5 ผู้ประกอบการวัสดุไทยที่หยิบของเหลือใช้มาต่อยอดเป็นวัสดุใหม่ในฉบับ Circular Economy
Technology & Innovation

5 ผู้ประกอบการวัสดุไทยที่หยิบของเหลือใช้มาต่อยอดเป็นวัสดุใหม่ในฉบับ Circular Economy

  • 29 Jun 2022
  • 2676

ก่อนจะทิ้ง หรือเผาสิ่งที่เรียกว่า “ขยะ” ลองคิดดูดี ๆ ว่าของเหลือทิ้งเหล่านั้นสามารถใช้ประโยชน์อะไรได้อีกบ้าง ถ้ายังนึกไม่ออก ลองมาฟังผู้ประกอบการวัสดุไทยทั้ง 5 แบรนด์ที่หันมาหยิบทั้งเศษเหลือใช้ทางการเกษตร ขยะพลาสติก เศษผ้าในโรงงาน เศษจากงานจักสาน รวมถึงขยะที่ไม่มีใครต้องการและรอไปจบชีวิตที่หลุมขยะ มาหมุนใช้อีกครั้งด้วยการผสมผสานกับวัสดุอื่น ๆ จนกลายร่างเป็น “วัสดุใหม่” ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ พร้อมเพิ่มมูลค่าวัสดุในเชิงเศรษฐกิจ ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นงานออกแบบ สินค้า ผลิตภัณฑ์ และวัสดุทดแทนได้อีกไม่รู้จบ

RE-Hub Studio วัสดุไม้ทดแทนจากเส้นใยธรรมชาติ
ผู้ประกอบการ : ปองภพ เกณฑ์ชัยภูมิ
Material Maker จากเชียงใหม่ที่สร้างวัสดุทดแทนไม้ในงานอุตสาหกรรม เปลี่ยนจุดจบของเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรในชุมชน เช่น ใบสับปะรด ฟางข้าว เส้นใยตะไคร้ รวมถึงเศษที่ไร้เส้นใยอย่างกากกาแฟ ที่เคยถูกนำไปเผาและสร้างคาร์บอนมหาศาล ให้เป็นวัสดุต้นกำเนิดทดแทนไม้ธรรมชาติ 

วัสดุเหล่านี้ผ่านกระบวนการอัดโดยไม่ใช้ความร้อนในการขึ้นรูป ทำให้ตัดแต่งชิ้นงานได้อย่างไร้ขีดจำกัด รวมถึงกระบวนการผลิตยังใช้พลังงานต่ำ สามารถปล่อยให้วัสดุแห้งเอง และนำไปใช้ตอบโจทย์กับงานดีไซน์ต่าง ๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นลวดลายที่เกิดจากการผสมผสานวัตถุดิบที่แตกต่างเข้าด้วยกัน หรือการขึ้นรูปได้อย่างอิสระ จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ทรงกระบอกที่เหมาะกับเครื่องบดกาแฟ รีดเป็นแผ่นเหมาะสำหรับนำไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือผนังบ้านที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

สุดท้ายแล้วการหมุนเวียนเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรให้กลายมาเป็นวัสดุสร้างสรรค์ที่ใช้ทดแทนวัสดุอื่น ๆ ได้ไม่รู้จบนี้ นอกจากจะสามารถเล่าเรื่องผ่านวัตถุดิบต่างที่มาได้แล้ว ยังเป็นการแสดงถึงศักยภาพของคนไทย และช่วยบรรเทาวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างได้ผล  

Gemio บริษัทผลิตรองเท้าที่เปลี่ยนเศษเหลือจากการผลิตสู่วัสดุใหม่
ผู้ประกอบการ : อัครชัย เตชะวีรภัทร
Gemio คือผู้ผลิตรองเท้าผ้าใบที่พบว่าหลังจากการไดคัทรองเท้าทุกครั้งจะมีเศษผ้าที่เหลือถึง 25% จึงอยากหาวิธีการที่จะใช้วัสดุจากเศษผ้าเหลือทิ้งเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำมาผสมผสานกับคอมพาวด์ยางเกิดเป็นวัสดุใหม่ “ECO 2 Surface” ที่มีส่วนผสมของเศษผ้า 10% และยางพาราอีก 90%

วัสดุจากการหมุนเวียนนี้สามารถนำมาขึ้นรูปเป็นพื้นรองเท้าที่ช่วยเพิ่มการยึดเกาะและทำให้พื้นรองเท้าสึกหรอช้าลง พร้อมทั้งยังมีลวดลายและสัมผัสแตกต่างกันไปในแต่ละชิ้นงาน จนสามารถต่อยอดเป็นสินค้าแฟชั่นที่ร่วมมือกับแบรนด์ต่าง ๆ นำเสนอวัสดุใหม่นี้บนเวทีระดับประเทศได้

นอกจากนี้ ทีมงานยังได้พัฒนาวัสดุตัวใหม่ที่จะสามารถใช้เศษผ้าที่เหลือใช้ได้ทั้งหมด กลายมาเป็นวัสดุ “ECO 2 Fuse” ที่มีกระบวนการผลิตไม่ต่างจากเดิม แต่สัดส่วนของวัสดุที่ใช้ผลิต เปลี่ยนจากยางพารามาเป็นการเพิ่มปริมาณเศษผ้าให้มากกว่า ในสัดส่วน 90:10 ซึ่งวัสดุชิ้นใหม่ที่พัฒนาขึ้นมานี้ สามารถนำไปต่อยอดร่วมกับกระบวนการผลิตผ้าต่าง ๆ เช่น นำ ECO 2 Fuse ไปผสมผสานกับเทคนิคการย้อมครามจากธรรมชาติ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมากขึ้น

และสุดท้าย บริษัทฯ ยังได้พัฒนาวัสดุ “ECO 2 Shine” จากเศษวัสดุไม้สักและเศษขี้เลื่อยที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์เข้ามาเพิ่ม ซึ่งสามารถใช้ขึ้นรูปเป็นแผ่นรองกันลื่นทั้งบนโต๊ะ เป็นหน้าประตู หรือวัสดุปิดผิวในงานตกแต่งภายใน หรือแม้แต่นำกลับมาทำเป็นพื้นรองเท้า ผลิตภัณฑ์ตั้งต้นของบริษัทฯ ได้อีกด้วย

D&C Design and Concept ชุบชีวิตผ้ากระสอบให้เป็นวัสดุสุดเก๋สำหรับสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์
ผู้ประกอบการ : สัมฤทธิ์ ชูกลิ่น
Saxtex Sheet วัสดุจาก D&C Design and Concept เป็นวัสดุที่เกิดจากการนำผ้ากระสอบเก่าที่ทิ้งแล้วมาเคลือบกับน้ำยางสีธรรมชาติ สร้างเป็นวัสดุใหม่ที่สามารถนำไปมิกซ์แอนด์แมตช์กับวัสดุอื่น ๆ ได้อย่างกลมกลืน 

แนวคิดอัปไซคลิงที่นำของที่ไร้คุณค่าและไร้ประโยชน์กลับมาสร้างมูลค่าด้วยการเคลือบน้ำยางนี้ ช่วยเพิ่มคุณสมบัติกันเปียก กันฝน ทนต่อการฉีกขาดได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเช็ดทำความสะอาดง่าย ทั้งยังทำให้มีสีสันและลวดลายแบบงานศิลปะได้ตามที่ต้องการ จึงเปิดโอกาสให้แบรนด์ นักออกแบบ หรือโรงงานหยิบเอาวัสดุ Saxtex Sheet นี้ไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะการนำมาตัดเย็บเป็นสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ได้หลากหลาย รวมถึงใช้เป็นวัสดุปิดผิวที่สวยงามแตกต่าง พร้อมด้วยคุณสมบัติในการยึดเกาะ

นอกจากนี้ เศษที่เหลือทิ้งจาก Saxtex Sheet ยังสามารถนำมาอัปไซเคิลได้อีกครั้ง ด้วยการเข้ากระบวนการบดผสมกับยางแผ่นด้วยสูตรเฉพาะ สามารถขึ้นรูปเป็นวัสดุใหม่หน้าตาคล้ายซีเมนต์ที่สามารถหักงอได้ นับเป็นการนำวัสดุมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้อย่างไม่มีวันจบ  

Panae Craft กระดาษเตยปาหนันจากเศษเหลือทิ้งในงานหัตถกรรมชุมชน
ผู้ประกอบการ : สราวุธ กลิ่นสุวรรณ จากวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เตยปาหนัน บ้านดุหุน
5-20% คือเศษที่เหลือจากการทำหัตถกรรมผลิตภัณฑ์เตยปาหนัน บ้านดุหุน จังหวัดตรัง การนำวัสดุเหลือทิ้งไปใช้ประโยชน์ต่อเคยเป็นไปได้ยาก มีเพียงการนำไปเป็นวัสดุกันกระแทกจากธรรมชาติใช้ในการส่งพัสดุต่าง ๆ แต่ก็ไม่ทั้งหมด จึงมีการคิดต่อยอดจนกลายมาเป็น “วัสดุกระดาษจากเตยปาหนัน”

เตยปาหนันเป็นพืชแถบชายฝั่งทะเล ใบยาว มีหนามสามด้าน ประกอบไปด้วยซาโปนิน ฟลาโวนอยด์ แทนนิน สารขับไล่แมลงจากธรรมชาติ ที่เมื่อชุมชนนำมาขึ้นรูปเป็นภาชนะต่าง ๆ เช่น กระบุง กระเฌอ ก็จะใช้กันมอดกันแมลงได้ โดยภูมิปัญญาชาวบ้านแบบดั้งเดิมจะใช้ไฟลนใบก่อนให้นิ่ม และเป็นการไล่ความชื้นออกไปในตัว ช่วยป้องกันเชื้อรา

กระบวนการผลิตกระดาษเตยปาหนันไม่ต่างจากการผลิตกระดาษสา เริ่มจากการนำเศษไปต้มและเกลี่ยลงบนแผ่นเฟรม ทว่าการต้มเตยปาหนันให้เปื่อยยุ่ยนั้นยากกว่า ซึ่งผลที่ได้ออกมา นอกจากจะเป็นกระดาษแล้ว ยังสามารถต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์หลากรูปทรง เช่น โคมไฟ ที่บอกเล่าและสะท้อนวิถีชีวิตชุมชนที่ใช้แสงสว่างจากตะเกียงในการทำงานจักสานในอดีต เป็นต้น

Rewastec Co., Ltd. เม็ดและเชือกพลาสติกรีไซเคิลกลิ่นธรรมชาติ
ผู้ประกอบการ : วิศรุต ชาลี
พลาสติกที่เหมาะนำมารีไซเคิลมากที่สุดก็คือ พลาสติกประเภทที่ 1 PET พลาสติกประเภทที่ 2 HDPE และประเภทที่ 4 LDPE ซึ่งตลาดรีไซเคิลของสองประเภทแรกนั้นค่อนข้างใหญ่และมีช่องทางให้ไปต่ออีกมาก ขณะที่ขยะพลาสติกนิ่มหรือ LDPE เช่น ขวดน้ำเกลือ นั้นยังมีการนำมาต่อยอดไม่มากนัก 

บริษัท Rewastec จึงเลือกนำเอาพลาสติกประเภทนี้มาผสมกับขยะทางการเกษตร เช่น ชานอ้อย ใบไผ่ ฟางข้าว กากกาแฟ และอื่น ๆ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติของวัสดุ กลายเป็น “เม็ดพลาสติกและเชือกพลาสติก” กว่า 50 สูตร โดยใช้เครื่องรีดพลาสติกแบบสกรูคู่ (Twin Screw Exclusion) ในการผสมวัสดุขยะพลาสติกและขยะทางการเกษตรแบบ 100% ผ่านกระบวนการหาค่าพารามิเตอร์ โดยไม่เติมแต่งสารเคมีอื่นใด เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเม็ดพลาสติกผลิตใหม่ (Virgin)

เมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดพลาสติกที่ต้องผลิตใหม่ พลังงานที่ใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลนี้จะต่ำกว่า และยังลดคาร์บอนฟุตพรินต์ลงได้มากถึง 89% ซึ่งวัสดุที่ได้ออกมาจะให้สีแบบธรรมชาติตามสีของวัสดุทางการเกษตรที่นำมาผสม รวมถึงมีกลิ่นอ่อน ๆ ติดอยู่ด้วย วัสดุเม็ดและเชือกพลาสติกนี้สามารถนำไปฉีดขึ้นรูปได้ตามต้องการ เช่น บรรจุภัณฑ์ ภาชนะ เชือกป่าน หวายเทียม ที่นำไปเป็นผลิตเป็นสินค้าหัตถกรรมได้หลากหลายรูปแบบ 

ที่มา : งานเสวนา CIRCULAR ECONOMY: นวัตกรรมวัสดุหมุนเวียน เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จัดเมื่อ 17 มิถุนายน 2565 ที่ Material & Design Innovation Center ชั้น 2 อาคารส่วนหลัง TCDC กรุงเทพฯ

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร