เปลี่ยน “Passion” เป็น “ธุรกิจ” ด้วยการปั้นไมโครแบรนด์
Technology & Innovation

เปลี่ยน “Passion” เป็น “ธุรกิจ” ด้วยการปั้นไมโครแบรนด์

  • 31 May 2022
  • 2432

นาฬิกาไมโครแบรนด์กำลังเป็นคลื่นลูกใหญ่ในตลาดนาฬิกา ด้วยดีไซน์ตลอดจนความแปลกใหม่ที่ไม่ยึดติดกับกรอบเดิม ๆ ในแบบฉบับของแบรนด์ใหญ่ ทำให้มีกลุ่มคนเล่นและติดตามนาฬิกาแบรนด์เล็ก ๆ ที่บางรุ่นกลายเป็นที่หมายปองของนักสะสมและกลายเป็นของหายากมูลค่าสูงตามระดับความนิยมในแบรนด์นั้น ๆ

ด้วยการเป็นแบรนด์ขนาดเล็กที่สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้จากที่ไหนก็ได้และไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ทำให้วงการนาฬิกาไมโครแบรนด์เกิดผู้ประกอบการที่เป็นคนรุ่นใหม่มากมาย และกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่ต้องการมีชีวิตอิสระ คุณธนิตย์ ธรรมจรัส ผู้อำนวยการบริษัท ริวเซอร์วิส จำกัด ผู้มีความรักในนาฬิกาไมโครแบรนด์จนนำมาสู่การก่อตั้งกลุ่มผู้รักนาฬิกา KRONOS TALK ได้มาบอกเล่าถึงความน่าสนใจของรูปแบบธุรกิจไมโครแบรนด์ที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบไทยรุ่นใหม่ได้มองเห็นถึงโอกาสในการสร้างแบรนด์ของตัวเอง รวมทั้งการจัดทำโครงการ “Thai Microbrand Watch Design Contest โครงการประกวดออกแบบนาฬิกาข้อมือสู่เส้นทางธุรกิจ Microbrand” ที่มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ให้การสนับสนุน เพื่อผลักดันและเปิดทางให้ผลงานคนไทยได้ก้าวไปสู่ความสำเร็จในตลาดไมโครแบรนด์

อาชีพอิสระที่ลงทุนน้อย
คุณธนิตย์ได้อธิบายถึงการจัดแบ่งประเภทของแบรนด์นาฬิกาว่าประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก คือกลุ่มเมเจอร์แบรนด์ กลุ่มอินดิเพนเดนซ์ และกลุ่มไมโครแบรนด์ ซึ่งจะมีความโดดเด่นและการสร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน 

  • กลุ่มเมเจอร์แบรนด์ ได้แก่ แบรนด์นาฬิกาที่มีกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรมและเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป เช่น ROLEX, OMEGA มีจุดเด่นที่มีการสร้างอัตลักษณ์และภาพจำที่อาจทำให้ยากต่อการปรับเปลี่ยนสไตล์ หรือไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนเพราะลูกค้ามีต้องการเป็นเจ้าในอัตลักษณ์เฉพาะนั้น ๆ ทำให้การปรับเปลี่ยนอาจไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด

  • กลุ่มอินดิเพนเดนซ์ เป็นกลุ่มที่นำข้อจำกัดของเมเจอร์แบรนด์มาสร้างแบรนด์ใหม่ที่เปิดโอกาสให้เกิดการสร้างสรรค์ด้านการออกแบบใหม่ ๆ มากขึ้นตั้งแต่ประมาณช่วงทศวรรษ 1980 และเมื่อประสบผลสำเร็จไปถึงจุดหนึ่งก็จะยกระดับการผลิตเป็นแบบอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับเมเจอร์แบรนด์ นาฬิกาแบรนด์ดังในกลุ่มนี้ก็เช่น HUBOLT, RICHARD MILLE, FRANCK MULLER, ฯลฯ

  • กลุ่มไมโครแบรนด์ เป็นกลุ่มที่พัฒนาต่อมาในช่วงปี 2000 มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มคนรักนาฬิกาที่อยากทำนาฬิกาขายกันเองในกลุ่มเพื่อนหรือกลุ่มสมาชิกในเว็บบอร์ด ในแบบที่เมเจอร์แบรนด์ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ โดยมีการผลิตจำนวนน้อยเพียง 300-1,000 เรือนต่อคอลเล็กชัน ราคาต่อเรือนจะไม่เกิน 2,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อให้ทุกคนสามารถเอื้อมถึงได้ แบรนด์ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนี้ก็อย่างเช่น ZELOS (สิงคโปร์) RZE (สิงคโปร์) BALTIC (ฝรั่งเศส) NODUS (สหรัฐอเมริกา) UNDONE (ฮ่องกง) HALIOS (แคนนาดา) เป็นต้น

จุดเด่นหรือเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของกลุ่มนาฬิกาไมโครแบรนด์อยู่ที่การออกแบบที่สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ และมีการทำงานที่ไม่ยึดติดกับสถานที่ ทำให้เจ้าของกิจการหรือนักออกแบบสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระในแบบที่ตัวเองต้องการ เจ้าของกิจการหรือนักออกแบบอาจอยู่ในประเทศหนึ่ง แล้วสั่งผลิตในโรงงานโออีเอ็มอีกประเทศหนึ่ง เช่น ประเทศจีน โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก ความเสี่ยงก็น้อย เพราะเป็นการทำในลักษณะ “Pre-order” ทางโซเชียลมีเดียหรือเปิดจำหน่ายในรูปแบบ Crowdfunding อย่างเช่น Kickstarter, Indiegogo ที่มีลูกค้าอยู่ทั่วโลก การบริหารจัดการสินค้า การรับจ่ายเงิน ล้วนอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ จนกล่าวได้ว่าผู้ที่อยากทำอาชีพอิสระ แค่มีความคิดสร้างสรรค์และมีการเปิดบัญชีธนาคารที่ผูกติดกับแพลตฟอร์มโอนเงินอย่าง PayPal ก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจนาฬิกาไมโครแบรนด์ได้แล้ว

“กล่าวโดยสรุป ไมโครแบรนด์มี 2 องค์ประกอบหลัก คือ หนึ่งมีซูเปอร์โออีเอ็มรายใหญ่ของโลก ซึ่งปัจจุบันประเทศที่มีโรงงานโออีเอ็มมากที่สุดและเป็นที่ยอมรับในคุณภาพจากผู้ประกอบการไมโครแบรนด์ต่าง ๆ ก็คือประเทศจีน และสองคือโซเชียลมีเดียที่ทำให้ดีไซเนอร์หรือนักออกแบบสามารถพูดคุยกับผู้ผลิตโออีเอ็มและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว สามารถสร้างสื่อโปรโมตได้ทั้งภาพนิ่ง วิดีโอ ส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายโดยไม่ต้องเสียค่าโฆษณา แถมยังนั่งทำงานอยู่ที่ไหนก็ได้ เพราะทุกอย่างสามารถบริหารจัดการได้ทางออนไลน์ ผมจึงคิดว่าการทำนาฬิกาไมโครแบรนด์เหมาะกับเด็กรุ่นใหม่ที่รักการออกแบบ อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ไม่อยากทำงานประจำหรือเป็นลูกจ้างใคร เพราะนอกจากจะเป็นอาชีพที่ทำให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ ก็ยังเป็นงานที่สามารถเปลี่ยน ‘Passion’ มาเป็น ‘ธุรกิจ’ ได้ด้วย”

ตลาดที่น่าจับตาของนักออกแบบ
ผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กเพจ “ผู้รักนาฬิกา KRONOS” ที่มุ่งเน้นการนำเสนอนาฬิกาไมโครแบรนด์ และมีการจัดไลฟ์ทอล์กผ่านรายการ “KRONOS TALK” เพื่อแนะนำนาฬิกาไมโครแบรนด์ต่าง ๆ กล่าวว่า ในปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้ธุรกิจนาฬิกาไมโครแบรนด์เติบโต โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่มีการซื้อขายกันมากขึ้น และยังเป็นงานที่ทำได้โดยไม่ถูกจำกัดในเรื่องสถานที่เชิงกายภาพที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์

ขณะเดียวกัน ตลาดนาฬิกาไมโครแบรนด์ก็มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าในประเทศไทย อย่างเช่น UNDONE THAILAND ที่มีคุณอภิชัย ชินเศรษฐวงศ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในวงการนาฬิกาในฐานะเจ้าของพิพิธภัณฑ์ Omega Passion Museum ดูแลรับผิดชอบในตำแหน่งประธานบริษัท 

UNDONE เป็นแบรนด์นาฬิกาสัญชาติฮ่องกง แต่ถือกำเนิดในนิวยอร์กโดยไมเคิล ยัง (Michael Young) ที่มีแนวคิดในการทำนาฬิกาที่ทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ การออกแบบของ UNDONE จึงมีลักษณะ “Customize” ในบางชิ้นส่วน เช่น ตัวเรือน หน้าปัด เข็มนาฬิกา ตำแหน่งโลโก้ สายนาฬิกา การสลักชื่อ การใส่รูปภาพ ฯลฯ นอกจากนี้ทางแบรนด์ยังพยายามสร้างความร่วมมือกับศิลปินไทย เพื่อร่วมกันออกแบบหน้าปัดนาฬิกาที่ประสบความสำเร็จแล้วหลายโปรเจ็กต์

คุณอภิชัยเองก็มีความฝันส่วนตัวในการทำนาฬิกาไปขายทั่วโลก จึงร่วมมือกันกับกลุ่มผู้รักนาฬิกา KRONOS ที่มีคุณธนิตย์ และคุณไพรัช โชคไมตรีเป็นผู้ก่อตั้ง, ดร.ปราโมทย์ เหรียญเจริญสุข แฟนพันธุ์แท้นาฬิกาคนเดียวของประเทศไทย,ศ.ดร.พิชัย สดภิบาล จาก มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และ อาจารย์วิเชียร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอัญมณีเครื่องประดับไทยและการออกแบบ (IGJD) จนนำมาสู่โครงการ “Thai Microbrand Watch Design Contest โครงการประกวดออกแบบนาฬิกาข้อมือสู่เส้นทางธุรกิจ Microbrand” ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในการเฟ้นหากราฟิกดีไซเนอร์และโปรดักต์ดีไซเนอร์คนไทยที่มีความหลงใหลในศาสตร์และศิลป์แห่งการออกแบบนาฬิกาข้อมือ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความรู้ทักษะด้านการออกแบบและการผลิตนาฬิกาโดยผู้เชี่ยวชาญ สู่ปลายทางธุรกิจนาฬิกาไมโครแบรนด์

โครงการดังกล่าวแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ประเภท ภายใต้โจทย์ “ไทยเท่ทันสมัย แนวใหม่สู่สากล” คือ การออกแบบลวดลายบนหน้าปัดนาฬิกาข้อมือ (Graphic Design) และการออกแบบตัวเรือนนาฬิกาข้อมือ (Product Design) ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก 20 ผลงานจากทั้งสองหมวด จะได้รับการอบรมความรู้ ทักษะพื้นฐาน และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนาฬิกาของไทย และสำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลที่ 1 ในประเภท Graphic Design นอกจากได้เงินรางวัลแล้ว ก็ยังมีการนำผลงานไปผลิตเป็นสินค้าและจัดจำหน่ายจริงบนช่องทางของแบรนด์ UNDONE ขณะผลงานที่ได้รับรางวัลที่ 1 ประเภท Product Design จะได้รับเงินรางวัลและนำไปผลิตเป็นสินค้าและจัดจำหน่ายบนช่องทางของแบรนด์บริษัท Good Times Design โดยเพิ่งมีการมอบรางวัลชนะเลิศที่ 1-3 ของทั้งสองประเภทไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา 

“เป้าหมายโครงการคือการนำผลงานที่ชนะการประกวดไปผลิตเพื่อขายจริง” คุณธนิตย์กล่าวพร้อมกับแสดงมุมมองถึงผลงานที่ได้รับรางวัลว่า แม้ส่วนใหญ่นักออกแบบจะไม่มีพื้นความรู้เรื่องการทำนาฬิกาและไม่เข้าใจธุรกิจไมโครแบรนด์มาก่อน แต่การออกแบบก็มีความน่าสนใจที่พยายามดึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยมาใช้อย่างร่วมสมัย และเพื่อขยายโอกาสของตลาดไมโครแบรนด์ไปยังต่างประเทศ ทางกลุ่มก็อาจใช้โมเดลการประกวดในลักษณะเดียวกันนี้ไปส่งเสริมให้ศิลปินในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชาได้มาร่วมออกแบบนาฬิกาและจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มของทางกลุ่มมากขึ้น

คนไทยทำได้!
คุณธนิตย์กล่าวต่อไปว่า แม้มูลค่าของนาฬิกาไมโครแบรนด์จะไม่สูงเท่ากลุ่มเมเจอร์แบรนด์ แต่ก็มีกลุ่มคนซื้อมากมายในตลาด บางรุ่นถึงกับสามารถปิดการขายได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเปิดจำหน่าย และยังสามารถส่งมอบเป็นมรดกจากรุ่นสู่รุ่นได้ เพราะไมโครแบรนด์จัดอยู่ในนาฬิกาประเภทออโตเมติกที่สามารถหาอะไหล่เปลี่ยนได้ตลอดเวลา ต่างจากนาฬิกาควอตซ์ที่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งต้องใช้แบตเตอรี่หรือถ่านช่วยในการทำงาน ทำให้นาฬิกาประเภทนี้ไม่สามารถใช้งานต่อได้หากระบบการทำงานไม่มีการพัฒนาต่อหรือเสื่อมอายุลง ทั้งยังหาอะไหล่เปลี่ยนได้ยากกว่า

“เสน่ห์ของไมโครแบรนด์ยังอยู่ที่การแสดงความเป็นดีเอ็นเอออกมาได้เต็มที่ ผู้ผลิตหรือดีไซเนอร์สามารถออกแบบได้โดยไม่ต้องถูกความคาดหวังของลูกค้า (Customer Expectation) ตีกรอบไว้ และด้วยจำนวนการผลิตที่น้อยกว่าความต้องการ ทำให้คนที่รักนาฬิกาแบรนด์นั้น ๆ ต้องคอยติดตามข่าวสาร และเป็นความสนุกในความพยายามซื้อหามาครอบครอง คนไทยเป็นนักสะสมนาฬิกาแบบลิมิเต็ดติดอันดับ 25 ประเทศแรกของโลก และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน เรามีกลุ่มลูกค้าที่พร้อมจะซื้อ ดังนั้น จะดีแค่ไหน ถ้าเรามีไมโครแบรนด์ที่เป็นฝีมือคนไทยได้รับการยอมรับในตลาดโลก”

คุณธนิตย์ยังกล่าวด้วยว่า ความจริงแล้วไมโครแบรนด์เป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ และนาฬิกาก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการสร้างไมโครแบรนด์ซึ่งตอนนี้โลกได้ให้ความสนใจมากขึ้น หลายคนอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงการนี้ และใครก็ตามที่มีความฝันที่จะเดินสู่เส้นทางธุรกิจการสร้างนาฬิกาไมโครแบรนด์ แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับทางกลุ่มของเขาได้อย่างครอบคลุมทุกความต้องการใน 3 รูปแบบคือ

  1. กรณีที่มีแต่ไอเดีย แต่ไม่มีเงินทุน ไม่มีแบรนด์ ไม่มีการตลาดสนับสนุน ก็สามารถนำไอเดียมานำเสนอผ่านช่องทางการประกวดการออกแบบ หรือนำมาเสนอโดยตรงกับตัวคุณธนิตย์และคุณอภิชัย ซึ่งจะทำหน้าที่พูดคุยและทำงานร่วมกับทีมงานในส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไอเดียการออกแบบเฉพาะหน้าปัดนาฬิกาที่มีแบรนด์ UNDONE เป็นผู้สนับสนุน หรือออกแบบหมดทั้งตัวเรือนที่มีแบรนด์ Good Times Design ที่กำลังตั้งขึ้นมาใหม่ให้การส่งเสริม

  2. กรณีต้องการเป็นเจ้าของแบรนด์ ก็สามารถร่วมมือกันได้ในลักษณะหุ้นส่วนธุรกิจ

  3. กรณีต้องการสร้างแบรนด์เอง แต่ต้องการว่าจ้างการผลิตในลักษณะโออีเอ็ม ทางกลุ่มก็พร้อมให้บริการ

ทางด้านคุณอภิชัยยังได้กล่าวเสริมว่า “ผมต้องการสนับสนุนให้น้อง ๆ ได้เริ่มต้นธุรกิจ ยิ่งสามารถก้าวไปยืนได้ด้วยตัวเอง เราก็ยินดีอย่างยิ่ง เพราะความปรารถนาของเราคืออยากเห็นธุรกิจไมโครแบรนด์ในประเทศไทยคือช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้จากลูกค้าทั่วโลก ดังนั้น อย่าปล่อยให้การมีโซเชียลมีเดียเป็นแค่เรื่องความสนุก แต่ต้องใช้เพื่อสร้างธุรกิจ และเราพร้อมสนับสนุนในหลาย ๆ ด้านดังที่กล่าวมา เพราะเราอยากเห็นนาฬิกาแบรนด์ไทยที่ประสบความสำเร็จไปเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ซึ่งผมเชื่อว่าเด็กไทยทำได้”

เรื่อง : กองบรรณาธิการ