Upcycling: สร้างสรรค์คุณค่า เพิ่มมูลค่าให้พลาสติก
ขยะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกอยู่เรื่อยมา ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งก่อให้เกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งในปริมาณที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะขยะประเภท “พลาสติก” ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดแค่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น ด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นหรืออุตสาหกรรมสิ่งทอก็พึ่งพานวัตกรรมพลาสติกใช้แล้วทิ้งมากที่สุดเช่นกัน ด้วยคุณสมบัติเด่นหลายประการของพลาสติกไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรงทนทาน กันน้ำ ทำความสะอาดง่าย ทำให้ปริมาณความต้องการของผู้บริโภคสูงขึ้นจนต้องยอมรับว่ามนุษย์ไม่อาจปฏิเสธการผลิตหรือการใช้พลาสติกได้ 100% แต่ในเวลานี้คงไม่มีใครกำจัดหรือเสกขยะกองโตให้หายไปได้ในพริบตาเดียว การนำความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และภูมิปัญญาของมนุษย์มาใช้ในกระบวนการอัพไซคลิง (Upcycling) เพื่อเพิ่มมูลค่าให้พลาสติก จึงเป็นตัวเลือกที่ได้รับความสนใจและเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้
การจัดแสดงผลงานนวัตกรรม “Upcycling: The Rise of Sustainable Fashion” วันที่ 10 พ.ย. 2563 - 28 ก.พ. 2564
บริเวณ ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ อาคาร TCDC กรุงเทพฯ ส่วนหลัง ชั้น 2
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับบริษัท อาร์ทีดี อุตสาหกรรมสิ่งทอ จำกัด จัดแสดงผลงานนวัตกรรม “Upcycling: The Rise of Sustainable Fashion” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมการอัพไซคลิง ตั้งแต่การคัดแยกขวดพลาสติก PET ไปจนถึงกระบวนการทอให้เป็นผลิตภัณฑ์ Upcycling ตลอดจนผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอื่น ๆ เช่น เสื้อเชิ้ตป้องกัน UV ผ้ากันยุง ผ้าม่านประหยัดพลังงาน และผ้าคอลลาเจน
Recycle ≠ Upcycle
Recycle คือกระบวนการแปลงวัสดุที่ใช้แล้วให้กลายเป็นวัสดุใหม่ มักใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้งานได้อีกประมาณ 1 - 2 ครั้งแต่อาจทำให้คุณสมบัติลดทอนจากเดิม ส่วน Upcycle เป็นการเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือใช้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปจากเดิมและพัฒนาคุณสมบัติบางประการให้ดีขึ้น ที่สำคัญคือการนำนวัตกรรมการออกแบบหรือใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในการผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์และใช้งานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
จากข้อมูลสถิติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 - 2563 ของบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก ได้รีไซเคิลขวด PET ประมาณ 58,000 ล้านขวด ซึ่งเท่ากับมวลของน้ำหนักช้าง 203,700 ตัน หรือช้างราว ๆ 10,000 ตัว โดยสามารถลดคาร์บอนฟุตปรินต์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกร้อน และลดการฝังกลบพลาสติกได้อย่างมหาศาล นับเป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกและสร้างความพอใจให้กลุ่มกระแสรักษ์โลกที่มาแรงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน เนื่องจากปัจจัยที่ผู้ผลิตสินค้าควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลใน “เจาะเทรนด์โลก 2021: Reform this Moment” โดย Creative Thailand กล่าวว่า แบรนด์ไฮเอ็นด์เริ่มปรับตัวกับการเลือกใช้วัตถุดิบใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะ Prada ที่ประกาศตัวว่าภายในปี 2021 สินค้าทั้งหมดของแบรนด์จะถูกผลิตด้วยวัสดุรีไซเคิล ในปี 2020 ที่ผ่านมา Prada ได้เปิดตัวคอลเล็กชั่นแรกด้วย Prada Re-Nylon ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตจากวัสดุไนลอนรีไซเคิล 100% (Econyl)
ตัวอย่างสินค้าในคอลเลคชั่น Prada Re-Nylon ปี 2020 บนสินค้ามีโลโก้กรอบสามเหลี่ยมของพราด้า (Prada)
ซึ่งถูกออกแบบเป็นลูกศรหมุนวนเป็นสามเหลี่ยมแทนสัญลักษณ์ Upcycling
ภาพ: pradagroup.com
จากพลาสติกกลายเป็นผืนผ้า
ข้อมูลการจัดแสดงผลงานนวัตกรรม “Upcycling: The Rise of Sustainable Fashion” ที่ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ TCDC กรุงเทพฯ ได้บอกเล่าถึงวงจรชีวิตของพลาสติกที่อาจไม่ได้จบลงด้วยการเป็นขยะเสมอไปหากมีการจัดการกับพลาสติกอย่างถูกวิธี เช่น ขวดน้ำพลาสติก PET (Polyethylene Terephthalate) ลักษณะเป็นขวดใส ไม่มีสี มองทะลุผ่านได้ บนขวดจะระบุสัญลักษณ์รีไซเคิลเบอร์ 1 ไว้ พลาสติกกลุ่มนี้สามารถนำไปรีไซเคิลเป็นเส้นใยได้ โดยในขั้นตอนแรกจะนำขวดพลาสติก PET เข้าเครื่องบดเป็นแผ่นพลาสติกขนาดเล็กจนได้เป็นเกล็ดพลาสติก (PET Bottle Flake) จากนั้นนำไปหลอมด้วยความร้อนที่ 285 - 300 องศาเซลเซียสให้เป็นเม็ดพลาสติก (rPET Pellet) แปรรูปเป็นเส้นใยรีไซเคิล ปั่นเป็นเส้นด้ายที่ผ่านกระบวนการ Texture Rising หรือการนำเส้นด้ายไปยืดและ Crimp เพื่อเรียงคุณสมบัติของเส้นด้าย จนได้เป็นเส้นด้ายพอลิเอสเทอร์รีไซเคิล 100% ที่มีความคงทน แข็งแรง และอ่อนนุ่ม พร้อมเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือการทอฟอกย้อมให้เป็นผืนผ้าอัพไซคลิง (Upcycling Fabric) สีของผ้าที่ได้นั้นไม่ต่างจากผ้าผืนใหม่ อีกทั้งยังยับยาก รีดง่าย น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี นำไปพัฒนาต่อเป็นเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องใช้ประเภทต่าง ๆ ได้ต่อไป
เปรียบเทียบสีของผ้า Upcycling ที่ทำจากขวดพลาสติก PET และผ้า Virgin ที่ทำจากจากเม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ สีของผ้า Virgin จะมีสีสดกว่าเล็กน้อย
ภาพ: การจัดแสดงผลงานนวัตกรรม “Upcycling: The Rise of Sustainable Fashion”
วันที่ 10 พ.ย. 2563 - 28 ก.พ. 2564 ห้อง MDIC อาคาร TCDC กรุงเทพฯ
นวัตกรรมการออกแบบ + ความรักษ์โลก
ในประเทศไทยมีหลายบริษัทที่มีศักยภาพในการออกแบบและผลิตสินค้าจากวัสดุรีไซเคิลและอัพไซคลิง หนึ่งในนั้นคือบริษัท อาร์ทีดี อุตสาหกรรมสิ่งทอ จำกัด ที่ผลิตเสื้อเชิ้ตจากเส้นใยรีไซเคิลของขวดพลาสติก PET จำนวน 14 ขวดต่อการผลิตเสื้อหนึ่งตัว นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมเคลือบผิวบนผ้าเพื่อเพิ่มคุณสมบัติอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น
- ผ้าป้องกันแสงยูวี นำไปออกแบบต่อยอดเป็นผ้าม่านประหยัดพลังงาน ช่วยลดอุณหภูมิในบ้านได้ประมาณ 2 - 4 องศาเซลเซียส
- ผ้าแอนตี้แบคทีเรีย นำไปตัดเย็บเป็นชุดนักเรียน ช่วยป้องกันกลิ่นอับและกลิ่นเหงื่อ
- ผ้ากันยุง ได้พัฒนาเป็นชุดปฏิบัติธรรมและจีวรกันยุง
นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์ที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด ทางบริษัท RTD ยังได้จัดทำหน้ากากผ้าคอลลาเจน ช่วยลดสาเหตุการเกิดสิวบริเวณใบหน้า และผลิตชุด PPE (Personal Protective Equipment Suit) ที่สามารถซักและนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายสิบครั้ง
ภาพ: การจัดแสดงผลงานนวัตกรรม “Upcycling: The Rise of Sustainable Fashion”
วันที่ 10 พ.ย. 2563 - 28 ก.พ. 2564 ห้อง MDIC อาคาร TCDC กรุงเทพฯ
พลาสติกยังคงเป็นวัตถุดิบตัวเลือกที่ให้ประโยชน์และความสะดวกสบายต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ ทว่าขยะก็เกิดขึ้นทุกวันเช่นกัน หากผู้ผลิตคำนึงถึงวัฏจักรผลิตภัณฑ์ ขณะที่ผู้ใช้ก็ใส่ใจกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ในอนาคตเราอาจได้เห็นนวัตกรรมจากพลาสติกอีกมากมายที่ทั้งมีประโยชน์และช่วยยืดอายุของโลกให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
เรียบเรียง : จัสมิน ภู่ประเสริฐ