ได้เจอกันมาพักใหญ่ หลังจบมื้อเย็น เธอจึงเตรียมตัวเปลี่ยนเป็นชุดดิจิทัลก่อนเข้าไปร่วมในงานปาร์ตี้ ที่นั่นเธอสามารถมองเห็นร่างอวตารและโฮโลแกรมของเพื่อน ๆ ที่ไม่ได้เจอกันมานาน พวกเขาพูดคุย ร้องเพลง และเต้นรำกันอย่างสนุกสนานให้ความรู้สึกเหมือนกับสมัยก่อนไม่มีผิด
หลังจากที่เธอบอกลาเพื่อน ๆ จากงานปาร์ตี้ เคธีก็เตรียมตัวเข้านอน เมื่อเธอนอนลงบนเตียง แว่นของเธอก็ทำการตรวจสอบรูปแบบคลื่นสมองและแนะนำให้เคธีทำสมาธิให้สอดคล้องกับคลื่นสมองในขณะนั้น เพื่อช่วยให้เธอสงบและหลับได้สนิท เมื่อเธอถอดแว่นออกมันจะทำการชาร์จอัตโนมัติพร้อมเชื่อมต่อกับระบบสมาร์ตโฮมเพื่อเปิดโหมดความปลอดภัยตอนกลางคืน และลดเสียงพื้นหลังให้เงียบสนิทเพื่อให้เคธีได้นอนหลับพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ที่สุด
ชีวิตเคธีในหนึ่งวันอาจดูเป็นเรื่องไกลตัวที่ตอนนี้เหมือนจะมีแค่ในหนังเท่านั้น เพราะหากมองย้อนกลับมาตอนนี้ที่เราอยู่แค่ในสเตจ Work From Home และเทคโนโลยี VR และ AR ก็ยังต้องพัฒนาอีกไกล แต่ก็ใช่ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับสิ่งที่จอห์น สคัลลีย์ (John Sculley) อดีตซีอีโอของแอปเปิลเคยบอกเอาไว้ว่า “อนาคตเป็นของผู้ที่มองเห็นความเป็นไปได้ก่อนที่มันจะกลายเป็นเรื่องจริง” คำถามจึงอยู่ที่ว่า คุณมองเห็นความเป็นไปได้นี้ไหม แล้วหากเมตาเวิร์สมาถึง คุณจะอยู่ตรงไหนในโลกเสมือนนี้
ที่มาภาพเปิด : VR512/Unsplash
ที่มา :
บทความ "A Day In The Metaverse" (ก.ค. 2020) จาก forbes.com
บทความ “Facebook debuts Infinite Office, a virtual reality office space” (ก.ย. 2020) จาก techcrunch.com
บทความ "I Tried a VR App Meant to Replace Offices, and It Was Glorious”" (ก.พ. 2019) จาก futurism.com
บทความ "People Are Paying Insane Amounts of Real Money for “Virtual Real Estate”" (มิ.ย. 2020) จาก futurism.com
บทความ "Your Future Job is in the Metaverse: These are the 3 Phases to Get There" (มี.ค. 2020) จาก medium.com
เรื่อง : วรรณเพ็ญ บุญเพ็ญ