อนาคตเริ่มต้นวันนี้ ซีคอนสแควร์โชว์ศักยภาพ Solar Rooftop ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ทุกวันนี้ กระแสการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนได้รับการพูดถึงกันมากขึ้นในปัจจุบัน ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ล้วนมีการปรับกลยุทธ์และแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับการพัฒนาธุรกิจที่ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การใช้พลังงานสะอาดจึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้ โดยเฉพาะการใช้ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือ Solar Rooftop ที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โครงการอสังหาริมทรัพย์ เรื่อยมาถึงภาคธุรกิจค้าปลีกอย่างห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์ต
โซลาร์รูฟท็อปในธุรกิจรีเทล
หลักการทำงานของระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์ เริ่มจากแผงโซลาร์รับแสงจากพระอาทิตย์ (ยิ่งแสงมีความเข้มมาก จะยิ่งผลิตไฟได้มาก) โดยจะเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้ากระแสตรง ผ่านไปยังเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) เพื่อแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับก่อนนำไปใช้กับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่ของอาคาร พร้อมทั้งการเชื่อมต่อเข้ากับระบบการจ่ายไฟของการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อให้สามารถสลับการใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์หรือจากการไฟฟ้าได้อัตโนมัติ ซึ่งการเชื่อมต่อนี้มีข้อดีคือ หากไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์มีใช้ไม่มากพอกับปริมาณความต้องการภายในอาคาร ระบบควบคุมก็จะดึงไฟฟ้าจากการไฟฟ้ามาใช้ต่อได้ทันที หรือหากไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์มีปริมาณมาก ก็สามารถขายคืนให้กับการไฟฟ้าได้ด้วย (ทั้งนี้ต้องได้รับการอนุญาตโดยผ่านขั้นตอนต่าง ๆ จากหน่วยราชการก่อน)
ในต่างประเทศ กลุ่มธุรกิจรีเทลขนาดใหญ่ อย่างเช่น IKEA ในสหรัฐอเมริกา ได้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในสาขาของ IKEA ทั่วประเทศแล้วกว่า 240,000 แผง โดย IKEA มีแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อสนองตอบต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก เช่น การจัดส่งสินค้าสินค้าถึงบ้านโดยปราศจากการปล่อยมลพิษใน 30 ประเทศที่มีสาขาของ IKEA ภายในปี 2025 และการเปลี่ยนระบบทำความเย็นและร้อนภายในอาคารให้เป็นพลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2030
ขณะเดียวกัน Target ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่อันดับ 8 ของสหรัฐอเมริกา ได้บรรลุเป้าหมายในการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา 500 สาขาทั่วประเทศเมื่อปี 2019 และปีเดียวกันนั้นเอง Target ก็ได้ประกาศวิสัยทัศน์ถึงเป้าหมายใหญ่ในการจัดหาไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2030 อีกด้วย ทางด้าน Walmart ธุรกิจค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ก็ได้ประกาศวิสัยทัศน์ที่จะยกระดับตัวเองให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2035 เช่นกัน โดยหนึ่งในพันธกิจนั้นก็คือ การติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาทั้งตัวอาคารและที่จอดรถในกว่า 5,000 สาขาทั่วสหรัฐอเมริกาให้เสร็จสิ้นภายในปี 2035 นอกจากนี้ Walmart ยังได้ประกาศเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในระบบการบริหารจัดการทั้งหมดให้ได้ภายปี 2040
เมื่อหันกลับมาที่ประเทศไทย เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการสนใจลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะต้นทุนวัสดุและค่าติดตั้งที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในเรื่องการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดิน) การได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว ทำให้การลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสามารถคืนทุนได้รวดเร็วขึ้น และได้ดึงดูดใจให้ห้างสรรพสินค้าใหญ่อย่างเครือเซ็นทรัลได้นำร่องติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อลดค่าไฟฟ้าที่ซื้อจากระบบการไฟฟ้าปกติได้มาก ทั้งยังคืนทุนได้รวดเร็ว จนทำให้ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ เลือกติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นอีกมาก เช่น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, โลตัส, เดอะวอล์ก เป็นต้น
ซีคอนสแควร์ : แหล่งเรียนรู้ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ปัจจุบัน ห้างสรรพสินค้าที่ได้รับกล่าวถึงว่ามีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็คือ “ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์” ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ 5 เมกะวัตต์ ในพื้นที่การติดตั้งแผงโซลาร์ 14,500 แผง ใช้พื้นที่รวมประมาณ 31,000 ตารางเมตร จากเงินลงทุน 250 ล้านบาท
ภายหลังการติดตั้งและเปิดใช้งานจริงในปีนี้ การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ สามารถประหยัดไฟได้มากถึง 32-33 ล้านบาทจากการใช้ไฟฟ้าปกติที่ประมาณ 190 ล้านบาทต่อปี ลดการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลไปได้ประมาณ 1 ส่วน 4 ของพลังงานที่ซีคอนฯ ใช้ทั้งหมด โดยตลอดอายุสัญญาโครงการ (30 ปี) จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 187,000 เมกะวัตต์ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้มากถึง 90,400 ตัน หรือเทียบเท่าการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้กว่า 120,000 ต้น รวมไปถึงช่วยลดการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยอีกด้วย
ดร.พรต ซอโสตถิกุล รองกรรมการผู้จัดการสำนักพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้กำกับดูแลโครงการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโซลูชันของการลดต้นทุนด้านไฟฟ้า ซึ่งบริษัทพยายามหาวิธีลดค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง ตั้งแต่การเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED, การใช้เครื่องเปลี่ยนแปลงความถี่ (Inverter) เพื่อปรับความเร็วของบันไดเลื่อนให้เหมาะสมกับสภาวะใช้งาน ฯลฯ กระทั่ง 3-4 ปีก่อนบริษัทก็พิจารณาถึงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเนื่องจากเห็นว่าเป็นวิธีที่สร้างอิมแพ็กสูงในการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ประกอบกับเทคโนโลยีพัฒนามาถึงระดับที่แผงโซลาร์เซลล์มีราคาถูกลง และมีเพอร์ฟอร์มานซ์สูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง ด้วยการเดินทางไปดูงานต่างประเทศหลายครั้ง ทั้งที่มาเลเซีย จีน และเกาหลี กระทั่งเกิดการติดตั้งอย่างเป็นรูปธรรมในท้ายที่สุด
“เทรนด์การใช้พลังงานที่โลกกำลังจะไปคือการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ซึ่งข้อดีของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คือผลิตตรงไหนก็ใช้ตรงนั้น ไม่ต้องมีการขนส่งให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย สองประเทศไทยมีแดดตลอดปี สามเป็นพลังงานที่ได้มาฟรี นอกจากนี้ยังเป็นพลังงานสะอาด ไม่ต้องเผาถ่านหินหรือขุดก๊าซมาทำไฟฟ้า จึงไม่มีการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ เราลดคาร์บอนไปได้เป็นหลักพันตัน ขณะเดียวกันซีคอนฯ ก็ได้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้สูงกว่าที่ประเมินไว้มาก สิ่งเหล่านี้จึงเป็นการพิสูจน์ว่านี่แหละคือวิธีที่ถูกต้อง เรามาถูกทางแล้ว” ดร.พรต กล่าว
ทั้งนี้ ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของซีคอนสแควร์นั้นได้ใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิด N-Type Mono-HDT จากญี่ปุ่น ซึ่งมีข้อดีเมื่อเปรียบเทียบกับชนิด P-Type Mono-PERC ที่ใช้กันมากในปัจจุบัน เช่น
- มีโครงสร้างทางเคมีแข็งแรงและเสื่อมสภาพช้ากว่า มีอายุการใช้งานนานกว่า แม้จะใช้ไปแล้ว 30 ปี แผงโซลาร์เซลล์ N-Type ยังคงมีประสิทธิภาพการทำงานสูงกว่า 85% (จากการทดสอบด้วยแผง N-Type ของพานาโซนิก ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ซีคอนสแควร์เลือกใช้)
- ค่าสัมประสิทธิ์อุณหภูมิ (Temperature Coefficient) หรือคุณสมบัติบางอย่างของวัสดุที่เปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อสารได้รับความร้อนหรือความเย็น ในชนิด N-Type จะมีค่าสัมประสิทธิ์อุณหภูมิต่ำกว่าชนิด P-Type ส่งผลให้คุณสมบัติของผลึกซิลิคอน N-Type ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมากกว่า
- ลดปัญหาการเกิดผลกระทบจากจุดร้อน (Hot Spot Effect) ที่อาจทำให้แผงโซลาร์เซลล์ติดไฟและทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ในระยะยาว จากการยืดหดไม่เท่ากันของวัสดุต่างชนิดกันที่เชื่อมต่อกันภายในแผง P-Type เมื่อความร้อนขยายตัวแล้วเย็นตัวลง ขณะที่แผง N-Type จะมีการเชื่อมต่อภายในของโมดูลแบตเตอรี่ที่มีความสอดคล้องกันมากกว่า
- สามารถสร้างพลังงานได้มากกว่าเซลล์ชนิดอื่นถึง 15% และยังสามารถผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมเป็นพิเศษจากด้านหลังของแผงที่เป็น Double-Sided Panel (เช่นที่ซีคอนสแควร์ใช้)
- ไม่เกิดปัญหาเรื่องความต่างศักย์ระหว่างเซลล์และกระจก (Potential Induced Degradation – PID) ที่ส่งผลทำให้ไอออนของโซเดียม (ขี้เกลือ) เข้าไปแทรกซึมในผิวเซลล์แสงอาทิตย์, การเสื่อมถอยจากผลกระทบทางแสง (Light-induced Degradation – LID) และการเสื่อมสภาพที่เกิดจากแสงและอุณหภูมิสูง (Light Elevated Temperature Induced Degradation – LE TID) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของแผงต่ำลง และเกิดขึ้นได้กับเซลล์แสงอาทิตย์ P-Type
สำหรับเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) นั้น ซีคอนสแควร์เลือกใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ย จากประเทศจีน ซึ่งมีข้อดีคือมีระบบกรองฝุ่น มีการกันความชื้นเข้าสู่ภายใน ทำให้ไม่ก่อปัญหาในการทำงานแม้จะเกิดฝนตกหรือมีปริมาณฝุ่นในอากาศสูง
ดร.พรต กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นซีคอนสแควร์ได้ทำสัญญากับ PSS Thailand ในลักษณะการรับซื้อไฟฟ้าจาก PSS เป็นเวลา 30 ปีในอัตราที่ถูกกว่าการใช้ไฟฟ้าปกติ โดยทาง PSS เป็นผู้ลงทุนด้านอุปกรณ์รวมถึงการดูแลระบบมอนิเตอร์และระบบควบคุมต่าง ๆ แต่หลังจากใช้งานจริงได้เพียง 3 เดือนก็พบว่า สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้ตัดสินใจซื้อทั้งโครงการ เนื่องจากเห็นว่าจะคืนทุนเร็วกว่าการเป็นแต่เพียงผู้รับซื้อไฟฟ้าทั่วไป และความสำเร็จนี้ยังขยายไปสู่ซีคอนสแควร์ สาขาบางแค ที่จะมีกำหนดเปิดใช้งานได้จริงในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า โดยจะมีการติดตั้งแผงโซลาร์กว่า 7,000 แผง กินพื้นที่รวมประมาณ 20,000 ตารางเมตร ส่วนศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ 3.50 เมกะวัตต์
“ผมเชื่อว่าภายใน 10 ปี โรงงานต่าง ๆ จะใช้พลังงานสะอาดกันหมด และจะขยายตัวไปตามโรงพยาบาล โรงเรียน รวมถึงบ้านพักอาศัย เพราะมันเป็นเทรนด์แห่งอนาคต นอกจากนี้ การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเป็นเพียงหนึ่งในวิธีการลดต้นทุนด้านพลังงานของเราเท่านั้น เรายังเปิดกว้างในการหาโซลูชันอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ในอนาคตหากแบตเตอรี่ไฟฟ้าราคาถูกลง เราอาจมีการลงทุนเพื่อนำมาเสริมสำหรับการกักเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ ที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงกลางคืน หรือการใช้ Gas Turbine มาทดแทน เพราะเราไม่ต้องการปิดกั้นตัวเองในการใช้เทคโนโลยีมาลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน อีกทั้งเป็นการช่วยโลกด้วย เรามีพลังงานไว้ใช้ ขณะเดียวกันก็ไม่ก่อมลพิษเพิ่มเติม”
พลังงานแห่งอนาคต
ในการประชุม “COP26” หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในรัฐภาคีของกรอบอนุสัญญาดังกล่าวจาก 196 ประเทศทั่วโลก ได้มีผลสรุปอันเป็นเป้าหมายเดียวกันว่าจะร่วมกันทำงานเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 - 2 องศาเซลเซียสตาม “ข้อตกลงปารีส” ที่มีมาตั้งแต่การประชุม COP21 ในปี 2015 และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 ซึ่งจะเป็นแนวทางให้แต่ละประเทศดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในการปกป้องสภาพอากาศให้คืนสมดุลสู่ธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency - IEA) ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มตลาดพลังงานระหว่างปี 2021-2022 สำหรับใช้อ้างอิงในการประชุม COP ของปีนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ www.iea.org โดยระบุว่า พลังงานทดแทนจะเข้ามามีผลต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนทั่วโลก และจะกลายเป็น “ความปกติใหม่” (New Normal) ของการผลิตไฟฟ้า โดยพลังงานหมุนเวียนจะมีอัตราส่วน 90% ของการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ทั่วโลก ขณะที่การพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์จะมีศักยภาพในการผลิตเพิ่มขึ้นปีละ 162 กิกะวัตต์ภายในปี 2022 ซึ่งสูงกว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 ในปี 2019 เกือบ 50%
นอกจากนี้ ในเชิงธุรกิจโซลาร์เซลล์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ก็ได้เผยแพร่รายงานในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาถึงแนวโน้มตลาดโซลาร์รูฟท็อป (ภาคครัวเรือน) ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1.37 แสนล้านบาทในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยนอกจากกระแสรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการใช้โซลาร์รูฟท็อปมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นนั้น มาจากความคุ้มค่าที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาโซลาร์รูฟท็อปที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ราคารับซื้อไฟที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโควตารับซื้อไฟของภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปภาคครัวเรือนจะมีศักยภาพสูงในการเป็นแหล่งรายได้เสริมให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ
ดังนี้แล้ว ก็มั่นใจได้ว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนเช่นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปนั้น นอกจากจะเป็นเทรนด์ของโลกในการใช้พลังงานสะอาดที่ไม่มีวันหมดไปจากโลกเหมือนพลังงานฟอสซิล ก็ย่อมเป็นอีกหนึ่งโซลูชันในการสร้างความคุ้มค่าให้กับภาคธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ภาพ : Walmart, IKEA, Target
ที่มา :
บทความ “Ingka Group invests in first US solar parks” จาก ikea.com
บทความ “IKEA Retail U.S. opens its first solar car park in Baltimore, announces plans for seven more” จาก ikea.com
บทความ “Environment America calls on Walmart to commit to solar on every roof” โดย Kelsey Misbrener จาก solarpowerworldonline.com
บทความ “Setting Records, Walmart Continues Moving Toward Becoming a Totally Renewable Business” โดย Mark Vanderhelm จาก orporate.walmart.com
บทความ “These New Solar and Wind Projects Are Big Strides Toward Target’s Renewable Energy Goals” โดย จาก horporate.target.com
บทความ “Hello, Sunshine: See Target’s Latest Solar Installations Take Shape” โดย จาก orporate.target.com
บทความ “คาดการณ์ภาพรวมตลาดพลังงานหมุนเวียน ปี 2021-2022” จาก www.greennetworkthailand.com
บทความ “Renewable Energy Market Update 2021” จาก www.iea.org
เรื่อง : พัตรา พัชนี