สินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มค่างานสร้างสรรค์ มุมมองแห่งโอกาสกับ “ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์”
ทุกคนคุ้นเคยกับอินเทอร์เน็ตในแง่ของการเป็นสื่อกลางเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้างหลากหลายในยุค Internet of Information แต่มาวันนี้โลกก้าวไปอีกขั้น อินเทอร์เน็ตสามารถส่งต่อมูลค่าแสดงความเป็นเจ้าของ ระบุลิขสิทธิ์ข้อมูลและสิ่งของต่าง ๆ ได้เมื่อเราเข้าสู่ยุค Internet of Value สิ่งต่างๆ ในโลกสามารถแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่า ประกาศความเป็นเจ้าของได้อย่างรัดกุมและปลอดภัย ยิ่งเมื่อเกิดตลาดการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จึงเป็นโอกาสให้ทุกคนสามารถแปลงสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งผลงานสร้างสรรค์ ให้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำหนดมูลค่าและซื้อขายแลกเปลี่ยนได้คล่องตัว โดยมีเทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นตัวกำกับและติดตามการเปลี่ยนแปลงได้ทุกกิจกรรม
ด้วยจุดกำเนิดที่มาจากเหรียญเงินดิจิทัล เมื่อพูดถึงสินทรัพย์ดิจิทัลคนจึงมองไปที่บิตคอยน์ สกุลเงินดิจิทัลที่มีให้เลือกหลากหลาย บิตคอยน์เป็นช่องทางการลงทุนที่มาแรงและหลายคนตื่นเต้นกับมูลค่าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่มาวันนี้เหรียญดิจิทัลไม่ได้ตอบโจทย์แค่ด้านการเงินเท่านั้น แต่มันยังสามารถตอบโจทย์ “งานสร้างสรรค์” เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจในการแปลงผลงานสร้างสรรค์เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล กำหนดมูลค่า แสดงความเป็นเจ้าของ และซื้อขายแลกเปลี่ยนได้อย่างคล่องตัว แต่กระบวนการเหล่านี้ยังอยู่ในวงจำกัด ผู้ที่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ยังมีไม่มากนัก แต่ก็ไม่น้อยเกินไป เพราะมีสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางให้ความรู้ด้านนี้อย่างจริงจัง
ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Bitcast เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรงจากการเป็นนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งยังมีมุมมองที่ชัดเจนเกี่ยวกับโอกาสของสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์แก่ผู้สนใจ ทั้งบุคคลทั่วไปและองค์กรต่าง ๆ รวมถึงนิตยสารคิดฉบับนี้ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นโอกาสใหม่ของงานสร้างสรรค์ในโลกของคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญที่เหล่าครีเอเตอร์นักสร้างสรรค์จะสามารถคว้าโอกาสจากความพร้อมของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลได้
ก่อนอื่น อยากให้เล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของเทคโนโลยีบล็อกเชนกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้เข้าใจง่าย ๆ
สรุปสั้น ๆ ได้ว่าเป็นการเดินทางของเทคโนโลยีเลยครับ ถ้าเรามองย้อนไป 30 ปี เชื่อว่าหลายคนคงไม่คิดหรอกว่าอินเทอร์เน็ต จะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเรามากขนาดนี้ เฟซบุ๊กจะเป็นช่องทางสื่อสารหลักที่เกาะติดชีวิตเราทุกวัน ยุคเริ่มแรกอินเทอร์เน็ตมีบทบาทในการส่งต่อข้อมูลข่าวสารเป็นหลัก หรือที่เราเรียกว่า information แต่มายุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีบล็อกเชนด้วย มันทำให้อินเทอร์เน็ตก้าวสู่ยุคที่สามารถส่งต่อมูลค่า หรือ value กันได้ ยุคอินเทอร์เน็ตที่ส่งข้อมูลมันง่ายที่จะก๊อบปี้ แต่มาในยุคอินเทอร์เน็ตที่ส่งต่อมูลค่า มันไม่สามารถจะก๊อบปี้กันได้
ผมยกตัวอย่าง เช่นยุคข้อมูลข่าวสาร เมื่อผมส่งภาพให้บก. ภาพหนึ่ง บก. สามารถก๊อบปี้ภาพนี้เป็น 5 ภาพ 10 ภาพได้เลย แต่มาในยุคบล็อกเชน เวลาที่เราส่งต่อข้อมูลให้กัน จะมีกระบวนการ Proof of Ownership เพื่อตรวจสอบว่าความเป็นเจ้าของอยู่ที่ใคร ณ เวลานั้น ถ้าผมโอนให้คนอื่น สิทธิของผมไม่มีแล้ว แต่ถ้าเป็นยุคข้อมูล แม้โอนไป ผมก็ยังเก็บก๊อบปี้ไว้ได้ อันนี้มันเลยทำให้เกิดการตื่นตัวขึ้นในโลกของบล็อกเชน
ก่อนหน้านี้ Digital Money มีปัญหา Double Spending จนกระทั่ง ซาโตชิ นากาโมโตะ (Satoshi Nakamoto) เขาคิดโปรโตคอลที่ช่วยให้บิตคอยน์แก้ปัญหานี้ได้ โดยใช้ดาต้าเบสที่เรียกว่าบล็อกเชนมาช่วยเก็บข้อมูลและพิสูจน์ความเป็นเจ้าของในช่วงระยะเวลานั้น ๆ ซึ่งยังไม่เคยเกิดข้อผิดพลาด มันได้รับการต่อยอดและพัฒนาไปเป็น NFT หรือ Non-Fungible Token สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่สามารถทำซ้ำได้ เราได้เริ่มเข้าสู่ยุค Internet of Value ที่เราสามารถถ่ายโอนมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลให้กันได้
นั่นจึงทำให้เจ้าของผลงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่เคยถูกลอกเลียนหรือก๊อบปี้ได้รับประโยชน์มากขึ้น
ใช่ครับ ในโลก Internet of Information หรือยุคของการส่งข้อมูลข่าวสาร มันเคยเบียดเบียนความสามารถของครีเอเตอร์ เบียดเบียนเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญากันจนเป็นเรื่องปกติ พอมายุค Internet of Value มันทำให้ครีเอเตอร์เริ่มมองเห็นว่าเขาสามารถรักษาสิทธิที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเขาได้มากขึ้นได้ยังไง จากเดิมที่เคยถูกละเมิดด้วยการก๊อบปี้กันได้ง่าย ๆ จนทุกคนเคยชินและทำให้นักสร้างสรรค์ไม่ได้รับผลตอบแทนด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีพอ ทำให้รายได้ของครีเอเตอร์ไม่เป็นไปอย่างที่ควรเป็น แต่มาวันนี้การรักษาทรัพย์สินทางปัญญาในสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถทำได้แล้วด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน
เทคโนโลยีบล็อกเชนเริ่มจากภาคการเงิน แต่อะไรที่เชื่อมโยงและทำให้เทคโนโลยีนี้ไหลเข้ามาในวงการสร้างสรรค์
ด้วยความที่เทคโนโลยีเป็นตัวที่ทลายข้อจำกัดอะไรบางอย่าง ในโลกการเงินมีคุณสมบัติที่เรียกว่า Fungible คือคุณสมบัติที่ใช้ทดแทนกันได้ เช่น เรามีแบงก์ร้อย เราก็ใช้แทนกันได้ เราไม่เคยมาสนใจบนเลขบนแบงก์คือเลขอะไร เพราะแบงก์ร้อยทุกใบมีค่าเท่ากัน แต่ในเชิงครีเอเตอร์หรือศิลปินมันไม่เท่ากัน งานศิลปะทุกชิ้นมีความแตกต่างกัน เดิมทีเทคโนโลยีนี้เริ่มเข้ามาทางอุตสาหกรรมเกมก่อน เพราะเขามองว่าบล็อกเชนเป็นดาต้าเบสประเภทหนึ่ง แต่เป็นดาต้าเบสที่เก็บ Single of Truth หรือความจริงหนึ่งเดียวที่แก้ไขยาก จึงเอาคุณสมบัตินี้มาก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น โดยปกติไอเท็มในเกมมีความหลากหลาย มีทั้งไอเท็มธรรมดาใช้แทนกันได้เหมือน Fungible แต่ก็มีบางไอเท็มที่หายาก มีอยู่แค่ 2-3 ไอเท็มในโลก ก็คิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ไอเท็มเหล่านี้มันมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงพัฒนามาตรฐานที่เรียกว่า Non-Fungible Token หรือ NFT ขึ้นมา
แปลว่าใคร ๆ ก็สร้างโทเคน และ NFT ได้ แล้วต้องมีเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์อะไรมากำกับดูแล
ใคร ๆ ก็สร้างโทเคนได้ครับ แต่มันไม่ได้สำคัญที่ตอนสร้าง สำคัญที่ว่าคุณชูให้คนเห็นประโยชน์ของโทเคนนี้ได้หรือเปล่า ถ้าทำได้ ตลาดก็ตอบรับสิ่งที่คุณนำเสนอ ส่วน Non-Fungible Token ก็เช่นเดียวกันใคร ๆ ก็ทำได้ ด้วยความที่เป็นโอเพ่นบล็อกเชน มันจึงเป็นตลาดเสรีที่เปิดให้ใครเข้ามาทำก็ได้ ไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรมากำกับ ดังนั้นมันจึงเป็นการขยายโอกาสได้ไม่สิ้นสุด เช่นเมื่อศิลปินทำงานศิลปะขึ้นมาเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ฐานลูกค้าของเขาจะไม่ใช่แค่ฐานลูกค้าคนไทยอีกต่อไป แต่จะอยู่บนตลาดโลกที่มีฐานลูกค้าเยอะมาก ๆ ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าจะจับทางได้ไหมว่าคนเขาชอบผลงานศิลปะแบบไหน ซึ่งปัจจุบันตลาดมาร์เก็ตเพลสอย่าง OpenSea ไม่จำเป็นต้องยืนยันตัวตนด้วยว่าคุณเป็นใครอะไรยังไง แต่ในอนาคตมันอาจมีการพิสูจน์อะไรบางอย่าง เพราะก็มีการก๊อบปี้ผลงานไปแอบอ้างเหมือนกัน แต่ถ้าถามว่าใครก็ได้ใช่ไหม ก็ต้องบอกว่าใช่ ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น
เพื่อหาโอกาสบนตลาดใหม่ตอนนี้ ศิลปินก็ควรสร้างงานที่เป็นรูปแบบดิจิทัลไว้เพื่อให้สะดวกต่อการเข้าสู่ตลาด NFT
ต้องบอกว่าตลาดดิจิทัลรอบการหมุนทางเศรษฐกิจมันง่ายและการเปลี่ยนมือของผลงานมันก็เคลื่อนไปได้เร็วกว่า ซึ่งตรงนี้ย่อมทำให้ส่วนต่างราคามันเติบโตเร็ว การสร้างผลงานเป็นดิจิทัลไว้จึงช่วยในเรื่องนี้ แต่ถ้ายังทำเป็นรูปแบบเดิมที่จับต้องได้ มันก็จะมีแรงเสียดทานมากกว่าที่จะทำงาน Digital ไปเป็นโทเคนเลย ดังนั้นถ้าจะให้ผมแนะนำก็อยากให้ลองทำงานเป็นดิจิทัลไปเลย แล้วเอาไปทำให้เป็นโทเคน (Tokenize) เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ก็จะทำให้เกิดการส่งต่อง่าย และก่อให้เกิดการเปลี่ยนมือ ทำกำไร และทำให้ตลาดมันโตได้เร็ว หรือถ้าจะเปลี่ยนผลงานศิลปะรูปแบบเดิมมาเป็นดิจิทัลก็ได้ แค่ว่ามันต้องอาศัยตัวกลางและความเชื่อใจ สมมติผมซื้อภาพวาด ผมจะมั่นใจได้อย่างไรว่าภาพจะมาถึงมือ การที่ต้องมีตัวกลางแปลงเป็นโทเคนนั้น ตัวกลางต้องรับเงินมาก่อน ซึ่งก็จะทำให้การซื้อขายยากขึ้นเพราะต้องรอให้ปลายทางได้รับภาพก่อนแล้วคอนเฟิร์มมาทางตัวกลาง ตัวกลางถึงจะปล่อยเงินให้ครีเอเตอร์ แบบนี้การหมุนของวงจรก็จะช้าลงหน่อยถ้าเรายังติดกับการทำงานในรูปแบบที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด หรืองานปั้น และงานอื่น ๆ
เราเริ่มเห็นการเกิดขึ้นของตลาดประมูลงานศิลปะหรือคนกลางที่เข้ามาดูแลการซื้อขายในระบบ NFT มากขึ้นเรื่อย ๆ ปรากฏการณ์นี้มันช่วยเร่งให้ตลาดโตเร็วขึ้นหรือไม่
ถ้าเป็นในมุมของโอเพ่นมาร์เก็ต ผมคิดว่าสุดท้าย ตลาดจะเป็นคนเลือกเอง ซึ่งถ้าศิลปินมองว่าตลาดเสรีเป็นโอกาสก็จะไปถึงจุดที่ติดต่อซื้อขายกับลูกค้าได้อยู่ดี แต่ถ้าเขาเลือกที่จะเอางานไปขายผ่านคนกลางหรือบริษัทประมูลต่าง ๆ ก็สามารถไปทางนั้นได้เหมือนกัน เพราะสุดท้ายก็ไม่มีใครกำกับใคร ศิลปินบางคนขายชิ้นเดียว แต่งานดีมากดังมากก็อยู่ได้ยาว เพราะบางคนก็ต้องการสร้างงานคุณภาพหรือส่งต่องานที่มีคุณภาพจริง ๆ ผมว่าสิ่งสำคัญคือศิลปินมีสิทธิเลือก เราไม่ได้ถูกบังคับให้ไปตามตลาด แต่เรามีสิทธิที่จะกำหนดทิศทางการทำงานของตัวเอง ซึ่งตรงนี้มันเป็นความสวยงามของโลกแบบกระจายศูนย์ ที่ทำให้ศิลปินมีสิทธิเลือกที่จะวางผลงานของเขาที่ไหนก็ได้ตามที่พอใจ
มองว่าตลาด NFT หรือการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะเข้าสู่ภาวะฟองสบู่หรือไม่
ไม่มีใครรู้ครับ แต่ต่อให้เป็นฟองสบู่ก็จะเป็นฟองสบู่ที่ทำให้ตลาดได้เรียนรู้อยู่ดี ในโลกของตลาดเสรีผมมองว่าทุกอย่างมันคือความสวยงาม มันคือการเรียนรู้ และทุกอย่างไม่ใช่แค่เรื่องของราคา แต่สิ่งที่ศิลปินควรโฟกัสก็คือเรื่องของการรังสรรค์งานที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ ตัวอย่างเช่น ในช่วงแรกของตลาดคริปโตมีเหรียญออกมาเป็นพันเหรียญ หลังจากนั้น 3 ปีผ่านไป มีเหลือรอดไม่ถึง 10% สิ่งนี้มันสะท้อนให้เห็นว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เหรียญเหล่านี้อยู่รอด เหมือนบริษัทในธุรกิจแบบเดิม เราอาจจะมีบริษัทเปิดใหม่ 100 บริษัท แต่ก็เหลือรอดไม่ทั้งหมดเช่นกัน คำถามคือ อะไรที่ทำให้บริษัทเหล่านั้นรอด มันคือสิ่งที่ทำให้ตลาดเรียนรู้ ทำให้เขาโฟกัสว่าทำอย่างไรลูกค้าถึงจะเชื่อมั่นและใช้บริการ
ถ้าศิลปินไปหลงประเด็นตามกระแส และลืมว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในผลงานของตัวเอง ก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่ควรทำคือกลับมาต้องโฟกัสว่าจะส่งมอบอะไรที่เป็นตัวตนของตัวเองให้กับคนที่เสพผลงานมากกว่า ผมมองว่าศิลปินก็เลือกได้ว่าคุณจะรวยเร็วหรือจะรวยนาน ถ้ารวยเร็วมากตลาดมันล้ม คุณก็ไปต่อไม่ได้ แต่ถ้าคุณเลือกรวยนาน คุณก็จะได้เรื่อย ๆ ในตลาดที่ชอบสไตล์งานของคุณ อาจจะไม่ได้เงินมากแต่ขายได้เรื่อย ๆ ก็เหมือนกับธุรกิจอื่น ๆ ที่มีบางทั้งขาขึ้นขาลง และคุณเลือกได้ว่าจะเป็นคนที่ยืนระยะยาวหรือสั้น
ล่าสุดการที่ก.ล.ต. ออกกฎห้ามนำโทเคนบางประเภทมาขายบนกระดานที่ได้รับอนุญาต จะมีปัญหาอะไรกับระบบของ NFT หรือไม่
จริง ๆ แล้วก.ล.ต. ไม่ได้ห้ามขายนะครับ แต่เขาห้ามลิสต์ ซึ่งมันต่างกันก.ล.ต. หรือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มีหน้าที่กำกับดูแลผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เทียบง่าย ๆ ว่าในตลาด มีก.ล.ต. เป็นคนคุมตลาด ถ้านับเฉพาะตลาดที่ขายสินทรัพย์ดิจิทัล ก็น่าจะมีอยู่ 5-6 ตลาดที่ก.ล.ต. ออกใบอนุญาตให้ดำเนินการได้ ตลาดก็จะมีรายการสินค้าว่าตลาดนี้ขายอะไรได้บ้าง การที่ก.ล.ต. ออกกฎมาว่าห้ามขายอะไรบ้างนั้น ก็จะมีแต่ตลาดที่ถูกกำหนดว่าขายไม่ได้ แต่ถามว่าตลาดที่ก.ล.ต. ไม่กำหนด ขายได้ไหม คำตอบก็คือขายได้ เพราะคือไม่ได้คุมทุกตลาด
อย่างที่ผมบอกว่าระบบนี้มันเป็นโอเพ่นมาร์เก็ต อย่างเช่น OpenSea ก็เป็นหนึ่งในตลาดระดับโลกที่ก.ล.ต. ไปบังคับไม่ได้ เขาห้ามขายตลาดนี้ ก็ไปขายตลาดอื่น และจริง ๆ แล้ว การขายโทเคนในตลาดระดับโลกจะเป็นโอกาสของคุณมากกว่าด้วยซ้ำ แต่การที่ห้ามขายในตลาดไทยมันก็คือการปิดโอกาสของผู้ประกอบการเอง แต่ในแง่ของครีเอเตอร์ คุณก็แค่ไปหาตลาดอื่นที่ก.ล.ต. ไม่ได้กำกับดูแล ซึ่งมันเปิดกว้างกว่าด้วยซ้ำไป และที่จริงก็ยังไม่เคลียร์ว่า NFT ควรจะไปอยู่ตลาดไหนกันแน่ เพราะล่าสุดก็เห็นมีคนประกาศว่าจะทำมาร์เก็ตเพลสของ NFT ขึ้นมาโดยเฉพาะด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นสำหรับคนทำและคนซื้อโทเคนพวกนี้ก็แทบจะไม่ได้รับผลกระทบเลย แต่คนที่กระทบจริง ๆ คือผู้ประกอบการที่เขาไม่มีสิทธิจะเอาของมาขาย พูดง่าย ๆ คือเขาโดนตัดโอกาสจากการซื้อขาย NFT แต่เอาเข้าจริงคนสร้างกับคนซื้อก็ยังซื้อขายกันได้อยู่ดี
กลายเป็นว่าการออกกฎบางอย่างสำหรับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลก็อาจกลายเป็นอุปสรรคมากกว่าการสนับสนุน
ในแง่ของตัวแทนสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ผมมีกังวลเรื่องการกำกับดูแลของคนนอกตลาดที่เข้ามาตัดสินสิ่งที่คนในตลาดเขาควรจะได้เป็นคนเลือกเหมือนกันนะ สิ่งที่เราพยายามสื่อสารจึงเป็นเรื่องการปรับจูนความต้องการและความเข้าใจต่าง ๆ เช่น การออกกฎแบบนี้ จะเป็นประโยชน์หรือคุ้มค่าจริง ๆ หรือเปล่า ซึ่งหลังจากนี้ทางสมาคมฯ คงจะออกแถลงการณ์อะไรบางอย่างออกมา แต่เราก็ต้องรอให้ทางก.ล.ต. ได้อธิบายในแง่มุมข้อกังวลของฝั่งเขาออกมาด้วย เพื่อที่จะหาจุดร่วมที่ลงตัวที่สุด
สิ่งที่ผมห่วงจริง ๆ ผมรู้สึกว่ามันขาดการเชื่อมโยงหรือการรับฟังจากกลุ่มที่เป็นคอมมูนิตีตรงนี้มากกว่าการออกกฎต่าง ๆ อย่างในที่ประชุมผมก็เสนอว่าควรจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมซึ่งไม่ใช่เราคนเดียว ควรมีสมาคมการค้าของผู้ประกอบการ ควรมีการรวมกลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายทั้งที่ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการ แต่ยังควรมีภาครัฐ นักลงทุน เพราะเราก็อยากฟังคนในทุกภาคส่วนที่จะมาร่วมนั่งคุยกันเพื่อจะได้อะไรบางอย่างที่ควรจะเป็น ผมคิดว่าบางทีด้วยความที่เราเป็นห่วง เราก็จะออกกฎมาเพื่อบีบให้เป็นไปตามที่เราต้องการหรืออยากให้เป็น แต่นั่นคือความน่ากลัวของความรักเพราะมันเป็นรักแบบตามใจฉัน การลงโทษก็เช่นกัน ถ้าคิดว่ามันผิด คุณต้องเฆี่ยน แต่ทุกวันนี้เราออกกฎหมายมา พอคนทำผิดเราก็ไม่เฆี่ยน แต่กลายเป็นกฎมันดันมาบังคับคนที่เขาไม่ได้ทำผิด และเป็นการปิดโอกาสไปทั้งหมด
คิดว่าจะทำอย่างไรให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีความยั่งยืน
ข้อนี้ผมขอตอบในนามส่วนตัวนะครับ อย่างที่สมาคมฯ เราก็ประกอบด้วยคนหลายเจเนอเรชัน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งผมเข้าใจทั้งสองฝั่ง เพราะเหมือนอยู่ในรุ่นกลาง ๆ แต่จริง ๆ ผมค่อนข้างเชื่อในมุมเหมือนน้อง ๆ ว่า การมีโอเพ่นมาร์เก็ตจะเอื้อต่อการเกิดนวัตกรรม เอื้อต่อการสร้างอะไรใหม่ ๆ ถ้าเราสังเกต ธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อให้คนใช้มากขึ้น เพื่อให้ตลาดเกิด แต่พอมีพลังจากนอกตลาดเข้ามากำกับดูแลตรงนี้ก็จะทำให้พลังสร้างสรรค์ลดลง การออกแรงในการสร้างสรรค์ผลงานลดลง บางอย่างก็มีกฎออกมาล็อกหรือกันไม่ให้คนตัวเล็ก ๆ สามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นมาเพื่อแข่งขันได้อย่างเสรี นวัตกรรมกลายเป็นถูกทำหมันไปเรียบร้อย แต่สำหรับตลาดคริปโต ผมอยากให้มันเป็นไปตามกลไกตลาดที่จะสร้างนวัตกรรมของมันเอง จึงผลักดันให้เกิดตลาดเสรีระดับหนึ่งที่เราพอรับได้ ถึงแม้จะไม่ได้เสรี 100% แต่ก็พยายามทำให้มากที่สุดที่จะทำได้
มองว่าความเสรีหรือการไม่มีกฎมาควบคุมจะทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นหรือเปล่า
ถามว่าความเสี่ยงในตลาดเสรีมีไหม มันมีอยู่แล้วครับ ที่คนที่มีความรู้ย่อมหาประโยชน์จากคนไม่รู้ แต่สิ่งที่จำเป็นสำหรับนักลงทุนคือคุณควรรู้ว่าตัวเองมีทักษะแค่ไหน คนที่มีทักษะดี ก็ควรได้รับผลตอบแทนดี แต่พอมีการกำกับดูแลที่มาทำให้ทุกคนเท่ากัน มันก็อาจจะไม่แฟร์เท่าไร ยกตัวอย่างคนที่มีสกิลไม่เท่ากันแต่รายได้เท่ากัน มันก็อาจจะทำให้คนไม่ได้อยากจะพัฒนา แต่ตลาดเสรีจะผลักดันให้คนพัฒนาตัวเองเสมอ ถ้าคุณไม่มีทักษะ ก็ต้องรู้ว่าจะมาแข่งกับคนเก่งไม่ได้ เพราะตลาดเสรีมันไม่เท่าเทียมครับ แต่มันเอื้อต่อนวัตกรรมและผลักดันให้คนคิดอะไรใหม่ ๆ
เรามองว่าตลาดเสรีมีศักยภาพของการเติบโต เมื่อเงินทุนเริ่มไหลเข้า คนที่มีพรสวรรค์ก็จะเริ่มไหลเข้ามาเช่นกัน เกิดการสุมหัวกันของคนที่มีพรสวรรค์ ก็ย่อมจะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ออกมา เช่น ตลาดคริปโตวันนี้มันเกิดจากการที่คนเก่งการเงินมาเจอกับคนเก่งเทคโนโลยี ก็เลยสามารถคิดค้นโปรโตคอลที่นำเสนอคุณค่าใหม่ให้กับโลกได้ แบบนี้ผมว่ามันก็คุ้มค่าที่เราต้องปล่อยให้ตลาดเติบโตเอง อย่ากลัวแต่ว่าจะเกิดการหลอกลวง (Scam) ท่าเดียว หน้าที่เราคือกำจัดสแกม แต่ต้องไม่ทำให้ต้นอ่อนเมล็ดพันธุ์ที่ดีบอบช้ำ ผมมองว่าควรจะเป็นแนวทางนี้มากกว่าที่จะยั่งยืน
ถ้าอย่างนั้นมันจะน่ากลัวไหม กับการที่คนเก่งมาเจอกับคนที่อาจจะไม่ได้มีทักษะเพียงพอและก็จะถูกเอาเปรียบ
โลกนี้มันมีอยู่แล้วครับ มีทุกยุคสมัย แต่ผมไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะสมัยก่อนข้อมูลมันถูกเลือกให้เราเสพเท่าที่เขาต้องการให้เราเสพ แต่พอมาอยู่บนโลกบล็อกเชน ทุกอย่างตรวจสอบได้ ตลาดจะได้รับรู้เรื่องพวกนี้ ทุกอย่างถูกเปิดเผยบนเน็ตเวิร์ก ซึ่งเมื่อคุณรู้ คุณหาข้อมูลได้ทั้งหมด ก็เป็นสิ่งที่ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกแบบไหน ผมเคารพในความคิดของคนทุกคน ส่วนจะรู้มากรู้น้อย ทุกคนฝึกฝนได้ แต่ถ้าสร้างไม่ได้จริง ๆ คุณก็อาจจะไม่เหมาะกับตลาดนี้ ก็สามารถไปตลาดอื่นที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าได้ เหมือนคุณเลือกว่าจะฝากธนาคารหรือเทรดหุ้น ก็เป็นไปตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของแต่ละคน
อยากบอกอะไรกับคนที่ยังไม่ตัดสินใจเข้ามาในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
ผมอยากบอกว่าความเสี่ยงไม่ได้อยู่ที่สินทรัพย์อย่างเดียว แต่มันอยู่ที่ตัวคนด้วย เช่น รถยนต์สองคันความเร็ว 200 กม./ชม. กับความเร็ว 60 กม./ชม. ถ้าคนขับรถไม่เป็น คุณใช้ความเร็วแค่ 60 ก็เสี่ยงอยู่ดี แต่กลับกัน ถ้าคุณขับเป็น ความเร็ว 200 ก็อาจจะไม่เสี่ยงเท่า ฉะนั้นมันขึ้นอยู่ที่ว่าคุณจะเรียนรู้และเข้าใจมันแค่ไหน คุณจะหาประโยชน์กับมันได้ขนาดไหน สิ่งที่อยากบอกคือถ้าคุณมีทักษะในการเรียนรู้ ตลาดเสรีจะทำให้คุณมีสกิลได้มากที่สุด
[Creative Ingredients] ถ้าเลือกได้ อยากคุยกับใครมากที่สุด บทบาทที่มีความสุขที่จะทำมากที่สุด |
เรื่อง : พัชรินทร์ พัฒนาบุญไพบูลย์ และ เพทาย พลอยสว่าง I ภาพ : สุรเชษฐ์ โสภารัตนดิลก