รู้จัก “โรคตึกเป็นพิษ” ที่ไม่เป็นมิตรกับชาวเมือง  และวิธีเปลี่ยน “พิษ” ให้เป็น “มิตร” ด้วย “วัสดุปิดผิว” จากธรรมชาติ
Technology & Innovation

รู้จัก “โรคตึกเป็นพิษ” ที่ไม่เป็นมิตรกับชาวเมือง และวิธีเปลี่ยน “พิษ” ให้เป็น “มิตร” ด้วย “วัสดุปิดผิว” จากธรรมชาติ

  • 04 Nov 2022
  • 2141

ร้อยละ 90 คือเวลาที่มนุษย์ทั่วไปใช้ไปในตึก อาคาร บ้าน หรือคอนโดมิเนียม ที่บางครั้งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเราได้โดยที่ไม่รู้ตัว เพราะสารระเหยและสารเคมีที่ออกมาจากข้าวของเครื่องใช้ ผนัง หรือแม้แต่อากาศที่ไม่ระบาย ก็อาจทำให้เกิด “โรคตึกเป็นพิษ” ได้ 

โรคตึกเป็นพิษ หรือ Sick Building Syndrome เกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวที่ไม่เป็นมิตรต่อร่างกาย บางคนอาจจะแค่อึดอัด หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก แสบตา ส่งผลให้เสียสมาธิ รู้สึกหงุดหงิดง่าย แต่กับผู้ป่วยที่ประสบปัญหาเรื่องทางเดินหายใจหรือภูมิแพ้อยู่แล้ว ผลกระทบเหล่านี้ก็จะยิ่งทำให้อาการแย่ลง

นอกจากจะป้องกันด้วยการดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เป็นประจำแล้ว การปรับเปลี่ยนสภาพสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวก็มีผลมากทีเดียว เช่น พยายามเก็บข้าวของที่ดูน่าจะเป็นพิษออกห่างตัว หรือถ้าทำได้ก็เลิกใช้ไปก่อน แม้แต่การเลือกใช้ “สีทาผนัง” หรือ “วอลล์เปเปอร์” ที่มีค่าสารระเหยอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยก็มีส่วนช่วยมากเช่นเดียวกัน

วัสดุธรรมชาติอย่าง “ซิลค์ พลาสเตอร์ (Silk Plaster)” จากประเทศลัตเวีย ที่จัดจำหน่ายโดย บริษัท ไพรม์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ไหม ฝ้าย ไผ่ หรือเปลือกไม้ และวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ ที่มีสีสันและแบบให้เลือกกว่า 300 ชนิด ให้ผิวสัมผัสแบบธรรมชาติ และเป็นวัสดุวอลล์เปเปอร์แบบเหลวที่เรียกว่า Liquid Wallpaper ปราศจากสารเคมีและกลิ่นฉุนรุนแรง ที่สำคัญเมื่อใช้งาน จะไม่มีเศษเหลือทิ้งเหมือนการตัดใช้วอลล์เปเปอร์ทั่วไป เพราะลักษณะการใช้งานที่เป็นใย สามารถนำมาผสมกับน้ำแล้วใช้ฉาบลงบนพื้นผิวที่จะติดตั้งคล้ายกับการฉาบปูน นอกจากนี้ ยังสามารถใช้กับงานสร้างสรรค์เชิงศิลปะได้ เพราะสร้างลวดลายได้หลากหลายตามที่ต้องการ

หรือจะเป็น บริษัท นากาอิ จำกัด ที่คิดค้นวัสดุจากเยื่อกระดาษของ “Eterno Wallpaper” วอลล์เปเปอร์ผ้าฟลีซเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น ที่ใช้วัตถุดิบจากป่าปลูกซึ่งได้รับการรับรองจาก FSC™ ว่ากระบวนการผลิตไม่ทำลายป่าธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตออกมาทั้งหมด 4 รุ่นในลักษณะการใช้งานที่ต่างกัน โดยคุณสมบัติพื้นฐานของวัสดุเยื่อกระดาษ จะช่วยในเรื่องการระบายอากาศและลดความชื้นภายในห้องที่เป็นอีกสาเหตุของโรคตึกเป็นพิษด้วย และมีการเพิ่มคุณสมบัติการระงับกลิ่น ต้านเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย พร้อมทั้งสามารถดักจับคาร์บอนในรุ่น Shikkui Fleece อีกเป็นพิเศษ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้งานในกรณีเฉพาะหรือผู้ที่มีอาการแพ้สูง เช่น ห้องในโรงพยาบาล เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมจากดินและหินธรรมชาติจากทางฝั่งยุโรป ที่ บริษัท แมทเด็ป จำกัด นำเข้ามาจัดจำหน่าย นั่นก็คือ Modified Clay Material หรือ MCM ที่เรียกง่าย ๆ ว่าแผ่นดินเหนียวดัดแปลงในแบรนด์ “โกเล็ม (Gohlem)” ที่นำดินบดละเอียดและหินมาผลิตเป็นแผ่นบางเฉียบพร้อมเสริมโครงหลังด้วยตาข่ายใยแก้ว สามารถใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอก รวมไปถึงใช้ปูพื้นเพื่อกันลื่นได้อีกด้วย เพราะวัสดุทำจากธรรมชาติที่มีความนูนต่ำ และยังคงความสบายเท้าเมื่อสัมผัส มีคุณสมบัติพิเศษคือช่วยดักกลิ่นและระบายกลิ่น เพื่อปรับให้สภาพอากาศภายในห้องดีขึ้น แถมยังช่วยลดอุณหภูมิภายในห้องในสภาวะอากาศร้อน เหมาะสำหรับประเทศเมืองร้อนในแถบบ้านเราเป็นอย่างดี

การจะแก้ปัญหาของ “โรค” หลาย ๆ ครั้งก็คงต้องวนกลับมาแก้ที่ต้นทางหรือการเลือกใช้วัตถุดิบธรรมชาติที่ “โลก” มอบให้ เมื่อสภาพแวดล้อมในตึก อาคาร หรือห้องไม่เป็นมิตรต่อผู้อยู่อาศัย ก็ต้องหาวิธีปรับเปลี่ยน อย่างน้อยวัสดุเหล่านี้ก็อาจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขณะที่อยู่ออฟฟิศ หรือช่วยให้หายใจได้ปลอดโปร่งตอนที่พักผ่อนที่บ้าน เพื่อให้คุณพร้อมที่จะใช้ชีวิตส่วนตัวและชีวิตทำงานให้อย่างเต็มที่แม้จะอยู่ในพื้นที่อินดอร์ก็ตาม

สามารถสืบค้นข้อมูลวัสดุไทย เพิ่มเติมได้ที่ www.tcdcmaterial.com 

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร