รู้จัก 3 สตาร์ตอัประดับโลกจากงาน Global Startup Fes. 2022 กับความหวังสร้างนวัตกรรม “Green Recovery”
ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ไม่เเน่นอน โรคระบาดส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งด้านสังคม วิถีชีวิต รวมไปถึงเรื่องสำคัญอย่าง “สิ่งเเวดล้อม” เห็นได้ชัดว่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจรูปแบบเดิม ต้องเเลกมาด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดไปอย่างสิ้นเปลือง และไม่ได้คำนึงถึงสิ่งเเวดล้อมมากนัก จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ชาวโลกจะต้องช่วยกันเเก้ไข ก่อให้เกิดเทรนด์เศรษฐกิจแนวใหม่ ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือเพื่อพัฒนาการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนเเละมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดย “Green Recovery” หรือการฟื้นตัวของสิ่งเเวดล้อมของโลก เป็นเเนวทางการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนที่อยู่บนหลักคิดของการเป็นมิตรกับสิ่งเเวดล้อม สร้างงานสร้างรายได้ สร้างสรรค์ไอเดียเเละนวัตกรรมใหม่ ไปพร้อมๆ กับการลดความเสียหายต่อระบบนิเวศเเละสภาพภูมิอากาศ
มาทำความรู้จักสตาร์ตอัป “ธุรกิจสีเขียว” ระดับนานาชาติที่กำลังมาแรง ซึ่งกำลังพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อเยียวยาโลก ผ่านงาน Global Startup Fes. 2022 ในรูปแบบเว็บบินาร์ออนไลน์จาก Knowledge Capital นครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับเครือข่ายเเละหน่วยงานพันธมิตร
01 MINIWIZ: จากขยะสู่ “Work of Art” มูลค่าสูง เสนอชื่อโดย Taiwan Design Research Institute
ย้อนไปเกือบ 20 ปีก่อน อาเธอร์ หวง (Arthur Huang) วิศวกรโครงสร้างและสถาปนิกชาวไต้หวัน ใฝ่ฝันที่จะปฎิวัติการรีไซเคิลรูปเเบบใหม่ที่เน้นการเป็นโซลูชัน ESG ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
เขาได้ก่อตั้ง “MINIWIZ” อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2005 เพื่อคิดค้นเทคโนโลยีรีไซเคิลให้มีความง่ายและรวดเร็ว เข้าถึงได้ เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ผ่านการ “ดีไซน์” ให้เป็นวัสดุคุณภาพสูง แตกต่างจากการรีไซเคิลแบบเดิม ๆ
“เราต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เเละมีการหมุนเวียนกลับมาใช้ซ้ำได้ในรูปเเบบที่ดียิ่งขึ้น”
MINIWIZ นำขยะที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันมาสร้างสรรค์ใหม่ให้เป็น “Work of Art” งานสถาปัตยกรรมที่ล้ำสมัยกว่าการรีไซเคิลเเบบทั่วไป ทั้งสร้างตึก ร้านค้า บ้านเรือน ตกเเต่งโรงเเรมหรู ซึ่งมีการใช้งานจริงในหลายเมืองทั่วโลก อย่างการตกเเต่งภายในสำนักงานใหญ่ของเเบรนด์ดัง Nike ที่นิวยอร์ก โตเกียว เเละมิลาน ซึ่งล้วนมาจากการเเปรรูปขยะในชุมชน อย่างการเปลี่ยนขวดบรรจุนมให้เป็นสินค้าเเฟชั่นสปอร์ตเเวร์ ขวดพลาสติกสู่เครื่องเเต่งกายลักชัวรี่ ก้นบุหรี่ที่กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์เเละเเว่นตา พร้อมยกระดับการรีไซเคิลขยะสิ่งทอสู่สินค้าตกเเต่งบ้าน รวมไปถึงการรีไซเคิลหน้ากากอนามัย ของใช้จำเป็นทางการเเพทย์เเบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเเละที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือผ่านการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
วิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกนั้นมาพร้อมกับโอกาสทางการตลาดของธุรกิจ “Green Building” กว่า 5.56 เเสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพื่อเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนเเปลงในอนาคต MINIWIZ จึงกำลังพัฒนาเเพลตฟอร์มการผลิตในสเกลที่ใหญ่ขึ้น พร้อมสร้างคอมมูนิตี้ในท้องถิ่นให้เอื้อต่อการส่งขยะมารีไซเคิล ตลอดจนเปิดโอกาสการร่วมมือจากพาร์ตเนอร์ โดยเฉพาะกลุ่มนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะมีการเปิดตัวโครงการ Net Zero Carbon Building ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อปูทางสู่โปรเจ็กต์ ESG Campus ที่จะขยายไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก
02 Alto Tech: ระบบจัดการพลังงานที่ “ใช้ง่าย” เสนอชื่อโดย National Innovation Agency (NIA)
“AltoTech” สตาร์ตอัปคนไทยที่สร้างสรรค์แพลตฟอร์ม AIoT Energy Management เข้ามาช่วยจัดการการใช้พลังงานให้แก่ธุรกิจโรงแรม อาคาร สำนักงานเเละสมาร์ทซิตี้ ผ่านเทคโนโลยี AI ประหยัดค่าไฟฟ้าสูงสุด 30%
หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ได้ตั้งเป้านโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันอย่างเเพร่หลาย เเต่โจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไรเเละต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้จริง ๆ AltoTech จึงเกิดขึ้นมาเพื่อผลักดันการลดปริมาณ “รอยเท้าคาร์บอน” (Carbon Footprints) ช่วยให้ธุรกิจได้ลดต้นทุนเเละประหยัดการใช้พลังงานมากขึ้น
วโรดม คำแผ่นชัย เริ่มพัฒนาเเพลตฟอร์มของ AltoTech โดยต่อยอดไอเดียเมื่อครั้งยังศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค หลังมองเห็นปัญหาความยุ่งยากเเละซับซ้อนของระบบจัดการการใช้พลังงานต่าง ๆ อย่างโรงเเรมบางเเห่งที่ระบบเดิมที่ไม่ได้เชื่อมต่อกัน อีกทั้งยังขาดเเคลนผู้เชี่ยวชาญ
AltoTech ออกฟีเจอร์เเรกโดยชูจุดเด่นที่การเชื่อมต่อระบบภายในตึกเข้ากับอุปกรณ์ IoT ให้สามารถเเลกเปลี่ยนข้อมูลเเละทำงานร่วมกันได้เเบบเรียลไทม์ พร้อมระบบวิเคราะห์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและเครื่องกล ประมวลผลเเละทำความเข้าใจว่าควรปรับปรุง เพิ่มเติม เเละเเก้ไขจุดใด พร้อมเเสดงผลให้เห็นบนเเดชบอร์ดให้ผู้ใช้เข้าใจง่าย เช็กสถานะและควบคุมอุปกรณ์ผ่าน Alto Command Center วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินสภาพอากาศเเละปรับการจัดการให้เข้ากับสถานการณ์
“ตลาดนี้มีขนาดใหญ่เเละมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ทั้งการขยายไปยังตึกสำนักงาน โรงเเรม โรงพยาบาล ช้อปปิ้งมอลล์ ที่อยู่อาศัย ทั้งในไทยเเละอาเซียน” วโรดมกล่าว โดยบอกอีกว่า AltoTech วางเเผนจะขยายการให้บริการไปสู่ต่างประเทศเเละเเสวงหาความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในวงการธุรกิจต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero ให้เป็นจริงให้ได้
03 Grow Your Own Cloud: เก็บข้อมูลดิจิทัลไว้ใน DNA ของพืช เสนอชื่อโดย Ars Electronica
โลกจะเปลี่ยนไปเเค่ไหน หากเราสามารถ “เก็บข้อมูล” ไว้ใน DNA ของต้นไม้ที่สามารถสร้างพลังงานของตัวเองเเละดูดซับคาร์บอนได้ด้วย
“Grow Your Own Cloud” หรือ GYOC สตาร์ตอัปฝรั่งเศสที่มาพร้อมเเนวคิดสุดล้ำ ก่อตั้งโดยไซรัส คลาร์ก (Cyrus Clarke) กำลังพัฒนาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีนี้อยู่ หลังมองว่าการจัดเก็บข้อมูลในปัจจุบันยังไม่มีความมั่นคง ทั้งยังใช้พลังงานมหาศาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งเเวดล้อม
“DNA เป็นหนึ่งในที่จัดเก็บข้อมูลที่เก่าเเก่ที่สุดในโลกและสร้างขึ้นมาโดยธรรมชาติ ในปี 2018 เราเริ่มต้นด้วยโปรเจ็กต์ที่เป็นเพียงเเนวคิด จนได้กลายมาเป็นสตาร์ตอัปในปัจจุบัน เเต่ภารกิจของเรายังคงเหมือนเดิม คือต้องการเปลี่ยนผ่าน ‘ศูนย์ข้อมูล’ จากผู้สร้างคาร์บอนไปสู่ผู้ดูดซับคาร์บอนที่ทำงานร่วมกับธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี”
GYOC ประเดิมเปลี่ยน “ร้านดอกไม้” กลางใจเมืองให้กลายเป็นศูนย์ข้อมูลที่ใช้ DNA ของพืช เปิดให้ผู้คนได้เรียนรู้วิธีรับส่งข้อมูลเข้าไปในพืชเเละทดลองใช้จริง จากนั้นในปี 2020 ได้ขยายมาสร้างต้นเเบบ “Data Garden” ที่สามารถจัดเก็บและดึงข้อมูลจากพืชได้มากขึ้น พร้อมสร้างผลงานกับลูกค้าจริง ๆ โดยร่วมมือกับ LVMH บริษัทลักชัวรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เจ้าของเเบรนด์ดังอย่าง Dior, Louis Vuitton, Celine ฯลฯ
ปัจจุบัน Grow Your Own Cloud ยังสามารถจัดเก็บข้อมูลได้ในขนาด Kilobyte (เช่น ไฟล์ JPEG , MP3, TXT) เเต่ในปี 2025 บริษัทตั้งเป้าที่จะเก็บข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นเป็น gigabyte เเละในปี 2035 คาดหวังว่าจะพัฒนาให้เก็บข้อมูลได้ในระดับ petabyte โดยจะมีการขยายจาก Data Garden สู่การเป็น “Data Forest” ในอนาคต
ไปทำความรู้จักทั้ง 13 สตาร์ตอัปได้ที่ช่องทาง
Youtube Channel: ナレッジキャピタル / Knowledge Capital
หรือ https://youtu.be/6cBwzhpkpXI
เรื่อง : AS.