ภาพวาดระดับตำนานที่ถูกทำให้สมบูรณ์อีกครั้งด้วย AI
Technology & Innovation

ภาพวาดระดับตำนานที่ถูกทำให้สมบูรณ์อีกครั้งด้วย AI

  • 17 Nov 2021
  • 2287

แม้โลกแห่งศิลปะจะถูกครอบครองและสร้างสรรค์โดยมนุษย์มาหลายสหัสวรรษ แต่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเพลง เขียนบทกวี หรือวาดภาพ การใช้งานเทคโนโลยีร่วมกับการสร้างงานศิลป์ก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งการที่โลกศิลปะยอมเปิดใจและก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับเทคโลยีนั้น สามารถช่วยเติมเต็มรายละเอียดบางอย่างที่ตกหล่นไปในห้วงประวัติศาสตร์ และทำให้เรามองย้อนกลับไปเห็นภาพอดีตได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น


 The Night Watch (1642)

Operation Night Watch เติมเต็มภาพที่ถูกตัดออกให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง 
ภาพ The Night Watch หรือ “ผู้รักษาความสงบยามราตรี” ถูกวาดขึ้นในปี ค.ศ. 1642 โดย แร็มบรันต์ ฟัน ไรน์ (Rembrandt van Rijn) จิตรกรชาวดัตช์ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก และภาพ The Night Watch เอง ก็เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวดัตช์ ถึงขนาดที่ได้รับการยกย่องให้เป็นงานแสดงชิ้นสำคัญของพิพิธพัณฑ์แห่งชาติเนเธอร์แลนด์ หรือ Rijksmuseum

อย่างไรก็ตาม งานต้นฉบับที่แร็มบรันต์วาดนั้นเป็นภาพขนาดใหญ่ ซึ่งใหญ่กว่าภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันพอสมควร เนื่องจากมีการย้ายไปย้ายมาหลายครั้ง ซึ่งก็ใช่ว่าทุกสถานที่ที่ภาพผืนนี้ได้เดินทางไปติดตั้งนั้น จะมีพื้นที่ใหญ่เพียงพอกับขนาดของภาพ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ไม่พอ ในปี 1715 ที่ภาพนี้ย้ายมาจัดแสดงระหว่างประตูสองข้างของศาลากลางกรุงอัมสเตอร์ดัม จึงได้มีการตัดขอบทั้ง 4 ด้านของภาพออกไปหลายนิ้ว จนทำให้คนในภาพหายไปถึง 2 คน และส่วนที่ถูกตัดออกไปนั้นก็ยังไม่ถูกค้นพบมาจวบจนปัจจุบัน

เพื่อกู้คืนภาพส่วนที่ถูกตัดไปของ The Night Watch ทีมวิจัยจาก Rijksmuseum ที่อัมสเตอร์ดัมจึงนำ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์เพื่อสร้างส่วนที่หายไปขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยวิเคราะห์จากภาพ The Night Watch ของแร็มบรันต์ ร่วมกับภาพที่ถูกคัดลอกไว้โดยแกร์ริท ลุนเดินส์ (Gerrit Lunden) จิตรกรชาวดัตช์อีกหนึ่งคนในช่วงศตวรรษที่ 17 (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ London’s National Gallery) แม้จะแตกต่างกันทั้งในเรื่องของขนาด สไตล์ และการใช้สี แต่การใช้หลักการทำงานของโครงข่ายประสาทเทียม หรือ Artificial Neural Networks (ANN) ทำให้ AI สามารถประมวลผล และสร้างส่วนที่หายไปตามแบบต้นฉบับของแร็มบรันต์ได้สำเร็จ 


The Kiss (1908) 

ฟื้นคืนชีพสีสันที่หายไปของภาพสุดมลังมเลืองของ Gustav Klimt 
กุสทัฟ คลิมท์ (Gustav Klimt) ศิลปินแนวซิมโบลิสม์ชาวออสเตรียผู้ใช้ชีวิตอยู่ระหว่างปี 1862 – 1918 และมีสไตล์การวาดภาพที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร จากการเลือกใช้สีต่าง ๆ โดยเฉพาะการนำสีทองมาใช้อย่างมีเอกลักษณ์ เช่น The Kiss (1908) ภาพคู่รักสองคนที่กำลังโอบกอดในทุ่งดอกไม้หลากสี หรือ Portrait of Adele Bloch-Bauer I (1907) ภาพของหญิงสาวในชุดสีทอง 

ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนทั่วโลกอย่างใหญ่หลวงแล้ว วงการศิลปะก็ได้รับผลกระทบอันหนักหน่วงด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมไปถึงงานของคลิมท์ที่ถูกเผาทำลายไปหลายชิ้นในปี 1945 ก่อนที่สงครามจะจบลง และกลายเป็นเรื่องน่าเสียดายที่การจะกลับไปศึกษาหรือชื่นชมงานอันทรงคุณค่าเหล่านั้นในปัจจุบัน ทำได้เพียงแค่กลับไปดูจากภาพถ่ายขาวดำเท่านั้น 


Portrait of Adele Bloch-Bauer I (1907)

แต่ตอนนี้ทีมวิจัยจาก Google Arts & Culture ได้ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ Belvedere แห่งกรุงเวียนนาเพื่อพยายามชุบชีวิตให้สีสันของภาพที่ถูกทำลายไปกลับมาสดใสอีกครั้ง ด้วยการนำ AI มาวิเคราะห์สีที่คาดว่าคลิมท์ใช้ผ่านหลักการ Machine Learning โดยใช้ข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ ที่เคยกล่าวถึงผลงานเหล่านั้น (โดยเฉพาะเรื่องสี) รวมถึงการอ้างอิงภาพสีอื่น ๆ ของคลิมท์อีกกว่า 80 ภาพที่ถูกวาดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ตลอดจนข้อมูลภาพถ่ายและภาพงานศิลปะอื่น ๆ อีกกว่า 1 ล้านภาพ จนทำให้ในปัจจุบันเราสามารถรับชมภาพที่กลับมามีชีวิตชีวาของคลิมท์ และเรื่องราวของเขาอีกครั้งได้ที่นิทรรศการแบบออนไลน์ของกูเกิลที่ชื่อว่า Klimt vs. Klimt บน Google Arts & Culture 

หลายครั้งที่ภาพของเทคโนโลยีและ AI ถูกกำหนดให้รับบทเป็นผู้ร้าย ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาแทนที่หรือแย่งงานมนุษย์ในหน้าที่ต่าง ๆ และยิ่งหุ่นยนต์ที่ไร้ความรู้สึกเหล่านี้ก้าวเข้ามาในโลกศิลปะที่เป็นดังตัวแทนของความเป็นมนุษย์ในแง่ของการใช้อารมณ์และคิดสร้างสรรค์ได้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งอาจสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยมากขึ้นไปอีก แต่ในความเป็นจริง หากเราลองเปิดใจและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับความเป็นไปของเทคโนโลยี เราจะพบว่า AI หรือหุ่นยนต์อาจกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับโลกอนาคต และช่วยให้เราเข้าใจอดีตได้ดียิ่งขึ้นไปพร้อม ๆ กัน

ที่มา :
บทความ “Artificial intelligence can now make art. Artists, don’t panic.” โดย Sigal Samuel จาก vox.com 
rijksmuseum.nl 
artsandculture.google.com 

เรื่อง : ณัฐชา ตะวันนาโชติ