จับตา 6 เมกะเทรนด์ชี้อนาคตนวัตกรรมดิจิทัลของจีน
Technology & Innovation

จับตา 6 เมกะเทรนด์ชี้อนาคตนวัตกรรมดิจิทัลของจีน

  • 07 Mar 2022
  • 2281

สถานการณ์บ้านเมืองที่เอาแน่เอานอนไม่ได้นัก มีการล็อกดาวน์ปิดเมืองเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่หล่อหลอมให้หลายคนหันมาลองใช้งานบริการออนไลน์ด้วยความจำยอม แต่เมื่อใช้ไปสักระยะก็กลับมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายจากออฟไลน์ มาสู่ออนไลน์จนเป็นธรรมชาติ เรื่องนี้ส่งผลให้ตัวเลขการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี

ภายใต้เบื้องหลังสถิติผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตราว 1 พันล้านคนในประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2020 ไม่ได้นำมาซึ่งจำนวนคอนเทนต์มหาศาลเพียงอย่างเดียว แต่มูลค่ายอดขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ก็สามารถเติบโตไปได้ถึง 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 55 ล้านล้านบาท แม้ดูเหมือนว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะสถิตินี้ถ้าคิดเป็นสัดส่วนแล้ว กลับเป็นจำนวนเพียงแค่ 30% ของยอดขายการค้าปลีกทุกรูปแบบในจีนรวมกันเท่านั้นเอง

และไม่เพียงแค่วงการอีคอมเมิร์ซเท่านั้นที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะการที่ประเทศจีนผลักดันการสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ภายใต้ปรัชญา ‘China First’ ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ก็ยิ่งทำให้จีนสามารถไต่อันดับจากผู้ตามท้ายแถวในเรื่องเทคโนโลยีกลายมาเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่มีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลสูงที่สุดของโลกได้ระยะแค่ไม่กี่ปี

ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้เห็นว่าศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศจีนยังสามารถขยายไปได้อีกไกล และกำลังจะเกิดพื้นที่ใหม่อีกมากให้ผู้ประกอบการได้เข้าไปจับจองและวางรากฐานสู่ความมั่งคั่ง

ความสำเร็จไม่รอใคร ลงมือก่อน สำเร็จก่อน และนี่คือกระแส 6 เมกะเทรนด์ดิจิทัลของจีนที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมองเห็นความสำเร็จก่อนใคร ๆ

1. การควบรวมแห่งวงการค้าปลีก
เทรนด์ของภาคธุรกิจค้าปลีกจะเริ่มมีการควบรวมธุรกิจที่แข็งแรงขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะธุรกิจการค้าที่มีหน้าร้านจริง ๆ และอยากจะมีหน้าร้านแบบออนไลน์คู่กัน เพื่อเป็นร้านค้าแบบ “Omni Channel” ธุรกิจเหล่านี้ก็จะเริ่มขยับมาควบรวมกับธุรกิจบริการแบบ ‘On-demand’ ซึ่งเป็นธุรกิจบริการแบบออนไลน์ที่เน้นไปในเรื่องของการประหยัดเวลา อย่างเช่นแพลตฟอร์มจ้างไรเดอร์ เมื่อมารวมกันจึงทำให้ร้านค้าดั้งเดิมจะมีหน้าร้านออนไลน์ได้โดยที่ไม่ต้องบริหารจัดการเอง ส่วนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็จะเหมือนมีหน้าร้านออฟไลน์เป็นของตัวเองเช่นกัน

ไม่เพียงแต่เรื่องแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่เทคโนโลยีในการผลิตและขนส่งแบบ ‘On-demand’ ก็จะเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ด้วย เป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจที่ขายสินค้าที่เน่าเสียง่าย สามารถกระจายสินค้าออกขายที่อื่นได้มากขึ้นในเวลาอันสั้น และเนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคในจีนที่เน้นความคุ้มค่าและสะดวกสบาย ทำให้การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจในประเทศจีนต้องหันมาให้ความสำคัญกับความคล่องตัว และจำเป็นต้องคาดการณ์เทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคให้ได้แม่นยำกว่าเดิมด้วย

ในด้านของโลกออนไลน์ การค้าขายที่ดึงดูดลูกค้าด้วยการทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม Douyin (Tiktok ในเวอร์ชั่นจีน ), Bilibili และเว็บข่าว Toutiao ก็ยังเป็นที่นิยมสูง เพราะผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการหาข้อมูลบนโลกออนไลน์เป็นหลัก และยิ่งถ้าแพลตฟอร์มนั้นสามารถส่งผู้ใช้งานเข้าไปสู่หน้าร้านออนไลน์จะยิ่งมีแนวโน้มสูงมากในการปิดการขายได้ทันที แต่ในด้านการไลฟ์ขายของกลับยังทำยอดขายได้ในสัดส่วนที่น้อยกว่า แต่สัดส่วนนี้ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการขยับเพิ่มขึ้น เมื่อการใช้งาน 5G สามารถทำได้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ได้แล้ว

2. บริการดั้งเดิมในรูปแบบดิจิทัล
บริการของหลายภาคส่วนกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นบริการแบบดิจิทัล อย่างที่เราได้เริ่มเห็นกันมาบ้างแล้วในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ การศึกษา และอสังหาริมทรัพย์

เดิมทีค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงการศึกษาในเมือง Tier-1 ที่มีความเจริญสูง จะต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากกว่าการศึกษาในเมืองที่เล็กลงมาในระดับ Tier-3 และ Tier-4 ถึง 3.3 เท่า แต่การเข้ามาของระบบการศึกษาแบบผสมผสาน “Online to Offline” ส่งผลให้เกิดความเท่าเทียมของต้นทุนในการเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันกับที่จีนยังคงผลักดันให้มีการนำ AI มาใช้ในออกแบบคอร์สตามรูปแบบการเรียนรู้และความชอบส่วนตัวของแต่ละบุคคลอีกด้วย

เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมด้านการดูแลสุขภาพ ที่ทรัพยากรการแพทย์เกือบ 80% กระจุกตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพียงแค่ 20% ของประเทศ ซึ่งหมายความว่าโรงพยาบาลในเมืองที่อยู่ห่างไกลหรือคลินิกระดับรากหญ้าจึงขาดทรัพยากรบุคคลที่จำเป็น ซึ่งในปัจจุบันการเข้าพบแพทย์แบบออนไลน์ยังมีสัดส่วนอยู่แค่เพียง 5% เท่านั้น จึงยังดูมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกค่อนข้างมาก เช่นเดียวกับบริการในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมายที่จะตามมาในอนาคต

3. การปฏิวัติการเดินทาง
“รถยนต์ไฟฟ้า” และ “ยานพาหนะอัจฉริยะ” คือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะนำไปสู่ท้องถนนที่เต็มไปด้วยยานยนต์ไร้คนขับภายในช่วงปี 2030-2035 ที่ยานยนต์บนท้องถนนทั้งหมดถูกเชื่อมต่อเข้าในระบบเดียวกัน และหัวใจสำคัญในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์จะไม่ใช่เรื่องของฮาร์ดแวร์อีกต่อไป เห็นได้ชัดจากการที่แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดอย่าง Nio, Li Auto และ Xpeng สามารถครองใจผู้บริโภคได้ด้วยนวัตกรรม และประสบการณ์ที่ลูกค้ามีต่อสินค้าและแบรนด์ โดยที่ปราศจากข้อจำกัดจากโมเดลธุรกิจแบบดั้งเดิมนั่นเอง

ดังนั้นเราอาจจะพอคาดหวังได้ว่าจะมีพัฒนาการของเทคโนโลยียานยนต์ตามมาอีกมากในปีนี้ โดยเฉพาะด้านการเชื่อมต่อเทคโนโลยี Vehicle-to-everything ( V2X ) และเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย ซึ่งในระดับมหภาค ผู้ผลิตในประเทศจีนยังมีความได้เปรียบจากการสนับสนุนของรัฐบาลอีกด้วย ซึ่งนอกจากยานพาหนะสำหรับคนแล้วก็ยังมีโดรน และยานยนต์ส่งสินค้าไร้คนขับที่จะมาเสริมระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซของประเทศจีนอีกแรง

4. ชีวิตบนโลกดิจิทัล
ภาพของมนุษย์ที่เข้าไปใช้ชีวิตในโลกเสมือนที่เราเห็นได้บ่อย ๆ ในคอนเซ็ปต์ของภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง กำลังคืบคลานเข้ามาสู่โลกความเป็นจริงทีละเล็กทีละน้อย โดยในประเทศจีนมีผู้บริโภคชาวจีนที่ย้ายกิจกรรมยามว่างและกิจกรรมทางสังคมขึ้นไปอยู่บนโลกเสมือนมากขึ้นเรื่อย ๆ และบ่อยครั้งที่การพบปะสังสรรค์กันในโลกความเป็นจริงกลับเป็นเพื่อนหรือคนรู้จักที่ได้มีโอกาสรู้จักกันครั้งแรกจากโลกเสมือน

กิจกรรมในโลกเสมือนและกิจกรรมในโลกความจริงผสานเข้าด้วยกันอย่างราบลื่นมากขึ้น ตัวอย่างเช่น กลุ่มสังคมบน Huya และ DouYu ซึ่งเป็นเว็บไซต์สตรีมเกมออนไลน์ จะมีกลุ่มสังคมย่อย ๆ ที่แบ่งออกตามความสนใจในเกม ประเภทของเกม หรือกลุ่มแฟนคลับสตรีมเมอร์ ได้ขยายกิจกรรมจากการเจอกันแค่บนโลกออนไลน์มาสู่การจัดชั้นเรียนโยคะ และจัดตั้งชมรมวิ่ง เป็นต้น

แม้กระทั่ง Tencent ที่เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาบริการดิจิทัลชั้นนำก็กำลังพัฒนาบริการด้วยกันจับเกม อีคอมเมิร์ซ และโซเชียลมีเดียมามัดรวมเข้าด้วยกัน เพื่อผลักดันให้เกิดระบบนิเวศที่มีการกระจายอำนาจ มีการแข่งขัน และเป็นมิตรต่อครีเอเตอร์ เช่นเดียวกับคอนเซ็ปต์ของ “เมตาเวิร์ส” นั่นเอง

5. Industrial Internet of Things (IIoT) / ‘Digital Supply Chain’
ถ้าจะเปรียบเทียบสิ่งที่นวัตกรรมดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงวงการค้าปลีกไปแล้วล่ะก็ แม้อาจจะดูยิ่งใหญ่แต่ก็คงเป็นได้แค่ยอดปลายเล็ก ๆ ของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ เมื่อเทียบกับศักยภาพที่จะเกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจแบบ B2B (Business to Business) ให้เข้าสู่ความเป็นดิจิทัล

การนำเครื่องจักร ระบบการวิเคราะห์ขั้นสูง และคนมาทำงานร่วมกันผ่านโครงข่ายของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร ส่งผลให้เกิดระบบที่สามารถติดตาม เก็บข้อมูล แลกเปลี่ยนและแสดงผลข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์อย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน ข้อมูลดังกล่าวสามารถช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างชาญฉลาด แม่นยำ และรวดเร็วยิ่งขึ้น

ตัวอย่างในอุตสาหกรรมยา เช่น Yaoshibang แพลตฟอร์มการขายยาแบบ B2B ออนไลน์ ได้ประมวลผลคำสั่งซื้อ 1.6 ล้านรายการในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มระดับการลงทะเบียนเป็นสามเท่าในเดือนเดียวกันของปี 2020 จากระบบที่เป็นดิจิทัล

หรือจะเป็นอย่างกรณีของ SAIC ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ ที่มีโซลูชั่นดิจิทัลที่ช่วยให้ผู้ซื้อสามารถปรับแต่งรถยนต์ที่ตัวเองซื้อได้ผ่านการจำลองรถยนต์รถดิจิทัลสามมิติ โดยข้อมูลการตั้งค่าและคิวผลิตจะถูกส่งให้กับซัพพลายเออร์เพื่อเริ่มการจัดส่งตามลำดับขั้นตอน ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการออกสู่ตลาดได้ 35% และในตลอดขั้นตอนนั้นจะมี AI คอยตรวจสอบความคืบหน้าในการผลิต และเพิ่มความแม่นยำได้ถึง 99.8% ของคำสั่งดังกล่าว

ที่น่าคิดก็คือ เมื่อประเทศจีนสามารถเดินทางไปถึงจุดที่ IoT ได้ถูกนำมาปรับใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อไร มีการรองรับระบบผลิตแบบดิจิทัลทั้งหมด รองรับการพัฒนา “Digital supply chain” และระบบคลังสินค้าที่รันอยู่บนบล็อกเชน ก็จะทำให้ระบบการผลิตของจีนเกิดประสิทธิภาพในระดับที่สูงมาก เรื่องนี้จึงดูมีความสำคัญเป็นอย่างมากทีเดียวต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศจีนนั่นเอง

6. เกิดการขยายตัวของเมืองดิจิทัล
รู้หรือไม่ว่า กว่าครึ่งของจำนวนเมืองอัจฉริยะ หรือ ‘Smart Cities’ ทั่วโลก นับเป็นจำนวนได้กว่า 500 เมือง คือเมืองที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน และปัจจุบันจีนเองก็ยังเดินหน้าขยายเมืองอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ โดยทั่วไปแล้วการพัฒนาเมืองให้ไปสู่เมืองอัจฉริยะมักจะถูกโฟกัสไปที่ การจัดการจราจรและการรักษาความปลอดภัย หรือแม้กระทั่งเครือข่าย 5G ที่มีการผสมผสานกับระบบประมวลผลข้อมูลที่ล้ำสมัย แต่ในประเทศจีน อย่างที่เซินเจิ้น กลับมีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะโดยให้ความสำคัญกับผู้คนและสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก ซึ่งการตั้งเป้าหมายนี้ก็ส่งผลให้เกิดนโยบายในการลดการใช้รถยนต์ หรือนำเอา AI มาช่วยในการพัฒนาการเข้าถึงบริการสาธารณะ เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และสอดคล้องกับโจทย์ที่ต้องการขึ้นเป็นประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยี

ทั้งหมดนี้คือ 6 เมกะเทรนด์สำคัญ ที่ผู้ประกอบการอาจใช้เป็นไอเดียในการต่อยอดธุรกิจเดิมให้เกิดสิ่งใหม่ และออกแบบสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของตลาดและสร้างโอกาสเติบโตให้ธุรกิจในประเทศจีนได้ คู่แข่งใหม่ ๆ กำลังเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การหาความรู้เพิ่มอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อีกต่อไป

ที่มา :

รายงาน “The Future of Digital Innovation in China - Megatrends Shaping One of the World’s Fastest Evolving Digital Ecosystems” โดย McKinsey & Company จาก www.mckinsey.com

เรื่อง : ทัตพงศ์ อุณหนันท์