วัสดุทางเลือกเพื่อการขุดเหมืองบิตคอยน์ที่ยั่งยืน
Technology & Innovation

วัสดุทางเลือกเพื่อการขุดเหมืองบิตคอยน์ที่ยั่งยืน

  • 04 Jul 2021
  • 2331

ว่าด้วยเรื่องของเงิน ๆ ทอง ๆ ในยุคนี้ คงหนีไม่พ้นประเด็นร้อนในเรื่องของเหรียญ “บิตคอยน์ (Bitcoin)” สกุลเงินดิจิทัลแรกของโลกที่เข้ารหัสแบบไร้ศูนย์กลาง ซึ่งหลายคนอาจกำลังสนใจว่าทำไมถึงมีกระแสด้านสิ่งแวดล้อมและปมการขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อการผันผวนของมูลค่าเหรียญชนิดนี้ที่ทวีคูณมากขึ้นจนมีมูลค่าสูงสุดกว่า 60,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ 1 บิตคอยน์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

มูลค่าที่ว่านั้นดึงดูดใจจนเกิดเป็นการแข่งขันลงทุนรูปแบบใหม่เพื่อเงินรางวัลที่ได้รับจากบิตคอยน์ ซึ่งนิยมเรียกว่า “การขุดเหมือง” ในช่วงแรก นักขุดเหมืองนิยมใช้การประมวลผลด้วยการใช้การ์ดจอ (GPU) ที่มีความสามารถในการคำนวณถอดรหัสได้ดีกว่า CPU แต่การ์ดจอชุดเดียวก็ไม่เพียงพอ ทำให้เหมืองแต่ละแห่งต้องใช้การ์ดจอจำนวนมากเชื่อมต่อกันเพื่อช่วยถอดรหัสส่งชิงรางวัลให้ทันเวลาก่อนที่ระบบจะสร้างรหัสชุดใหม่ ทำให้นักขุดเหมืองนิยมใช้เครื่องมือหลายชุดในการประมวลผลจนเกิดปัญหาการ์ดจอขาดตลาด โรงงานผลิตได้ไม่ทันความต้องการ ผนวกกับปัญหาข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และจีนในการซื้อขายแร่หายากอย่างธาตุ Rare Earth อันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดนี้ซ้ำไปอีก

และไม่ใช่แค่ปัญหาการ์ดจอไม่พอใช้ แต่ผลกระทบรุนแรงที่เห็นได้ชัดจากการขุดเหมืองบิตคอยน์ก็คือ การใช้พลังงานไฟฟ้าในปริมาณมหาศาล โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มีการเปิดเผยว่า พลังงานไฟฟ้าที่ถูกนำมาใช้ในการขุดเหมืองรวมกันทั่วโลกอยู่ที่ 129 ล้านล้านวัตต์ชั่วโมง (TWh) ต่อปี สูงกว่าพลังงานที่ใช้รวมกันทั้งปีของบังกลาเทศที่มีประชากรกว่า 165 ล้านคนอยู่เกือบสองเท่าตัว และเมื่อเปรียบเทียบกับศูนย์ข้อมูลดิจิทัลที่เชื่อมต่อกันทั่วโลก (All of the World’s Data Centers) ที่ใช้พลังงานรวมกันอยู่ที่ 205 TWh ต่อปี จะเห็นได้ว่าการขุดเหมืองบิตคอยน์ซึ่งเป็นเพียงการใช้งานของคนบางกลุ่ม กลับใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก แถมปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ส่วนใหญ่ยังผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้การขุดเหมืองถูกมองว่าเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยตรง และจากการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มากเกินไปนี้ ก็ทำให้บางประเทศนำมาใช้อ้างถึงเพื่อควบคุมสกุลเงินดิจิทัลและสั่งปิดเหมืองอีกด้วย 

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะรู้มาว่าปัจจุบันเราเริ่มหาแหล่งพลังงานสะอาดทางเลือกในการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมได้แล้ว แต่อีกหนึ่งปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตก็คือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากการซื้อขายบิตคอยน์ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง การใช้งานเครื่องมืออย่างหนักทุกวันและตลอดเวลาทำให้เกิดความร้อนสะสมมาก ส่งผลให้เครื่องมีอายุการใช้งานลดลง และเมื่อเปลี่ยนอุปกรณ์การขุด อุปกรณ์ชุดเก่าจึงกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ยิ่งสะสมมากขึ้น ถึงแม้จะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ในบางส่วน แต่ก็ยังมีหลายส่วนที่ไม่สามารถนำกลับมาผลิตใหม่ได้ 

ล่าสุดบริษัท Gigabyte Technology จึงได้นำวัสดุล้ำสมัยอย่าง “กราฟีน (Graphene)” เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตการ์ดจอประสิทธิภาพสูงซีรีส์ RTX 30 ที่ได้พัฒนาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชาล์มเมอร์ส ประเทศสวีเดน ในการใช้ฟิล์มสารเคลือบจากกราฟีนที่ประกอบไปด้วยเส้นใยคาร์บอนสำหรับใช้เป็นท่อนำความร้อนขนาดเล็ก เพื่อช่วยลดอุณหภูมิและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ถึง 3.5 เท่า เพื่อทำให้อุปกรณ์แข็งแรง ระบายความร้อนได้ดีขึ้น และช่วยยืดอายุการใช้งาน รวมไปถึงยังได้ศึกษาความเป็นไปได้เพิ่มเติมร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บารา ประเทศสหรัฐอเมริกาในการนำกราฟีนมาใช้ในส่วนอื่น ๆ ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติม เช่นเดียวกันกับ บริษัท Graphene 3D Lab ที่เพิ่งจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีในการนำกราฟีนมาใช้เพื่อดักจับและนำพลังงานความร้อนที่ได้จากการขุดเหมืองบิตคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ เพื่อเปลี่ยนไปใช้งานในระบบทำความเย็น อย่างตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการประมวลผลข้อมูลอีกด้วย 

นอกจากความสามารถในการใช้เป็นฉนวนแล้ว กราฟีนยังคงมีคุณสมบัติที่โดดเด่นและถูกนำไปใช้พัฒนาต่อยอดอีกหลากหลายด้าน ทั้งคุณสมบัติเรื่องน้ำหนักเบา ความแข็งแรงทนทาน ความยืดหยุ่น อีกทั้งยังถ่ายโอนความร้อนไปเป็นพลังงานไฟฟ้าอย่างแบตเตอรีหรือเซ็นเซอร์ได้ ป้องกันแบคทีเรีย และนำไปรีไซเคิลได้ กราฟีนจึงนับเป็นวัสดุทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับทุกวงการอุตสาหกรรม 

สุดท้ายแล้ว แม้ว่ายุคดิจิทัลดิสรัปชันจะเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันมากเพียงใด ทุกอย่างถูกเปลี่ยนไปเพื่อความสะดวกสบายที่มากขึ้นขนาดไหน ก็คงไม่อาจแลกกับสภาพแวดล้อมที่ต้องสูญเสียไปได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีมูลค่าในตัวเองและต้องการการดูแลเอาใจใส่ไม่แพ้กัน

ที่มาภาพเปิด : Icons8 Team/Unsplash.com

ที่มา :
บทความ “Visualizing the Power Consumption of Bitcoin Mining” โดย Marcus Lu จาก visualcapitalist.com
บทความ “Graphene makes gaming computers cooler” โดย A.J. Roan จาก metaltechnews.com
บทความ “Graphene 3D Lab to use graphene to harvest thermal energy produced in Bitcoin mining” โดย Roni Peleg จาก graphene-info.com

เรื่อง : มนต์นภา พานิชเกรียงไกร