Gaming Can Change Your Life  เมื่อเกมไม่ใช่แค่สิ่งบันเทิง แต่พร้อมจะช่วยเปลี่ยนชีวิตเรา
Technology & Innovation

Gaming Can Change Your Life เมื่อเกมไม่ใช่แค่สิ่งบันเทิง แต่พร้อมจะช่วยเปลี่ยนชีวิตเรา

  • 01 Oct 2021
  • 2756

เมื่อพูดถึงเกม เราอาจจะนึกถึงสื่อบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่มีเพียงเด็ก ๆ เท่านั้นที่จะหลงใหล แต่รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันหากนับจากประชากรโลกกว่า 7.6 พันล้าน มีคนที่เล่นเกมรวมแล้วมากกว่า 2.7 พันล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากมายมหาศาลจนทำให้ “อุตสาหกรรมเกม” กลายเป็นหนึ่งในสื่อบันเทิงที่ทรงพลังที่สุดในโลก และด้วยความทรงพลังของมัน เกมอาจจะมีประโยชน์ในการช่วยเหลือวิถีชีวิตของมนุษย์ พัฒนาชุมชน ส่งเสริมกิจกรรมความร่วมมือระดับประเทศ หรือแม้แต่สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้เลยก็เป็นได้


©taminggaming.com

เกมกู้โลก : เมื่อชุมชนเกมเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยโลกใบนี้ไว้
ด้วยจำนวนผู้เล่นเกมที่มากกว่าสองพันล้านคนทั่วโลก ทำให้องค์การสหประชาชาติหวังว่า เหล่าบรรดาเกมเมอร์จำนวนมหาศาลจะมีส่วนร่วมกับในประเด็นระดับโลกอย่างการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นเหล่าสตูดิโอผู้ผลิตเกมมากกว่า 30 แห่งจึงมารวมตัวกันเพื่อพัฒนาและแข่งขันเกมที่เน้นย้ำไปในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเป็นสำคัญ โดยถูกเรียกว่าโครงการ Green Game Jam ที่ทุกคนจะใส่เนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกลงไปในเกมของตน และมีการคัดเลือกผู้ชนะในแต่ละปี ว่าใครสามารถทำเกมที่สื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ได้ดีกว่ากัน

หรือถ้าจะให้เห็นภาพชัดกว่านี้ ก็ยังมีนักพัฒนาเกมที่ชวนให้ผู้เล่นมาร่วมกันรับบทบาทจำลองเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยตรงผ่านตัวช่วยด้านเทคโนโลยีและเรื่องราวสุดสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่นเกม Bee Simulator ที่ผู้เล่นจะต้องกลายไปเป็นผึ้งที่ส่งเสียงหึ่ง ๆ ผ่านโลกขนาดเล็กที่นับวันจำนวนประชากรผึ้งมีแต่จะลดน้อยลง ชะตากรรมของครอบครัวชาวผึ้งจึงขึ้นอยู่กับปีกเล็ก ๆ ของผู้เล่น ที่ต้องทั้งออกแสวงหาอาหารหรือต้องปกป้องรังจากการถูกมนุษย์ทำลาย และหากยังไม่เข้าถึงปัญหาพอ เราขอแนะนำอีกหนึ่งเกมแนวเอาชีวิตรอดที่ชื่อว่า Endling ที่จะบอกเล่าผ่านสายตาของแม่จิ้งจอกตัวสุดท้ายของโลกที่พยายามจะปกป้องเหล่าลูกน้อยของเธอให้มีชีวิตรอดต่อไป

แต่หากไม่พูดถึงการจำลองสถานการณ์ แต่เป็นการทำให้โลกดีขึ้นจริง ๆ จากการเล่นเกมนั้น จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ คำตอบและตัวอย่างล้วนมีให้เห็นมากมาย ยกตัวอย่างเช่นในประเทศจีน เมื่อแอพฯ ชำระเงินของ Alipay ได้เปิดตัวเกม Ant Forest ในปี 2016 ในลักษณะมินิเกมบนแอพฯ หลัก ที่จะมีต้นไม้เสมือนจริงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผู้ใช้ได้รับคะแนนจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งขณะที่ต้นไม้ในเกมเติบโตขึ้น ทาง Alipay ก็จะไปปลูกต้นไม้จริงบนโลกจริง ๆ ให้ด้วยเช่นกัน โดยตลอดระยะเวลา 5 ปี เหล่าผู้เล่นในแอพฯ สามารถปลูกต้นไม้จริงได้มากถึง 220 ล้านต้นในพื้นที่แห้งแล้งในประเทศจีนไปแล้ว 


©gamereactor.eu 

หรือเมื่อบริษัท Niantic, Inc. ผู้พัฒนาและเผยแพร่เกม Pokemon Go บนสมาร์ตโฟน ที่หลักการเล่นคือต้องออกไปตามล่าจับโปเกมอนกันตามสถานที่จริงต่าง ๆ ผ่านระบบจีพีเอส ที่ได้เรียกร้องให้ผู้เล่นเกมช่วยกันเก็บขยะในวันคุ้มครองโลกในปี 2019 ระหว่างการเล่นไปด้วย ซึ่งผลปรากฏว่ามีผู้คนมากกว่า 17,000 คนใน 41 ประเทศที่ปรากฏตัวขึ้นแล้วร่วมกันเก็บขยะได้มากกว่า 145 ตัน! 

และในปีเดียวกันนั้นเองที่บริษัทกว่า  21 แห่ง รวมทั้งยักษ์ใหญ่อย่าง Sony Interactive, Microsoft และ Google ได้ก่อตั้ง Playing For The Planet Alliance ซึ่งจัดโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme หรือ UNEP) เพื่อปลดล็อกศักยภาพของเกมในการก้าวเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญเพื่อจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านทางการนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งเกมหรือเทคโนโลยี AR ที่สามารถนำมาใช้งานกับการสื่อสารปัญหาโลกร้อนได้อย่างดี

“เราต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนเกมตระหนักว่า พวกเขาสามารถเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้” แซม บาร์รัต (Sam Barat) หัวหน้าหน่วยเยาวชน การศึกษา และการสนับสนุนในแผนกระบบนิเวศของ UNEP และผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรกล่าว "และเรายังต้องการให้อุตสาหกรรมเกมปล่อยมลพิษเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด" ซึ่งนับเป็นการตั้งต้นที่ดีที่เหล่าบรรดาบริษัทน้อยใหญ่ในอุตสาหกรรมเกมเริ่มตระหนักถึงปัญหาและร่วมมือกันเป็นโครงการที่ดีต่อโลกในอนาคต

เพราะในขณะที่นักพัฒนาเน้นย้ำถึงอันตรายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกมเมอร์ได้ตระหนักรับรู้ การปล่อยก๊าซคาร์บอนก็เป็นเรื่องสำคัญที่อุตสาหกรรมเกมต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเครื่องเกมคอนโซลรุ่นใหม่ที่ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นในการทำงาน ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบัน มีสตูดิโอหลายแห่งที่เริ่มรับทราบถึงปัญหานี้แล้ว เช่นทางบริษัท Rovio ผู้มุ่งมั่นที่จะชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากผู้เล่นเกม Angry Birds ที่ชาร์จบนอุปกรณ์ และ Microsoft ที่ได้รับการรับรอง CarbonNeutral® หรือการเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งหมายถึง องค์กร ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกิจกรรมที่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเท่ากับศูนย์ สำหรับเครื่องคอนโซล Xbox จำนวน 825,000 เครื่อง เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายสุดท้าทายในการเป็นองค์กรที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นลบ (Carbon Negative) ในปี 2030 และภายในปี 2050 บริษัทจะต้องกำจัดคาร์บอนในปริมาณที่เทียบเท่ากับคาร์บอนทั้งหมดที่ได้เคยปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อมนับตั้งแต่การก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 1975 ทั้งในทางตรงและทางอ้อมผ่านการใช้พลังงานไฟฟ้านั่นเอง


©levelex.com

วิดีโอเกมและการศึกษา : คู่หูสุดแกร่งเพื่อการพัฒนามนุษยชาติ
หากเรายังจำกันได้นับตั้งแต่คอมพิวเตอร์เข้ามาสู่ชีวิตประจำวัน หลายโรงเรียนได้ริเริ่มใช้เกมคอมพิวเตอร์มาช่วยให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะต่าง ๆ เช่น การสะกดคำหรือการพิมพ์ และยิ่งเกมมีความซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร ความเป็นไปได้ในการรวมเกมเข้ากับการศึกษาก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

นักพัฒนาซอฟต์แวร์บางรายได้ออกแบบเกมรุ่นพิเศษที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนโดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น Ubisoft ที่ได้สร้างโหมดการศึกษาประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ โดยอิงจากตัวเกมแนวแอ็กชัน-ผจญภัยอย่าง Assassin’s Creed ที่มีเรื่องราวและสถาปัตยกรรมตั้งอยู่ในอียิปต์โบราณและสมัยกรีกโบราณ แต่โหมดเหล่านี้สามารถนำเสนอทัวร์ชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์ภายในเกมได้โดยปราศจากความรุนแรงและเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ แต่อุดมไปด้วยสาระความรู้ที่จะมาพร้อมกับแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมให้ได้ค้นคว้าต่อ เช่น รูปภาพของสิ่งประดิษฐ์ในพิพิธภัณฑ์และแบบทดสอบอีกด้วย

หรือเกมภาคเสริม Minecraft Education Edition จากบริษัท Sandbox ผู้พัฒนาเกม Minecraft ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเรียนการสอนที่เน้นย้ำถึงความร่วมมือและความท้าทายในการแก้ปัญหา โดยคุณครูสามารถใช้บทเรียนที่สร้างไว้ล่วงหน้าเพื่อสอนวิชาและทักษะจำเป็นต่าง ๆ เช่น การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และภูมิศาสตร์ หรือแหล่งข้อมูลการสอนที่นำเสนอโดยแพลตฟอร์มเกมออนไลน์อย่าง Roblox ที่จะแนะนำนักเรียนผ่านโครงการต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น การสร้างแอนิเมชัน การสร้างแบบจำลองยานอวกาศ และการสร้างแบบจำลองสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น

นอกจากทำหน้าที่เป็นเวทีสำหรับหลักสูตรการเรียนรู้แล้ว การเล่นเกมยังช่วยจัดการพฤติกรรมในห้องเรียนและทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เช่น Classcraft ที่ระดมทุนได้กว่า 7.5 ล้านเหรียญสหรัฐ จากนักลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) รวมถึง MaRS Catalyst Fund ซึ่งจะช่วยสร้างระบบที่จำลองการเรียนรู้และให้รางวัลกับพฤติกรรมเชิงบวก

การใช้เกมเพื่อการศึกษานั้นไม่ได้หยุดอยู่สำหรับเด็กเท่านั้น เพราะนักศึกษาแพทย์และแพทย์อาชีพต่างก็ใช้เกมเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และปรับปรุงความรู้ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่นเกม Level Ex: Video Games for Doctors ที่เป็นเกมเฉพาะทางสำหรับความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่แตกต่างกัน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เนื้อหาของเกมอิงจากกรณีศึกษาในเหตุการณ์จริง และแพทย์ผู้เล่นสามารถได้รับเครดิตการศึกษาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องสำหรับการผ่านด่านที่ท้าทายที่สุด ซึ่งทาง Level Ex กำลังพัฒนาแบบจำลองเพื่อช่วยให้นักบินอวกาศเตรียมพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์บนอวกาศในอนาคตได้อีกด้วย


©bitcoinke.io

NFT Game : ไม่ใช่แค่ความสนุกแต่ยังสร้างรายได้
เราอาจจะรู้จัก NFT หรือ Non-Fungible Token ซึ่งเป็นคริปโตเคอร์เรนซีประเภทหนึ่งกันมาบ้างแล้ว ซึ่ง NFT ในแต่ละเหรียญจะมีความแตกต่าง มีมูลค่าที่ไม่เท่ากันและไม่สามารถทดแทนกันได้ แต่ขณะเดียวกัน หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า โลกนี้มีเกมแบบ NFT อยู่ด้วย ซึ่งเป็นเกมที่จะทำให้เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การเล่นประเภทต่าง ๆ และนอกเหนือไปจากนั้น ผู้เล่นยังสามารถได้รับคริปโตเคอร์เรนซีจากตัวละคร ไอเท็ม และเนื้อหาในเกมนั้น ๆ ได้ด้วย


©decrypt.co

โดยส่วนใหญ่แล้วเกม NFT จะเป็นเกมที่ผสมผสานการออกแบบเกมทั่วไปเข้ากับกลไกเกมที่ไม่ธรรมดา เพื่อให้ผู้ใช้ควบคุมเนื้อหาในเกมได้มากขึ้น เช่น สกิน ตัวละคร อาวุธ ดินแดนเสมือนจริง และอื่น ๆ อีกมากมาย สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการเปิดตัวเกมบนบล็อกเชนและผูกมัดกับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล สินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้มักเป็น NFT เพื่อให้แยกแยะได้และป้องกันการขโมย อีกไปกว่านั้น การนำมาตรฐานโทเค็น NFT มาใช้งาน ก็ยังช่วยให้นักพัฒนาสามารถรักษาความหายากและเอกลักษณ์ของไอเท็มในเกมเหล่านี้ไว้บางส่วน นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมสินทรัพย์เกมบล็อกเชนบางรายการจึงถือว่ามีมูลค่าที่สูงกว่าสินทรัพย์อื่น ๆ


©nintendo.co.uk

ด้วยระบบนี้ ผู้เล่นจะสามารถอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของเนื้อหาในเกมได้ รวมถึงสามารถสร้างหรือเนรมิตตัวละครขึ้นมาใหม่ สามารถไปซื้อสินค้าดิจิทัลในตลาดกลางหรือบุคคลที่สามได้ หรือปลดล็อกและรับไอเท็มใหม่ ๆ ได้ และไม่ว่าผู้เล่นจะเลือกเข้าถึงเนื้อหาเกมเหล่านี้ด้วยวิธีใด ผู้นั้นก็จะมีสิทธิ์ความเป็นเจ้าของเหนือเนื้อหาเหล่านี้แต่เพียงผู้เดียว ทำให้ผู้เล่นสามารถแจกจ่าย ขาย และแลกเปลี่ยนเป็นเงินจริงได้ และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้การเล่นเกม NFT ที่เป็นที่นิยมอย่างเช่น Axie Infinity, Gods Unchained, The Sandbox 3D, Alien Worlds หรือ Battle Racers สามารถใช้เล่นเพื่อสร้างรายได้ได้จริงตั้งแต่ใช้หาเพื่อความสนุกสนาน หรือเล่นอย่างจริงจังเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้รองเลย ก็สามารถทำได้เช่นกัน

เกมออนไลน์ : การต่อสู้ที่ไม่เดียวดายท่ามกลางโรคระบาดครั้งใหญ่
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาสังคมเป็นอย่างมาก แต่ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 โลกได้เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงไปในระยะเวลาอันสั้น จากมาตรการล็อกดาวน์และกระบวนการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ทำให้แต่ละสังคมถูกตัดขาดออกจากกัน

ถึงแม้เทคโนโลยีในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปจนทำให้ผู้คนยังสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่สามารถทำงานและเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า ภาวะความเหินห่างจากสังคมที่คุ้นเคยที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาประชากรในช่วงเด็กปฐมวัย-วัยรุ่น ที่ต้องการมีปฎิสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทางสังคมที่เป็นจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงวัยนี้

และท่ามกลางสภาวะเช่นนี้ วิดีโอเกมกลับกลายเป็นอุปกรณ์ที่มาทำหน้าที่เชื่อมต่อทางสังคมให้กับคนทุกเพศทุกวัยไม่ใช่แค่เฉพาะกับเด็ก แต่เปิดโอกาสให้มนุษย์สามารถร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ ที่พวกเขาไม่สามารถไปมาหาสู่หรือพบเจอกันได้ตามปกติ และยังทำให้ผู้คนมีช่องทางในการแบ่งปันประสบการณ์ความสนุกและมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน หรือทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นที่ยากหรือละเอียดอ่อนมากยิ่งกว่านั้น เช่น สภาวะซึมเศร้า การเปิดใจเกี่ยวกับความรู้สึกสูญเสีย ความสิ้นหวัง การให้กำลังใจ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างการเล่นเกมที่ผู้เล่นสามารถเปิดไมค์พูดคุยกันไปด้วย

“การเชื่อมต่อทางสังคมมีประโยชน์หลายอย่างสำหรับเรา ตัวอย่างที่จับต้องได้มากที่สุดก็คือการสนับสนุนทางสังคม เพียงแค่มีใครสักคนที่สามารถรับฟังเรา หรือให้คำแนะนำกับเรา หรือเพียงแค่อยู่ตรงนั้น เมื่อเราต้องการร้องไห้” ดร.นาตาลี เพนนิงตัน (Dr Natalie Pennington) ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารแห่งมหาวิทยาลัยเนวาดาแห่งลาสเวกัส กล่าว 

ในการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้เกี่ยวกับวิธีที่ผู้คนใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมต่อระหว่างการระบาดครั้งใหญ่ เพนนิงตันและทีมนักวิจัยคนอื่น ๆ พบว่า การโต้ตอบออนไลน์กับเพื่อนนั้นให้ผลที่ดีไม่เท่ากันทั้งหมด นอกจากการโต้ตอบแบบตัวต่อตัว การโทรศัพท์ยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสื่อสารเพื่อคลายความวิตกกังวล การใช้ Zoom (หรือโปรแกรมวิดีโอคอลอื่น ๆ) กลับทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น ซึ่งสืบเนื่องมาจากการต้องใช้พลังงานเพื่อดูและได้แต่เห็นกันผ่านทางวิดีโอช่องเล็ก ๆ บนหน้าจอ

แต่สำหรับวิดีโอเกม ผู้เล่นนั้นสามารถสื่อสารพูดคุยกับคนอื่น ๆ ท่ามกลางการทำภารกิจร่วมกันได้ ทำให้การเล่นเกมนอกจากจะเสริมสร้างพัฒนาการและทักษะทางสมองแล้ว ยังช่วยลดความเครียดสะสม และช่วยให้ทักษะทางสังคมของเราไม่สูญหายไปได้อีกด้วย

ที่มาภาพเปิด : onurbinay/unsplash.com

ที่มา :
บทความ “Video games get serious about climate change” โดย Tatiana Kondratenko จาก dw.com
บทความ “Do the world’s 2.7 billion gamers hold the key to solving climate change?” โดย Rosie Frost จาก euronews.com
บทความ “Video Games: An Unlikely Venue for Social and Environmental Impact?” โดย Sarah Brodsky จาก theimpactivate.com
บทความ "Top NFT Games In 2021" โดย Andrey Sergeenkov จาก CoinMarketCap
บทความ "They laughed, they cried, they killed monsters: How friendships thrived in video games during the pandemic" โดย Heather Kelly จาก washingtonpost.com

เรื่อง : วิศรุต วิสิทธิ์