สำรวจดู “แฟชั่นแฟใจ” กับโอกาสใหม่ ๆ ในเมตาเวิร์ส
Technology & Innovation

สำรวจดู “แฟชั่นแฟใจ” กับโอกาสใหม่ ๆ ในเมตาเวิร์ส

  • 12 Oct 2022
  • 1320

นาทีนี้ “เมตาเวิร์ส” (Metaverse) หรือจักรวาลนฤมิตน่าจะเป็นอีกหนึ่งคำที่ทุกคนต้องคุ้นหูไม่ว่าจะอยู่ในแวดวงไหน เมตาเวิร์สกลายเป็น “โลกเสมือนใบใหม่” ที่ใคร ๆ ต่างก็จับจ้องและอยากเข้าไปเรียนรู้ ระหว่างที่โลกจริงกำลังดำเนินไป เมตาเวิร์สก็กำลังก่อร่างและวาดฝันให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ดีกว่าและมากกว่า เช่นเดียวกับ “ตัวตน” ของเราเองที่กำลังก่อร้างสร้างใหม่ในพื้นที่แห่งนี้ 

รายงาน “Digital Ownership Report 2022” ระบุว่า ชาวอเมริกันเจนมิลเลนเนียล 63 เปอร์เซ็นต์ คาดหวังให้เมตาเวิร์สช่วยพวกเขาสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ ในขณะที่คนอเมริกันกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นพ้องว่า ไอเท็มดิจิทัลอย่าง “เสื้อผ้า” และ “งานศิลปะ” ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญสำหรับตัวตนพวกเขาแล้ว 

เมื่อผู้คนเริ่มแผ่ขยายพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งตัวตนที่เป็นไปได้หลากหลายกว่า และไม่ถูกจำกัดอยู่ในความเป็นจริงทางกายภาพอีกต่อไป แวดวงธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะเหล่า “แบรนด์เสื้อผ้า” จึงทยอยกันเข้ามาตอบสนองความต้องการของลูกค้าผ่าน “อวตาร” ในโลกเมตาเวิร์สอย่างไม่หยุดยั้ง และไม่แน่ว่าความมหัศจรรย์ของเมตาเวิร์สอาจทำให้แบรนด์และผู้บริโภคเติมเต็มได้จริงเกินกว่า “ความเสมือน” ที่ใครเคยนิยามไว้ก็ได้


blog.roblox.com

พื้นที่ใหม่ โอกาสใหม่
เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น สร้างพื้นที่ใหม่ ๆ ให้กับความสร้างสรรค์ รวมถึงเรื่องของการประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ผ่านการเปิดประสบการณ์ที่แปลกใหม่กว่าที่เคย ดังเช่นในปี 2021 ที่ผ่านมา Gucci ได้ร่วมมือกับเกมออนไลน์ Roblox ในการสร้าง Gucci Garden นิทรรศการชั่วคราวในโอกาสที่แบรนด์ครบรอบ 100 ปี มีการแบ่งออกเป็นห้องตามธีมให้ทุกคนได้ดื่มด่ำกับเรื่องราวของผลงานต่าง ๆ ภายใต้การนำของ อเลสซานโดร มิเคเล (Alessandro Michele) ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของแบรนด์ นิทรรศการนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณ ทัศนคติ และแรงบันดาลใจที่หลากหลาย ในการสร้างสรรค์งานแต่ละชิ้น โดยตัวของผู้เข้าชมในจอนั้นจะปรากฎให้เห็นเป็นอวตารว่างเปล่า ไร้เพศหรืออายุ เพื่อสื่อแทนผ้าใบว่างเปล่าที่ได้รับการแต่งแต้มหลังจากผ่านประสบการณ์การเดินทางไปในแต่ละห้อง จนกลายมาเป็น “เรา” ผู้มีเอกลักษณ์ในแบบของตนเอง นอกจากนี้ ยังมีการขายไอเท็มที่ระลึกเพื่อใช้ในแพลตฟอร์มได้อีกด้วย 

ในขณะที่ปีต่อมา ตัวแบรนด์ก็ได้ต่อยอดความสำเร็จผ่าน Gucci Town พื้นที่อันเปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์สินค้าของแบรนด์ แกลเลอรี มินิเกมเพื่อสะสมแต้มเข้าช้อป ร้านค้าเสมือนจริงสำหรับอวตารที่เพิ่มความเอ็กซ์คลูซีฟผ่านการสงวนสิทธิ์การจับจ่ายแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ในเมืองจำลอง รวมถึงคาเฟ่และพื้นที่พิเศษที่ออกแบบมาให้ยูสเซอร์ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวของกันและกันโดยเฉพาะ  


decentraland.org

สถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา ยังเอื้อให้เมตาเวิร์สแสดงศักยภาพใหม่ ๆ ต่อวงการแฟชั่นได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการเกิดขึ้นของ Metaverse Fashion Week (MVFW) ที่จัดขึ้นโดย Decentraland เป็นครั้งแรกเมื่อช่วงต้นปี 2021 ที่มีทั้งแบรนด์ที่ตั้งรกรากอยู่ในแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยเฉพาะ และแบรนด์ชั้นนำเก่าแก่แต่นับว่าเป็นน้องใหม่ในแวดวงเมตาเวิร์สเข้าร่วมเกินกว่า 60 แบรนด์ งานในครั้งนี้ ผู้ชมทุกคนเข้าชมงานได้ฟรีและยังสามารถเลือกซื้อสินค้า NFT ผ่านระบบสกุลเงินดิจิทัลที่แพลตฟอร์มรองรับ พร้อมดื่มด่ำไปกับบรรยากาศที่เหมือนได้นั่งอยู่ “ฟรอนต์โรว์” ของงานแฟชั่นวีกจริง ๆ ด้วยการแสดงแคตวอร์กเปิดตัวคอลเล็กชันใหม่ ๆ ที่จุใจ งานสัมมนาเต็มรูปแบบ และประสบการณ์เชิงโต้ตอบกับผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ รวมถึงอาฟเตอร์ปาร์ตี้ที่สนุกสุดเหวี่ยงได้แม้กายจะอยู่ที่บ้าน 

โดยกระแสตอบรับงานดังกล่าวเรียกได้ว่าดีเกินคาด เมื่อมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 108,000 คน และมียอดการซื้อขายเสื้อผ้าดิจิทัลกว่า 7,000 ชุด ผ่านการนำเสนอแบบใหม่ที่แฟชั่นไม่ได้ถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์เดิม ๆ อีกต่อไป ทั้งในเรื่องของความเป็นไปได้ในการเลือกใช้วัสดุล้ำจินตนาการ หรือกระทั่งเรื่องของกฎเกณฑ์ทางชนชั้นที่อาจเคยกีดกันผู้คนให้ห่างออกไป 

เมื่อพิจารณาถึงงานแฟชั่นโชว์ทางกายภาพแบบเดิม ๆ หลายคนอาจจะนึกถึงแผนที่นั่งที่เข้มงวด จำกัดผู้เข้าชมงานตามสถานะทางสังคม จนทำให้หลายคนพลาดโอกาสที่จะได้เข้าร่วมหรือเสพผลงานในมุมมองที่เท่าเทียม แต่โลกเมตาเวิร์สแห่งนี้ได้เปลี่ยนทุกคนให้กลายเป็นผู้ชม VIP แถวหน้าในระนาบเดียวกัน และดื่มด่ำประสบการณ์ได้เต็มที่เหมือนกัน ในขณะที่การตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมก็ยืดหยุ่นได้ถึงวินาทีสุดท้าย ต่างจากเดิมที่จะต้องวางแผนล่วงหน้ายาวนาน

โลกเสมือนใบนี้จึงกลายเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้แบรนด์ได้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มที่กว้างขึ้น รวมถึงลูกค้าเจเนอเรชันใหม่ที่ยินดีจะเชื่อมต่อกับแบรนด์แฟชั่นและความงามผ่านโลกเสมือนได้มากขึ้นเช่นกัน ขณะที่แบรนด์ยังได้โอกาสในการแสดงจุดยืนใหม่ ๆ ที่มีต่อเมตาเวิร์สในแบบที่คาดไม่ถึงอีกด้วย


Overpriced.NFT/twitter.com

สารพันสินค้า มูลค่าจริง “ไม่เสมือน”
เมื่อความเป็นไปได้ขยายกรอบมากกว่าที่เคยเป็น วิธีการรังสรรค์ผลงานและหนทางสู่สินค้าในแบบใหม่ ๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้เช่นกัน นอกจากแบรนด์ต่าง ๆ จะเริ่มผลิตเสื้อผ้าสำหรับให้อวตารของแต่ละคนได้เลือกสวมใส่ให้ตรงกับอัตลักษณ์ที่ต้องการนำเสนอแล้ว ในปีที่ผ่านมา “Overpriced” แบรนด์แฟชั่น NFT ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่จากการขาย “ฮูดดี้” ในราคาประมูลที่สูงถึง 26,000 เหรียญสหรัฐ และผลิตเสื้อจริง ๆ ที่มีลายรหัส V-Code ให้ผู้สวมใส่สแกนเพื่อแสดงว่า NFT รับรองความถูกต้อง พร้อมหลักฐานความเป็นเจ้าของสู่สาธารณะได้ 

ยิ่งไปกว่านั้น หากฮูดดี้ที่สวมใส่อยู่เกิดหาย ถูกขโมย หรือเจ้าของเก่าต้องการขายให้กับคนอื่น V-Code ที่อยู่บนเสื้อตัวเดิมก็จะถูกทำลายทิ้ง ก่อนจะส่งเสื้อตัวใหม่ให้กับเจ้าของผู้ครอบครองโดยชอบธรรมเพื่อที่จะกลายเป็น “ของแท้ชิ้นใหม่” ทันที นี่จึงเปรียบเสมือนกับได้สวมใส่ชิ้นงานศิลปะจริง ในขณะที่แบรนด์อื่น ๆ ก็เริ่มการขายสินค้า NFT ที่มีคุณค่าไม่แพ้สินค้าลิมิเต็ดในช้อปแบบเดิม อวตารของเราในโลกเสมือนจะสามารถถือครองสินค้าดิจิทัลต่าง ๆ ในรูปแบบของ NFT และอาจส่งต่อให้กับลูกหลานต่อไปเป็นมรดกสำหรับครอบครัวก็ได้ ยิ่งในช่วงเริ่มแรกของวงการเช่นนี้แล้ว สินค้าชิ้นแรก ๆ ของแต่ละแบรนด์ในตลาดเมตาเวิร์สจึงยิ่งมีแนวโน้มทางมูลค่าสูง ประหนึ่งชิ้นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์แฟชั่น ที่มีเพียงคนยุคเราเท่านั้นที่จะมีโอกาสคว้าผลงานเหล่านี้ไว้ 


dezeen.com

ในขณะเดียวกันเทคโนโลยี AR ที่เป็นหนึ่งในสะพานเชื่อมโลกจริงและโลกเสมือนก็ได้ถูกนำมาปรับใช้กับแวดวงแฟชั่นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงสินค้าขนาดจริงให้เห็นได้ตรงหน้าแม้ตัวจะไม่ได้อยู่ที่ร้าน หรือกระทั่งการลองสวมใส่เสื้อและรองเท้าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อจริง รวมถึงขั้นกว่าของการลองอย่างการซื้อสินค้าดิจิทัลมาใส่จริง ยกตัวอย่างเช่นรองเท้า “Gucci Virtual 25” ที่เปิดตัวมาเมื่อปีที่แล้วในราคาตั้งแต่ 9-12 เหรียญสหรัฐ รองเท้าในโลกเสมือนนี้สามารถสวมใส่ได้ราวกับฟิลเตอร์หน้าสวย เพื่อใช้ถ่ายรูปและวิดีโอสำหรับอัปอวดเพื่อน ๆ ในโซเชียลฯ และหากสั่งซื้อรองเท้านี้ผ่านแอปฯ ของแบรนด์โดยตรง ก็จะสามารถปลดล็อกรองเท้าคู่นี้สำหรับอวตารของตัวเองในแพลตฟอร์ม VRchat และ Roblox ด้วย อย่างไรก็ตาม ไอเท็มนี้ต่างจาก NFT ที่ผู้ซื้อไม่ได้มีใบรับรองความเป็นเจ้าของ จึงมีสิทธิ์แค่เข้าถึงและสวมใส่รองเท้า แต่ไม่อาจขายซ้ำได้ 

นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์แฟชั่นอื่น ๆ อย่าง The Frabicant หรือ DressX ที่ขายเสื้อผ้าโดยไม่ต้องมีผ้าสักชิ้น แบรนด์เหล่านี้สร้างชุดสวยเก๋อยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เปิดโอกาสสำหรับความสร้างสรรค์อย่างเต็มเปี่ยม ฉีกทุกกฎเกณฑ์ และหากเราถูกใจชุดไหนจนอยากที่จะเห็นมันมาสวมใส่อยู่บนเรือนร่างตัวเอง เราก็เพียงแค่จ่ายเงินและแนบรูปถ่ายที่โพสต์อย่างมั่นใจและเข้ากับชุด หรืออาจจะจ่ายให้เสื้อผ้าเหล่านี้กลายมาเป็นฟิลเตอร์ AR ที่ทับซ้อนกับวิดีโอภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของเรา หรือแม้กระทั่งซื้อเก็บในรูปแบบของ NFT ก็ย่อมได้

มากกว่าโลกเสมือน คือการได้ช่วยโอบอุ้มโลกจริง
แม้ว่ากระแสของโลกเมตาเวิร์สอาจจะยังอยู่ในช่วงที่เพิ่งเริ่มต้น และแนวคิดของการครอบครองสิ่งต่าง ๆ ในแบบที่อยู่ในโลกเสมือนรวมถึงการสร้างตัวตนผ่านอวตาร อาจจะยังเป็นแนวคิดใหม่ที่เข้าใจยากไปสักหน่อย แต่ถึงอย่างนั้นผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ยังจับตาดูการเข้ามาของเมตาเวิร์สที่จะเปลี่ยนแปลงโลกแฟชั่นไปในทางที่ดีขึ้น 

การศึกษาหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า โลกแฟชั่นที่เกิดขึ้นในโลกเสมือนนี้ดูจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เราคิด ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาจาก DressX ชี้ให้เห็นว่า การผลิตเสื้อผ้าดิจิทัลปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าการผลิตเสื้อผ้าจริงถึง 97 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังไม่ได้มีการใช้น้ำในกระบวนการผลิต จึงช่วยประหยัดน้ำเฉลี่ย 3,300 ลิตรต่อปี ยิ่งไปกว่านั้นยังมีข้อมูลชี้ว่า การแทนที่เสื้อผ้าจริงด้วยเสื้อผ้าดิจิทัลในกระบวนการออกแบบและพัฒนายังช่วยลดคาร์บอนฟุตปรินต์ของบริษัทได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ด้วย และการใช้เสื้อผ้าดิจิทัลในการทำการตลาดก่อนวางขายจริง ก็ยังช่วยแก้ปัญหาการผลิตที่มากเกินความต้องการที่นับเป็นปัญหาใหญ่ในแวดวงแฟชั่น รวมถึงช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากการขนส่ง การส่งคืน และช่วยลดปัญหาขยะจำนวนมากที่เกิดจากการอุปนิสัยการใส่เสื้อผ้าเพียงไม่กี่ครั้ง หรือกระทั่งการเดินทางข้ามน้ำข้ามทวีปเพื่อเข้าร่วมงานแฟชั่นโชว์เพียงไม่กี่นาที ก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป และนี่ก็อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยโลกจริงได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันนี้ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในโลกเสมือนก็ยังคงต้องพิสูจน์ตัวเอง ว่าจะเป็นสิ่งที่ผ่านเข้ามาและผ่านไปอย่างฉาบฉวย หรือจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป สเตฟาน เซอร์กีฟ (Stepan Sergeev) ผู้ก่อตั้ง OneWayBlock ไม่คิดว่าแฟชั่นดิจิทัลจะเข้ามาครองโลกในเร็ววันนี้ เขาให้ความเห็นว่า “ประเด็นที่ผู้คนซื้อชุดของดีไซเนอร์ คือเพื่อให้คนเห็นสิ่งที่คุณสวมใส่ ถ้าเมตาเวิร์สยังไม่มีผู้คนอยู่มากพอที่จะเห็นมัน คุณค่าทางสังคมของมันก็จะหายไปด้วย ดังนั้น เว้นแต่ว่าจะมีการอพยพของคนครั้งใหญ่เข้าสู่เมตาเวิร์ส ผมก็ยังไม่เห็นว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้น” อีกทั้งอิทธิพลและบรรยากาศของงานแฟชั่นวีกดั้งเดิมก็ยังคงเป็นศูนย์กลางของระบบนิเวศในอุตสาหรรมแฟชั่นอยู่ดี 

แต่ไม่ว่าอนาคตอันไกลจะยากที่จะคาดเดาขนาดไหน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน รวมถึงอนาคตอันใกล้นี้เมตาเวิร์สจะเข้ามามีบทบาทในวงการแฟชั่นเพิ่มมากกว่าที่เคยอย่างแน่นอน จนมีการคาดการณ์ว่า ตลาดของแฟชั่นดิจิทัลอาจมีมูลค่าถึง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2030 

“เราไม่ได้มองรูปแบบดิจิทัลและโลกเสมือนเป็นคู่อริ” อันเดรีย เดลลา วัลเล่ (Andrea Della Valle) ประธานของ Hogan และรองประธานแห่ง Tod’s Group กล่าว “แต่เป็นวิวัฒนาการของการสื่อสารรูปแบบใหม่ มีความดื่มด่ำและแพร่หลายมากขึ้น ทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีในการขยายจักรวาลของแบรนด์” ดังนี้เอง โลกเสมือนแห่งนี้จึงอาจไม่ใช่การมาเพื่อแทนที่สิ่งที่มีอยู่เดิม แต่เป็นการเข้ามาเพื่อช่วยประคับประคองและเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้วงการแฟชั่นได้เติบโต ในแบบเดียวกับที่แวดวงศิลปะอื่น ๆ ได้เริ่มก้าวข้ามขีดจำกัดต่าง ๆ ที่เคยมีไปแล้ว 

เส้นแบ่งของความเป็นจริงที่จับต้องได้กับความเสมือนที่มองเห็นกำลังค่อย ๆ เลือนหายและเชื่อมต่อกันเป็นหนึ่ง ในฐานะผู้เล่นรุ่นแรกที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จึงอาจพูดได้ว่า เรามีอำนาจมากกว่าใครที่จะกำหนดความเป็นไปของโลกเสมือนใบนี้ สถานที่ซึ่งไม่เพียงจะขับเคลื่อนด้วยพลังของการ “ออกแบบ”  แต่ยังขึ้นอยู่กับคำว่าคนทั้งโลกจะ “ซื้อ” คอนเซปต์นี้มากแค่ไหน และนี่ต่างหากที่จะเป็นขีดจำกัดอันใหม่ที่ท้าทายทุกวงการที่ต้องการเข้ามาลงหลักปักฐานในบ้านใหม่หลังนี้

ที่มา : บทความ “Reinventing yourself in the Metaverse through digital identity” โดย Rachel Wolfson จาก cointelegraph.com
บทความ “How the Metaverse can revolutionize the fashion industry” โดย Shiraz Jagati จาก cointelegraph.com 
บทความ “What’s the Future for Fashion Brands in the Metaverse?” โดย Anastasiia Ageeva จาก dailyhodl.com 
บทความ “Do we need fashion weeks anymore? How the metaverse, digital avatars and live-streamed catwalk shows are democratising the luxury landscape” โดย Leona Liu จาก scmp.com 
บทความ “The Metaverse Could Radically Reshape Fashion” โดย Rosalind Jana จาก wired.com 
บทความ “A Virtual Runway: The Metaverse Reshapes Fashion” โดย Joseph V. Amodio จาก barrons.com 
บทความ “Decentraland to host "first-ever" metaverse fashion week” โดย Alice Finney จาก dezeen.com 
บทความ “How Fashion Brands Can Enter The Metaverse” โดย Alison Bringé จาก forbes.com
บทความ “Gucci releases first virtual sneaker that can only be worn in digital environments” โดย Jennifer Hahn จาก dezeen.com 
บทความ “Overpriced.™ NFT-Powered Hoodie Sells for $26,000 USD” โดย Rosie Perper จาก hypebeast.com 
บทความ “All the major highlights from the 2022 Metaverse Fashion Week” โดย Manas Sen Gupta จาก lifestyleasia.com 
บทความ “We toured Gucci Town, a branded Roblox world – here’s our review” โดย Chris Sutcliffe จาก thedrum.com
บทความ “Gucci built a persistent town inside of Roblox” โดย Andrew Webster จาก theverge.com
บทความ “The Gucci Garden Experience Lands on Roblox จาก blog.roblox.com 

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง