เมื่อโลกดิจิทัลยังไม่ใช่สีเขียว อินเทอร์เน็ตไม่ได้ลอยอยู่บนก้อนเมฆ และราคาที่(โลก)ต้องจ่าย
Technology & Innovation

เมื่อโลกดิจิทัลยังไม่ใช่สีเขียว อินเทอร์เน็ตไม่ได้ลอยอยู่บนก้อนเมฆ และราคาที่(โลก)ต้องจ่าย

  • 02 Dec 2021
  • 1924

“จากการส่งจดหมายที่ใช้กระดาษ สู่การใช้อีเมลที่ไม่เปลืองหมึกและไม่ต้องตัดต้นไม้ การเปลี่ยนมาเก็บเอกสารหรือรูปภาพผ่านระบบคลาวด์ที่แสนจะประหยัดพื้นที่ หรือการประชุมคุยงานแบบออนไลน์ที่แม้ว่าจะคุยกันข้ามทวีปก็แทบไม่ต้องเดินทางนั้น คือตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าโลกปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว”

หลังจากที่โรคระบาดทำให้หลายคนต้องใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่บ้านมานานหลายเดือน กิจกรรมแบบดิจิทัลก็ได้แทรกซึมเข้ามาอยู่ในแทบทุกมิติของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน เก็บเอกสาร ซื้อของ ดูละคร หรือฟังเพลง รู้ตัวอีกทีเกือบทุกกิจกรรมที่เราคุ้นเคย ก็ได้ทำการอพยพย้ายถิ่นฐานมาสู่ “โลกออนไลน์” ไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งนอกจากจะสะดวกแล้ว ก็ยังเป็นการช่วยโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทางหนึ่งด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลดการเดินทางที่สร้างมลพิษ หรือลดจำนวนการสร้างขยะต่าง ๆ 

อย่างไรก็ตาม โลกออนไลน์ที่เราเริ่มก้าวเข้าไปใช้ชีวิตกันอย่างคุ้นเคย และดูจะเป็นอนาคตของวิถีการดำเนินชีวิตต่อไปหลังจากนี้นั้น ไม่ได้ลอยอยู่บนก้อนเมฆหรือจับต้องไม่ได้อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เบื้องหลังการทำงานของอินเทอร์เน็ตและข้อมูลดิจิทัลต่าง ๆ ต้องอาศัยการจัดเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้ที่ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้า (ที่ส่วนมากยังผลิตจากถ่านหิน) จำนวนมหาศาลอยู่ตลอดเวลา เป็นสาเหตุให้เราสามารถใช้งานข้อมูลใด ๆ ที่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบายตลอด 24 ชั่วโมงนั่นเอง

สถานการณ์โลก(ดิจิทัล)
ปัจจุบันมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 4.88 พันล้านคน หรือคิดเป็น 61.8% ของประชากรโลก ซึ่งเป็นจำนวนที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยตลอด 12 เดือนที่ผ่านมามีผู้ใช้หน้าใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 222 ล้านคน (เฉลี่ยเพิ่มวันละประมาณ 600,000 คน) ซึ่งปริมาณคาร์บอนฟุตปรินต์ที่เกิดจากการใช้พลังงานของอุปกรณ์ดิจิทัล และกิจกรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการเสิร์ชหาข้อมูล ส่งอีเมล โพสต์รูป เล่นเกมออนไลน์ ดูวิดีโอและฟังเพลงแบบสตรีมมิ่ง หรือการอ่านบทความออนไลน์(เรื่องนี้) ที่แม้ว่าแต่ละอย่างจะใช้พลังงานเพียงน้อยนิด แต่พอรวม ๆ กันแล้ว กลับมีปริมาณมากถึงปีละ 1.6 พันล้านตัน หรือคิดเป็น 3.7% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ซึ่งมากพอ ๆ กับอุตสาหกรรมการบินเลยทีเดียว

ปรับพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ อีกหนึ่งทางเลือกเพื่อช่วยโลก
แม้ปัจจัยที่ทำให้เกิดคาร์บอนฟุตปรินต์นั้นจะมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประเภทอินเทอร์เน็ต (Wi-Fi 3G หรือ 4G) ประเภทข้อมูล (ข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอ) รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้ (สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์) แต่การปรับพฤติกรรมการใช้โลกออนไลน์คนละนิดละหน่อย ก็เป็นอีกหนทางที่ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลกได้ 

  • ส่งอีเมลให้น้อยลงอีกนิด
    โดยทั่วไปการส่งอีเมล 1 ฉบับนั้นสร้างคาร์บอนฯ ประมาณ 4 กรัม และอาจเพิ่มขึ้นถึง 50 กรัม ถ้าอีเมลนั้นประกอบไปด้วยรูปภาพหรือไฟล์ขนาดใหญ่ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ธุรกิจหรือองค์กรสักแห่งจะสร้างคาร์บอนฯ จากการส่งอีเมลประมาณ 135 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งเทียบได้กับคาร์บอนฯ จากการขับรถยนต์ขนาดกลางไป-กลับระหว่างกรุงเทพฯ-ระยอง (ระยะทางประมาณ 320 กิโลเมตร)

    แม้จะไม่เยอะมาก แต่ถ้าหากเราลดการส่งอีเมลที่ไม่จำเป็นลง ก็จะสามารถช่วยลดคาร์บอนฟุตปรินต์ได้ในระดับหนึ่ง อย่างในสหราชอาณาจักร มีการสำรวจพบว่า ถ้าหากทุกคนส่งอีเมลที่มีแค่คำว่า “ขอบคุณ” น้อยลงคนละ 1 ฉบับ ก็จะสามารถลดคาร์บอนฯ ได้ถึง 16,433 ตันต่อปี ซึ่งเทียบได้กับการเลิกใช้รถยนต์ดีเซลถึง 3,334 คัน

    ส่วนการส่งลิงก์ภาพแทนการแนบไฟล์ หรือการเลิกรับอีเมล (unsubscribe) รายการที่เราไม่สนใจแล้วนั้น ก็เป็นอีกทางที่ช่วยลดคาร์บอนฯ ได้เหมือนกัน เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ใช้ 1 คนจะได้รับอีเมลที่พวกเขาไม่ต้องการประมาณ 2,850 ฉบับใน 1 ปี ซึ่งเทียบเท่ากับคาร์บอนฯ ประมาณ 28.5 กิโลกรัม

  • เปิดไมค์ประชุมออนไลน์ทั้งที รีบเข้าประเด็นให้ไวอีกหน่อย
    จริง ๆ แล้วตัวเลือกในการสื่อสารทางไกลที่เป็นมิตรต่อโลกมากที่สุดคือการส่ง SMS เนื่องจากทำให้เกิดคาร์บอนฯ น้อยที่สุด (0.014 กรัม) ส่วนการใช้แอพพลิเคชันส่งข้อความ เช่น WhatsApp หรือ Facebook Messenger นั้น สร้างคาร์บอนฯ น้อยกว่าการส่งอีเมลเล็กน้อย (ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราส่งเป็นข้อความตัวอักษร สติกเกอร์ ภาพ หรือวิดีโอ ที่จะใช้พลังงานมากขึ้นตามลำดับ)

    ยิ่งปัจจุบันเป็นยุคที่การประชุมออนไลน์กำลังเฟื่องฟู ยิ่งทำให้คาร์บอนฟุตปรินต์ที่เกิดจากการประชุมนั้นสูงขึ้นตามไปด้วย โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการประชุมแบบออนไลน์ระหว่างประเทศเป็นเวลา 5 ชั่วโมงนั้น อยู่ที่ระหว่าง 4 - 215 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม หากเรามองว่าการประชุมแบบออนไลน์นี้สามารถเข้ามาแทนที่การเดินทางด้วยยานพาหนะที่สร้างคาร์บอนฯ มากกว่าหลายเท่าแล้ว การประชุมออนไลน์ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีต่อโลกมากกว่า และจะดียิ่งขึ้นหากเราตระหนักถึงระยะเวลาที่ใช้ เพราะยิ่งประชุมเสร็จเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งประหยัดทั้งพลังงานที่ใช้ ลดการสร้างคาร์บอนฯ และยังดีต่อใจผู้เข้าร่วมประชุมอีกด้วย

  • ไหน ๆ จะดูหนังเรื่องเดียวกันอยู่แล้ว ก็ดูพร้อมกันไปเลย
    จากกิจกรรมบนโลกอินเทอร์เน็ตทั้งหมดนั้น 60 % เกิดจากการดูวิดีโอออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นบนยูทูบ เน็ตฟลิกซ์ หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิงอื่น ๆ ซึ่งรวม ๆ แล้วสร้างคาร์บอนฯ ราว 300 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 1% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

    โดยหากลองสำรวจดูว่าผู้คนบนโลกดูวิดีโออะไรแก้เบื่อกันบ้าง เราจะสามารถแบ่งกว้าง ๆ ได้เป็น 3 ส่วน คือ 1) การดูยูทูบและคลิปวิดีโอต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย 2) การดูวิดีโอ 18+ สำหรับผู้ใหญ่ และ 3) การดูซีรีส์และภาพยนตร์บนแพลตฟอร์มแบบออนดีมานด์ เช่น Netflix หรือ Amazon Prime Video ซึ่งมีตัวเลขจาก Netflix ออกมาระบุว่าในปีหนึ่ง ๆ มีการใช้พลังงานไฟฟ้าจากการให้บริการดูหนังและซีรีส์อยู่ที่ประมาณ 451,000 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง เป็นสาเหตุให้ Netflix ได้จัดทำโครงการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ไปพร้อม ๆ กันด้วย เพื่อชดเชยพลังงานที่มาจากฟอสซิลนั่นเอง

    ในด้านผู้ใช้บริการนั้น การปรับการตั้งค่าด้วยการปิดตัวเลือกการเล่นวิดีโอถัดไปแบบอัตโนมัติ (Auto Play) หรือลดระดับความคมชัดของภาพให้น้อยลงอีกนิดก็สามารถช่วยลดการใช้พลังงานได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการเลือกดูวิดีโอผ่านระบบ Wi-Fi แทนการใช้อินเทอร์เน็ตจากเครือข่ายมือถือ ก็เป็นอีกตัวเลือกที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฯ ได้เช่นกัน และแทนที่จะดูหนังคนเดียว การดูหนังเรื่องเดียวกันพร้อมกันหลาย ๆ คน (เหมือนกับการนั่งรถไปทางเดียวกัน) ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้การดูหนังของเราเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นได้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเพียงแค่การประมาณการ และปริมาณคาร์บอนฟุตปรินต์ที่เกิดขึ้นจากแต่ละกิจกรรมที่เราทำบนโลกออนไลน์ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่สิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักไว้เสมอก็คือ แม้ว่าการปรับพฤติกรรมหลาย ๆ อย่างมาอยู่บนโลกออนไลน์นั้น จะมีส่วนช่วยลดคาร์บอนฟุตปรินต์ลงจากการใช้วิถีชีวิตแบบในอดีต แต่ทุก ๆ กิจกรรมที่เราทำนั้นต่างส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นคำถามที่สำคัญกว่าก็คือ จะทำอย่างไรให้สิ่งที่เราเลือกทำสร้างผลกระทบ “น้อยที่สุด” และนอกจากการปรับพฤติกกรรมจากฝั่งผู้ใช้แล้ว การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลในการหันมาใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก จะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะทำให้วิถีชีวิตต่อไปในอนาคตของทุกคนไปถึง Net Zero ได้อย่างแท้จริง

5 วิธีง่าย ๆ ลด Digital Carbon Footprint ได้ด้วยปลายนิ้ว

  1. ลดแสงหน้าจอ : ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้ทุกคนใช้ชีวิตกันผ่านหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต ซึ่งการลดความสว่างของหน้าจอลงจาก 100% มาที่ 70% สามารถประหยัดพลังงานโดยรวมได้ถึง 20% และยังช่วยถนอมดวงตาจากการจ้องหน้าจอที่สว่างเกินไปอีกด้วย



  2. ดาวน์โหลดก่อนค่อยกดเล่น : แม้ว่าการดูหนังหรือฟังเพลงผ่านการสตรีมจะสะดวกและรวดเร็ว แต่เมื่อเทียบกับการดาวน์โหลดที่ใช้การดึงข้อมูลเพียง 1 ครั้ง การสตรีมจึงสร้างคาร์บอนฟุตปรินต์มากกว่านั่นเอง



  3. เสิร์ชแล้วไม่ต้องเสิร์ชอีก : การเสิร์ชหาข้อมูลบนเสิร์ชเอ็นจินนั้นต้องใช้พลังงานในการประมวลผลข้อมูล ดังนั้นหากเราต้องการไปที่เว็บไซต์ที่เรารู้อยู่แล้ว เช่น twitter.com หรือ facebook.com การเข้าตรงไปที่เว็บไซต์เลย จะช่วยลดขั้นตอนลง และประหยัดพลังงานมากขึ้น



  4. ช่วยชดเชยคาร์บอนฟุตปรินต์ : บริษัทเสิร์ชเอ็นจินหลายแห่งเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการชดเชยคาร์บอนฟุตปรินต์มากขึ้น อย่าง Ecosia.org เสิร์ชเอ็นจินทางเลือกจากประเทศเยอรมัน ที่มีบริการในเรื่องการเสิร์ชคล้ายกับ google ทุกอย่าง ได้เพิ่มเติมความใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยการปลูกต้นไม้ ตามจำนวนการเสิร์ชที่เกิดขึ้นบนเว็บ ซึ่งตอนนี้ก็มีการปลูกต้นไม้ไปแล้วมากกว่า 138 ล้านต้น



  5. ใช้อุปกรณ์แต่ละชิ้นให้นานขึ้นอีกหน่อย : ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตและขนส่งอุปกรณ์ดิจิทัลนั้นอยู่ในปริมาณที่น่าเป็นห่วง และ 10% ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกก็มาจากสมาร์ตโฟน ซึ่งหากเรายืดอายุการใช้งานอุปกรณ์ที่เรามีให้นานขึ้น เช่น แทนที่จะเปลี่ยนเครื่องใหม่ทุก ๆ 3 ปี ก็เลื่อนเป็น 4 ปี จะสามารถลดคาร์บอนฟุตปรินต์ได้ราว 37,000 กิโลตัน หรือเท่ากับปริมาณการปล่อยคาร์บอนฯ ทั้งปีของประเทศไอร์แลนด์ทีเดียว

 

ที่มาภาพเปิด : Leon Seibert/Unsplash

ที่มา :
บทความ “Why your internet habits are not as clean as you think” โดย Sarah Griffiths จาก www.bbc.com  
บทความ “Eight ways to reduce your digital carbon footprint” โดย M.J. KELLY จาก www.techradar.com 
บทความ “Repairing – not recycling – is the first step to tackling e-waste from smartphones. Here’s why.” โดย Mo Chatterji จาก www.weforum.org 

เรื่อง : ณัฐชา ตะวันนาโชติ