“ไครออนิกส์” เมื่อความตายเป็นแค่นิทรา เพื่อรอวันตื่นอีกครั้งในอนาคต
Technology & Innovation

“ไครออนิกส์” เมื่อความตายเป็นแค่นิทรา เพื่อรอวันตื่นอีกครั้งในอนาคต

  • 27 Jun 2022
  • 3294

ความตายอาจไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิตเสมอไป เมื่อ "ไครออนิกส์” (Cryonics) ได้เข้ามาเปลี่ยนความตายให้กลายเป็นแค่การหลับใหล เพื่อรอวันฟื้นคืนเมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ากว่าในปัจจุบัน แล้วไครออนิกส์คืออะไร มีไว้สำหรับใคร เป็นหนทางของการมีชีวิตนิรันดร์ หรือแค่ความเพ้อฝันที่ยังรอการพิสูจน์


©Dylan Sauerwein/Unsplash

หนทางสู่ความเป็นนิรันดร์
“หนูไม่ต้องการที่จะถูกฝังอยู่ใต้ดิน หนูอยากมีชีวิตที่ยืนยาวและคิดว่าในอนาคตพวกเขาจะค้นพบวิธีรักษามะเร็งและปลุกหนูให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง หนูต้องการโอกาสนี้ นี่คือความปรารถนาของหนู”

ถ้อยคำดังกล่าวปรากฏอยู่ในจดหมายที่เด็กหญิงอายุ 14 ปีชาวอังกฤษที่เขียนถึงศาลสูง เพื่อขออนุญาตให้ร่างกายของเธอถูกแช่แข็งเมื่อเสียชีวิตลง เด็กหญิงป่วยด้วยโรคมะเร็งรักษายากชนิดหนึ่ง และในช่วงเดือนสุดท้ายของชีวิตเธอค้นพบ “ไครออนิกส์” ในอินเทอร์เน็ต

ในช่วงเวลาที่เธอป่วยหนักเกินกว่าจะเข้ารับการพิจารณาคดีในศาล ผู้พิพากษาได้ไปเยี่ยมเธอที่โรงพยาบาล และในที่สุดได้มีคำตัดสินให้มารดาของเธอเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจตัดสินใจในการจัดการกับร่างกายหลังความตาย ซึ่งในเดือนตุลาคมปี 2016 แม่ของเด็กหญิงก็ทำให้เธอสมปรารถนา ด้วยการส่งร่างของเธอเข้ารับการแช่แข็ง

แนวคิดเรื่องการแช่แข็งมนุษย์ หรือ ไครออนิกส์ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1960 โดยศาสตราจารย์ชาวอเมริกัน โรเบิร์ต เอททิงเกอร์ (Robert Ettinger) ผู้เขียนหนังสือ The Prospect of Immortality หรือ มุ่งสู่ความเป็นอมตะ โดยเขาอ้างว่า หากแช่แข็งร่างกายของมนุษย์ไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำเพียงพอที่จะรักษาสภาพเซลล์ จะสามารถปลุกพวกเขาขึ้นมาอีกครั้งในวันหนึ่ง

อันที่จริงไครออนิกส์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในทางการแพทย์มีการแช่แข็งสเปิร์มมาตั้งแต่ปี 1954 หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตบางชนิดก็สามารถอยู่รอดในภาวะแช่แข็งและฟื้นขึ้นมาเมื่อละลาย

อย่างไรก็ตาม มนุษย์คนแรกที่ได้รับการแช่แข็งอย่างเป็นทางการคือ เจมส์ เบดฟอร์ด (James Bedford) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งไตก่อนจะลุกลามไปยังปอด เบดฟอร์ดได้แสดงเจตจำนงว่าเขาต้องการจะแช่แข็งตัวเอง เพื่อรอการตื่นในวันที่โลกมีหนทางรักษามะเร็งแล้ว เบดฟอร์ดเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 12 มกราคม 1967 ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นวันสำคัญของการแช่แข็งมนุษย์ที่เรียกว่า “Bedford Day”


©Jan Canty/Unsplash

สิ้นสุดเพื่อเริ่มต้นใหม่
แม้หมดลมหายใจก็ไม่อาจถือว่าเป็นความตายโดยสมบูรณ์ เพราะเซลล์ต่าง ๆ จะยังทำงานต่ออีกระยะหนึ่ง ซึ่งขั้นตอนของไครออนิกส์เริ่มต้นจากจุดนี้ โดยผู้ที่จะรับการแช่แข็งได้ ต้องเข้าสู่ภาวะ “ตายในทางกฎหมาย” หรือหัวใจหยุดเต้นก่อนเท่านั้น ระหว่างที่ระบบต่าง ๆ ของร่างกายกำลังทยอยสิ้นสุดลง เจ้าหน้าที่จะเริ่มกระบวนการไครออนิกส์ด้วยความรวดเร็ว เริ่มจากการใส่เครื่องช่วยหายใจและฉีดสารเพื่อรักษาสภาพเซลล์ ก่อนจะขนย้ายร่างไปยังศูนย์ไครออนิกส์และเริ่มต้นขั้นตอนการระบายของเหลวและแทนที่ด้วยสารป้องกันการเกิดผลึกน้ำแข็ง จากนั้นจึงทำร่างให้เย็นลงจนถึงติดลบและนำไปแช่แข็งในถังไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส เพื่อรอความหวังที่จะฟื้นคืนในเวลาที่เหมาะสม

ไครออนิกส์เป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้ประสงค์จะเก็บรักษาร่างกายและผู้ป่วยจากโรคที่ยังหาทางรักษาไม่ได้ ด้วยความหวังว่า ในอนาคตวิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าจนสามารถแก้ไข “ข้อบกพร่อง” ของร่างกายมนุษย์ได้ โดยค่าใช้จ่ายในการแช่แข็งร่างของศูนย์ไครออนิกส์นิกส์ในสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ Alcor อยู่ที่ราว 7 ล้านบาท สำหรับการแช่แข็งทั้งร่าง และเกือบ 3 ล้านบาท สำหรับการแช่แข็งเฉพาะศีรษะ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของ KrioRus ศูนย์ไครออนิกส์จากรัสเซียจะถูกกว่าเกินครึ่ง โดยเสนอราคาแช่แข็งทั้งร่างอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านบาท และแช่แข็งเฉพาะศีรษะอยู่ที่ 4 แสนบาท โดยทุกวันนี้มีผู้ที่เลือกแช่แข็งเฉพาะศีรษะเป็นจำนวนมาก ทั้งด้วยเหตุผลเรื่องค่าใช้จ่ายและด้วยความเชื่อที่ว่า อัตลักษณ์และความทรงจำของคนถูกเก็บอยู่ในสมอง ร่างกายที่เหลือจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป

หลับใหลในคืนอันยาวนาน
ปัจจุบันมีร่างที่ได้รับการเก็บรักษาด้วยวิธีไครออนิกส์จำนวนกว่า 500 รายทั่วโลก อาทิ เท็ด วิลเลียมส์ (Ted Williams) อดีตนักเบสบอลชื่อดังของอเมริกา ทั้งยังมีการรายงานถึงชื่อคนดังที่ให้ความสนใจไม่ว่าจะเป็น ปารีส ฮิลตัน (Paris Hilton) บริทนีย์ สเปียร์ (Britney Spears) ไซมอน โคเวลล์ (Simon Cowell) นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่าร่างของ วอลท์ ดิสนีย์ (Walt Disney) ก็ได้รับการแช่แข็งไว้ด้วยเช่นกัน โดยอยู่ภายในห้องลับของดิสนีย์แลนด์ ทว่าข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริงเพราะปัจจุบันเขาถูกฝังอยู่ที่สุสาน Forest Lawn ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ปี 2015 ด.ญ.เมทรินทร์ เนาวรัตน์พงษ์ หรือ "น้องไอนส์" เด็กหญิงชาวไทย วัย 2 ขวบ ได้กลายเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับการแช่แข็ง น้องไอนส์ป่วยด้วยมะเร็งสมองชนิดร้ายแรงหลังจากวันเกิดอายุครบ 2 ขวบ และเสียชีวิตลงก่อนที่จะอายุ 3 ขวบ ดร.สหธรณ์ และ ดร.นารีรัตน์ เนาวรัตน์พงษ์ พ่อและแม่ผู้เป็นเจ้าของบริษัทวิจัยและผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้ตัดสินใจใช้บริการไครออนิกส์ของบริษัท Alcor แช่แข็งส่วนศีรษะของน้องไอนส์ โดยหวังจะมอบโอกาสให้น้องไอนส์ได้มีชีวิตอีกครั้ง ในวันที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากพอ

"ความรักที่มีต่อเธอ ผลักดันเราสู่ความฝันทางวิทยาศาสตร์ชิ้นนี้" ดร.สหธรณ์กล่าว

ทั้งคู่ยังวางแผนที่จะแช่แข็งร่างกายของตัวเองด้วยเช่นกัน แม้จะรู้ว่ามีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะได้พบกับน้องไอนส์อีกในชีวิตใหม่ของตน และในฐานะนักวิทยาศาสตร์พวกเขาเชื่อว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ความหวังที่เกินจริง ทั้งยังอาจเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สิบปีนับจากนี้


©Bonnie Kolarik/Pixabay

เมื่อความหวังสำคัญกว่าวิทยาศาสตร์ที่ยังมาไม่ถึง
แม้จะรักษาร่างกายเอาไว้ได้ ทว่าการละลายความเย็นและชุบชีวิตที่หลับใหลยังคงเป็นแค่ความหวัง เพราะยังไม่มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ใดที่สามารถยืนยันว่ามนุษย์ที่ถูกแช่แข็งจะสามารถกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง

“การฝืนความตาย” ยังขัดแย้งกับหลักความเชื่อในหลายศาสนา ทั้งยังสร้างคำถามทั้งในเชิงสังคมและจริยธรรม เช่น ถ้าวันหนึ่งวิทยาศาสตร์ปลุกพวกเขาขึ้นมาได้จริง คนเหล่านี้จะยังคงตัวตนเดิมหรือไม่ พวกเขาจะอยู่ในโลกในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงและไม่มีคนรู้จักหลงเหลือได้จริงหรือ มันจะสนับสนุนให้คน “การุณยฆาต” เพื่อแช่แข็งตัวเองแล้วรอพบกับชีวิตใหม่ไหม สิ่งนี้เป็นความหวังหรือแค่หนทางหลีกหนีความเศร้าโศกจากการสูญเสีย

ไม่มีใครสามารถตัดสินหรือกระทั่งรู้คำตอบ และเมื่อถึงวันนั้นคงมีแต่พวกเขาเท่านั้นที่รู้

ที่มา :
บทความ “14-year-old girl who died of cancer wins right to be cryogenically frozen” จาก www.theguardian.com
บทความ “Cryonics: Could you live forever?” จาก www.sciencefocus.com
บทความ “Frozen child: The youngest person to be cryogenically preserved” จาก www.bbc.com
บทความ “The Cryonics Industry Would Like to Give You the Past Year, and Many More, Back” จาก www.nytimes.com

เรื่อง : ธัญลักษณ์ ย.