“ตุ๊กตุ๊ก” ขับเคลื่อน Soft Power สามล้อแบบไทยในยุคฝ่า PM 2.5
Technology & Innovation

“ตุ๊กตุ๊ก” ขับเคลื่อน Soft Power สามล้อแบบไทยในยุคฝ่า PM 2.5

  • 23 Jan 2023
  • 3643

ประสบการณ์ที่นักท่องเที่ยวมักจะไม่พลาดเมื่อมาเที่ยวประเทศไทย ก็คือการ “นั่งสามล้อ” ซิ่งรับลมที่ให้ทั้งความเพลิดเพลินในยามที่ลม (ร้อน) ตีหน้าคันยิบ ๆ พร้อมกับเสียงบิดคันเร่งสุดเร้าใจ ถึงกับว่ากันในหมู่ชนต่างชาติว่า ถ้าไม่ได้นั่งรถตุ๊กตุ๊ก นั่นแสดงว่าพวกเขายังไม่ได้สัมผัสไทยแลนด์แดนอะเมซิ่งจริง ๆ และครั้งหนึ่งมันก็เคยสร้างปรากฏการณ์ไปถึงการคว้ารางวัลชุดประจำชาติในเวที Miss Universe 2015 และการยกระดับการท่องเที่ยวในงานคอนเสิร์ต Amazing Thailand TUK TUK Festival ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The world’s first TUK TUK drive-in music festival” เมื่อ 3 ปีก่อน ที่มีไฮไลต์คือการนำรถตุ๊กตุ๊กกว่า 200 คันมาบริการการเดินทางจากจุดนัดพบไปยังตัวงานบริเวณริมน้ำเจ้าพระยาภายในเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ซึ่งทำให้ผู้ร่วมงานได้ประสบการณ์เหมือนได้ซิ่งรถตุ๊กตุ๊กท่องเที่ยวเข้าไปรับความสนุกถึงหน้าเวทีที่มีศิลปินแนวหน้ามามอบความสนุกของเสียงดนตรีกันอย่างคับคั่งมาแล้ว


Ketut Subiyanto / Pexels

อย่างไรก็ดี พาหนะที่สะท้อนเอกลักษณ์ไทยต่อสายตาชาวโลกนี้ ก็มาถึงความท้าทายในยุคที่ทั่วโลกต่างมุ่งหน้าสู่การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และหันไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น รถตุ๊กตุ๊กซึ่งมีข้อมูลคาดการณ์จากโครงการสนับสนุนการเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า (e-TukTuk) ของกระทรวงพลังงานระบุว่า ในอีก 7 ปี รถตุ๊กตุ๊กที่วิ่งเฉลี่ย 100 กิโลเมตรต่อวันและปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 6.2 ตันต่อปี จะมีการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของการใช้พลังงานไปอย่างไร


rawpixel.com / Freepik

โอกาสจากวิกฤต
เรื่องราวของรถตุ๊กตุ๊กที่ปัจจุบันก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศ มีจุดกำเนิดในปี พ.ศ. 2503 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นได้นำ “รถบรรทุกสามล้อ” ยี่ห้อไดฮัทสุ รุ่นมิดเจ็ท รถสองจังหวะ 250 ซีซี มีไฟหน้า 1 ดวงพร้อมบังโคลนครอบล้อหน้า ส่วนตรงหน้าคนขับมีที่จับคันบังคับเหมือนรถจักรยานยนต์ เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยจำนวน 30 คัน เพื่อใช้บรรทุกสินค้าซึ่งต่อมาก็มีการดัดแปลงให้นั่งโดยสารได้ด้วย

การเข้ามาของยานยนต์ญี่ปุ่นดังกล่าว ได้รับการบันทึกผ่านชื่อเรียกทางราชการว่า “รถสามล้อเครื่อง” กระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2515 ก็มาถึงจุดเปลี่ยน เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นได้ยกเลิกการผลิตและเกิดภาวะอะไหล่ขาดแคลน ทำให้อู่รถและคนในอุตสาหกรรมสามล้อเครื่องไทยต้องแก้ปัญหาด้วยการผลิตอะไหล่ทดแทน ก่อนที่สุดท้ายจะเริ่มปรับโครงสร้าง และสถาปนารถสามล้อเครื่องดัดแปลงด้วยการถอดยี่ห้อหลังรถออก และสร้างตัวตนโดยใช้คำว่า “Thailand” ทดแทน

จากจุดนี้เอง รถสามล้อเครื่องแบบไทยก็สามารถต่อยอดมาให้บริการผู้โดยสาร ด้วยจุดเด่นที่ผู้โดยสารสามารถนั่งเหยียดขาชื่นชมทัศนียภาพได้อย่างเต็มที่ในวันที่อากาศยังสดใส รวมถึงการซอกแซกฝ่าดงรถติดและเป็นที่ชื่นชอบของทั้งผู้โดยสารต่างชาติ รวมถึงชาวไทยที่เรียกขานรถประเภทนี้จากเสียงกระหึ่มของท่อไอเสียว่า “รถตุ๊กตุ๊ก” จนเกิดเป็นคำติดปากว่า “Tuk Tuk Thailand” มาถึงปัจจุบัน


Bobby Brown / Pexels

สามล้อเครื่องไทยขวัญใจการท่องเที่ยว
ตุ๊กตุ๊กได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในภาพจำที่คนต่างชาตินึกถึงเมื่อพูดถึงเมืองไทย ในปี 2010 เว็บไซต์ Hotel.com ได้จัดให้ตุ๊กตุ๊กไทยเป็นรถรับจ้างที่ไม่ประจำทางยอดนิยมอันดับที่ 5 รองจากลอนดอน นิวยอร์ก โตเกียว และเบอร์ลิน ตามลำดับ จากการโหวตของนักท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวน 1,900 คน นอกจากนี้ด้วยสีสันและลวดลายที่บ่งบอกได้ทันทีว่าเป็นตุ๊กตุ๊กแดนสยามเมืองยิ้ม ทำให้รถตุ๊กตุ๊กได้ถูกนำมาใช้เป็นกิมมิกเพื่อโปรโมตประเทศไทยในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย เช่น การออกแบบชุดประจำชาติในการประกวด Miss Universe 2015 การเป็นสินค้าที่ระลึก โมเดลรถของนักสะสม การดึงมาเป็นจุดขายของงานอีเวนต์ ไปจนถึงการต่อยอดธุรกิจส่งออกรถตุ๊กตุ๊กไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อียิปต์ นิวซีแลนด์ สเปน เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ในแง่การเป็นรถโดยสารเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันนั้น ก็ต้องยอมรับว่าตุ๊กตุ๊กได้รับความนิยมน้อยลงไปอย่างมาก เนื่องจากมีรถสาธารณะประเภทอื่นแพร่หลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซด์รับจ้าง หรือรถแท็กซี่ ยิ่งในยุคที่มีทางเลือกอย่างระบบขนส่งไฟฟ้าที่ทั้งสะดวก รวดเร็ว และช่วยลดโลกร้อน บทบาทของตุ๊กตุ๊กในการเป็นรถโดยสารก็ยิ่งถดถอย เหลือเพียงการใช้สำหรับระยะทางสั้น ๆ เฉพาะกลุ่ม อย่างเช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาด นักเรียน หรือเฉพาะในซอย และกลุ่มนักท่องเที่ยว

จากข้อมูลของโครงการ e-TukTuk ในเว็บไซต์ EnConLab ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พลังงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีระบุว่า รถตุ๊กตุ๊กได้รับการจดทะเบียนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 โดยกฎหมายกำหนดให้จดทะเบียนได้ 2 ประเภท คือ รถยนต์ประเภท 4 (รย.4) สำหรับรถสามล้อส่วนบุคคล และรถยนต์ประเภท 8 (รย.8) สำหรับรถสามล้อรับจ้าง ซึ่ง ณ วันที่ 30 มีนาคม 2560 มีรถสามล้อจดทะเบียนส่วนบุคคล (รย.4) จำนวน 1,636 คัน และรถสามล้อรับจ้าง (รย.8) จำนวน 20,389 คัน รวมทั้งสิ้น 22,025 คัน ขณะที่ข้อมูลล่าสุด โดยกลุ่มสถิติการขนส่ง ของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 รายงานว่า มีจำนวนรถจดทะเบียนสะสมของสามล้อส่วนบุคคล (รย.4) 1,362 คัน (ลดลงจากปี 2564 จำนวน 15 คัน) และสามล้อรับจ้าง (รย.8) 18,622 คัน (ลดลงจากปี 2564 จำนวน 485 คัน)


Bobby Brown / Pexels

รุ่งอรุณของตุ๊กตุ๊กเชื้อเพลิงสะอาด
ทว่า ท่ามกลางควันดำจากการปล่อยมลพิษของรถตุ๊กตุ๊กและปัญหาสภาพอากาศจาก PM 2.5 ก็ยังมีแสงสว่างให้รถตุ๊กตุ๊กมีโอกาสเจิดจรัสอีกครั้ง เนื่องเพราะสามล้อคือสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของการท่องเที่ยวและวิถีชีวิตแบบไทย ๆ ประกอบกับการที่ประเทศไทยได้วางโรดแมปประกาศจุดยืนในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero emission) ในปี พ.ศ. 2608 ทำให้ภาครัฐได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ คือ

  • เพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2573

  • เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างน้อย 50% ภายในปี พ.ศ. 2593

  • สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ในเชิงพาณิชย์ก่อนปี พ.ศ. 2583

  • เพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทเป็น 55% ของพื้นที่ประเทศ เพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกภายในปี พ.ศ. 2580

โรดแมปที่ว่านี้ได้ส่งอานิสงส์มาถึงรถตุ๊กตุ๊กด้วยเช่นกัน ซึ่งจากเป้าหมายที่ภาครัฐต้องการอนุรักษ์การใช้พลังงานของประเทศให้ได้ 51,700 ktoe โดยเฉพาะในภาคขนส่งที่ได้วางเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานไว้ที่ 30,213 ktoe และมีเป้าหมายการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2579 รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน จึงได้จัดทำโครงการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กให้เป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า (e-TukTuk) ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าจำนวน 100 คัน ผ่านการสนับสนุนเงินในการจัดซื้อรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าประเภท รย.4 และ รย.8 ที่ได้มาตรฐานจากผู้ประกอบการต่าง ๆ และติดตามประเมินผลการใช้งาน ก่อนจะขยายผลไปสู่รถตุ๊กตุ๊กทุกคันในระยะต่อไป

ทั้งนี้ หากดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายโครงการ 100 คัน การขับขี่รถตุ๊กตุ๊กเฉลี่ยวันละ 100 กิโลเมตร หรือ 30,000 กิโลเมตรต่อปี และมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยของรถตุ๊กตุ๊กที่ใช้ LPG = 9.7 กิโลเมตรต่อลิตร (ขณะที่ e-TukTuk = 8-10 กม./kWh) จะเกิดผลในการช่วยประหยัดพลังงานรวม 0.1 ktoe ต่อปี และเมื่อรวมจนถึงสิ้นแผนงานอนุรักษ์พลังงานในปี พ.ศ. 2579 จะประหยัดพลังงานได้ทั้งหมด 1.75 ktoe

ผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้น นอกจากช่วยประหยัดพลังงาน ค่าใช้จ่าย และผลด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว โครงการยังส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอีกด้วย


youhoh / Pixabay

ขณะเดียวกันในส่วนภาคธุรกิจเอกชน ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นการตื่นตัวในการใช้และพัฒนารถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ากันมากขึ้น เช่น MuvMi บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าในระบบแชริ่งภายใต้แนวคิด Microtransit ซึ่งมีแผนจะเพิ่มจำนวนจากที่มีอยู่ 250 คันเป็น 1,000 คันทั้งในเขตเมืองและหัวเมืองการท่องเที่ยว หรือการจัดทำต้นแบบรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเพื่อเป็นแนวทางในการดัดแปลงรถตุ๊กตุ๊กเครื่องยนต์ให้เป็นไฟฟ้า รวมถึงแผนธุรกิจที่จะสามารถต่อยอดไปเชิงพาณิชย์และการสร้างอาชีพของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และการพัฒนานวัตกรรมรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเพื่อคนทั้งมวลของแบรนด์ตุ๊กตุ๊กพัทธ์ เป็นต้น

ดังนั้น แม้การใช้รถตุ๊กตุ๊กในชีวิตประจำวันจะอยู่ในกลุ่มคนจำกัด แต่สำหรับนักท่องเที่ยว การนั่งรถตุ๊กตุ๊กกินลมชมวิวสองข้างทางก็ยังเป็นกิจกรรมยอดฮิต การจะยกระดับคุณค่าให้เป็นที่จดจำอย่างน่าภูมิใจในฐานะ Tuk Tuk Thailand จึงอยู่ที่การร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในการช่วยกันผลักดันมาตรฐานใหม่ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป

ที่มา : บทความ “ครั้งแรกในโลก ซิ่งตุ๊กตุ๊กดูคอนเสิร์ต” จาก https://d.dailynews.co.th
บทความ “ ‘ตุ๊กตุ๊กพัทธ์’ รถสามล้อไฟฟ้าที่บรรทุก People และ Planet ไว้เต็มคัน” โดยอรสา ศรีดาวเรือง จาก www.1bluesky.org
บทความ “ตุ๊กตุ๊ก (ไทย) ไม่ไทย ก็ ไทยได้” โดย สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์ จาก https://m.museumsiam.org
บทความ “ทำความรู้จัก ‘ตุ๊กตุ๊กไทยแลนด์’ สัญลักษณ์เที่ยวไทย แขกไปใครมาต้องนั่ง!” จาก www.easycompare.co.th
บทความ “‘วราวุธ’ กางโรดแมป Net Zero เร่งขับเคลื่อนสู่ COP 28” จาก www.thansettakij.com
บทความ “‘ตุ๊กตุ๊ก’ รถเครื่องสามล้อไทย พัฒนาสู่รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าดัดแปลงสำหรับธุรกิจไทย SME” จาก www.greennetworkthailand.com
บทความ “ส่องความสำเร็จ ‘ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมี’ พร้อมเป้าหมายผลิตเพิ่ม 1 พันคัน” จาก www.bangkokbiznews.com
รายงานจำนวนรถจดทะเบียนสะสม ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2565 จาก https://web.dlt.go.th

เรื่อง : บุญพัทธ ลีวิวัฒกฤต