Humanoid Robot
“หัวจื้อปิง ” นักศึกษาสาว ‘เสมือนจริง’ ที่กำเนิดจากระบบ AI เรียกเสียงฮือฮาให้กับโลกเพราะภาพเสมือนจริงของเจ้าตัวที่ระบบ “อู้เต้า 2.0” สร้างขึ้น และข้อความที่หัวเขียนลงบนเว่ยป๋อ (โซเชียลมีเดียของจีน) ล้วนมีความคล้ายคลึงมนุษย์อย่างมาก จนทำให้ความคิดที่ว่า “หุ่นยนต์หรือ AI จะกลายมาเป็นบุคคลหรือพลเมืองเช่นเดียวกับมนุษย์” กลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้งหนึ่ง
©Xinhuanet.com
หัวจื้อปิงไม่ใช่ระบบ AI หรือหุ่นยนต์ตัวแรกที่ก่อให้เกิดบทสนทนาดังกล่าว ก่อนหน้านี้มีการพูดคุยและถกเถียงกันเป็นระยะ โดยเฉพาะหลังจากปี 2017 เมื่อ “Sophia” (โซเฟีย) หุ่นยนต์ของบริษัท Hanson Robotics จากฮ่องกงได้รับสัญชาติเป็น “พลเมือง” ของประเทศซาอุดิอาระเบีย
©Hanson Robotics
หากคุณยังไม่รู้จักโซเฟีย เธอเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็น “หุ่นยนต์ทางสังคม” ด้วยเป้าหมายเพื่อเป็นผู้ช่วยผู้สูงอายุ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ตามสวนสนุก/งานอีเวนต์ ทำให้โซเฟียถูกพัฒนาให้โต้ตอบบทสนทนาต่าง ๆ ได้ด้วยพลังของการเชื่อมต่อค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมาใช้งาน ไม่เพียงต่อบทสนทนาได้อย่างชาญฉลาดและปล่อยมุกตลกได้ ใบหน้าของเธอยังแสดงสีหน้าได้ 60 แบบคล้ายกับมนุษย์ จนหุ่นยนต์โซเฟียได้รับรางวัลเป็นแชมเปี้ยนด้านนวัตกรรมรายแรกของโครงการการพัฒนาของสหประชาชาติ (UN)
เทคโนโลยีขั้นสูงของโซเฟียสร้างความฮือฮาให้กับโลกก็จริง แต่ที่ฮือฮากันยิ่งกว่าคือ “การที่เธอได้เป็นพลเมืองซาอุดิอาระเบีย” เพราะนั่นเท่ากับว่าหุ่นยนต์กำลังเริ่มได้รับการยอมรับว่ามีความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ความเป็นพลเมืองของโซเฟียก็ถูกตั้งคำถาม เพราะแม้ว่าเธอจะเป็นพลเมืองซาอุฯ แต่เธอก็ไม่ได้มีสิทธิ หน้าที่ หรือถูกปฏิบัติแบบชาวซาอุฯ ทั่วไป เช่นว่า เพศในเชิงรูปร่างภายนอกของโซเฟียเป็นผู้หญิง แต่เธอไม่ถูกบังคับให้สวมฮิญาบเช่นหญิงซาอุฯ ปกติ
©Hanson Robotics
ดูเหมือนหน้าที่หนึ่งเดียวของโซเฟียจะเป็นการ “ทำการตลาด” ให้กับ Hanson Robotics ผู้สร้างเธอขึ้นมา และเดินสายประชาสัมพันธ์นโยบายของประเทศซาอุดีอาระเบียไปรอบโลก โซเฟียจึงยังไม่ได้มีความเป็นตัวตนของตนเองเฉกเช่นมนุษย์ มีก็แต่สถานะความเป็นพลเมืองที่ถูกใช้ในเชิงการตลาดเท่านั้น
เส้นแบ่งของหุ่นยนต์กับมนุษย์
เส้นแบ่งระหว่างโซเฟียกับมนุษย์ทั่วไปยังขีดเส้นได้ชัดเจนในปัจจุบัน เพราะบริษัทผู้ผลิตยังไม่ได้พัฒนาให้โซเฟียมีอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง (เธอแสดงสีหน้าเพื่อให้สอดคล้องกับบทสนทนาเท่านั้น) แต่ถ้าหากวันหนึ่งโซเฟียถูกพัฒนาจนมีความรู้สึกและมีเจตนารมณ์ของตนเอง หากว่าการถูกพาตัวไปทำงานรอบโลกขัดกับเจตนารมณ์ของเธอ โซเฟียจะได้รับการปกป้องหรือไม่ในฐานะ “บุคคล” คนหนึ่ง
เรื่องราวและคำถามทำนองเดียวกันนี้ถูกถามในสื่อต่าง ๆ อยู่เนือง ๆ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Ex Machina (2014) หุ่นยนต์ที่ล่อหลอกมนุษย์จนปลดแอกตัวเองสำเร็จเพื่อไปใช้ชีวิตตามเจตนารมณ์ของตน หรือวิดีโอเกม Detroit: Become Human (2018) ว่าด้วยเรื่องหุ่นยนต์รับใช้มนุษย์ที่เกิดสำนึกรู้ตนและลุกขึ้นมาทวงคืนสิทธิของตนเอง
สื่อเหล่านี้อาจยังเป็นเพียงจินตนาการ แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเทคโนโลยี AI กำลังพัฒนารุดหน้าไปตลอดเวลา โดย “เดวิด แฮนสัน” แห่ง Hanson Robotics ผู้พัฒนาโซเฟีย เขียนบทความคู่ไปกับการเปิดตัวเกม Detroit: Become Human (2018) คาดการณ์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเกมนี้ "เป็นไปได้" หุ่นยนต์อาจจะเริ่มมีความเป็นมนุษย์ราวทศวรรษ 2030s และอาจจะได้สิทธิของหุ่นยนต์ช่วงปี 2040s-50s
©pch.vector/Freepik
“ไม่ใช่เพียงแค่ศักยภาพทางร่างกาย แต่ต้องมีสำนึกของความปรารถนาที่จะตัดสินใจด้วยตนเอง รวมถึงความตระหนักรู้และความสงสัยใคร่รู้ต่อสถานะของตนเอง” เป็นคำนิยามของ Hanson ว่าเส้นแบ่งที่หุ่นยนต์จะต้องก้าวข้ามเพื่อให้มีความเป็นมนุษย์นั้นอยู่ตรงไหน
หุ่นยนต์ควรจะมีสิทธิเหนือตนเองไหม
ถ้าวันที่โซเฟียมีเจตนารมณ์ของตนเองมาถึง เธอควรจะมีสิทธิเหนือร่างกายตนเองหรือไม่ คำถามนี้เป็นเรื่องราวถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการ เพราะการให้สถานะบุคคลแก่หุ่นยนต์เป็นเรื่องใหญ่ที่จะกระทบผูกพันเชิงกฎหมายและสังคมเป็นวงกว้าง
รศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง อธิบายไว้ในรายงานเรื่อง “กฎหมายกับปัญญาประดิษฐ์” เมื่อปี 2018 ว่า วงวิชาการได้แยกการพิจารณา AI แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- ปัญญาประดิษฐ์ที่ทำงานอัตโนมัติได้ในระดับเบื้องต้น (Artificial Narrow Intelligence: ANI) และ ปัญญาประดิษฐ์ที่คิดเป็นเหตุเป็นผลและเรียนรู้ได้เองจากประสบการณ์ (Artificial General Intelligence: AGI) กลุ่มนี้นักวิชาการเห็นตรงกันว่า AI นั้นควรจะเป็น “ทรัพย์สิน” ของเจ้าของมากกว่าเป็นบุคคล เพราะยังไม่มีความสามารถในการตัดสินใจอย่างอิสระ (Autonomy) และไม่มีเจตนารมณ์มุ่งมั่นของตนเอง (Volitionality)
- ปัญญาประดิษฐ์ที่คิดเชิงนามธรรมได้ เรียนรู้และตัดสินใจเองได้อย่างอิสระ (Artificial Superintelligence: ASI) กลุ่มนี้คือ AI ที่สร้างข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งกันในวงวิชาการ เพราะเป็น AI ที่มีเจตนารมณ์ของตนเอง ทำให้มีทั้ง กลุ่มผู้สนับสนุนให้ AI ได้รับการคุ้มครองและมีสถานะบุคคล (กลุ่ม Silicon Ethic) และ กลุ่มที่มองว่าไม่ควรจะคุ้มครอง AI เทียบเท่ามนุษย์ (กลุ่ม Green Ethic)
ข้อขัดแย้งของทั้งสองกลุ่มนั้นมองคนละมุม กลุ่มที่สนับสนุนให้ AI มีสิทธิความคุ้มครองให้เหตุผลว่า หากมองเทียบกับ “สิทธิสัตว์” จะเห็นได้ว่าสัตว์ไม่ได้ใช้สิทธินี้เอง แต่ต้องมีมนุษย์พิทักษ์สิทธิให้ ซึ่งเป็นเพราะมนุษย์มีชุดความคิดทางศีลธรรมในการเข้าปกป้องหลักการความถูกต้อง ฉันใดก็ฉันนั้น สมมุติว่า AI มีศักยภาพตลอดจนเจตนารมณ์ของตนเอง และคิดสร้างสรรค์ผลงานเพลงสักชิ้นขึ้นมาเอง จากนั้นเพลงดังกล่าวถูกบุคคลอื่นขโมยไปใช้แบบละเมิดลิขสิทธิ์ มนุษย์ก็จะใช้มโนสำนึกเกี่ยวกับการลอกเลียนแบบไปใช้ปกป้องสิทธิของ AI ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานเพื่อรักษาความถูกต้อง
อีกฟากหนึ่งคือกลุ่มที่ไม่เชื่อเรื่องสิทธิของ AI หากมองเทียบกับสิทธิสัตว์ก็ได้เช่นกัน โดยกลุ่มนี้ชี้ให้เห็นว่า AI ไม่สามารถมีเซ็นเซอร์รับความรู้สึกเชิงจิตวิทยา รัก โลภ โกรธ หลง ได้แบบเดียวกับมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และหาก AI ถูกโปรแกรมมาให้แสดงออกถึงความรักได้ นั่นก็เป็นเพียงการแสดงออก ไม่ใช่ความรู้สึกที่แท้จริง เทียบกับสัตว์แล้ว มนุษย์เข้าปกป้องสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดเพราะเราทราบว่าสัตว์นั้นมีความเจ็บปวด แต่ AI ไม่ได้มีความเจ็บปวดเกิดขึ้นจริงทั้งทางกายและใจ
©macrovector/Freepik
ข้อถกเถียงเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเชิงปรัชญาที่ยังมาไม่ถึง แต่ที่จริงเป็นสิ่งที่คืบใกล้เข้ามากว่าที่คิด โดยมีบางองค์กรที่กำลังคิดพิจารณาให้ AI หรือหุ่นยนต์ในอนาคต “มีสถานะความเป็นบุคคล” ขึ้นมาจริงๆ นั่นคือ European Parliament Resolution มีการเสนอข้อแนะนำเพื่อร่าง “กฎหมายกำกับควบคุมหุ่นยนต์” ของสหภาพยุโรป หนึ่งในข้อแนะนำคือแนะให้กฎหมายนี้ “สร้างสถานะทางกฎหมายแก่หุ่นยนต์” เพื่อให้หุ่นยนต์ที่ทรงภูมิปัญญาและสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง (autonomous) มีสิทธิเป็น “บุคคลอิเล็กทรอนิกส์” และจะมีหน้าที่รับผิดชอบติดตามมา เมื่อหุ่นยนต์ตัดสินใจใด ๆ ลงไปด้วยตนเอง
แนวคิดของ European Parliament Resolution ใช่ว่าจะมีคนเห็นด้วยไปเสียทั้งหมด เพราะหลังจากออกแนวทางมาไม่นาน ในปี 2018 มีกลุ่มนักวิชาการด้าน AI, หุ่นยนต์, ไอที, ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ฯลฯ ส่ง “จดหมายเปิดผนึก” ถึง EU ให้คิดไตร่ตรองเสียใหม่ โดยมองว่าสิ่งสำคัญที่ควรมุ่งเน้นคือการตีกรอบไม่ให้ AI ก่อความเสี่ยงต่อมนุษย์มากกว่า และการให้สถานะเป็นบุคคลแก่หุ่นยนต์จะมีปัญหาเชิงกฎหมาย รวมถึงมีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนเองด้วย ปัจจุบันจดหมายเปิดผนึกนี้มีคนลงชื่อแล้ว 285 คน (ทั้งหมดเป็นพลเมือง EU)
ถ้าหุ่นยนต์มีสถานะบุคคลและมีสิทธิเท่ากับมนุษย์แล้วจะเป็นปัญหาอย่างไร ฮุสเซน อับบาส ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมและไอที มหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ในแคนเบอร์รา ชวนคิดในบทความที่เขียนลงในเว็บไซต์ theconversation.com ว่า หากโซเฟียหรือหุ่นยนต์อื่น ๆ มีสิทธิในการ ‘สืบพันธุ์’ โดยอาจจะใช้วิธีโคลนตัวเองด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ และเมื่อหุ่นยนต์ทุกตัวเป็นพลเมืองของโลก อนาคตหุ่นยนต์จะสืบพันธุ์จนมากกว่าจำนวนมนุษย์หรือไม่ และหากมีหุ่นยนต์มากกว่าคน สังคมจะเปลี่ยนไปสักแค่ไหน
คำถามเรื่องหุ่นยนต์กับสิทธิและความเป็นบุคคล/พลเมือง น่าจะยังเป็นที่ถกเถียงไปอีกสักพัก เมื่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจต่อคำถามนี้จะส่งผลต่อเนื่องทั้งทางกฎหมายและสังคมเป็นวงกว้าง
แล้วคุณล่ะ...มองว่าหุ่นยนต์ระดับ ASI ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ควรมีสิทธิของตนเองหรือยัง
ที่มา :
บทความ “The agony of Sophia, the world’s first robot citizen condemned to a lifeless career in marketing” โดย จาก wired.co.uk
บทความ “Should robots be citizens?” จาก britishcouncil.org
บทความ “Does Saudi robot citizen have more rights than woman?” โดย Rozina Sini จาก bbc.com
บทความ “Open Letter to the European Commission Artificial Intelligence and Robotics” จาก robotics-openletter.eu
บทความ “Should AI have rights?” จาก bytes.scl.org
บทความ “กฎหมายกับปัญญาประดิษฐ์” โดย รศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์, วารสาร นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับเดือนกันยายน 2561)
บทความ “ความเป็นมนุษย์ของหุ่นยนต์” โดย ดร.ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ จาก forbesthailand.com
เรื่อง : พัฐรัศมิ์ ว่องไชยกุล