“Data Visualization & Storytelling” แปลงข้อมูลเป็นภาพให้สุดปังด้วยความคิดสร้างสรรค์
Technology & Innovation

“Data Visualization & Storytelling” แปลงข้อมูลเป็นภาพให้สุดปังด้วยความคิดสร้างสรรค์

  • 06 May 2022
  • 3466

ทุกวันนี้การแสดง “ภาพข้อมูล” เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการบอกเล่าเรื่องราวให้ง่ายและรวดเร็วขึ้น แต่ภาพข้อมูลที่ออกแบบมาไม่ดี เช่นดูธรรมดาเกินไปก็อาจสร้างความน่าเบื่อเกินกว่าจะสังเกตเห็น ไม่ก็ขาดพลังในการดึงดูดความสนใจ ขณะที่ภาพข้อมูลที่สวยงามที่สุดก็อาจล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการถ่ายทอดข้อความที่ถูกต้อง ดังนั้นการสร้างภาพข้อมูลจึงต้องมีศิลปะในการผสมผสานทั้งการวิเคราะห์ที่ยอดเยี่ยมกับการเล่าเรื่องที่เยี่ยมยอด เพื่อให้ภาพข้อมูลนั้นสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างทรงพลัง และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้จัดกิจกรรมเวิร์กช็อป Creative Career 2022: Practice Makes New Possibilities ในหัวข้อ “Data Visualization & Storytelling แปลงข้อมูลเป็นภาพให้ปัง เข้าใจง่าย ด้วยดีไซน์และความคิดสร้างสรรค์” ขึ้น เพื่อช่วยเตรียมความพร้อม ด้วยการฝึกปฏิบัติจริง และเสริมสร้างความรู้ ทักษะการทํางานด้วยการใช้กระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์ ประสบการณ์ และแนวทางปฏิบัติในสายงานอาชีพสร้างสรรค์ เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจได้ทำความเข้าใจในหลักการพื้นฐานก่อนก้าวเข้าสู่ระบบการฝึกงาน ทํางานร่วมกับธุรกิจ บริษัท หรือแม้แต่การเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ โดยมีคุณกษิดิศ สตางค์มงคล หรือ “แอดทอย” เจ้าของเพจดัง “Data Rockie” มาแนะนำเคล็ดลับการทำ “Data Management & Data Visualization” ในการสร้างสรรค์ไอเดียแปลงเรื่องให้เป็นภาพที่ใช้ได้ตลอดกาล พร้อมสร้างโอกาสให้โลกของงานและสายอาชีพด้วย “ข้อมูล” และ “ความคิดสร้างสรรค์” ตลอด 2 วันเต็มของเวิร์กช็อปซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์เมื่อเร็ว ๆ นี้


©vectorjuice / Freepik

พื้นฐานสายอาชีพ Data Visualization
ปัจจุบันนอกจากเป็นเจ้าของเพจ Data Rockie ที่แบ่งปันความรู้ด้านสถิติ วิทยาการข้อมูล (Data Science) และการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น คุณกษิดิศหรือแอดทอยยังเป็นที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics Consultant) ให้กับบริษัทเอกชนด้านไอทีอีกด้วย

เขาเติบโตในสายงาน Data Analytics โดยอาศัยความชอบในวิชาสถิติจากการเรียนในสาขาเศรษฐศาสตร์ทั้งในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และระดับปริญญาโทสาขาเดียวกันที่ University of Reading ประเทศอังกฤษ ก่อนจะกลับมาคว้าปริญญาโทด้านการตลาดอีกใบที่มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วต่อยอดการเรียนรู้ทักษะการเขียนโปรแกรมสถิติเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้วยตัวเองจากหนังสือและคอร์สออนไลน์ต่าง ๆ ก่อนจะเริ่มทำเพจอย่างจริงจังในปี 2559 จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Data Analytics และแบ่งปันความรู้ผ่านการเปิดคอร์สสอนการทำ Data Visualization ที่เขามักบอกผู้เข้าร่วมอบรมเสมอว่า คนที่จะทำ Data Visualization ได้ ควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับ “ข้อมูล” เบื้องต้น ซึ่งก็คือวิชาสถิตินั่นเอง

“ก่อนการทำ Data Visualization เราต้องมีการเตรียมข้อมูลให้เรียบร้อยก่อน หลายคนคิดว่า “แดชบอร์ด” คือแค่การเอาข้อมูลมาทำเป็นภาพแล้วจบ แต่ความจริงแล้วเบื้องหลังการทำแดชบอร์ดมันมีสิ่งที่เรียกว่า Data Model คือการเตรียมข้อมูลให้อยู่ในฟอร์แมตที่เหมาะสมก่อนจะนำไปทำเป็นชาร์ตหรือกราฟต่าง ๆ ได้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจำเป็นต้องเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการข้อมูล (Data Management)”


©storyset / Freepik

3 เครื่องมือของการทำ Data Visualization
แอดทอยกล่าวต่อไปว่า เครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้นักออกแบบจัดการเรื่อง Data Visualization และข้อมูลได้ก็คือการเขียนโปรแกรม (Coding) ซึ่งปัจจุบันมีโปรแกรมพื้นฐานที่สามารถใช้ได้ฟรี ประกอบด้วย Google Sheet, SQL Databases และ Google Data Studio

“การทำงานเกี่ยวกับข้อมูล ถ้าไม่รู้จักการเขียนโปรแกรมพวกนี้จะอยู่ยากมาก เพราะการเขียนโปรแกรมเป็น จะช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลง และการทำ Data Management เราจะใช้เครื่องมือเหล่านี้เยอะมาก โดยการทำงานในชีวิตจริง จะเริ่มจากการเตรียมข้อมูลใน Google Sheet แล้วใช้ SQL database เก็บข้อมูลจากสเปรดชีต จากนั้นใช้ Data Studio จะดึงข้อมูลจาก SQL database เพื่อไปสร้างแดชบอร์ดในการนำเสนออีกต่อหนึ่ง โดยการทำงานในสเต็ปนี้เป็นการทำงานของตำแหน่ง Data Analytics เบื้องต้น ซึ่งหากไปดูประกาศรับสมัครงานใน LinkedIn หรือ JobsDB จะพบว่า ทักษะการใช้โปรแกรม 3 อย่างนี้คือทักษะพื้นฐานที่บริษัทคาดหวังว่าผู้สมัครงานควรทำได้ก่อนจะเกิดการจ้างงาน”


©rawpixel.com / Freepik

ค้นหาความจริงจากการเรียนรู้สถิติ
ในการเปลี่ยนข้อมูลดิบให้เป็นแดชบอร์ดนั้น ยังมีพาร์ตที่สำคัญอีกก็คือเรื่องการทำสถิติเพื่อมาใช้ในการสรุปผลข้อมูล ซึ่งแอดทอยบอกว่าคนที่ทำงานในสายข้อมูล จะต้องมีความสามารถในการตั้งคำถามที่มีความหมายกับธุรกิจได้ และมีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ดี

“คนที่จะทำข้อมูลเก่ง ๆ อย่างน้อยต้องเข้าใจวิชาสถิติเบื้องต้น สถิติเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งในการเก็บรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มีเป้าหมายคือการสรุปผลจากกลุ่มตัวอย่างเพื่อกลับไปหากลุ่มประชากรที่เราสนใจ เราใช้สถิติเหมือนเป็นเข็มทิศที่ช่วยให้เราวิ่งเข้าใกล้ความจริงมากยิ่งขึ้น ถ้าเราเข้าใจการทำสถิติก็จะไม่โดนหลอกได้ง่าย เราไม่ได้เรียนสถิติเพื่อเข้าใจสถิติ แต่เรียนเพื่อให้เราเข้าใจโลกใบนี้ได้ดีขึ้น ที่สำคัญ การออกแบบหน้าตาของสถิติไม่จำเป็นต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก แต่ควรเน้นประโยชน์ใช้งาน โดยหน้าที่ของเราคือการเปลี่ยนข้อมูลให้มีประโยชน์กับใครสักคน เพราะข้อมูลเปรียบเหมือนน้ำมันดิบที่ขุดขึ้นมาจากใต้ดิน ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองก่อน ในแง่ของข้อมูลจึงจำเป็นต้องหาแพตเทิร์นที่เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้ และวันนี้ใครอยากทำงานด้านข้อมูล ผมบอกได้เลยว่าประเทศไทยยังขาดแคลนคนที่ทำงานด้านข้อมูลเยอะมาก จึงมีพื้นที่อีกมากให้กับผู้ที่สนใจงานในสายอาชีพนี้”

พลังของ Data Science
แอดทอยกล่าวด้วยว่า สถิติอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการชิมแกงจากช้อนเพื่อให้รู้รสชาติจากทั้งหมอ การเปรียบเทียบวัคซีนแต่ละชนิดในสื่อต่าง ๆ ฯลฯ และสถิตินั้นก็ยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ Data Science เรานำสถิติไปใช้ในหลากหลายวงการ โดยเฉพาะการนำสถิติมาใช้ในงานวิจัยตลาด (Market Research) ที่แบรนด์ต่าง ๆ มักจะทำการสำรวจเพื่อหาคำตอบในเรื่องของส่วนแบ่งการตลาด การสำรวจความพึงพอใจของลูกค้า ฯลฯ การทำสถิติที่เกิดจากกระบวนการที่ถูกต้อง ตั้งแต่การตั้งคำถาม การเก็บข้อมูล การเตรียมข้อมูล การวิเคราะห์ และการนำเสนอข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ และนี่ก็คือเป้าหมายสูงสุดของการทำข้อมูลในเชิงธุรกิจ โดยพลังของ Data Science จะช่วยให้ธุรกิจสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น ช่วยลดต้นทุน และสร้างการเติบโตได้ยั่งยืน”

ในส่วนรายละเอียดของเวิร์กช็อปออนไลน์ครั้งนี้ แอดทอยยังได้เน้นฝึกการใช้โปรแกรม Google Sheet และ Google Data Studio เบื้องต้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมรู้จักใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในรูปแบบการทำโปรเจ็กต์อย่างเข้มข้นตลอด 2 วันเต็ม เพื่อให้มีผลงานเป็นพอร์ตฟอลิโอได้จริง และยกระดับทักษะผู้เข้าร่วมในการพัฒนาตัวเองสู่การทำงานในสายอาชีพ Data Visualization

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสายอาชีพ Data Visualization & Storytelling เบื้องต้น ผ่านคอร์สเรียนออนไลน์บนแพลตฟอร์ม CEA Online Academy คอร์ส Creative Career 2021: Data Visualization เฟ้นหาโอกาสในโลกธุรกิจ

ด้วย Data & Creative ได้เพิ่มเติมทาง https://academy.cea.or.th/course/41/info/

เรื่อง : กองบรรณาธิการ