
COVID-19 Innovation ฝ่าวิกฤตโควิดด้วยนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นวิกฤตใหญ่ระดับโลก (Pandemic) ในประเทศไทยนั้นยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคและอุปกรณ์ทางการแพทย์จึงกลายเป็นปัจจัยหลักที่ขาดไม่ได้ ซึ่งผลพวงจากความต้องการที่มากขึ้นนี้เองที่ทำให้อุปกรณ์เหล่านี้ขาดแคลน จุดเริ่มต้นจากปัญหาจึงก่อให้เกิดหนทางการเอาตัวรอดในวิถีใหม่ เมื่อผู้คนจำนวนหนึ่งได้พลิกวิกฤตให้เป็นแรงผลักดันสร้างสิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมที่ช่วยให้ผู้คนสามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ดียิ่งขึ้น
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสู้โควิดด้วยการสร้างเกราะป้องกันและเสริมภูมิคุ้มกันให้กับบุคลากรสร้างสรรค์ผ่านหลากหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือ “โครงการพัฒนาองค์ความรู้และต้นแบบอุปกรณ์สำหรับการป้องกันและช่วยเหลือผู้ป่วย COVID-19” พร้อมจัดแสดงผลงานต้นแบบและนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ยุคโควิดที่น่าสนใจ ณ TCDC กรุงเทพฯ โดยพื้นที่จัดแสดงได้แบ่งประเภทผลงานออกเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ 1. อุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical devices) 2. อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล หรือ Personal Protective Equipment (PPE) และ3. อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อในพื้นที่สาธารณะ หรือ Public Protection (PP)
การจัดแสดงนวัตกรรม “COVID-19 Innovation Showcase”
บริเวณ Creative Space ชั้น 5 TCDC กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม - 27 กันยายน 2563
สามารถดาวน์โหลดผลงานต้นแบบไฟล์ CAD (Open Source) เพื่อนำไปออกแบบ พัฒนา และผลิตด้วยเครื่องจักร
ได้ที่ โครงการพัฒนาองค์ความรู้และต้นแบบอุปกรณ์สำหรับการป้องกันและช่วยเหลือผู้ป่วย COVID-19
เมื่ออุปกรณ์การแพทย์ขาดแคลน เหล่า “เมกเกอร์” จึงปรากฏตัว
ภารกิจของ CEA คือการสนับสนุนบุคลากรสร้างสรรค์ ให้เกิดการเชื่อมโยงกับภูมิปัญญา วัฒนธรรม และการผลิตจริง ด้วยเหตุนี้จึงร่วมมือกับ FabCafe Bangkok ซึ่งเป็น “เมกเกอร์” (Maker) ที่เชื่อมโลกของเทคโนโลยีและการออกแบบเข้าไว้ด้วยกัน พัฒนาและผลิตนวัตกรรมสำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดและการช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะเร่งด่วน ได้แก่ SWAB SHIELD, AEROSOL BOX, UVC-decontamination, HEPA H-14, PAPR HEADSUIT และ COVID BED ให้บุคลากรทางการแพทย์นำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจาก FabCafe Bangkok แล้ว ยังมีเหล่าเมกเกอร์หรือผู้ผลิตอุปกรณ์ในภาคประชาชน หน่วยงานการศึกษา และองค์กรต่าง ๆ ร่วมมือกันส่งต่อนวัตกรรมให้กับทีมด่านหน้า เช่น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้นำพลาสติกที่ยืดหยุ่น มาช่วยสร้างนวัตกรรมช่วงฉุกเฉิน รวมถึงออกแบบและพัฒนาร่วมกับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล จนได้ชุดอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจติดเชื้อ (PAPR) ซึ่งประกอบด้วย
• ชุดคลุมปฏิบัติการ (Coverall) ใช้สวมด้านใน
• ชุดกาวน์ (Isolation Gown) ใช้สวมด้านนอก ทำจากผ้าสปันบอนด์ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก PP เช่นเดียวกัน
• Face Shield Visor Holder ใช้ป้องกันบริเวณใบหน้า ผลิตจากพลาสติก ABS และแผ่นโพลีคาร์บอเนต
• ด้านนอกสุด สวมทับด้วยชุด PAPR Hood Cover ซึ่งเป็นผ้าคลุมหมวกทำจากโพลีเอสเตอร์ และมีกล่องพัดลมกรองอากาศ (Air Supply Housing) ที่ขึ้นรูปด้วย 3D Printing ติดเข้าด้วยกัน โดยคุณสมบัติของชุด PAPR มีมาตรฐานสูงมากจึงใช้ป้องกันการติดเชื้อให้เจ้าหน้าที่ด่านหน้าได้เป็นอย่างดี
“มหาวิทยาลัยจับมือกัน เร่งฆ่าเชื้อโรคและเชื้อไวรัส”
ขณะที่ภาคการศึกษาเองก็ตระหนักถึงอันตรายของการแพร่เชื้อไวรัสจากอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น หน้ากากอนามัย ของใช้ส่วนตัว หรือเครื่องมือภายในบ้าน จึงได้ผลิตเครื่อง “Ultra We กล่องห่วงใยไร้เชื้อด้วยยูวี” สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ในเวลา 30 นาที ภายในกล่องมีหลอดกำเนิดรังสี UVC ที่ผ่านการทดสอบแล้ว มีสวิตช์เปิด-ปิด และสามารถตั้งเวลาให้ทำงานเองได้ด้วย โดยนวัตกรรมนี้เกิดจากการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มอบให้โรงพยาบาลในช่วงการระบาดของโควิดในระลอกแรก
ใส่อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคสร้างความมั่นใจ ให้เริ่มที่ตัวเอง
ในขณะที่การแพร่ระบาดประชิดตัวเข้ามาเรื่อย ๆ ทางระบบสาธารณสุขก็รับมืออย่างเต็มกำลัง การป้องกันเชื้อโรคขั้นพื้นฐานต้องเริ่มจากตัวบุคคลเป็นสำคัญ ที่ปฏิเสธและขาดไม่ได้คงเป็นหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า ซึ่งมีข้อกฎหมายบังคับใช้ให้สวมแมสก์หากอยู่นอกเคหสถานหรือสถานที่พำนัก มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ปรับไม่เกิน 20,000 บาท แมสก์จึงกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เป็นอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล หรือ Personal Protective Equipment (PPE) ที่มีการพัฒนาเรื่องการออกแบบมาโดยตลอด
แบรนด์ไทยอย่างจีคิว (GQ) ขึ้นชื่อเรื่องเสื้อเชิ้ตที่มีนวัตกรรมการสะท้อนน้ำ (Water Repellent) หากน้ำหยดลงบนเสื้อ น้ำก็จะกลิ้งบนเสื้อเหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน นวัตกรรมนี้จึงถูกนำมาพัฒนาเป็นหน้ากากผ้า (GQWhite™ Mask) ซึ่งช่วยป้องกันการติดต่อเชื้อโรคจากการไอหรือจามได้ โดยในวิกฤตนี้ทาง GQ พัฒนาหน้ากากผ้าต่อให้มีดีไซน์หลายสีสัน สายคล้องคอสามารถปรับได้ตามขนาดที่เหมาะสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ จนในปี 2563 GQ ขึ้นแท่นแบรนด์ที่มียอดขายเป็นอันดับต้นของประเทศ
แมสก์ที่ไม่มีสายคล้องคอก็มีหลายยี่ห้อ หากต้องถอดเก็บระหว่างวัน หลายคนอาจวางไว้ข้างกายหรือพับใส่กระเป๋าไว้ ทางแบรนด์ Hana Products คำนึงถึงแหล่งรวมของเชื้อโรคบนหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า จึงเกิดนวัตกรรมซองเก็บหน้ากากอนามัย “Mask Renew” ที่ใช้ PVC Ziplock ป้องกันน้ำและฝุ่น ภายในซองมีซิลิก้า (Orange Silica Gel) และส่วนประกอบของแร่หินธรรมชาติภูเขาไฟที่ช่วยดูดซับกลิ่น ต้านแบคทีเรีย และสารพิษตกค้าง หากประสิทธิภาพลดลงเจลซิลิก้าจะเปลี่ยนจากสีส้มเป็นสีเขียว สามารถนำเข้าไมโครเวฟหรือตากแดดจัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง
ภาพ: gqsize.com
ภาพ: Hana Products Facebook Page
ใช้อุปกรณ์ป้องกัน แทนการสัมผัสกับวัตถุโดยตรง
นอกจากแมสก์ที่ใส่เป็นประจำอยู่แล้ว ยังมีนวัตกรรมป้องกันส่วนบุคคลที่ตอบโจทย์สำหรับผู้เดินทางด้วยรถสาธารณะ ที่ต้องพบเจอผู้คนและสัมผัสจับสิ่งต่าง ๆ ขณะเดินทาง ซึ่งอาจเกิดการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวได้ “ตะขอเกี่ยวอนามัย” (Hygienic Hook) จึงช่วยป้องกันได้ในเบื้องต้น โดยตะขอนี้ใช้เกี่ยวกับราวจับหรือจะใช้กดปุ่มก็ได้ ส่วน “แท่งกดปุ่มอนามัย” (Push Stick) ขนาดเล็กที่หลายคนพกพาติดตัว สามารถใช้กดตู้ ATM หรือกดลิฟต์ได้เช่นกัน ทางแบรนด์ QUALY มีการสร้างมูลค่าให้กับนวัตกรรมนี้ด้วยการนำวัสดุจากซากแหอวนชาวประมงมา Recycle เป็นแท่งกดปุ่มอนามัย ซึ่งนอกจากจะมีประโยชน์แล้วยังถูกใจชาวรักษ์โลกอีกด้วย
ซ้าย Hygienic Hook ภาพ: Hygienic Hook Facebook Page
ขวา Push Stick ภาพ: naiin.com
มีประโยชน์แล้วต้องมีสไตล์ด้วย
อุปกรณ์ที่ใช้ติดตัวในแต่ละวัน แค่ช่วยป้องกันเชื้อโรคอาจไม่เพียงพอ แต่ยังต้องสวยถูกใจและถ่ายทอดตัวตนผ่านผลงานหรือสินค้าออกมาได้อย่างชัดเจน อย่าง “URFACE” แบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยที่นำศิลปินในเอเชียที่เคยร่วมงานกันมาออกแบบลวดลาย ความสนุกแต่ละรูปแบบจึงเกิดขึ้นผ่านงานศิลปะบนหน้ากากผ้า โดยผู้สวมใส่สามารถแสดงงานศิลปะเคลื่อนที่ซึ่งบ่งบอกสไตล์ของตนเองได้ดีทีเดียว แคมเปญนี้ทาง URFACE ยังสร้างบุญต่อโดยการบริจาคหน้ากาก 2 ชิ้น สำหรับทุกการซื้อ 1 ชิ้น ให้กับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยอีกด้วย
“URFACE FaceMask” แมสก์ผ้าโพลีเอสเตอร์แบบทอจุด ด้านในเป็นผ้าสาลูพร้อมช่องใส่ฟิลเตอร์
ลายผ้าเป็นงานศิลปะจากศิลปินทั่วเอเชียที่เคยร่วมงานกับแบรนด์เออร์เฟซ
ภาพ: URFACE Facebook Page
สำหรับสายมินิมอล หรือสายธรรมชาติอาจจะถูกใจหน้ากากผ้าของแบรนด์ Mom’s หน้ากากผ้าฝ้ายที่ย้อมและทอมือโดยชาวบ้านจากเชียงใหม่ ทั้งโทนสีและวัสดุที่ได้มาจากธรรมชาติล้วน ๆ ส่วนสายคล้องหูเป็นแบบลายโครเชต์ มีความยืดหยุ่นสูง ทำให้ไม่เจ็บหูหากใส่เป็นเวลานาน โทนสีแบบเรียบง่ายรวมกับคุณค่าของงานทอมือและความตั้งใจของคนทำ จึงทำให้แบรนด์ Mom’s น่าสนใจและเป็นที่รู้จักภายในเวลาไม่นาน
ภาพ: Mom's Facebook Page
การแสดงออกถึงความสนใจหรือตัวตนของผู้คนผ่านแฟชั่นของเสื้อผ้ารวมถึงแมสก์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังคงเป็นกระแสอยู่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จากงานประกาศรางวัลระดับโลก “แกรมมี่ อวอร์ดส์” (Grammy Awards) ครั้งที่ 63 ประจำปี 2021 โดยนอกเหนือจากการประกาศผลรางวัลแล้ว แฟชั่นของศิลปินที่มาร่วมงานก็เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของงานที่ทำให้เห็นตัวตนของแต่ละคนด้วยเช่นกัน วิวัฒนาการของแมสก์อาจถูกพัฒนาต่อโดยแบรนด์เก่าแก่ที่ต้องการฟื้นธุรกิจ หรือนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ฉายแววผ่านงานออกแบบผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรม ล้วนเป็นตัวช่วยที่เกิดประโยชน์สูงสุด และนำทางให้กับผู้ประกอบการรายอื่นต่อไป
แฟชั่นแมสก์เข้าชุดของศิลปินในงาน Grammy Awards 2021
(จากซ้าย) Chika Oranika สวมชุดพาสเทลกับไอเทมจาก Adidas
Billie Eilish มาในชุดลายกราฟิกดอกไม้และใบไม้จาก Gucci
และ Harry Styles กับชุดสูทลายสก็อตสีเหลือง พร้อมขนนกคล้องคอสีม่วง สไตล์ Genderless จากแบรนด์ Gucci
ภาพ: WSJ. MAGAZINE/FASHION
แอลกอฮอล์มีอยู่ทุกที่ ตั้งแต่ร้านรวงจนถึงห้างใหญ่
หากกล่าวถึงธุรกิจของผู้ประกอบการ แม้จะเป็นรายเล็กรายย่อยหรือรายใหญ่เองก็ตาม ในวิกฤตนี้ทุกธุรกิจต่างก็ได้รับผลกระทบร่วมกันทั้งหมด ต้องปรับตัวให้ทันสถานการณ์ และรักษามาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอยู่เสมอ อย่างน้อยตามร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าจะมีเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ให้บริการตามจุดต่าง ๆ เป็นอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อในพื้นที่สาธารณะ (Public Protection) เบื้องต้นที่ควรมี
เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ตามสถานที่สาธารณะจะมีหน้าตาแตกต่างกันไป บางที่ตั้งเป็นขวดไว้ บางที่เป็นแท่นใช้เท้าเหยียบแทนการใช้มือสัมผัสกับขวดเจลโดยตรง หรืออาจเป็นเครื่องอัตโนมัติที่มาพร้อมกับที่วัดอุณหภูมิร่างกาย หากมีอุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปก็อาจไม่ได้เข้าพื้นที่นั้น โดยทั่วไปแล้วจะเข้มงวดบริเวณทางเข้า ถ้าสังเกตบางหน่วยงานอาจมีพรมเช็ดเท้าสำหรับฆ่าเชื้อโรคเพื่อดักจับฝุ่นและฆ่าเชื้อโรคจัดวางอยู่ในจุดเดียวกัน
ภาพ: ICONSIAM Facebook Page
แม้โควิด-19 มีแนวโน้มว่าจะยังอยู่กับเราไปอีกนาน และยังไม่เห็นทีท่าว่าเราจะชนะได้โดยง่าย ทว่า เมื่อเราหาทางฝ่าวิกฤตด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ มาผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อสร้างอุปกรณ์ป้องกันตัวเองตามชื่อ "COVID-19 Innovation: วิกฤตคิดใหม่" จนได้ออกมาเป็นผลงานสร้างสรรค์จำนวนมากเช่นนี้ได้แล้ว เราก็จะสามารถปรับตัวและอยู่รอดในยุคนิวนอร์มอลกับวิกฤตต่าง ๆ ได้เสมอ
เรียบเรียง : จัสมิน ภู่ประเสริฐ