หยวนดิจิทัล : อีกขั้นของพลังไร้เงินสดจากมหาอำนาจจีน
จีนเป็นประเทศที่มีสังคมไร้เงินสดที่ครบวงจรที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีจำนวนประชากรที่ใช้ระบบชำระเงินออนไลน์ (Online Payment) ตามรายงานล่าสุด ณ ปี 2021 ของ Statista มากกว่า 872 ล้านคน หรือเกินกว่า “ครึ่ง” ของประชากรจีนกว่า 1.4 พันล้านคน รวมถึงจีนยังมีตลาดค้าปลีกออนไลน์ที่แข็งแกร่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 25% ของยอดขายธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด ทำให้บางคนไม่แปลกใจเมื่อได้รู้ว่าจีนอยู่ระหว่างการเดินหน้าพัฒนา “หยวนดิจิทัล” หรือสกุลเงินดิจิทัลแบบรวมศูนย์จากธนาคารกลางจีน (PBOC) เพื่อให้ประชาชนจีนสามารถขยับจากการใช้ “เงินสด” ในชีวิตประจำวัน มาเป็นใช้หยวนดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ รวมถึงทำธุรกิจต่าง ๆ แทนเงินสดได้ในอนาคต
©Eric Prouzet/Unsplash
แต่จริง ๆ แล้ว “หยวนดิจิทัล” ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่ออะไรและจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ยิ่งใหญ่แค่ไหนคงเป็นเรื่องที่ทุกคนล้วนอยากรู้
เมื่อเงินสดมีช่องโหว่
จีนเริ่มลงมือค้นคว้าและพัฒนาหยวนดิจิทัลในปี 2014 หลังจากเล็งเห็นถึง “ช่องโหว่” บางประการของการใช้เงินสดเป็นตัวกลางการแลกเปลี่ยนภายในประเทศ และเริ่มมีวิสัยทัศน์ว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินจากการใช้เงินสดไปสู่การใช้เงินดิจิทัล จะมีประโยชน์หลายอย่างที่สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาประเทศ
ฟานอี้เฟย รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน อธิบายว่า จุดอ่อนของเงินสดคือมีต้นทุนในการผลิตและจัดเก็บสูง ใช้งานยาก ปลอมแปลงได้ง่าย และสามารถนำมาสู่การใช้ในกิจกรรมผิดกฎหมายได้ เนื่องจากการใช้เงินสดเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนนั้นไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนของผู้ใช้งาน
ในขณะที่ “หยวนดิจิทัล” หรือ “เงินดิจิทัล” สามารถช่วยให้ประชาชนสามารถชำระเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งช่วยให้รัฐบาลสามารถวิเคราะห์ตรวจจับกิจกรรมที่ผิดกฎหมายได้ และมีนโยบายทางการเงินที่ออกโดยรัฐที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
นอกจากนั้น ต้องยอมรับว่า ก่อนรัฐบาลจีนขยับตัวก้าวใหญ่ประกาศนโยบายรุ่งเรืองร่วมกันในช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา และเริ่มลงมือออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมกำกับดูแลบริษัทเอกชน โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีและการศึกษา เพื่อลดการผูกขาดการค้าและการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล “ระบบชำระเงินออนไลน์” ของจีนนั้นก็ถูกผูกอยู่กับ “ผู้ให้บริการ เอกชน” ที่มีจำนวนผู้ใช้มหาศาลอย่าง AliPay จาก Alibaba และ WeChat Pay จาก Tencent ซึ่งแต่ละเจ้ามีผู้ใช้ร่วม 1 พันล้านราย
จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลจีนเกรงว่า เมื่อระบบของเอกชนสองเจ้านี้มีปัญหาจะส่งผลต่อระบบการชำระเงินของ จีน และจำเป็นที่จีนจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Central Bank Digital Currency หรือ CBDC เป็นของตัวเอง
©PBOC/PBOC
แนวคิด CBDC เงินดิจิทัลจากธนาคารกลาง
Central Bank Digital Currency หรือ เงินดิจิทัลจากธนาคารกลาง เป็นแนวคิดที่ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงเวลาหลังจากการถือกำเนิดของ “คริปโทเคอร์เรนซี” (Cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีประมวล ผลแบบกระจายศูนย์อย่างบล็อกเชนที่ถูกออกแบบมาเพื่อลดบทบาทของสถาบันทางการเงิน มาพึ่งพิงเครือข่ายผู้ใช้งาน อย่างที่สกุลเงินดิจิทัล “บิตคอยน์” ที่หลายคนอาจจะรู้จักเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม แม้ CBDC จะถือกำเนิดจากความสนใจของเหล่าธนาคารกลางจากนานาประเทศที่ต้องการจะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบชำระเงิน แต่ CBDC นั้นไม่เหมือนกับเงินคริปโทฯ ที่พัฒนาบนระบบการเงินไร้ตัวกลางอย่างบล็อกเชน เพราะ CBDC เป็น “สกุลเงิน” ที่มีธนาคารกลางเป็นผู้ออกและควบคุมระบบ ไม่ได้ไร้ศูนย์กลางและไร้ผู้ควบคุมเหมือนกับเงินคริปโทฯ แต่ CBDC นั้นใกล้เคียงกับการเปลี่ยน “เงินสด” ในกระเป๋าเราไปเป็น “เงินดิจิทัล” ในกระเป๋าเงินออนไลน์มากกว่า
ถือได้ว่าจีนเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่ประกาศพัฒนา CBDC เป็นของตัวเอง ในช่วงใกล้เคียงกันกับ “บาฮามาส” ที่เริ่มต้นศึกษาการสร้าง “สกุลเงินดิจิทัล” โดยมีธนาคารกลางเป็นของตัวเอง ในชื่อ Sand Dollar ช่วงเวลาต่อจากนั้น หลากประเทศทั่วโลกก็เริ่มตื่นตัวศึกษา CBDC อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร แคนาดา สหภาพยุโรป รวมถึง “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ที่เริ่มต้นศึกษา CBDC ในปี 2017 ภายใต้ชื่อโครงการ “อินทนนท์”
ย้อนกลับมาที่ขั้นตอนในการพัฒนาหยวนดิจิทัลของจีน ที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยมีการ เปิดเผยอย่างเป็นทางการว่า “หยวนดิจิทัล” ใช้เทคโนโลยีใดเป็นตัวควบคุมหลัก ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า หยวนดิจิทัลน่าจะเป็นลูกผสมระหว่างเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์และแบบรวมศูนย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้อย่างกว้างขวาง แต่ก็สามารถควบคุมหรือตรวจสอบบางอย่างจากศูนย์กลางได้เช่นกัน
©Darmau Lee/Unsplash
ขยับทีละขั้น เดินหน้าสู่ทั่วประเทศ
หลังจากจีนตัดสินใจตั้งทีมพัฒนาขึ้นในปี 2014 หยวนดิจิทัลก็มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง สามารถส่งงานศึกษาชิ้นแรกสู่สายตาสาธารณชนได้ในปี 2016 ก่อนจะก่อตั้งสถาบันวิจัยสกุลเงินดิจิทัลได้ในปีถัดมา และหลังจากการเข้ามาของ “ธนาคารกลางจีน” หรือ PBOC ในช่วงปลายปี 2017 จีนก็ประกาศความคืบหน้าของหยวนดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การดึงธนาคารพาณิชย์เข้ามาร่วมพัฒนา การเปิดเผยแผนการนำร่องใช้งานหยวนดิจิทัลใน 4 เมือง และการเริ่มต้นทดลองใช้งานหยวนดิจิทัลกับธนาคารเพื่อการเกษตรของจีน
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนของปี 2020 จีนก็สามารถเริ่มต้นการใช้งานหยวนดิจิทัลได้ในเซินเจิ้น และในปี 2021 ก็ได้ขยายการใช้งานไปสู่ 10 เมืองของจีน รวมถึงถูกใช้ในมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีรายงานหลังการแข่งขันจบลงว่า ตลอด 17 วันของการแข่งขัน มีการใช้งานหยวนดิจิทัลอย่างน้อยวันละ 10 ล้านบาท จากทั้งประชาชนชาวจีน นักกีฬา และสื่อมวลชนจากนานาประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมงาน
เมื่อ “หยวนดิจิทัล” จะต้องถูกใช้งานจริง
ข้อมูลจาก Deutsche Bank ระบุว่า ธนาคารกลางจีนกำหนดให้หยวนดิจิทัลเป็น “เงินสดหมุนเวียน” อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของธนาคารกลาง ดังนั้นหยวนดิจิทัลจึงเหมือนกับเงินสดที่ปราศจากความเสี่ยงใด ๆ แตกต่างจากเงินฝากธนาคารที่จะต้องแบกรับความเสี่ยงจากการหมุนเวียนของธนาคารพาณิชย์ด้วย
ขณะเดียวกัน กระเป๋าเงินหยวนดิจิทัลยังไม่ใช่ “บัญชีเงินฝาก” เพราะใช้เพียง “เบอร์โทรศัพท์” ก็สามารถเปิดกระเป๋าหยวนดิจิทัลได้แล้ว รวมถึงหยวนดิจิทัลยังถูกออกแบบมาให้ไม่มีดอกเบี้ยจากการถือครอง เหมือนกับเงินสดที่อยู่ในกระเป๋าเงินของเรา แตกต่างจากเงินที่อยู่ในบัญชีธนาคารที่ธนาคารพาณิชย์จะนำไปหมุนเวียนเพื่อนำดอกเบี้ยมาจ่าย
ส่วนวิธีการส่งหยวนดิจิทัลออกไปให้ประชาชนใช้งานจริงนั้น ธนาคารกลางจีนจะกระจายเงินผ่าน “ธนาคารพาณิชย์” ซึ่งมีหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนเงินสดให้เป็นหยวนดิจิทัลให้ประชาชนชาวจีน โดยผู้ใช้จะสามารถใช้งานหยวนดิจิทัลผ่าน DCEP Wallet App แอปพลิเคชันสำหรับทำธุรกรรมทางการเงินที่ทำหน้าที่เป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลก็ได้
หรือผู้ใช้จะสามารถใช้งานหยวนดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการชำระเงินอื่น ๆ ที่ออกแบบมาให้รองรับหยวนดิจิทัลได้ด้วยในอนาคตก็ได้ อย่างเช่นแอปพลิเคชันของธนาคารพาณิชย์ แอปพลิเคชันของผู้ให้บริการโทรศัพท์ รวมถึง Alipay หรือ WeChat Pay และผู้ให้บริการกระเป๋าเงินออนไลน์เจ้าอื่น ๆ
©Suzy Hazelwood/Pexel
จากแผ่นดินใหญ่สู่แผ่นดินโลก
อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันดีว่า จีนมีแผนจะผลักดัน “เงินหยวน” ให้ใช้งานในวงกว้างระดับนานาชาติ ใกล้เคียงกับ “ดอลลาร์สหรัฐ” ที่เป็นสกุลเงินหลักในสายตาผู้คนทั่วโลก ทำให้เป็นที่คาดกันว่า หยวนดิจิทัลจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการผลักดันการใช้เงินหยวนในระดับสากล เนื่องจากธนาคารกลางจีนได้เริ่มวางรากฐานการใช้หยวนดิจิทัลในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนไว้แล้ว ผ่านการเข้าร่วมโครงการชำระเงินข้ามพรมแดนสกุลดิจิทัลร่วมกัน ระหว่างไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฮ่องกง
แต่นักวิเคราะห์จาก Trivium China บริษัทวิเคราะห์ด้านนโยบายและเศรษฐกิจของจีน ยังคงเชื่อว่า ในปัจจุบันการพัฒนาหยวนดิจิทัลให้ความสำคัญกับ “การใช้งานในประเทศ” เป็นหลัก ส่วนการใช้งานระหว่างประเทศนั้นยังไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดในขณะนี้
แม้จะมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวอยู่บ้าง แต่หยวนดิจิทัลก็มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในเวลาอันรวดเร็ว นับจากปี 2014 ที่เริ่มต้นพัฒนาการใช้งาน CBDC ในประเทศจากความว่างเปล่า ตอนนี้หยวนดิจิทัลเริ่มนำร่องใช้งานจริงในหมู่ประชาชนทั่วไปได้แล้ว และกำลังขยายพื้นที่ใช้งานออกไปอย่างต่อเนื่อง ชวนให้จับตาว่าหยวนดิจิทัลจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนจีนมากน้อยแค่ไหน และเมื่อหยวนดิจิทัลขยายพื้นที่การใช้งานออกไปสู่พรมแดนอื่นจะส่งแรงสะเทือนอย่างไรต่อโลกใบนี้
ที่มา :
บทความ “China has given away millions in its digital yuan trials. This is how it works” โดย Arjun Kharpal จาก cnbc.com
บทความ “Digital yuan: what is it and how does it work?” โดย Deutsche Bank จาก db.com
บทความ “Digital payments in China - statistics & facts” โดย Daniel Slotta จาก statista.com
บทความ “The central bank digital currency disruption has arrived!” โดย Siddharth Chandani และ Mobasher Zein Kazmi จาก theasianbanker.com
บทความ “Over $315,000 in digital yuan used every day at Olympics, PBOC official says” โดย Marc Jones จาก reuters.com
บทความ “ทำความรู้จักกับ CBDC และความคืบหน้าในประเทศไทย โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย” จาก bot.or.th
เรื่อง : Techa S.