เรียนรู้หลักสูตร “Well-Being Design & Engineering – ออกแบบดีมีสุข”
Technology & Innovation

เรียนรู้หลักสูตร “Well-Being Design & Engineering – ออกแบบดีมีสุข”

  • 16 Jan 2023
  • 1487

ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ดูเหมือนว่าชีวิตของผู้คนโดยเฉพาะในสังคมเมืองต่างก็ถูกขังไว้ในห้องสี่เหลี่ยมที่รังแต่จะบีบให้เราใช้ชีวิตอย่าง “คุ้มค่า” การไหลบ่าของผู้คนเข้าสู่สังคมเมืองส่งผลให้แม้แต่ผังบ้านก็ถูกซอยลงเพื่อความคุ้มทุนมากที่สุด ในขณะที่มิติอื่น ๆ อย่างสุขภาวะหรือสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่ได้ถูกนำมาเป็นปัจจัยที่จะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้น ๆ 

แต่ทว่าปัจจุบันนี้ ทั่วโลกต่างตระหนักรู้และชูประเด็นความสำคัญของดีไซน์ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพกายใจและสภาวะการอยู่ดีมีสุข ดังจะเห็นได้จากการที่สหภาพสถาปนิกนานาชาติ (UIA) ได้ประกาศให้ปี 2022 เป็น “ปีแห่งการออกแบบเพื่อสุขภาพของ UIA” เพื่อสนับสนุนให้เหล่าสถาปนิกใช้การออกแบบที่ปกป้อง ส่งเสริม และฟื้นฟูสุขภาพกายใจของผู้คนได้ 

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง คำนิยามของ “สุขภาพ” ก็ต่างออกไป องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้นิยามของสุขภาพว่าเป็น “สภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และสุขภาวะทางสังคม มิใช่เพียงการปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงบทบาทของปัจจัยทางสังคมและการขยายคำจำกัดไปมากกว่าการเข้าถึงการรักษา แต่ยังมีเรื่องของคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เราสร้างขึ้นเป็นตัวกำหนดสุขภาพที่ดีอีกด้วย หลายครั้งเพียงแค่ต้นไม้บนโต๊ะสักต้น แสงธรรมชาติที่สร้างความสว่างให้โต๊ะทำงาน มุมสงบ ๆ ที่ผ่อนคลายเหมาะแก่การนั่งทำกิจกรรม รวมถึงสีห้องที่มองแล้วสบายใจและเป็นมิตร ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เรามีวันที่อยู่ดีมีสุข การดีไซน์ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายในจึงเป็นข้อคำนึงที่สำคัญเพื่อให้ทุกกระบวนการเคลื่อนไปสู่เป้าหมายแห่งสุขภาวะที่ดี

โคเอน สตีมเมอร์ส ศาสตราจารย์ด้านการออกแบบอย่างยั่งยืน หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ยกเอาคำจำกัดความของ “5 วิถีสู่ความอยู่ดีมีสุข” จากการศึกษาในโครงการ “Foresight” ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร อันได้แก่ การเชื่อมต่อ ความกระตือรือร้น การรับรู้ปัจจุบันขณะ ไม่หยุดเรียนรู้ และมุ่งเน้นการให้ มาเชื่อมโยงและแสดงให้เห็นอิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่เราสร้างต่อการใช้ชีวิตใน 5 วิถีนั้น โดยสตีมเมอร์สมองเห็นว่า ดีไซน์มีอิทธิพลที่จะเอื้อให้เกิดคุณลักษณะทั้ง 5 ได้ ยกตัวอย่างเช่น ทางเท้าที่สะดวก การสร้างสุนทรียะระหว่างเดินทาง และการออกแบบเพื่อเอื้อต่อการใช้บันได จะช่วยสร้างความกระตือรือร้นทางกาย ในขณะเดียวกันก็มีหลักฐานทางงานวิจัยที่เสนอว่า สภาพแวดล้อมทางกายภาพของบ้านหรือห้องเรียนมีผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญา ดังนั้นห้องที่ไม่มืดทึบ สบายตา ไร้ของระเกะระกะ พร้อมที่จะเลอะและทำความสะอาดได้ง่าย รวมถึงมีการจัดพื้นที่ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ก็จะช่วยส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขเช่นเดียวกัน 

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมานี้เทรนด์ของ “อาคารสีเขียว” ยังเกิดขึ้นควบคู่กันมาเพื่อดูแลโลกให้ดีไม่แพ้การดูแลใจของเรา ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการตั้งแต่ การคัดเลือกวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผนวกกับการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในกระบวนการก่อสร้างที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 

ทั้งหมดนี้กำลังชี้ว่า การออกแบบในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการบูรณาการความรู้ในหลากหลายศาสตร์เพื่อสร้างงานออกแบบสภาพแวดล้อมในสังคมเมืองอย่าง “อาคาร” ให้ดีต่อทั้งกาย ใจ และโลกมากขึ้น ล่าสุดศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC โดย MQDC ซึ่ง RISC มีสำนักงานผ่านการรับรองมาตรฐาน WELL Building Standard ระดับ Gold เป็นแห่งแรกในอาเซียนและไทย จึงมีได้จัดทำและนำเสนอหลักสูตร “Well-Being Design & Engineering Program” ที่จะพานักออกแบบ สถาปนิก วิศวกรและนักพัฒนาโครงการแห่งอนาคตมาร่วมเรียนรู้และเข้าใจการออกแบบแบบบูรณาการจากศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายการออกแบบที่จะนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุข โดยได้รวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นผลมาจากการสั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของศูนย์วิจัยฯ ผสานกับการคำนึงถึงสุขภาวะทางกาย ใจ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนมากขึ้น เพื่อสร้างหลักสูตรที่จะช่วยให้สามารถเรียนรู้ตั้งแต่มิติของงานสถาปัตย์ งานออกแบบภายใน ระบบอาคาร ไปจนถึงด้านการออกแบบภูมิทัศน์อย่างครอบคลุม พร้อมให้นำเอาองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปต่อยอดและวางแผนภาพเมืองในอนาคตได้ต่อไป

“ขั้นตอนการออกแบบมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าเราจะใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี แต่ว่าอายุการใช้งานของอาคารมีอายุกว่า 30 ปี” วสุธา เชน หนึ่งในผู้บรรยายของหลักสูตรฯ เน้นย้ำถึงความสำคัญของงานดีไซน์ที่จะคงอยู่และส่งผลกระทบให้กับเราและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว 

...การเริ่มนับหนึ่งด้วยความมั่นคงและยั่งยืนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ “บ้าน” กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเราและโลกไปพร้อมกัน

คลิปวิดีโอแนะนำหลักสูตร Well-Being Design & Engineering Program

ศึกษารายละเอียดหลักสูตร “Well-Being Design & Engineering Program” เพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/detail_wdep

ลงทะเบียนเรียน “Well-Being Design & Engineering Program” ก่อนวันที่ 20 มกราคม 2566 ได้ที่ https://bit.ly/register_wdep

#WellBeingDesignEngineeringProgram #RISCWellBeing #Sustainability #Innovation #Sustainnovation #Research

ที่มา : บทความ “ARCHITECTURE FOR WELL-BEING AND HEALTH” โดย Koen Steemers จาก daylightandarchitecture.com
บทความ “How Your Home Interior Can Boost Your Mental Health” โดย Usha Balasubramanyan จาก homelane.com 
บทความ “Architecture and Health: How Spaces Can Impact Our Emotional Well-Being” โดย Equipe ArchDaily Brasil แปลโดย Tarsila Duduch จาก archdaily.com 
บทความ “Psychology of Space: How Interiors Impact our Behavior?” โดย Christele Harrouk จาก archdaily.com
บทความ “Sustainable Construction: Green Building Trends for 2022” จาก nextecgroup.com
บทความ “ศูนย์วิจัย RISC by MQDC ผ่านการรับรองมาตรฐาน WELL Building Standard ระดับ Gold จาก IWBI เป็นแห่งแรกในอาเซียนและไทย” จาก greennetworkthailand.com 
รายงานสรุป “การส่งเสริมสุขภาพจิต แนวคิด หลักฐาน และแนวทางปฏิบัติ” โดย องค์การอนามัยโลก จาก who.int
เว็บไซต์ risc.in.th
เว็บไซต์ uia-architectes.org

เรื่อง : กองบรรณาธิการ