The Era of Inclusive Games เพราะการเล่นเกมเป็นเรื่องของ “ทุกคน”
Technology & Innovation

The Era of Inclusive Games เพราะการเล่นเกมเป็นเรื่องของ “ทุกคน”

  • 15 Oct 2021
  • 750

สำหรับหลาย ๆ คน การเล่นเกมเป็นเรื่องของความสนุก ความตื่นเต้น หรือการผ่อนคลาย แต่สำหรับอีกหลายคนการจะเข้าถึงความรู้สึกแบบเดียวกันนั้นกลับไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งสำหรับผู้พิการแล้ว เกมบางเกมก็ยากเกินกว่าที่จะเล่นได้อย่างที่ใจอยาก แม้ปัจจุบันตลาดเกมจะเติบโตจนมีผู้เล่นรวมแล้วกว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลก แต่คำพูดที่ว่า “ใคร ๆ ก็เล่นเกมได้” อาจยังไม่ได้นับรวมผู้คนอีกกว่า 15% ของโลกที่เป็นผู้พิการและไม่สามารถเล่นเกมทั่วไปได้ 

อย่างไรก็ตาม ความหวังแห่งวงการเกมก็ไม่ได้ริบหรี่ เพราะนอกจากจะคอยโอบรับและปรับตัวตามเทคโนโลยีอยู่เสมอแล้ว อุตสาหกรรมเกมก็ยังโอบอุ้มผู้คนที่มีความหลากหลายให้ได้เข้ามาร่วมสนุกได้อย่างเท่าเทียม เพราะนักสร้างและพัฒนาเกมเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบเกมและอุปกรณ์การเล่นทั้งหลายให้สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายและครอบคลุมรวมไปถึงให้ความสำคัญกับกลุ่มคนพิการมากขึ้น 

เพราะแต่ละคนมีวิธี “กดปุ่ม” ที่ต่างกัน
ภาพจำของเครื่องวิดีโอเกมนั้น นอกจากทักษะแล้ว ก็จำเป็นต้องใช้มือทั้ง 2 ข้างเพื่อควมคุมการเล่น โดยส่วนใหญ่จะใช้มือซ้ายในการบังคับทิศทาง และมือขวาในการกดคำสั่งต่าง ๆ แม้จะไม่ค่อยเห็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อผู้พิการมากนัก แต่ที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นความตั้งใจที่จะสร้างเครื่องเล่นเกมที่ผู้พิการสามารถร่วมเล่นได้ให้เห็นอยู่เรื่อยมา

  • One-Handed Controllers มือเดียวก็เล่นได้ 
    เพื่อทลายข้อจำกัดของการเล่นเกมแบบเดิมที่ต้องใช้ทั้งสองมือพร้อมกัน หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เกมที่ได้รับการยอมรับจากผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายอย่าง Evil Controller จึงได้ผลิตอุปกรณ์ควบคุมเกมแบบมือเดียวขึ้น โดยมีความพิเศษคือสินค้าทุกชิ้นจะสามารถปรับแต่งได้ตามที่ผู้เล่นต้องการ ไม่ว่าจะเป็นมือข้างที่ถนัด สี ผิวสัมผัส หรือตำแหน่งของปุ่มต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของผู้เล่นแต่ละคนมากที่สุด

  • Quadstick ลองใช้ปากเล่นเกม
    เพื่อตอบโจทย์เกมเมอร์ผู้ที่เป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงคอลงไป หรือผู้พิการแขนและขาไม่สามารถใช้การได้ บริษัท QuadStick ได้ผลิตอุปกรณ์ควบคุมเกมโดยใช้ปากขึ้น โดยใช้หลักการเป่าและดูดแทนการกดปุ่มต่าง ๆ ประกอบกับการใช้เซ็นเซอร์ในการตรวจจับตำแหน่งของริมฝีปาก ทำให้ผู้เล่นสามารถเล่นเกมได้อย่างหลากหลายตั้งแต่เกมง่าย ๆ ไปจนถึงเกมที่มีความซับซ้อนโดยไม่ต้องใช้มือเลย

  • Xbox Adaptive Controller ถนัดแบบไหนก็ปรับได้เลย
    อีกหนึ่งค่ายเกมยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ได้เปิดตัวเครื่อง Xbox Adaptive Controller ที่พัฒนาร่วมกับมูลนิธิผู้พิการหลายแห่ง จนได้ออกมาเป็นอุปกรณ์เล่นเกมที่นอกจากจะมีปุ่มกดที่ใหญ่พิเศษเพื่อความง่ายต่อการกดแล้ว ยังสามารถปรับแต่ง และเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเพื่อเพิ่มปุ่มกด ปรับตำแหน่งสวิตช์ หรือพ่วงอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ  ทำให้รองรับการเล่นเกมได้แทบทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการควบคุมเกมด้วยเท้า มือข้างเดียว ศีรษะ คาง หรือปาก 

ไม่ว่าใครก็สนุกกับการเล่นเกมได้
นอกจากความจำเป็นของอุปกรณ์ที่ควรต้องรองรับการเล่นที่หลากหลายแล้ว การออกแบบและพัฒนาตัวเกมให้ผู้เล่นทุกคนสัมผัสประสบการณ์ได้อย่างเท่าเทียมก็สำคัญไม่แพ้กัน เกมอย่าง The Last of Us Part II เกมแนวผจญภัยในโลกดิสโทเปียในดวงใจของเหล่าเกมเมอร์หลายคนที่พัฒนาโดย Naughty Dog และวางจำหน่ายโดย Sony นั้น เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเกมที่ทีมผู้ผลิตใส่ใจและให้ความสำคัญกับผู้เล่น “ทุกคน” โดยเปิดตัวมาพร้อมกับฟีเจอร์การตั้งค่า Accessibility Setting มากกว่า 60 รูปแบบ เพื่อให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่มีข้อจำกัดด้านการมองเห็น การได้ยิน หรือการเคลื่อนไหว และยังเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าอุปสรรคของการเล่นเกมในวันนี้ อาจไม่ใช่เรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอีกต่อไป แต่เป็นการให้ความสำคัญกับผู้พิการตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบเกมต่างหาก

  • Vision Accessibility : ผู้พิการทางการมองเห็นหรือมีสายตาเลือนรางสามารถตั้งค่าให้มีเสียงอ่านตัวอักษรบนหน้าจอ (Text-to-Speech) เพิ่มขนาดตัวหนังสือ ใช้เสียงช่วยบอกเส้นทาง เปิดฟังก์ชันซูมเข้า-ออก ปรับสีตัวละครและศัตรูให้มีความแตกต่างที่ชัดเจนขึ้น หรือใช้ระบบช่วยเล็งเป้าหมายอัตโนมัติ

  • Hearing Accessibility : ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องการได้ยิน สามารถเลือกให้แสดงสัญญาณเเตือนแทนการใช้เสียง ใช้คำบรรยายช่วยบอกทิศทาง หรือใช้ระบบการสั่นแทนเสียงได้

  • Motor Accessibility : การตั้งค่าเพื่อช่วยเหลือด้านการเคลื่อนไหวร่างกายมีให้เลือก เช่น ระบบช่วยล็อกเป้าหมายหรือสลับอาวุธอัตโนมัติ ใช้การกดปุ่มค้างแทนการกดแบบย้ำ ๆ และการรองรับระบบจอยแบบสัมผัสแทนการต้องออกแรงกด

นอกจากฟีเจอร์เหล่านี้ ก็ยังมีตัวเลือกอีกมากมายที่เปิดกว้างและไม่ว่าใครก็สามารถไปลองใช้ได้ เพื่อที่แต่ละคนจะได้สัมผัสกับประสบการณ์การเล่นเกมที่เหมาะกับกับตัวเองมากที่สุด ซึ่งทางเลือกการเล่นเกมเหล่านี้ควรกลายเป็นมาตรฐานของการพัฒนาเกมต่าง ๆ และเป็นแนวทางที่ดีที่อุตสาหกรรมเกมควรนำมาปรับใช้ต่อไปในอนาคต เพราะเกมที่สนุกจะดีขึ้นกว่าเดิมได้ ถ้าทุกคนสามารถร่วมสนุกได้เหมือน ๆ กัน

ที่มา :
ablegamers.org 
playstation.com 
บทความ "Is gaming finally becoming accessible to disabled players?" โดย Tom Faber จาก ft.com

เรื่อง : ณัฐชา ตะวันนโชติ