เส้นทาง NFT จีน บนโลกที่ปราศจากคริปโทเคอร์เรนซี
Technology & Innovation

เส้นทาง NFT จีน บนโลกที่ปราศจากคริปโทเคอร์เรนซี

  • 28 Feb 2022
  • 950

การประกาศให้อุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีเป็นสิ่งผิดกฎหมายในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อเดือนกันยายน 2021 ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในความพยายามสกัดกั้นกิจกรรมทางการเงินที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของจีน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง เนื่องจากอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีนั้นวางอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้โดยตรง โดยไม่มีตัวกลางในการดำเนินการ (Intermediary) อย่างสถาบันทางการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐยากที่จะเข้ามาควบคุมหรือแทรกแซง

แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการเงินเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนไม่อาจปฏิเสธได้อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเทคโนโลยีโทเคนที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ (Non-Fungible Token) หรือ NFT ที่ประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย และแม้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกคริปโทเคอร์เรนซี แต่ NFT ก็ไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในจีน ยิ่งไปกว่านั้น NFT ยังกำลังได้รับการส่งเสริมอย่างกว้างขวางทั้งจากภาครัฐและเอกชนของจีนบนเส้นทางที่แยกขาดจากอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีระดับโลกด้วย

NFT จีนในนาม “ของสะสมดิจิทัล”
NFT เป็นเทคโนโลยีการระบุข้อมูลสิทธิ์ครอบครองสินทรัพย์ดิจิทัลบนเครือข่ายบล็อกเชน คล้ายใบรับรองสิทธิที่ผูกติดไปกับสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งผู้เข้าถึงเครือข่ายบล็อกเชนสามารถทราบได้ว่าใครเป็นผู้ครอบครองสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ หรือกระทั่งตรวจสอบย้อนกลับไปตั้งแต่สินทรัพย์ดิจิทัลชิ้นนั้นได้รับการพัฒนาขึ้น โดยที่ข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกไว้บนเครือข่ายบล็อกเชนที่ปลอมแปลงได้ยาก

สินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ในรูปแบบ NFT จึงไม่สามารถทำซ้ำหรือทดแทนกันได้ เรียกได้ว่าผู้เป็นเจ้าของมีสิทธิ์ครอบครองผลงานที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกนี้ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวส่งผลให้ NFT ถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่วงการศิลปะไปจนถึงวงการเกม โดยมีการนำผลงานหรือวัตถุมาสร้าง (Mint) ให้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบของ NFT ที่ผู้เป็นเจ้าของมีสิทธิ์ในการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการถือครอง ส่งต่อ หรือการซื้อขายเก็งกำไร

ในปัจจุบันการสร้างและการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ NFT ส่วนมากดำเนินการบนเครือข่ายบล็อกเชนข้ามพรมแดน โดยเฉพาะบล็อกเชน Ethereum ที่เชื่อมโยงอยู่กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีระดับโลก ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในจีนแผ่นดินใหญ่

แต่อย่างไรก็ตาม NFT กลับไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้ามในจีน บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนหลายรายจึงได้พัฒนา NFT ของตนเองขึ้นและเรียกว่า “ของสะสมดิจิทัล” (Digital Collectibles) เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า NFT ที่อาจถูกมองว่ามีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี

บริษัทหลายรายไม่ว่าจะเป็น Ant Group บริษัทฟินเทคในเครือ Alibaba, Tencent Holdings บริษัทไอทีชั้นนำของจีน, JD.com อีคอมเมิร์ซรายใหญ่, Baidu ผู้ให้บริการเสิร์ชเอ็นจินอันดับหนึ่งของจีน หรือแม้แต่สำนักข่าวของทางการจีนอย่าง Xinhua ต่างก็เปิดตัวของสะสมดิจิทัลบนบล็อกเชนที่ดำเนินการโดยแต่ละบริษัทเอง

บล็อกเชนจีน โดยคนจีน เพื่อ NFT จีน
ไม่เพียงแต่ภาคเอกชนเท่านั้น รัฐบาลจีนเองก็มองเห็นประโยชน์และโอกาสในอุตสาหกรรม NFT เช่นกัน แต่ด้วยความกังวลเกี่ยวกับบล็อกเชนข้ามพรมแดนที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี ส่งผลให้รัฐบาลจีนเร่งผลักดันการสร้างเครือข่ายบล็อกเชนของตนเองขึ้น เพื่อรองรับอุตสาหกรรม NFT ภายในประเทศที่ไม่ข้องเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีใด ๆ และแยกตัวออกจากตลาดโลก

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โครงการ Blockchain-based Service Network (BSN) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐของจีน ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับอุตสาหกรรม NFT ภายในประเทศจีน โดยระบุว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเปิดทดลองใช้งานและมีแผนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2022

โดยเครือข่ายดังกล่าวเรียกว่า BSN-Distributed Digital Certificates (BSN-DDC) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่สามารถรองรับการจัดการ NFT อย่างครบวงจร เช่นเดียวกันกับบล็อกเชนสาธารณะระดับโลก เพียงแต่ BSN-DDC จะไม่ใช้คริปโทเคอร์เรนซีในการซื้อขาย NFT แต่จะใช้ได้เฉพาะสกุลเงินที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล (Fiat Currency) เท่านั้น โดยมุ่งเน้นไปที่ “เงินหยวน” ของจีนเป็นหลัก

ทั้งนี้ BSN-DDC เป็นเครือข่ายที่พัฒนาขึ้นบนเทคโนโลยี Open Permissioned Blockchains (OPB) ซึ่งเป็นการดัดแปลงคุณสมบัติบางประการของบล็อกเชนให้ต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะการออกแบบให้มี “ตัวกลาง” ในการกำกับดูแลเครือข่าย BSN-DDC ได้ ต่างจากบล็อกเชนสาธารณะที่ตัดบทบาทของตัวกลางออกไป

และแม้ว่า BSN-DDC จะเปิดกว้างต่อภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไปไม่ต่างจากบล็อกเชนสาธารณะ แต่ผู้เข้าใช้งานต้องแสดงตัวตนและได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลจึงจะสามารถเข้าใช้งานเครือข่าย BSN-DDC ได้ นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลยังมีอำนาจในการแทรกแซงเครือข่ายได้ทันทีหากพบการกระทำผิดกฎหมาย 

และแม้ว่า BSN-DDC จะเปิดกว้างต่อภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไปไม่ต่างจากบล็อกเชนสาธารณะ แต่ผู้เข้าใช้งานต้องแสดงตัวตนและได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลจึงจะสามารถเข้าใช้งานเครือข่าย BSN-DDC ได้ นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลยังมีอำนาจในการแทรกแซงเครือข่ายได้ทันทีหากพบการกระทำผิดกฎหมาย 

การพัฒนาเครือข่าย BSN-DDC ดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของรัฐวิสาหกิจจีนหลายราย อย่าง China Mobile ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม, China UnionPay ผู้ให้บริการประมวลผลการชำระเงินรายใหญ่ รวมถึงศูนย์ข้อมูลแห่งรัฐ (State Information Center) ซึ่งเป็นหน่วยงาน Think Tank สำคัญของรัฐบาลจีน

เส้นทางท้าทายของ NFT จีน
การสั่งห้ามกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซีทั้งหมดของรัฐบาล เป็นผลมาจากข้อกล่าวหาร้ายแรงหลายประการในอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี ไม่ว่าจะเป็นการฟอกเงิน การหลอกลวง และโดยเฉพาะการปั่นราคาเพื่อเก็งกำไร ที่ส่งผลให้คริปโทเคอร์เรนซีบางเหรียญมีมูลค่าสูงเกินความเป็นจริงไปมากคล้ายภาวะฟองสบู่ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ก็เกิดขึ้นในตลาด NFT ที่ผลงานดิจิทัลอาร์ตบางชิ้นมีมูลค่าพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจนน่าประหลาดใจ

ด้วยเหตุนี้ ความพยายามของภาคเอกชนจีนในการนำเสนอของสะสมดิจิทัลออกสู่สาธารณะ และการเร่งพัฒนาเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรม NFT ภายในประเทศของรัฐบาลจีน โดยตัดขาดจากอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีระดับโลก จึงส่งผลให้เป้าหมายในการเก็งกำไรใน NFT จีน สามารถให้ผลตอบแทนได้ไม่มากนักหากเทียบกับตลาดโลก ด้วยมูลค่าของ NFT จีนที่จะไม่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากผูกติดกับเงินหยวนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน

แต่คำถามสำคัญที่ตามมาคือ หากปราศจากเป้าหมายในการถือครองเพื่อเก็งกำไรแล้ว อุตสาหกรรม NFT จีนจะสามารถขยายตัวต่อไปได้มากน้อยเพียงใดโดยที่ไม่มีตลาดขนาดใหญ่รองรับ และการแยกขาดออกจากตลาดโลกเช่นนี้ ยังทำให้อุตสาหกรรม NFT จีนสูญเสียโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าจำนวนมหาศาล

อย่างไรก็ตาม ผู้พัฒนา NFT จีนยังคงมีความพยายามแสวงหาการยอมรับในระดับนานาชาติ อย่างล่าสุดโครงการมาตรฐานด้านเทคนิคและความปลอดภัยสำหรับของสะสมดิจิทัลบนบล็อกเชน ซึ่งริเริ่มโดย Tencent และ Ant Group ได้ผ่านการอนุมัติเป็นมาตรฐานสากล โดยภาคการกำหนดมาตรฐานโทรคมนาคม (ITU-T) ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ

ทั้งหมดนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการแยกตัวออกจากตลาดโลกของอุตสาหกรรม NFT จีน เช่นเดียวกันกับอีกหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ถ่านหินไปจนถึงเซมิคอนดักเตอร์ ที่รัฐบาลจีนกำลังมุ่งมั่นในการสร้างความแข็งแกร่งเพื่อพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว 

แต่การปิดประตูตนเองของจีนจากโลกภายนอกก็นำมาซึ่งการสูญเสียโอกาสในหลายด้าน อย่างล่าสุดการเปิดตัวผลงานดิจิทัลอาร์ต Bing Dwen Dwen ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็น NFT ที่พัฒนาขึ้นโดย nWay บริษัทพัฒนาเกมของสหรัฐอเมริกาและดำเนินการซื้อขายบนบล็อกเชนระดับโลกอย่าง Flow แม้ว่าผลงานศิลปะ NFT ดังกล่าวจะเป็นภาพมาสคอตแพนด้าในงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปักกิ่ง 2022 ที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น แต่ชาวจีนกลับไม่มีโอกาสได้ครอบครองสัญลักษณ์แห่งจีนนี้ได้เลย

ที่มา :
บทความ “China introduces state-backed NFT platform unlinked to cryptocurrencies” โดย Coco Feng จาก www.scmp.com
บทความ “BSN Introduces NFT Infrastructure Platform in China” โดย Eliza Gkritsi จาก www.coindesk.com
บทความ “How Crypto Foe China Is Embracing NFTs, With Strings Attached” โดย Bloomberg News จาก www.bloomberg.com
บทความ “Tencent-led project becomes first UN-approved standards initiative on NFTs, known as ‘digital collectibles’ in China” โดย Yaling Jiang จาก www.scmp.com
บทความ “UN approves NFT standards proposed by Tencent, Ant Group: report” โดย Ningwei Qin จาก forkast.news
บทความ “Beijing’s beloved Olympics panda mascot has its own NFTs, but they are unavailable in China” โดย Xinmei Shen จาก www.scmp.com

เรื่อง : ธีรพล บัวกระโทก