ขอให้โลกนี้ไม่มีฝันร้าย
Technology & Innovation

ขอให้โลกนี้ไม่มีฝันร้าย

  • 16 Jun 2022
  • 1965

คงไม่มีใครชอบ “ฝันร้าย” ยิ่งกับฝันร้ายที่ตื่นมาแล้วพบว่าสิ่งที่หลอกหลอนในฝันนั้นเคยเกิดขึ้นจริงมาก่อน ยิ่งยากที่จะรับมือไหว ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือผู้ป่วยที่มีภาวะ PTSD กลับอาจต้องเผชิญกับฝันร้ายแบบนี้ในทุกคืนที่ข่มตา 

Post-Traumatic Stress Disorder หรือ PTSD เป็นโรคทางจิตเภชชนิดหนึ่งที่เกิดจากสภาวะจิตใจของผู้ป่วยที่ได้เผชิญเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง อาทิ การก่อการร้าย สงคราม การข่มขืน การสูญเสีย หรือประสบอุบัติเหตุ จนทำให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยหนึ่งในอาการที่ผู้เผชิญภาวะ PTSD นั่นคือการติดอยู่ในวังวนภาพของเหตุการณ์ที่ทำร้ายจิตใจซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกค่ำคืนจนเกิดความวิตกกังวลอย่างหนัก ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยหากจะมีตัวช่วยที่จะพาผู้ป่วยเหล่านี้ออกจากฝันร้ายได้อย่างอ่อนโยน และในวันนี้ “NightWare” ก็พร้อมที่จะช่วยปกป้องจากค่ำคืนแห่งฝันร้ายที่ยาวนานแล้ว 


©Daniel Jensen on Unsplash

ขอให้โลกนี้ไม่มีฝันร้าย (ได้ไหม)
ไม่ว่าจะเป็นฝันดีหรือฝันร้าย ฝันไหน ๆ ก็เกิดในระดับของการนอนแบบ Rapid Eye Movement Sleep หรือ REM Sleep (ช่วงหลับฝัน) ในช่วงดังกล่าวการหายใจของเราจะทั้งถี่ ไม่สม่ำเสมอ และตื้นขึ้นกว่าช่วงก่อน ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวของตาอย่างรวดเร็ว รวมถึงกล้ามเนื้อแขนขาที่เป็นอัมพาตชั่วคราวและสมองที่ทำงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

ถ้าทุกวันเป็นฝันดีเราก็คงไม่อยากจะตื่น แต่ทำไมถึงต้องมีฝันร้าย ทุกคนต่างเคยเผชิญฝันร้ายเป็นครั้งคราวอย่างเช่นความรู้สึกของการร่วงหล่นหรือถูกไล่ล่า สิ่งนี้เกิดจากการประมวลผลอารมณ์และความทรงจำ Deirdre Barrett นักจิตวิทยาจากโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดที่ศึกษาเรื่องของความฝันกล่าวว่า เหตุการณ์ภาพย้อนอดีตในเวลากลางวันกับฝันร้ายที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในเวลากลางคืนอาจเป็นปรากฏการณ์เดียวกันที่เกิดขึ้นในขณะตื่นและหลับ เมื่อความทรงจำอันเจ็บปวดนั้นติดอยู่ในเส้นเรื่องหรือความทรงจำระยะสั้นและไม่จางหายไปเฉกเช่นความทรงจำอื่น ๆ Barrett ยังสันนิษฐานว่า ฝันร้ายที่แสนเจ็บปวดนี้อาจเป็นมรดกตกทอดตั้งแต่ยุคเก็บของป่าล่าสัตว์ (Hunter-Gatherer Days) เมื่อปรากฏการณ์สุดระทึกอย่างเสือที่จู่โจมอย่างไม่ทันตั้งตัวเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องระแวดระวังและจดจำไว้ให้มั่น “สิ่งเลวร้ายเมื่อเกิดขึ้นได้แล้ว ก็เหมือนว่าจะเกิดขึ้นอีกในเร็ววัน และมันอาจปรับตัวสู่การอยู่ในภาวะหวาดกลัวได้”


©Jack Sharp on Unsplash

ในปัจจุบันนี้ นอกจากการใช้ยาแล้ว หนึ่งในวิธีจัดการกับภาวะฝันร้ายที่ได้ผลดีก็คือ วิธีบำบัดด้วยจินตนาการ (Image Rehearsal Therapy) ซึ่งเป็นการวาดฝันตอนจบของเรื่องราวได้ใหม่ โดยใช้วิธีการนึกถึงสิ่งที่มีความสุขหรือตอนจบใหม่ของเรื่องราวฝันร้ายที่น่าอภิรมย์กว่าเดิมขณะตื่นอยู่ เพื่อสร้างความฝันทดแทนที่มีตอนจบที่สวยงาม ณ ขณะหลับ 

นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่น ๆ เช่น การสะกดจิตให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการผ่อนคลายอย่างลึกก่อนนอน หรือการบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy) ที่จะช่วยจัดการกับความบอบช้ำและวิตกกังวล อย่างไรก็ตาม การจัดการกับฝันร้ายในผู้ป่วย PTSD อาจไม่ง่ายเช่นนั้น “ในบริบทของความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ฝันร้ายจะรักษายากขึ้น” Bhanu Kolla นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญการนอนจาก Mayo Clinic กล่าว

จุดเริ่มต้นของ NightWare และการสร้างฝันเพื่อพ่อ
Patrick Skluzacek ตื่นขึ้นมาพร้อมหัวใจที่เต้นรัวและเสื้อนอนที่เปียกโชกทุกค่ำคืน ในทุกครั้งที่เขาข่มตาหลับเพื่อพักผ่อนจากวันที่เหนื่อยล้า เขาจะถูกส่งกลับไปที่สงครามอิรัก สถานที่ที่ต้องต่อสู้รับมือกับผู้ก่อการร้ายเสมอ เขายังคงไม่อาจลืมเลือนช่วงเวลาเหล่านั้นได้ แม้จะกลับมาใช้ชีวิตอย่างพลเรือนเป็นเวลาหลายปีแล้ว ความกลัวต่อฝันร้ายอันตรายกว่าตัวฝันร้ายเองเสียอีก Skluzacek ลองพยายามกำจัดฝันเหล่านั้นด้วยยากล่อมประสาทหรือแอลกอฮอล์ แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่อาจช่วยเขาได้เลย เขามีเวลาข่มตานอนได้แค่ประมาณ 2 ชั่วโมงต่อคืนเท่านั้น หนำซ้ำฝันร้ายนี้ยังค่อย ๆ คืบคลานมาพรากความสุขในชีวิตจริงไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการงานหรือชีวิตครอบครัว เรื่องราวดังกล่าวจุดประกายให้อีก 8 ปีต่อมา Tyler Skluzacek ที่ขณะนั้นเป็นนักศึกษาปี 4 ณ วิทยาลัย Macalester เริ่มต้นที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อพ่อของเขา

Skluzacek คนลูกเข้าร่วม HackDC2015 ซึ่งเป็นงานแฮกกาธอนที่เฟ้นหาวิธีใหม่ ๆ ในการช่วยเหลือผู้คนที่เผชิญสภาวะ PTSD ร่วมกับทีมและได้ใช้นาฬิกา Pebble ในการตรวจวัดคลื่นหัวใจและการเคลื่อนไหวของร่างกายเวลาหลับ เพื่อสั่นส่งสัญญาณไปที่ผู้สวมใส่เมื่อตัวบ่งชี้เหล่านี้มีอัตราเพิ่มมากขึ้น 


©nightware.com

ไอเดียนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสุนัขบริการที่จะคอยเลียหน้าของทหารผ่านศึกผู้เผชิญโรค PTSD และต้องต่อสู้ในความฝันให้สงบลง อุปกรณเล็ก ๆ ที่ทำมาเพื่อช่วยพ่อของเขา ส่งผลให้ทุกวันนี้พ่อเขานอนหลับฝันดีโดยไม่ต้องพึ่งนาฬิกานี้อีกต่อไป ทั้งยังมีชีวิตแต่งงานใหม่และได้งานกลับมาอีกครั้ง ไอเดียนี้ได้รับรางวัลและพัฒนาเริ่มแรกมาเป็น “MyBivy” ชื่อที่ตั้งจาก Bivouacs ซึ่งเป็นแคมป์พักแรมขนาดเล็กที่ทหารใช้เพื่อปกป้องตัวเองในตอนกลางคืน 

ต่อมา Grady Hannah ผู้เป็นที่ปรึกษาของ MyBivy ในขณะนั้นก็ได้ขอซื้อสิทธิ์จาก Skluzacek เพื่อนำมาพัฒนาเป็น “NightWare” ระบบดิจิทัลขับเคลื่อนด้วย AI ที่ได้รับรองสถานะ Breakthrough Device Designation จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ในช่วงปลายปี 2020

NightWare: To Wear at Night
เพื่อกำหนดอัตราที่จะระบุว่าผู้ป่วย PTSD กำลังเผชิญกับฝันร้ายหรือไม่ NightWare ได้ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีอยู่ใน Apple เพื่อรวบรวมข้อมูลของผู้สวมใส่ อาทิ อัตราการเต้นของหัวใจ รวมถึงข้อมูลจากเครื่องวัดความเร่งและไจโรสโคป เพื่อนำมาให้ AI คำนวณเกณฑ์เริ่มต้นของความเครียดในตัวผู้สวมใส่แต่ละบุคคล โดยคำนวณจากอัตราการเต้นของหัวใจและการเคลื่อนไหว ตัวโปรแกรมจะเรียนรู้รูปแบบการนอนหลับของผู้สวมใส่ได้ภายในเวลาไม่เกิน 10 วัน เมื่ออัตราการเต้นของหัวใจของผู้สวมใส่เริ่มเพิ่มสูงขึ้น ผนวกกับที่พวกเขาเริ่มขยับไปมาบ่อย ๆ และเร็วขึ้น ตัวแอปฯ จะมีคำสั่งให้นาฬิกาเริ่มสั่นจากความถี่ต่ำ และจะเพิ่มขึ้นเมื่ออัตราการเต้นของหัวใจหรือการเคลื่อนไหวยังอยู่สูงเกินเกณฑ์ที่ได้คำนวณไว้ 

การสั่นนี้จะกระตุ้นผู้ใช้ในระดับที่ไม่ได้ปลุกให้ตื่นเต็มที่ “ในบางกรณี นาฬิกาอาจทำให้ผู้สวมใส่ตื่นขึ้นจริง ๆ แต่เมื่อฝันร้ายยังไม่จบสมบูรณ์ ผู้สวมใส่ก็อาจจะกลับไปนอนได้ง่ายกว่า เพราะระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลยังไม่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับปฏิกิริยาทางร่างกายอื่น ๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้นตราบใดที่ฝันร้ายนั้นยังฉายไม่จบเช่นกัน” Hannah กล่าว นอกจากนี้หากนาฬิกาปลุกให้ผู้หลับใหลตื่นขึ้น ระบบก็จะทำการเรียนรู้ที่จะสั่นให้เบาลงในครั้งหน้าเพื่อที่จะไม่ปลุกให้ผู้สวมใส่ตื่นขึ้นอีก 


©nightware.com

การทดสอบการใช้งาน NightWare เกิดขึ้นหลายครั้งก่อนที่อุปกรณ์นี้จะได้การรับรองสถานะผ่าน FDA ซึ่งหนึ่งในการทดสอบนั้นคือการศึกษาควบคุมแบบ Placebo-Controlled) ผ่านผู้เข้าร่วม 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ใช้อุปกรณ์จริงและกลุ่มที่ใช้อุปกรณ์หลอก ซึ่งผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ทั้งอุปกรณ์จริงและหลอกไม่ได้นำสู่ความเปลี่ยนแปลงในความคิดหรือพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการฆ่าตัวตายหรือความง่วงนอน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีผลที่ดีขึ้นจากการวัดด้วยแบบสอบถามคุณภาพการนอนหลับของพิตต์สเบิร์ก โดยกลุ่มที่ใช้งานมีพัฒนาการที่ดีกว่ากลุ่มที่ใช้อุปกรณ์หลอก ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่เป็นไปได้มากกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน

NightWare เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นการรักษาแบบดิจิทัลตามใบสั่งแพทย์ (Prescription Digital Therapeutic) ในขณะนี้ตัวโปรแกรมจึงยังไม่เปิดให้โหลดและใช้งานได้อย่างสาธารณะ แต่จำกัดการให้บริการเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น โดยเน้นการทำงานร่วมกับระบบการดูแลสุขภาพของทหารผ่านศึกผู้มีแนวโน้มจะเผชิญกับภาวะ PTSD มากกว่าพลเรือน 

ตัวอุปกรณ์จะมาพร้อมกับแอปเปิลวอชและไอโฟน ทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดไม่ต้องใช้อุปกรณ์อื่น ๆ เพิ่ม และ NightWare ยังอาจใช้ประโยชน์จากฟังก์ชั่นอื่นๆ ที่ Apple จะพัฒนาเพิ่มเติมในอนาคต ทั้งนี้ข้อจำกัดของ NightWare ก็ยังมีอยู่ เช่น ผู้ป่วยที่ละเมอลุกขึ้นเดินจะไม่สามารถใช้อุปกรณ์นี้ได้ และต้องสวมใส่อุปกรณ์นี้แค่ในเวลานอนเท่านั้น เพราะการสวมใส่ในชีวิตประจำวันอาจกระตุ้นให้เกิดการแจ้งเตือนที่ผิดพลาดจากอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้นผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้


©Joice Kelly on Unsplash

ปัจจุบัน NightWare ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งในแผนการรักษาโรค PTSD แบบองค์รวม และควรใช้ร่วมกับการบำบัดโรคอื่น ๆ ที่แพทย์แนะนำ อย่างไรก็ตามนี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลรักษาสุขภาพใจให้ดีขึ้น ได้ถึงระดับการฝันของเราแล้ว

ที่มา : บทความ “How a Vibrating Smartwatch Could Be Used to Stop Nightmares” โดย Michele Cohen Marill จาก wired.com
บทความ “NightWare vs nightmares: the sleep tech app helping break PTSD patterns” โดย Chloe Kent จาก medicaldevice-network.com
ข่าว “FDA Permits Marketing of New Device Designed to Reduce Sleep Disturbance Related to Nightmares in Certain Adults” จาก fda.gov
บทความ “ภาวะ PTSD ผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด” จาก petcharavejhospital.com 
บทความ “PTSD ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD ตอนที่ 1)” โดย อ. พญ.แสงศุลี ธรรมไกรสร จาก rama.mahidol.ac.th
nightware.com

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง