สำรวจการทำงานกองถ่ายหนัง Hollywood ในช่วง COVID-19
Technology & Innovation

สำรวจการทำงานกองถ่ายหนัง Hollywood ในช่วง COVID-19

  • 01 Apr 2022
  • 2719

สำหรับกองถ่ายภาพยนตร์ระดับโลกแล้ว แม้จะเป็นฉากเล็ก ๆ ที่มีตัวละครเพียงไม่กี่คน แต่เบื้องหลังกลับต้องมีทีมงานหลักสิบถึงหลักร้อยชีวิตที่เดินทางกันมาจากหลากหลายประเทศ และทำงานใกล้ชิดกันยาวนานหลายชั่วโมง ซึ่งบางครั้งอาจจะถ่ายทำอย่างต่อเนื่องจนทะลุ 12 ชั่วโมงก็มี

ในช่วงปีแรกของการระบาดของโควิด-19 หลายประเทศมีนโยบายล็อกดาวน์ปิดเมือง ทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก และอุตสาหกรรมหนังก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทำไมยังมีหนังใหม่ดาหน้ามาจ่อเข้าโรงได้

ทีมงานของภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่ออกมาฉายเหล่านี้ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงการทำงานกันอย่างไรในช่วงโควิด หรือจริง ๆ แล้วมีเทคโนโลยีใหม่มาช่วยกันแน่

กองถ่ายฮอลลีวูด กับบาดแผลที่คนทั่วไปมองไม่เห็น
ภาพรวม 2 ปีที่ผ่านมา จำนวนหนังทั่วโลกที่ออกมาใหม่มีสัดส่วนน้อยลงกว่าเดิมมาก ซึ่งก็เพราะความล่าช้าในการทำงานที่เกิดขึ้นจากมาตรการป้องกันการระบาดในกองถ่าย

อย่างในช่วงแรกของการระบาด จำนวนหนังจอเงินทั่วโลกที่มีกำหนดฉายในปี 2020 มีทั้งหมด 338 เรื่อง ลดลงมา 66% เทียบกับในปี 2019 ที่มีหนังทั่วโลกฉายในโรงถึง 987 เรื่อง นี่ยังไม่นับรวมหนังที่มีกำหนดเปิดกองในปี 2020 ก็ลดลงเหลือแค่ 447 เรื่องเท่านั้น

ในส่วนจำนวนซีรีส์บนบริการสตรีมมิ่งที่มีกำหนดฉายในปี 2020 ก็น้อยลงราว ๆ 100 เรื่อง ที่แม้ดูจะเป็นจำนวนไม่มาก แต่ก็เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่เลขนี้ลดลง แม้แต่ Netflix เองที่ออกปากว่าจะหาวิธีที่ทำให้การถ่ายทำและตัดต่อไม่ต้องหยุดลง แต่สุดท้ายก็ยังปล่อยออริจินัลซีรีส์ได้น้อยลง 12% ในปี 2021

เมื่อการสวมหน้ากาก ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ ไม่ได้ราคาถูกอย่างที่คิด
แน่นอนว่ามาตรการทั่วไปอย่างการสวมหน้ากากอนามัย และทำความสะอาดแทบทุกอย่างด้วยสเปรย์แอลกอฮอล์ถูกนำมาใช้ในกองถ่ายด้วย สตูดิโอในฮอลลีวูดและสหภาพด้านความบันเทิงต่างจับมือกันเขียนมาตรการเพื่อป้องกันการระบาดในกองถ่ายออกมา

นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นมาตรการที่แต่ละสตูดิโอกำหนดเอง เช่นการแบ่งกลุ่มทีมทำงานตามความใกล้ชิดที่จะต้องเกิดขึ้นหน้ากอง ถ้าทำงานกับนักแสดงก็อาจต้องตรวจโควิดบ่อยหน่อย หรืออาจต้องกักตัวหลังเลิกงานไปเลยเพื่อลดความเสี่ยงให้นักแสดงที่ไม่สามารถใส่หน้ากากในการถ่ายทำได้

บางแห่งมีการใช้แถบสี (เหมือนบัตรผ่านประตู) ที่มอบให้ทีมงานแต่ละคนตามความน่าเชื่อถือ เช่นคนที่ต้องเจอผู้คนเยอะอาจได้ป้ายสีแดง คนที่ใช้ชีวิตอยู่แต่บ้านจะได้สีเขียว บางสตูดิโอก็ถึงขนาดห้ามไม่ให้นั่งรถคันเดียวกันมาทำงาน ทุกคนต้องแยกกันมา อาหารกองที่เป็นแบบข้าวแกงตักก็จะถูกเปลี่ยนเป็นข้าวกล่อง นั่งกินตัวใครตัวมัน บางกองก็พักกองกันบ่อยหน่อยเพื่อให้ทุกคนไปล้างมือ และสตูดิโอที่มีภาพยนตร์หลายเรื่องเกิดขึ้นพร้อมกันก็ต้องใช้ระบบกองหนึ่งวันคู่ อีกกองวันคี่

ภาพรวมของมาตรการทั้งหลายนี้ส่งผลให้การถ่ายทำช้าลงกว่าเดิม แล้วก็ยังใช้ต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย (5-25% ตามความซับซ้อนของหนัง) เพราะไหนจะค่าชุดตรวจ หน้ากาก สเปรย์แอลกอฮอล์ บุคลากรการแพทย์หน้ากอง และค่าทำความสะอาดที่ต้องทำทุกวัน ทำให้การแบ่งเงินในส่วนผลิตจริง ๆ ค่อนข้างตึงมือ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังสามารถควบคุมการระบาดในกองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อนักลงทุนจ่ายมาแล้ว…ก็ต้องทำทุกวิถีทางให้งานเดินต่อได้!
สิ่งแรกที่กองถ่ายในยุคโควิดต้องเจอในการเริ่มงานก็คือ “การวางแผนถ่าย” ซึ่งต้องรื้อใหม่เกือบทั้งหมด เพราะนอกจากการจำกัดคนแล้ว ยังมีการเปลี่ยนสถานที่ถ่ายทำ (ซึ่งก็ต้องไปเลือกกันใหม่หมด) และบางเคสต้องส่งเครื่องบินส่วนตัวไปรับนักแสดงมาจากต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเดินทางและลดเวลาที่ต้องถูกกักตัวลง

มีการแก้สคริปต์ใหม่เพื่อลดความใกล้ชิด ลดจำนวนนักแสดง และฉากแอ็กชั่นหรือฉากเลิฟซีนที่นักแสดงต้องใกล้ชิดกันก็ต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดี อย่างกรณีของ Netflix ก็การนำแผนการถ่ายทำของแต่ละฉากไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อว่า “ฉากแบบนี้...ถ้าจะถ่ายแบบนี้เสี่ยงหรือไม่ ถ้าเสี่ยงแล้วควรเปลี่ยนตรงไหนบ้าง”

การประชุมกันระหว่างผู้กำกับและนักแสดงก็เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และ Table reads (การซ้อมต่อบทของเหล่านักแสดง) ก็เกิดขึ้นบนออนไลน์เช่นกัน

ทีมงานฉายเดี่ยว ผู้กำกับบนโลกออนไลน์ และทีมตัดต่อจากห้องนั่งเล่น
ทีมงานต้องลดจำนวนลง และนักแสดงอยู่ใกล้กันมากก็ไม่ดี ก็เลยต้องอาศัยเทคนิคด้านภาพมาช่วย โดยเป็นการใช้ระยะเลนส์ที่ทำให้รู้สึกว่านักแสดงอยู่ใกล้กัน (เป็นเทคนิคที่ใช้กันบ่อยในคิวบู๊) และในส่วนของการกำกับภาพ แน่นอนว่าผู้กำกับตัวหลักอาจต้องอยู่หน้ากอง แต่ส่วนที่เหลือ เช่นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค หรือด้าน Visual Effect ก็จะเข้ามามีส่วนร่วมผ่านทางออนไลน์ ด้วยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อมากอบกู้วงการภาพยนตร์ในครั้งนี้

หนึ่งในนั้นคือ “Camera to Cloud” ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้ไม่ว่าใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิต สามารถเริ่มจัดการกับไฟล์ที่ถูกถ่ายมาได้ทันทีหลังจากที่ผู้กำกับตะโกน “คัตตตต!” ซึ่งจากจุดนั้นโปรดิวเซอร์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเอฟเฟ็กต์ภาพก็สามารถจดโน้ตต่าง ๆ จากที่ไหนก็ได้บนโลกที่มีอินเทอร์เน็ต และเมื่อทุกคนลงความเห็นว่าเป็นเทคที่ดี ไฟล์นั้นก็จะเข้าไปอยู่ในโปรแกรมตัดต่อ ที่ช่างตัดต่อก็จะสามารถเอาไปเชื่อมกับเนื้อหาก่อนหน้านี้ แล้วส่งกลับมาให้ผู้กำกับตัดสินใจได้แบบเรียลไทม์ โดยปกติขั้นตอนเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 1 วันเพื่อส่งต่อไฟล์จากผู้เกี่ยวข้องหนึ่งคนไปถึงอีกหนึ่งคน รวมแล้วกว่าจะได้ดูทุกคนก็เป็นเวลาเกือบสัปดาห์ได้

ระบบนี้ถูกนำมาใช้กับหนังฮอลลีวูดอย่าง Songbird (2021), Last summer (2021) โดยที่เรื่อง Songbird เองก็เริ่มต้นการผลิตหลังจากที่มีการระบาดของโควิดแล้ว จึงทำให้มีการจำกัดจำนวนทีมถ่ายทำ ถึงขนาดที่ต้องใช้กล้องขนาดเล็กลงเพื่อให้ผู้กำกับภาพสามารถเป็นตากล้องไปเอง ในเวลาเดียวกันกับที่ตัวกล้องส่งสัญญาณภาพผ่าน 5G ไปหาผู้บริหารอีก 6 คนที่กำลังดูภาพจากออนไลน์อยู่

ในส่วนของ Post-Production ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นประเภทงานที่เหมาะกับการทำงานจากที่ไหนก็ได้อยู่แล้ว ทำให้ช่างตัดต่อส่วนมากถูกส่งกลับไปทำงานที่บ้านพร้อม Mac Pro เครื่องประจำ แล้วก็ทำงานกับผู้เกี่ยวข้องผ่านอินเทอร์เน็ตและซอฟต์แวร์ที่ทำให้ผู้กำกับสามารถเข้ามาตรวจดูเนื้อหาบนไทม์ไลน์ และฝากคอมเมนต์ไว้แบบเรียลไทม์ได้

โดยทาง “Industrial Light & Magic” สตูดิโอที่ดูแลด้านกราฟิกให้หนังอย่างสตาร์วอร์สและค่ายมาร์เวล ออกมาบอกว่าได้ปรับการทำงานของแผนก VFX ให้ไปทำงานที่บ้านแล้ว และทาง Sony Pictures Imageworks ก็บอกว่าปรับการทำงานไปแล้วกว่า 90% 

“Virtual Production” จอภาพและแสงสีแบบสมจริง ลดการถ่ายทำนอกสถานที่
เดิมทีการถ่ายภาพยนตร์แนวแฟนตาซี เรามักเห็นนักแสดงที่ต้องแสดงบนฉากเขียว แล้วเอาภาพไปใส่กราฟิกทีหลัง แต่ถ้ากราฟิกทุกคนไปทำงานที่บ้าน กว่าจะปรับรายละเอียดทุกอย่างให้ตรงตามที่ผู้กำกับต้องการ อาจเสียเวลาโทรหากันหลายตลบ

ปัญหานี้กำลังถูกแก้ไขได้บางส่วน จากระบบสตูดิโอที่เป็นเทคโนโลยีค่อนข้างใหม่ โดยเป็นการผสมกำแพงจอ LED สูง 20 ฟุตที่ล้อมเป็นวงได้ 270 องศา กับระบบฉากสามมิติที่เรนเดอร์แบบเรียลไทม์ซึ่งสามารถเชื่อมต่อมุมมองไปกับการเคลื่อนไหวของกล้องที่กำลังถ่าย และระบบไฟที่ปรับความสว่างและสีได้ตรงกับฉากที่เปิดบนจอ

การใช้ระบบนี้ นอกจากจะเลียนแบบการไปถ่ายทำนอกสถานที่ได้เหมือนเป๊ะแล้ว ยังทำให้นักแสดงหนังแฟนตาซีสามารถแสดงไปพร้อมกับภาพกราฟิกจริงที่จะใช้ จึงไม่ต้องใช้จินตนาการในการแสดงมากเหมือนเดิมด้วย (เพราะบางครั้งอาจจะไม่ตรงกับที่คิด)

ระบบนี้ชื่อว่า “StageCraft” และได้ถูกนำมาใช้ในการถ่ายทำหนัง The Batman (2022) และซีรีส์ The Mandalorian ทุกตอน ด้วยฉากจำลองกาแล็กซี่สามมิติแบบทุกซอกทุกมุม และถ่ายทำจบได้ในสตูดิโอบนหาดแมนฮัตตันเท่านั้น...แถมไม่ต้องไปตามใส่ฉากกราฟิกตามหลังอีกด้วย

ความปกติใหม่…แต่อาจต้องหางานใหม่!
ทั้งหมดที่กล่าวมา อาจดูเหมือนวงการกองถ่ายฮอลลีวูดจะไม่มีปัญหาแล้ว แต่กว่าจะเริ่มราบรื่นขึ้นได้เท่านี้ วงการหนังก็ต้องบาดเจ็บกันอยู่พอสมควร เพราะช่วงแรกของโควิดในปี 2020 มูลค่าตลาดของธุรกิจภาพยนตร์และความบันเทิงได้ตกสู่จุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี ด้วยอัตราการผลิตหนังใหม่ช้าลง 97.8% (หรือจะเรียกว่าหยุดไปเลยดีกว่า) และพนักงานในอุตสาหกรรมหนังตกงานรวดเดียวถึง 890,000 คนในชั่วข้ามคืน

และก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะกลับไปเหมือนเดิมได้ เพราะสตูดิโอภาพยนตร์รายใหญ่อย่าง Warner Bros. ผู้ผลิต The Batman (2022) หรือ Universal Pictures ต่างเริ่มมีการย้ายการถ่ายทำภาพยนตร์บางเรื่องไปยังประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อต่ำกว่า

และมีหลายประเทศที่ผันตัวมาเปิดเป็นศูนย์กลางของการถ่ายทำภาพยนตร์ เช่นไอซ์แลนด์ที่มีการจัดตั้งพื้นที่รองรับการถ่ายทำ โดยมีขั้นตอนการตรวจหาเชื้อทั้งขาเข้าและขาออกอย่างรัดกุม โดยผ่านเขตพื้นที่ชุมชนอย่างจำกัดที่สุด และอย่าง Netflix เองก็เริ่มมีการย้ายไปถ่ายทำที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สวีเดน และนอร์เวย์

การจ้างงานท้องถิ่นในอนาคตก็กำลังจะเปลี่ยนไป เช่นถ้าเราเป็นนักพากย์เสียงที่ได้เริ่มทำงานจากที่ไหนก็ได้ ฟังแวบแรกอาจจะดูดี แต่อีกแง่หนึ่งก็หมายความว่า เราอาจถูกเลิกจ้างโดยสตูดิโอ แล้วเปลี่ยนไปจ้างนักพากย์จากอีกฟากโลกที่ฝีมือดีกว่าในราคาเท่ากันก็เป็นได้

ที่มา :
บทความ “ ‘This Is How We’re Going to Be Making Movies at Least For Another Year or Two’: Netflix Execs Talk Filming Amid the Pandemic” โดย Bryn Sandberg จาก www.hollywoodreporter.com
บทความ “Shooting During the Pandemic: How Global Producers Have Found New Ways to Work” โดย Scott Roxborough จาก www.hollywoodreporter.com 
บทความ “Post-Pandemic Hollywood: Why Working in Entertainment Will Never Be the Same” โดย Brent Lang, Elaine Low และ Gene Maddaus จาก variety.com
บทความ “The Hollywood Tech Tricks Getting Film Crews Back on Set” โดย Brent Rose จาก www.wired.com
บทความ “How Hollywood is working from home to meet streaming demand” โดย Janko Roettgers จาก www.protocol.com
บทความ “How the pandemic could change film, TV production for good” โดย Joseph Williams จาก www.spglobal.com
บทความ “Op-Ed: How film and television production can safely resume in a COVID-19 world” โดย Ted Sarandos จาก www.latimes.com
บทความ “Hollywood crews could be forced to vaccinate under new deal with unions” โดย Anousha Sakoui จาก www.latimes.com
บทความ “Shaken studios. Empty theaters. What Hollywood lost during the pandemic” โดย Ryan Faughnder, Meg James และ Anousha Sakoui จาก www.latimes.com
บทความ “The Impact COVID-19 Had On The Entertainment Industry In 2020” โดย Brad Adgate จาก www.forbes.com

เรื่อง : สโรชา พรรณพิสิฐ