TikTok Fever เมื่อคลิปเล็กคลิปน้อยมีผลต่อใจใหญ่กว่าที่คิด
Technology & Innovation

TikTok Fever เมื่อคลิปเล็กคลิปน้อยมีผลต่อใจใหญ่กว่าที่คิด

  • 12 Jan 2022
  • 1424

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าช่วงที่ผ่านมานี้ TikTok กลายเป็นหนึ่งในแอพพลิเคชันมาแรงที่ทุกคนติดหนึบ คลิปสั้น ๆ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งคลิปร้อง เต้น เล่นละคร คลิปโชว์ฝีมือกับทักษะต่าง ๆ คลิปรีวิวสินค้า คลิปเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งคลิปให้ความรู้จากทั่วโลก ต่างผลัดกันปรากฏขึ้นบนหน้า For You ของผู้ใช้จนไม่อาจละสายตาจากหน้าจอไปได้ และหลายครั้งเราก็อาจจะรู้สึกได้เลยว่าการดูคลิปใน TikTok นั้นช่วยให้วันของเราดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ

แค่ “ดู” ก็ “ดี” ต่อใจแล้ว
ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์หลายคนต่างยืนยันถึงผลดีของการดูคลิปวิดีโอใน TikTok ที่ส่งผลถึงสุขภาพจิต เมื่อหนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงตลอดกาลสำหรับ TikTok คือหมวด ‘satisfying’ ซึ่งหมายรวมถึงวิดีโอ ASMR การทำความสะอาดห้อง ไปจนกระทั่งการบีบ เล่น หรือตัดสิ่งของอย่างที่เราเรียกว่า oddly satisfying เข้าไว้ด้วยกัน การดูคลิปวิดีโอเหล่านี้มีอิทธิพลเชิงบวกต่อจิตใจในหลายแง่มุม ทั้งช่วยลดความเครียดจากความสามารถในการคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นในคลิปวิดีโอซึ่งจะช่วยเบี่ยงเบนความคิดอันตึงเครียดและเสริมสร้างความสงบสุขในใจ ความรู้สึกที่เดาได้ว่าเค้กก้อนนี้จะถูกตัด หรืออ่างที่กำลังขัดนี้จะสะอาด ช่วยให้สมองของเราทำงานน้อยลงและเราเองจะมีความสุขขึ้น ทั้งนี้ความเครียดที่ลดลงอาจเกี่ยวพันกับระดับสารเซโรโทนีนซึ่งเป็นสารที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกสุขสมในสมองที่หลั่งเพิ่มมากขึ้นหลังจากได้รับชมวิดีโอที่สมมาตรและน่าพึงพอใจในความรู้สึกเราก็ได้ เช่นเดียวกับสารโดปามีนที่หลั่งออกมามากขึ้นหลังจากที่วิดีโอ ASMR เข้าไปกระตุ้นสมองให้รับรู้ว่านี่คือรางวัล ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจลดลง จนผู้รับชมเข้าสู่สภาวะผ่อนคลาย การรับชมวิดีโอที่น่าพึงใจที่เป็นแพทเทิร์นนี้ ยังช่วยสร้างความรู้สึกเติมเต็ม และผ่อนคลาย 

รู้หรือไม่?
ความรู้สึกสงบจากการได้เห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อยยังเกิดขึ้นได้ผ่าน "ทฤษฎีเซลล์กระจกเงา"  กล่าวคือเมื่อเราดื่มด่ำกับคลิปเหล่านั้นมากขึ้น เราก็จะรู้สึกราวกับว่าได้ลงมือกระทำการเฉกเช่นในคลิปนั้นเช่นกัน ดังนั้นความพึงใจจึงเกิดขึ้นเมื่อเราได้รู้สึกราวกับได้บีบดึงสไลม์แสนนุ่มหรือชะล้างคราบสกปรกจนสะอาดเอี่ยมอ่องด้วยตนเอง

TikTok ไม่เพียงอนุญาตให้เราเป็นผู้ชม แต่ยังเปิดพื้นที่ให้เราได้เป็น "ผู้สร้าง" ด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะมีความกังวลอยู่มากเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้โซเชียลมีเดียที่มีต่อสุขภาพ แต่นักจิตวิทยาก็เปิดเผยว่า แท้จริงแล้วมันเกี่ยวกับว่าเราจะใช้ช่องทางเหล่านี้อย่างไรมากกว่า ซึ่งจะกำหนดว่าเราจะรู้สึกอย่างไร ผู้ใช้ควรที่จะโต้ตอบและมีส่วนร่วมแทนที่จะกดติดตามและอยู่สังเกตการณ์รอบนอกเฉย ๆ เพื่อที่จะได้รู้สึกเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเหล่านี้ให้มากที่สุด อย่าง TikTok เองที่เปิดโอกาสให้เราได้สร้างและแบ่งปันความสนุกสนาน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหลีกหนีสถานการณ์ไม่แน่ไม่นอนที่ทุกคนต่างเผชิญอยู่ 

ดร.จูลี่ สมิธ นักจิตวิทยาคลินิก ให้ความเห็นว่าการเข้าร่วม TikTok Challenges ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ในแอพพลิเคชัน เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้คนรู้สึกเชื่อมโยงกันและได้สัมผัสถึงความสนุกสนานของการเข้าร่วมเกม อย่างไรก็ตาม การคำนึงถึงความสนุกสนานก็ต้องเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรตระหนักไว้ เพราะเมื่อไรที่ผู้เล่นเข้าร่วมเกมด้วยความรู้สึกของการเปรียบเทียบ ผลที่เคยดีต่อใจก็อาจหายไป ซ้ำยังก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพจิตอีกด้วย

ฟีเจอร์ใหม่ที่อยากเข้าไปดูแลใจให้มากขึ้น
แน่นอนว่าความเปิดกว้างของ TikTok ส่งผลให้เกิดคอนเทนต์ที่หลากหลายจากผู้คนที่มีประสบการณ์ต่างกันไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องของจิตใจ ในช่วงของการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาแฮชแท็กเกี่ยวกับสุขภาพจิตอย่าง #MentalHealth หรือ #MentalHealthMatters ต่างมีผู้เข้าชมกว่าหลายพันล้านครั้ง และแพลตฟอร์มนี้ก็ได้กลายเป็นเสมือนพื้นที่ที่จะให้ผู้คน โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เป็นผู้ใช้ส่วนใหญ่ ได้เปิดเผยและเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความผาสุกในจิตใจอย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ตาม TikTok เองก็ต้องการที่จะมั่นใจว่าแพลตฟอร์มนี้จะเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย ดังนั้นตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา TikTok จึงเริ่มมีฟีเจอร์ที่ช่วยจัดการพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ (eating disorder) ผ่านเครื่องมือที่จะนำผู้ใช้งานไปสู่แหล่งข้อมูลที่เหมาะสม เมื่อผู้ใช้เสิร์ชหาคำที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังร่วมมือกับสถาบันและผู้เชี่ยวชาญที่จะเตรียมข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติอีกด้วย นอกจากนี้ TikTok ยังมีฟังก์ชันในการช่วยกรองคอนเทนต์ที่ส่งผลกระทบเชิงลบและแบนคอนเทนต์ที่ส่งเสริมการทำร้ายร่างกายหรือการฆ่าตัวตาย รวมถึงยังมีคู่มือจากผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยให้ข้อมูลและสร้างความตระหนักรู้ต่อผู้ใช้งาน เพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้อื่นที่อาจจะเผชิญความยากลำบากหรือกำลังดิ้นรนต่อสู้ 

โดยเมื่อใครก็ตามค้นหาคำอย่างเช่น #suicide (การฆ่าตัวตาย) TikTok จะแสดงข้อมูลของศูนย์ช่วยเหลือท้องถิ่นที่พร้อมจะรับฟังและช่วยเหลือผู้ใช้งาน รวมถึงวีดีโออื่น ๆ ที่มีเนื้อหาช่วยแนะนำแนวทางติดต่อขอความช่วยเหลือหรือวิธีการจะเข้าไปพูดคุยกับคนที่เรารักในทันที นอกจากนี้ยังมีป้ายคำเตือนสำหรับเนื้อหาที่มีอ่อนไหวอย่างเข้มงวด เช่น เมื่อผู้ใช้ค้นหาคำที่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายใจอย่าง “scary makeup” (แต่งหน้าแบบน่ากลัว) หน้าจอจะยังไม่แสดงผลทันที แต่ต้องกดให้แสดงผลอีกครั้งเพื่อที่จะดูคลิปในหมวดนี้ต่อไป

ในขณะเดียวกัน แอพพลิเคชันนี้ยังมีครีเอเตอร์อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัด ที่มองเห็นศักยภาพของแอพฯ ในการเป็นสื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นเรื่องปัญหาสุขภาพจิตที่ถูกต้องและเข้าถึงได้ง่าย ทั้งยังมีผู้ใช้อีกจำนวนหนึ่งที่ยินดีจะแบ่งปันเรื่องราวความเจ็บช้ำที่ตนเองได้เผชิญอยู่ เพื่อบรรเทาบาดแผลความเจ็บป่วยบางประการ และแสดงออกถึงตัวตนที่จริงแท้ของตนเอง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้ผู้คนในแพลตฟอร์มตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการดูแลรักษาจิตใจ ได้เข้าใจและค้นพบตัวเองผ่านประสบการณ์ที่สอดคล้องกับผู้แบ่งปัน รวมถึงช่วยให้เห็นว่าเราไม่ได้เผชิญกับอุปสรรคบางอย่างโดยลำพังและที่ตรงนี้ยังมีพื้นที่ให้สำหรับทุกคน

ทดแทนกันไม่ได้
แน่นอนว่า TikTok ไม่สามารถแทนที่การบำบัดหรือการเข้ารับการรักษาใด ๆ  คลิปวิดีโอในแพลตฟอร์มเป็นแค่เพียงการสร้างความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสุขภาพจิต รวมถึงภาพรวมกว้าง ๆ และส่งเสริมผู้ที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนให้กล้าที่จะไขว่คว้าหาแนวทางช่วยเหลือที่ถูกต้องและเฉพาะบุคคลได้ต่อไป แต่ผู้ใช้ยังควรตระหนักไว้เสมอด้วยว่า เมื่อพื้นที่สำหรับการสร้างคอนเทนต์เปิดกว้างสำหรับทุกคนแล้ว วิจารณญาณในการรับสารจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่ามีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมีคนจำนวนมากเข้าร่วมการสนทนาแล้ว อาจจะมีคนส่วนน้อยที่เกิดความเข้าใจผิด และนำไปสู่การวินิจฉัยตนเอง (self-diagnosis) ได้ ดังเช่นที่มีรายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้ มีวิดีโอซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (borderline personality) โรคไบโพลาร์ หรือโรคหลายบุคลิก (dissociative identity disorder) ถูกโพสต์ลงแพลตฟอร์มเป็นจำนวนมาก และในบางวิดีโอก็มีเนื้อหาพูดถึงสัญญาณที่ชี้ว่าคุณมีความเป็นไปได้ที่จะมีอาการเหล่านั้น เพื่อให้ผู้ใช้ทำการประเมินตนเอง เนื้อหาเหล่านี้ได้ชักจูงวัยรุ่นในแพลตฟอร์มจำนวนหนึ่งให้เกิดการวินิจฉัยตนเองที่ผิดพลาด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว The National Alliance on Mental Illness ระบุว่า ภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่งเป็นภาวะที่หาได้ยาก มีผู้ใหญ่ในสหรัฐฯเพียง 1.4% เท่านั้นที่คาดว่าจะมีอาการนี้ และไม่ค่อยพบในวัยรุ่น ดังนี้แล้วการคัดกรองสารจึงมีความจำเป็น โดยผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นว่า ผู้ปกครองเองควรสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่เด็ก ๆ จะสามารถพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิตของตนได้อย่างเปิดเผย และหากว่าพบสัญญาณบางอย่างบ่งชี้ถึงความผิดปกติ ก็จะสามารถดำเนินการรับการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการได้ทันท่วงที 

เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป วิธีการใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นได้เสมอ แม้ว่าการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตใน TikTok อาจจะยังคงมีหลายจุดที่ต้องพัฒนาให้ครอบคลุม รัดกุมและปลอดภัยมากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยและความรับผิดชอบต่อชุมชนออนไลน์ที่ TikTok มีให้แก่ผู้ใช้ ทั้งยังชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เรื่องของสุขภาพจิตได้ถูกหยิบยกออกมาพูดกันอย่างเปิดเผยในสังคมโดยไม่ต้องเก็บซ่อนอีกต่อไป

ที่มา :
บทความ “Watching Tik Tok can actually be good for your mental health” โดย Barry Summers จาก lenstore.co.uk
บทความ “Psychologists reveal how TikTok can actually be great for your mental health and wellbeing” โดย Tilda Mallinson จาก standard.co.uk 
บทความ “TikTok has new mental health resources for its users. Some experts say it's a good start.” โดย Kalhan Rosenblatt จาก nbcnews.com
บทความ “Mental health TikTok is powerful. But is it therapy?” โดย Alia E. Dastagir จาก usatoday.com
บทความ “How TikTok is tackling mental health on its platform” โดย David Tusing จาก thenationalnews.com 
บทความ “How is TikTok changing the way young people relate to their mental health?” โดย Bryony Porteous-Sebouhian จาก mentalhealthtoday.co.uk
บทความ “Experts troubled by TikTok trend that can have teens believing they have serious mental disorders” โดย Cameron Harrison , Frank Elaridi & Angeline Jane Bernabe จาก goodmorningamerica.com 

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง