ส่องอนาคตไซบอร์ก...ก่อนหุ่นยนต์จะฉลาดกว่ามนุษย์
การสื่อสารระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ยุคแรกที่หุ่นยนต์เริ่มมีบทบาทในโรงงานอุตสาหกรรม โดยงานของหุ่นยนต์เน้นการหยิบ จับ วาง หรือประกอบชิ้นงานเป็นหลัก ขณะที่ในปัจจุบันการผสมผสานระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีนั้นแทบจะหลอมรวมเข้าด้วยกัน และกลายเป็นส่วนหนึ่งในตัวตนของเราเข้าไปทุกเมื่อ
การเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยี วิทยาการหุ่นยนต์ และการสร้างฝาแฝดดิจิทัล (Digital Twins) หรือการสร้างแบบจำลองของวัตถุต่าง ๆ ทางกายภาพให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลซึ่งมีกลไกเชื่อมต่อกับวัตถุของจริงได้แบบเรียลไทม์ ล้วนเป็นการวางรากฐานสำคัญสำหรับอนาคตให้กับผู้คนที่ต้องอยู่ร่วมกับเทคโนโลยี ในหนังสือ The Novacene ของ James Lovelock นักอนาคตวิทยาชาวอังกฤษอ้างว่า การถือกำเนิดของไซบอร์กและปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงนั้น เป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการทางธรรมชาติที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ยอดมนุษย์ไซบอร์ก
รายงานฉบับนี้สำรวจวิธีการต่าง ๆ ที่เทคโนโลยีและมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กัน แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่วิทยาการหุ่นยนต์ไปจนถึงการปลูกถ่ายเซลล์ประสาท สังคมได้เข้าใกล้การปฏิวัติครั้งใหญ่ที่จะมาเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์และพฤติกรรมของมนุษย์ไปอย่างแท้จริง ตามที่คาดการณ์ไว้ใน Future Innovations 2023 โดย WGSN Insight ระบุว่า เทคโนโลยีไซบอร์กจะแพร่หลายมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ตามรอยนักประดิษฐ์ยุคแรก ๆ อย่าง นีล ฮาร์บิสสัน (Neil Harbisson) มนุษย์ไซบอร์กชาวไอริชที่ได้การยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยเขาเกิดมาพร้อมกับความผิดปกติทางสายตาที่ไม่สามารถมองเห็นสีได้ทุกสี แต่หลังจากที่เขาได้ฝังอุปกรณ์ Eyeborg ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยอดัม มอนแทนดอน (Adam Montandon) ไว้ในหัว เขาก็สามารถมองเห็นสีต่าง ๆ ได้เหมือนคนปกติทั่วไป โดยเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ได้แปลงสีที่เห็นเป็นสัญญาณเสียงเข้าสู่สมองของเขา ทำให้เขาได้สัมผัสกับโลกใบใหม่ที่กว้างขึ้นกว่าเดิม หรืออย่างมูน ริบาส (Moon Ribas) อีกหนึ่งยอดมนุษย์ไฮเทคที่มีการฝังเซ็นเซอร์ตรวจจับแผ่นดินไหวไว้ที่เท้าของเธอ เพื่อช่วยให้เธอสามารถสัมผัสได้ถึงแผ่นดินไหวในแบบเรียลไทม์
Virtual Human หุ่นยนต์คนดัง
Virtual Human หรือมนุษย์เสมือนจริงเป็นอีกคำนิยามที่ถูกใช้แพร่หลายมากขึ้นในการอธิบายถึงมนุษย์ที่มีบทบาทอยู่บนโลกเสมือน พวกเขาถูกสร้างขึ้นมาโดยเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ ไม่มีวันแก่ และยังปรากฏตัวอยู่หลายที่พร้อม ๆ กัน ทั้งยังสามารถถูกตั้งโปรแกรมให้มีความเชี่ยวชาญหรือมีพรสวรรค์ด้านใหม่ ๆ ที่มนุษย์ขาดหายไปได้ ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ Virtual Human ก็ได้ปรากฏตัวในวงการบันเทิงเกาหลีใต้ หลัง SM Entertainment เปิดตัวเกิร์ลกรุ๊ปวงใหม่ชื่อ Aespa ซึ่งประกอบด้วยศิลปินหญิงสี่คนและฝาแฝดดิจิทัลของพวกเธอที่ถูกผสมผสานเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่นและสมจริง นอกจากนี้บริษัท LG ยักษ์ใหญ่ในวงการอิเล็กทรอนิกส์ยังได้ว่าจ้าง Reah Keem เวอร์ชวลพรีเซนเตอร์มาร่วมงานแสดงสินค้าเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง CES 2021 (Consumer Electronics Show 2021) เพื่อแสดงผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับผู้ชม รวมถึงอีกหนึ่งบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังอย่าง Samsung ที่ได้เริ่มโปรเจ็กต์มนุษย์เสมือนจริงภายใต้ชื่อ Neon ตั้งแต่ปี 2020 เพื่อสร้างตัวละครสมมติที่อิงจากคุณสมบัติและพฤติกรรมของมนุษย์ในชีวิตจริง
ในขณะที่ยังมีผู้ทรงอิทธิพลเสมือนจริงอีกหลายคน เช่น Lil Miquela เน็ตไอดอลที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์ทุกประการแต่เธอระบุว่าตนเองเป็นหุ่นยนต์ในประวัติ Instagram และบัญชีของเธอได้รับการจัดการโดย Brud.fyi บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ที่ทำให้เธอมีชีวิต รวมไปถึง FN Meka หุ่นยนต์แร็ปเปอร์เสมือนจริงที่ได้รับความนิยมอย่างมากใน TikTok หรือ Sophia หุ่นยนต์ AI ตัวแรกของโลกที่ได้รับสัญชาติเหมือนคนจริง ๆ ซึ่งมีผู้ติดตามทาง Instagram ถึง 154,000 คน และยังได้ร่วมงานกับแบรนด์ต่าง ๆ มากมาย ทั้งหมดนี้สะท้อนว่ามนุษย์เสมือนจริงเหล่านี้ สามารถแทรกซึมเข้ามาในชีวิตเรา พวกเขาอาจเป็นได้ทั้งครูสอนโยคะ ที่ปรึกษาทางการเงิน ดาราเคป็อป อินฟลูเอนเซอร์ หรือแม้แต่เพื่อนฝูงของเราเอง
Robot ผู้ช่วย
บริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook กำลังขยายความสนใจไปไกลกว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ไปสู่การพัฒนาด้านวิทยาการหุ่นยนต์ แผนก AI ของ Facebook ได้ตั้งเป้าไปที่การพัฒนาหุ่นยนต์ผู้ช่วยในบ้าน มาปีนี้ Facebook ย้ำถึงความจริงจังเรื่อง Metaverse อีกครั้งด้วยการจับมือกับ Luxottica ยักษ์ใหญ่ในวงการแว่นตา VR ออกผลิตภัณฑ์แว่นอัจฉริยะทรง Wayfarer ของ Rayban พร้อมทดสอบการเชื่อมต่อระหว่างสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ และหากประสบความสำเร็จ สิ่งนี้อาจเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพ การสื่อสาร และความบันเทิง เช่นที่ธุรกิจ Neuralink ของ Elon Musk ซึ่งกำลังเร่งค้นคว้าวิธีการเพื่อปรับเปลี่ยนกลไกทางสมองในการช่วยบุคคลที่ทุกข์ทรมานจากปัญหาทางระบบประสาทและการสื่อสาร เพื่อช่วยให้ผู้คนได้เตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคการแข่งขันกับเครื่องจักรก่อนที่เทคโนโลยีจะพัฒนาขีดความสามารถจนก้าวข้ามความฉลาดของมนุษย์
ที่มา : บทความ “Research Radar: Cyborg Futures” โดย Cassandra Napoli จาก WGSN insight
เรื่อง : ไพวรินทร์ สืบบุก