สั่งของยังไง ให้รบกวนโลกน้อยลง : ชวนส่อง “วัสดุกันกระแทก” ทดแทนบับเบิลพลาสติก
เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกฟินเวลาที่ได้รับพัสดุมาส่งถึงบ้านทั้ง ๆ ที่เพิ่งสั่งไปไม่กี่วันก่อน แต่พอเปิดกล่องออกมาแทบทุกครั้ง ก็จะเจอพลาสติกกันกระแทก ซึ่งบางครั้งก็เป็นโฟม และกว่าจะเจอของที่ต้องการจริง ๆ ก็ต้องนั่งแกะง่วนกันสักพักทีเดียว
วัสดุกันกระแทกเหล่านี้สุดท้ายก็จะกลายเป็นขยะ ยกเว้นว่าจะมีการนำไปใช้ต่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ยากสำหรับแม่ค้าพ่อขายที่อยากจะรักษาความสะอาด และยากสำหรับลูกค้าที่ต้องมาจัดการภายหลัง ล่าสุดจึงมีธุรกิจรักษ์โลกพัฒนา “วัสดุทางเลือก” ที่สามารถใช้ทดแทน “บับเบิลพลาสติก” หรือ “โฟม” ได้ ด้วยวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายกว่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าอย่าง “กระดาษ” “ก้านผักตบชวา” แม้แต่ “เห็ด”
PadPak
เริ่มที่ “PadPak” และ “Geami WrapPak” กระดาษกันกระแทกจากแบรนด์ Ranpak ที่บริษัทแอล. วาย. คอมเมอร์เชียล เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย โดยทั้งสองวัสดุนี้ผลิตจากกระดาษที่ได้มาจากป่าไม้ซึ่งผ่านการรับรอง FSC ที่ยืนยันว่าได้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริง ๆ และไม่ใช่มาจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่ง PadPak จะสามารถรองรับสิ่งของได้ตั้งแต่ของที่มีน้ำหนักมาก ไปจนถึงของที่บอบบาง แตกหักง่าย ด้วยเทคโนโลยีการขึ้นรูปกระดาษเป็นกระดูกงูเพื่อรองรับน้ำหนัก ส่วน Geami WrapPak นั้น เป็นที่รู้จักกันในชื่อกระดาษตาข่ายรังผึ้ง เพราะลักษณะเป็นรูพรุนคล้ายกับรังผึ้ง เหมาะสำหรับการนำไปห่อหุ้มวัตถุต่าง ๆ เพื่อกันกระแทกก่อนการขนส่ง
Geami WrapPak”
นอกจากนี้ก็ยังมี “ผักตบชวากันกระแทก” อีกหนึ่งวัสดุที่ใช้ประโยชน์จากผักที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อแม่น้ำลำคลอง โดยแบรนด์ตบชวาได้แรงบันดาลใจจากการที่เคยเป็นผู้รับพัสดุมาก่อน แล้วพบว่าขยะที่มาพร้อมกับพัสดุนั้นมีมากมายมหาศาล แถมยังไม่เป็นมิตรต่อโลก จึงพยายามคิดค้นหาทางใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติทดแทน จนมาพบคุณสมบัติของผักตบชวาที่มีรูพรุน และรับแรงกระแทกได้ดี เหมาะกับการนำมาใช้เป็นวัสดุกันกระแทกทดแทนโฟมและพลาสติก ที่สำคัญยังเป็นวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หากบ้านไหนที่ปลูกต้นไม้ก็สามารถนำมาใช้แทนวัสดุคลุมหน้าดินได้อีก หรือจะนำไปรมควันเทียนเพิ่มกลิ่นหอมจากผักตบชวา แม้แต่อัดขึ้นรูปเป็นสินค้าและต่อยอดเป็นงานดีไซน์ได้หลากหลาย โดยนอกจากผักตบชวาแล้ว ก็ยังมีวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกันอย่างเช่น ก้านกล้วย ที่น่าสนใจไม่น้อย
ผักตบชวากันกระแทก
แต่ถ้าใครที่ยังอยากใช้พลาสติกกันกระแทกอยู่ ก็อาจจะลองดู “พลาสติกชีวภาพ” ที่มีคุณสมบัติย่อยสลายได้ อย่าง “FruitPlast” บับเบิลพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากผลไม้เหลือทิ้งจากการคั้นน้ำและจากสวนของเกษตรกร โดยบริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด ได้นำขยะอินทรีย์ที่ได้มาผ่านกระบวนการทางชีวภาพโดยการหมักและสกัดออกมาเป็นไบโอพอลิเมอร์ชนิด PHA (Polyhydroxyalkanoates) ที่มีคุณสมบัติแข็งแรงมากกว่าบับเบิลพลาสติกทั่วไปตามท้องตลาด แถมยังป้องกันความชื้นและรังสียูวีได้มากขึ้นด้วย ที่สำคัญคือสามารถย่อยสลายได้ด้วยการหมักง่าย ๆ ในบ้าน
FruitPlast
และคำตอบสุดท้าย จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก “เห็ด” ที่จะมากอบกู้โลก! เมื่อนักเพาะเห็ดทดลองนำเส้นใยเห็ดมาผสมกับขยะทางการเกษตร เกิดมาเป็น “ฟันไจแมทเทอร์ (FungiMatter)” หรือ วัสดุทดแทนโฟมจากเส้นใยเห็ด ที่มีน้ำหนักเบาและสามารถรับแรงกระแทกได้เช่นเดียวกับโฟม สามารถทดแทนกันได้แบบ 100% แต่เพิ่มคุณสมบัติการลอยน้ำ เป็นฉนวนกันความร้อน ทนไฟ แถมด้วยความสามารถในการย่อยสลายตามธรรมชาติได้ภายใน 90 วัน แบบที่โฟมก็ไม่มีวันทำได้ ที่สำคัญยังสามารถขึ้นรูปทรงได้แบบที่ต้องการตั้งแต่ต้น เพราะเป็นการเพาะเชื้อเห็ดลงในแม่พิมพ์โดยตรงนั่นเอง
FungiMatter
ถึงแม้ว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดปัญหาขยะจากการขนส่งพัสดุต่าง ๆ จะเป็นการเลือกซื้อของใกล้บ้าน ที่คำนวณแล้วเหมาะสมและคุ้มค่ากับแรงและเวลาที่ต้องเสียไป แต่หากเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้อง F ของ หรือสั่งพัสดุ หรือหากคุณเป็นหนึ่งในพ่อค้าแม่ค้าที่มียอดออร์เดอร์เข้าไม่หยุด ก็อาจลองดูวัสดุทางเลือกเหล่านี้ ที่อย่างน้อยก็สามารถลดการใช้พลาสติกและโฟมกันกระแทกให้กับโลกลงได้บ้าง
สามารถสืบค้นข้อมูลวัสดุไทย เพิ่มเติมได้ที่ www.tcdcmaterial.com
เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร