เมื่อหุ่นยนต์แต่งเพลงต่อจากบีโธเฟนและเหล่าศิลปินผู้ล่วงลับ
Technology & Innovation

เมื่อหุ่นยนต์แต่งเพลงต่อจากบีโธเฟนและเหล่าศิลปินผู้ล่วงลับ

  • 17 Nov 2021
  • 2094

“อะไรทำให้มนุษย์แตกต่างจากหุ่นยนต์” 

ความคิดสร้างสรรค์และการสร้างผลงานศิลปะอาจเคยเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ได้อย่างชัดเจน แต่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอาจทำให้เราต้องคิดใหม่ เพราะไม่เพียงแต่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะสามารถสร้างผลงานศิลปะได้ดีแล้ว ความสามารถด้านศิลปะของหุ่นยนต์ในปัจุบันยังสามารถสานต่อผลงานของคีตกวีและศิลปินชั้นนำของโลกผู้ล่วงลับไปแล้วได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ 


@modernrecordings/facebook

Beethoven X: The AI Project ซิมโฟนีหมายเลข 10 ของบีโธเฟน (และ AI)
แม้จะไม่ใช่คอดนตรีคลาสสิก แต่หลายคนอาจเคยได้ยินผลงานของลุดวิก ฟาน บีโธเฟน (Ludwig van Beethoven) คีตกวีชาวเยอรมันที่มีชีวิตในช่วงค.ศ. 1770 - 1827 ผ่านหูมาบ้างไม่มากก็น้อย ตลอดช่วงชีวิตของเขาได้ฝากผลงานไว้มากถึง 722 ชิ้น โดยมีซิมโฟนีทั้งหมด 9 หมายเลข และเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เขาเสียชีวิตไปก่อนที่เขาจะเขียนซิมโฟนีหมายเลข 10 จบ ซึ่งก็เป็นที่คาดเดาเรื่อยมาว่าหากเขามีโอกาสได้เขียนจนจบนั้น ผลงานชิ้นนี้จะออกมาในรูปแบบใด

แม้จะผ่านมาเกือบ 2 ศตวรรษ แต่ความพยายามในการทำซิมโฟนีหมายเลข 10 ให้สมบูรณ์ก็ยังไม่หายไปไหน ในปี 2019 ทีมนักวิจัย ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีวิทยา นักแต่งเพลง และ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ได้รวมตัวกันเพื่อสานต่อผลงานชิ้นนี้ในชื่อ Beethoven X: The AI Project โดยนำ AI มาฝึกให้เรียนรู้วิธีการเขียนเพลงแบบบีโธเฟน โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจากผลงานที่เขาเคยสร้างไว้ทั้งหมด ปัจจุบันโน้ตของซิมโฟนีหมายเลข 10 ของบีโธเฟนที่ถูกเขียนต่อโดย AI นั้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว และถูกนำมาบรรเลงเป็นครั้งแรกโดยวงออเคสตร้าบีโธเฟนประจำเมืองบอนน์ (Beethoven Orchester Bonn) เมืองบ้านเกิดของบีโธเฟนนั่นเอง 

[สามารถฟังเพลงได้ที่ https://lnk.to/BeethovenX-Scherzo]


©wikipedia.org

DeepBach 
ในปี 2016 เคยมีการพยายามฝึกปัญญาประดิษฐ์ให้เรียนรู้วิธีการแต่งเพลงแบบโยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (J.S. Bach) คีตกวีชื่อดังชาวเยอรมัน โดยใช้อัลกอริทึม Deep Learning เพื่อศึกษาโน้ตเพลงของบาคกว่า 400 ชิ้น และ AI ที่ชื่อ DeepBach นี้ก็สามารถแต่งเพลงสไตล์บาคออกมาได้จริง ๆ เมื่อนำไปทดสอบด้วยการบรรเลงให้ผู้ชม 1,600 คนฟัง (กว่าครึ่งเป็นนักดนตรีอาชีพ) และให้ทายว่าอันไหนแต่งโดยบาคตัวจริง มากกว่าครึ่งก็ทายว่าทำนองที่เขียนโดย AI นั้นเขียนโดยบาคจริง ๆ 

[ลองทายกันได้ที่ https://youtu.be/lv9W7qrYhbk หรือฟังเพลงแบบเต็มได้ที่ https://youtu.be/QiBM7-5hA6o

 

Lost Tapes of the 27 Club ท่วงทำนองที่หายไปของศิลปินที่จากไปในวัย 27
ยังคงเป็นเรื่องที่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า ทำไมศิลปินระดับตำนานหลาย ๆ คนถึงจากไปในวัย 27 ปี ด้วยสาเหตุที่หลากหลายตั้งแต่การใช้ยาเกินขนาด ไปจนถึงการฆ่าตัวตาย จนกลายเป็นที่มาของชื่อกลุ่มที่คงไม่มีใครอยากเป็นสมาชิกว่า “27 Club” และทำให้อดเสียดายไม่ได้ว่าหากพวกเขาไม่ต้องจากไปก่อนวัยอันควร ศิลปินเหล่านี้จะสร้างสรรค์ผลงานแบบไหนมาให้พวกเราได้ชื่นชมต่อไปบ้าง

เพื่อทำให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาเรื่องสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมดนตรี Over The Bridge องค์กรไม่แสวงหากำไรจากแคนาดาจึงทำโปรเจ็กต์ Lost Tapes of the 27 Club ขึ้น โดยนำอัลบัมที่รวม 4 บทเพลงที่สร้างโดย AI ที่มีเนื้อร้องและสไตล์เพลงในแบบของศิลปินที่จากไปในวัย 27 ปีจำนวน 4 คน ได้แก่ เคิร์ต โคเบน (Kurt Cobain) มือกีตาร์และนักร้องนำวงเนอร์วานา (Nirvana) เอมี ไวน์เฮาส์ (Amy Winehouse) นักร้องสาวแนวโซลชาวอังกฤษผู้มีเสียงเป็นเอกลักษณ์ จิมี่ เฮ็นดริกซ์ (Jimi Hendrix) มือกีต้าร์ระดับตำนานของวงการเพลงร็อก และจิม มอร์ริสัน (Jim Morrison) นักร้องนักแต่งเพลงจากวงร็อกรุ่นเก๋าอย่าง The Doors 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการที่ AI และอัลกอริทึมจะสามารถหยิบเอาเพลงของศิลปินผู้ล่วงลับมาสานต่อ และสร้างผลงานในสไตล์ของศิลปินคนนั้น ๆ ได้อย่างน่าประทับใจ ในทางกลับกัน หลายคนก็มองว่าผลงานที่ AI สร้างออกมานั้นไม่ได้ตรงกับความตั้งใจแท้จริงของศิลปิน เพราะงานศิลปะไม่ได้เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์หรือคำนวณข้อมูลเพียงเท่านั้น แต่ยังอาศัยอารมณ์และจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ด้วย ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าขบคิดต่อไปว่า หาก AI สามารถแต่งเพลงระดับตำนานได้ ความเป็นไปได้ต่อไปของวงการดนตรีจะเป็นอะไร แล้วมันจะเปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมเพลงไปมากแค่ไหนกัน

ที่มา :
บทความ “Beethoven's last symphony finished by AI” จาก dw.com 
บทความ “Human or AI: Can You Tell Who Composed This Music?” จาก futurism.com 
losttapesofthe27club.com 

เรื่อง : ณัฐชา ตะวันนาโชติ