อัพเดตตัวช่วย “การเดินทางระยะใกล้” แบบ “คาร์บอนต่ำ” ให้เมืองสะอาด ดีต่อสิ่งแวดล้อม
Technology & Innovation

อัพเดตตัวช่วย “การเดินทางระยะใกล้” แบบ “คาร์บอนต่ำ” ให้เมืองสะอาด ดีต่อสิ่งแวดล้อม

  • 24 Dec 2021
  • 2456

UNDP รายงานผลวิจัยเมื่อปี 2019 พบว่า “เขตเมือง” เป็นตัวการในการปล่อยคาร์บอนอย่างน้อย 70% และผลที่ว่านี้เกิดขึ้นทั่วโลก โดยกิจกรรมในเมืองที่เป็นกิจกรรมก่อคาร์บอนหลักก็คือ “การเดินทาง” ในแต่ละวันของประชากรนั่นเอง ดังนั้น หากต้องการให้เมืองก่อมลพิษน้อยกว่าที่เป็นอยู่ การลดคาร์บอนระหว่างเดินทางคือเป้าหมายหลักที่คนรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องพุ่งไป

ปี 2021 กระแสการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ในประเทศไทยเองเริ่มเห็นการเปิดตัวรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า 100% แล้ว แต่รถยนต์ส่วนตัวไม่ใช่พาหนะเดินทางรูปแบบเดียวที่คนเมืองใช้ หลายคนยังพึ่งพิงขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ รถตู้ประจำทาง เรือโดยสาร เป็นตัวเลือกหลักในการเดินทางประจำวัน

เมื่อพึ่งขนส่งสาธารณะ ย่อมต้องมี “การเดินทางระยะใกล้” ในช่วง First-mile และ Last-mile เกิดขึ้น เพราะคงไม่ใช่บ้านและที่ทำงานของทุกคนที่จะตั้งตรงกับป้ายรถเมล์หรือสถานีรถไฟฟ้าพอดี การเดินทางในช่วง ‘ต่อจุด’ เพื่อไปยังสถานีของพาหนะหลักจึงเป็นอีกประเด็นสำคัญหากจะลดคาร์บอน นอกจากการพัฒนารถเมล์ไฟฟ้าหรือเรือไฟฟ้า

โดยทั่วไป “การเดินเท้า” คือวิธีที่ง่ายที่สุด ซับซ้อนน้อยที่สุด และปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์แน่นอน แต่ข้อจำกัดของการเดินคือครอบคลุมระยะทางได้ไม่มาก อย่างในประเทศไทยซึ่งอากาศร้อน การเดินในที่กลางแจ้งระยะมากกว่า 500 เมตรจะกลายเป็นความทรมาน และถ้าหากเป็นเช้าที่เร่งรีบ การเดินเท้าจะยิ่งไม่ตอบโจทย์เรื่องเวลา

พาหนะการเดินทางระยะใกล้เหล่านี้จึงเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยให้คนรักษ์สิ่งแวดล้อมมีตัวเลือกเพิ่มขึ้นในการลดคาร์บอน ดีต่อโลกมากกว่าการพึ่งพี่วินมอเตอร์ไซค์ หรือต้องลงทุนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและอดทนกับรถติดในเมือง หลาย ๆ นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ริเริ่มมานานแล้วในโลก แต่การพัฒนาต่อยอดทำให้สิ่งเหล่านี้เหมาะกับการใช้งานจริงมากขึ้นจะยิ่งช่วยทั้งเราและโลกได้มากกว่านี้...ไปอัปเดตกันว่าตัวเลือกนวัตกรรมการเดินทางระยะใกล้มีการพัฒนาไปแค่ไหนแล้ว

1.จักรยานไฟฟ้า
Aventon Pace 350
จักรยานไฟฟ้า (e-Bike) เป็นนวัตกรรมที่มีมาประมาณ 20 ปีแล้ว ในยุคแรกอาจจะยังไม่มีประสิทธิภาพมากนักเพราะเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ยังใหญ่เทอะทะและความจุไม่สูง แต่ทุกวันนี้จักรยานไฟฟ้าสามารถลดขนาดแบตเตอรีจนเล็กพอที่จะบรรจุในเฟรมจักรยาน แนบเนียนไปกับตัวบอดี้จนเหมือนกับเป็นจักรยานธรรมดา และยังพัฒนาความจุไฟฟ้าจนวิ่งได้ไกลขึ้นต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง

ตัวอย่างจักรยานไฟฟ้าราคาปานกลาง สเปกใช้งานได้จริง และมีจำหน่ายแล้วในท้องตลาดก็เช่น “Aventon Pace 350” รุ่นนี้แบตเตอรีความจุ 350 Wh สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 32 กม./ชม. (โดยใช้กำลังปั่นช่วย) ทำให้จักรยานสามารถปั่นได้ไกล 75 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และยังมีน้ำหนักเบาเพียง 17.7 กิโลกรัม ช่วยให้การยกย้ายสะดวกมากขึ้น

ส่วนจักรยานไฟฟ้าราคาพรีเมียม สเปกขั้นสูง สำหรับการเดินทางไกลอย่าง “Trek Allant Plus 9.9S” ทำแบตเตอรีความจุได้ถึง 625 Wh ใช้มอเตอร์ยี่ห้อ Bosch ที่ทำความเร็วได้สูงสุด 45 กม./ชม. (โดยใช้กำลังปั่นช่วย) สามารถเดินทางได้ประมาณ 130 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง แลกมากับน้ำหนักที่มากหน่อยโดยอยู่ที่ 23.1 กิโลกรัม

2.จักรยานพับได้
Tuck Bike
ขณะที่จักรยานไฟฟ้าทำให้เดินทางได้เร็วและผ่อนแรงการปั่นไปได้มาก แถมยังพัฒนาจนเดินทางได้ไกล อาจจะนำมาใช้เป็นพาหนะหลักโดยไม่ต้องเปลี่ยนโหมดการขนส่งเลยก็ได้ แต่บางครั้งเราก็ยังต้องพึ่งพิงขนส่งสาธารณะ ทำให้การเดินทาง First mile และ Last mile อาจจะต้องคำนึงถึงการยกย้ายและเก็บพาหนะติดตัว

จักรยานพับได้เป็นคำตอบสำหรับจุดประสงค์นี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข้อจำกัด คือ “ล้อจักรยาน” หากล้อใหญ่เกินไป เมื่อพับแล้วก็จะยังมีขนาดใหญ่อยู่ ทำให้จักรยานพับได้มักต้องทำล้อขนาดเล็ก ซึ่งทำให้เคลื่อนที่ได้ช้ากว่าจักรยานปกติ

แต่ล่าสุด มีนวัตกรรมจาก Tuck Bike โดยวิศวกรชาวอเมริกัน Alex Animashaun ที่ได้ทดลองประดิษฐ์จักรยาน “พับล้อได้” โดยแบ่งล้อยางออกเป็น 3 ท่อนซึ่งสามารถพับเก็บได้ ทำให้ได้จักรยานล้อไซซ์ปกติเส้นผ่านศูนย์กลาง 28 นิ้ว เมื่อพับแล้วจะได้จักรยานพับขนาดประมาณกระเป๋าเดินทาง สร้างความสะดวกทั้งการพกพาไปกับขนส่งสาธารณะหรือการจัดเก็บ

3.สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า
Unagi Model One
อีกหนึ่งทางเลือกมาแรงสำหรับการเดินทางระยะใกล้ หรือการต่อจุดกับขนส่งสาธารณะอื่น เพราะสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าก็เหมือนการนำจักรยานไฟฟ้ามารวมร่างกับจักรยานพับได้ การมีมอเตอร์ในตัวทำให้ไม่ต้องเปลืองแรง วิ่งได้เร็ว แต่การออกแบบให้พับได้และตัวบอดี้เล็กกว่าจักรยาน ก็ช่วยให้พกพาได้ง่าย และหาที่วางเก็บได้สะดวก

เช่นเดียวกับจักรยานไฟฟ้า สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามีหลายสเปก ตั้งแต่สเปกเน้นน้ำหนักเบาอย่าง Unagi Model One ที่หนักเพียง 12 กิโลกรัม แต่จะวิ่งได้เพียง 24.1 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ไปจนถึงสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าสายเดินทางไกลอย่าง Segway Ninebot Kickscooter Max ที่วิ่งได้ 64.3 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ซึ่งต้องแลกมากับน้ำหนัก 18.7 กิโลกรัม

สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเป็นทางเลือกใหม่ที่นิยมมาก จนทำให้หลายเมืองประสบปัญหาอุบัติเหตุจากสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเพิ่มสูง แต่เมื่อประชาชนต้องการใช้งาน กฎหมายก็อาจจะต้องปรับตาม อย่างในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ที่ได้เตรียมเปิดช่วงทดลองให้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าวิ่งบนทางเท้าได้อย่างถูกกฎหมายเป็นเวลา 12 เดือนเพื่อดูผลตอบรับ ขณะที่ในอังกฤษก็มีการเปิดทดลองระบบยืมคืนสกู๊ตเตอร์ผ่านแอพพลิเคชัน Voi Technology ทดลองใช้ใน 16 เมืองจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2022

4.พาหนะล้อเดียว
ล้อเดียวไฟฟ้า หรือ EUC (ภาพจาก Pixabay)
เรียกว่าเป็นอีกขั้นของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เพราะพาหนะที่มีล้อเดียว เช่น ล้อเดียวไฟฟ้า (Electric Unicycle : EUC) หรือบอร์ดล้อเดียว (Monowheel) เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทำให้ผู้ใช้หิ้วมันพกพาไปไหนได้ง่ายขึ้นไปอีก เมื่อเลิกใช้ก็แค่หิ้วมันขึ้นมาด้วยมือเดียว ไม่ต้องเสียเวลาพับเก็บ เพียงแต่การฝึกใช้งานอาจจะมีความท้าทายขึ้นจนไม่ใช่ทุกคนที่จะมีทักษะใช้ได้ทันที เพราะต้องปรับมาทรงตัวบนพาหนะที่ไม่มีมือจับให้ได้

ระยะหลัง EUC มีกระแสนิยมเพิ่มขึ้น ด้วยลักษณะที่เป็นทั้งยานพาหนะเพื่อการเดินทางและเป็นกิจกรรมแนวผาดโผนได้ในตัว แต่ความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นพาหนะที่ใช้แพร่หลายน่าจะน้อยกว่าพาหนะแบบอื่น ๆ เพราะความยากในการฝึกทักษะนั่นเอง

โดยสรุปแล้ว พาหนะสำหรับเดินทางระยะใกล้ในปัจจุบันต่างมีโจทย์เดียวกันในการพัฒนานวัตกรรม นั่นคือการทำให้แบตเตอรีมีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบาลง จัดเก็บง่าย พกพาสะดวก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไปได้ไกลขึ้นต่อการชาร์จ 1 ครั้ง รวมถึงการแข่งขันกันทำ “ราคา” ให้ต่ำลงโดยที่สเปกไม่ลด หากราคาเข้าถึงง่าย และใช้งานได้เหมาะสมกับชีวิตประจำวัน เชื่อว่าผู้บริโภคน่าจะหันมาสนใจการเปลี่ยนโหมดการเดินทางมาเป็นพาหนะคาร์บอนต่ำกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมตัวพาหนะคาร์บอนต่ำเหล่านี้ แม้จะทำได้ดีแค่ไหน ก็จะไม่มีประโยชน์เลยหาก ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ของการเดินทางไม่เอื้ออำนวย หากไม่มีทางจักรยานที่ใช้ได้จริง ไม่มีฟุตบาธกว้างขวางเพียงพอ พื้นผิวเรียบไม่มีหลุมบ่อ พื้นถนนซอยไม่มีไหล่ทางสำหรับจักรยาน เวลากลางคืนไม่มีไฟส่องสว่างอย่างปลอดภัย รวมถึงไม่มีกฎหมายรองรับให้อุปกรณ์ติดล้อยุคใหม่เหล่านี้ใช้งานร่วมกับพื้นผิวสาธารณะได้จริง

ถ้าโครงสร้างพื้นฐานไม่มีการปรับปรุงให้พร้อม การเดินทางไม่สะดวกราบรื่น แม้คนรุ่นใหม่จะตระหนักรักษ์โลกมากแค่ไหน ผู้ใช้งานย่อมต้องเลือกความปลอดภัยของตนเองก่อนเป็นอันดับหนึ่ง และภารกิจลดคาร์บอนในการเดินทางระยะใกล้ย่อมไม่สำเร็จ

ที่มา :
รายงาน “The first and last mile – the key to sustainable urban transport” โดย European Environment Agency
บทความ “10 Best Ebikes of 2022 for Commuting and Fun” โดย Tony Carrick จาก futurism.com
บทความ “The best electric scooters in 2021” โดย Mike Prospero จาก tomsguide.com
บทความ “Electric scooter trial coming for NSW” โดย Hannah Ryan จาก perthnow.com.au
บทความ “Oxford’s e-scooter trial extended until end of March” จาก bbc.com
บทความ “What is the Best Electric Unicycle (EUC) to buy in 2021?” จาก kake.com

เรื่อง : พัฐรัศมิ์ ว่องไชยกุล