ส่งผ่านความอุ่นใจด้วย “Heartfelt” แค่จับใจ...ก็ใกล้กัน
Technology & Innovation

ส่งผ่านความอุ่นใจด้วย “Heartfelt” แค่จับใจ...ก็ใกล้กัน

  • 22 Feb 2023
  • 1022

การสื่อสารของมนุษย์ได้รับการพัฒนาตามการเติบโตของเทคโนโลยีให้ทุกการพูดคุยสะดวก ลื่นไหล ใกล้ชิด และใช้เวลาน้อยลงต่อระยะทางที่ไกลขึ้น จากจดหมายลายมือ สู่การใช้โทรศัพท์ สู่ห้องแชทและการวิดีโอคอล การสื่อสารเหล่านี้ได้ค่อย ๆ ทลายกำแพงของความยุ่งยากและการรอคอยให้หายไป 

กระนั้น หนึ่งในโจทย์สำคัญของการสื่อสาร ที่ยังไม่เคยมียุคสมัยไหนจะสามารถทลายกำแพงได้เลย ก็คือการเชื่อมต่อทางอารมณ์ที่เราได้รับจากการ “อยู่ใกล้กัน” และสัมผัสอบอุ่นที่เราไม่อาจแนบไปถึงปลายทางได้ และด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา แนวคิดของอุปกรณ์ “Heartfelt” จึงเกิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความผูกพันและลดความรู้สึกเหงาในหมู่คนที่จำใจต้องออกห่างจากกันในช่วงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม 


aut.ac.nz

“Heartfelt” คือผลงานของเจสสิกา เวีย (Jessica Vea) และแกรี ลี (Gayle Lee) สองนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีออกแลนด์ (Auckland University of Technology: AUT) โดยจุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้เกิดขึ้นในช่วงที่นิวซีแลนด์ประกาศล็อกดาวน์ระดับ 4 ซึ่งเป็นระยะเดียวกับที่หนึ่งในทีมออกแบบได้สัมผัสการเข้าร่วมพิธีศพผ่านทางโปรแกรม Zoom “มันเป็นความรู้สึกที่ห่างเหินที่สุด การไม่สามารถเชื่อมต่อทางกายภาพกับผู้คนยังทำความเศร้าโศกและทุกข์ทรมานเพิ่มมิติใหม่ ๆ มากขึ้น” ความรู้สึกตัดขาดทางอารมณ์ดังกล่าวกลายเป็นตัวเร่งให้พวกเขาพัฒนาแนวคิดเดิมไปได้ไวมากขึ้น ผ่านอุปกรณ์ที่เพิ่มการจับต้องได้ให้กับการ “กอดออนไลน์” ที่ฮิตในปัจจุบัน

ด้วยแนวคิดที่พัฒนาควบคู่ไปกับภาพของการรับ-ส่งกอดออนไลน์ ตัวของ “Heartfelt” จึงได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นรูปหัวใจ โดยในหนึ่งชุดจะมีอุปกรณ์หัวใจสองชิ้นสำหรับผู้ใช้สองคนที่อยู่ห่างกัน และทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการสื่อสารแบบไร้คำพูดระหว่างคนสองคน “Heartfelt มุ่งที่จะสำรวจว่า ‘การมีอยู่’ จะมีลักษณะอย่างไรในยุคของการระบาดใหญ่” คำกล่าวของลี อาจเห็นได้ผ่านหลักการทำงานของเจ้าเครื่องรูปหัวใจอันเล็กนี้ เมื่อหัวใจดวงหนึ่งอยู่ในอุ้งมือของเจ้าของและได้รับการประทับนิ้วหัวแม่มือไปที่ตัวเครื่อง มันจะส่งสัญญาณไฟสู่หัวใจอีกดวงเพื่อให้อีกฝ่ายได้เห็นและรับรู้ และเมื่อทั้งสองคนได้ถืออุปกรณ์นี้ไว้ในมือพร้อมกัน หัวใจ (ในมือ) ก็จะอุ่นขึ้นจนสื่อไปถึงหัวใจราวกับว่าได้กอดใครสักคน “คนส่วนมากดูเหมือนจะคิดถึงความอบอุ่นที่การกอดทางกายภาพนำมาให้ และเราหวังว่าในทางใดทางหนึ่งสิ่งนี้จะถอดแบบความรู้สึกปลอบโยนนั้นได้” ทั้งสองกล่าว


yankodesign.com

แต่ความอบอุ่นจากหัวใจดวงนี้ ยังมีความลับพิเศษที่ซ่อนอยู่ ในเวลาปกติ “Heartfelt” จะมีอุณหภูมิอยู่ที่อุณหภูมิห้อง แต่เมื่อมือของคนทั้งสองฝ่ายได้โอบอุ้มมันเอาไว้ ตัวเซ็นเซอร์ภายในจะทำการอ่านค่าอุณหภูมิของร่างกายทั้งคู่ และส่งผ่านค่านั้นไปที่หัวใจอีกดวงให้อีกฝ่ายได้รับรู้ถึง “ความอบอุ่นของคุณ” ไปพร้อม ๆ กัน  ทั้งนี้ตัวอุปกรณ์ยังมีแนวคิดที่จะสามารถจำลองจังหวะการเต้นของหัวใจให้อีกฝ่ายได้เห็นและสัมผัส ผ่านแสงสองสีที่แทนบุคคลสองคนและการสั่นสะเทือน เมื่อประกอบกับตัวเครื่องที่ได้รับการออกแบบให้วัสดุภายนอกนุ่มเหมือนผิวหนังก็ยิ่งทำให้การสัมผัสนั้นดูจริงขึ้นไปใหญ่ ด้วยเหตุนี้เองอุปกรณ์เล็ก ๆ อย่าง “Heartfelt” จึงอาจช่วยบรรเทาความวิตกกังวลและความเครียดทางอารมณ์จากการอยู่คนเดียว ทั้งยังช่วยทำให้ผู้คนรู้สึกเหมือนได้รับการมองเห็น รวมถึงได้รับความรู้สึกผูกพัน แม้ไม่ได้อยู่ด้วยกันก็ตาม 

เวียและลีมองว่ากลุ่มเป้าหมายของ “Heartfelt” ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีสองกลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุและบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากทั้งสองกลุ่มนี้นับได้ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุดที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากความเศร้า ความโดดเดี่ยว และความเหงาในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในขณะเดียวกันทั้งสองก็คิดว่าอุปกรณ์นี้จะช่วยให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในช่วงสถานการณ์โรคระบาดได้ด้วย 


yankodesign.com

ความโดดเด่นของแนวคิดดังกล่าว ส่งผลให้ “Heartfelt” กลายเป็นหนึ่งในหกผู้เข้ารอบสุดท้ายในการแข่งขันระดับโลกอย่าง Lexus Design Awards ประจำปี 2021 ท่ามกลางผลงานมากกว่า 2,000 ชิ้นจาก 66 ประเทศทั่วโลก รางวัลดังกล่าวนี้จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2013 ภายใต้ธีม “การออกแบบเพื่ออนาคตที่ดีกว่า” และผลักดันนักคิด นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ทั่วโลกให้มาร่วมกันสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้กับมนุษยชาติ โดยในฐานะผู้เข้ารอบสุดท้าย เวียและลีจะได้โอกาสมากมายที่จะช่วยผลักดันให้อุปกรณ์ของทั้งคู่ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น ทั้งเงินทุนในการสร้างต้นแบบที่สมบูรณ์กว่า 25,000 เหรียญสหรัฐ และการได้เข้าร่วมเวิร์กช็อป พร้อมได้รับคำปรึกษาตัวต่อตัวจากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบระดับโลกเช่นกัน  Sputniko! หนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึง “Heartfelt” ว่า “ฉันคิดว่าโปรเจ็กต์นี้ตรงประเด็นมาก โดยเฉพาะในช่วงโรคระบาดใหญ่ที่เราอาศัยอยู่ ดังนั้นผู้คนจำนวนมากจะเข้าใจความเจ็บปวดและปัญหาที่ทีมนี้กำลังพูดถึงจริง ๆ”

แม้แนวคิดดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่ประโยชน์ของมันอาจจะมีมากเกินกว่าในช่วงเวลานั้นก็ได้ การเกิดขึ้นของ “Heartfelt” จึงถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับวงการสื่อสารในอนาคต ทั้งยังนับเป็นก้าวสำคัญสำหรับเทคโนโลยีการติดต่อที่อาจจะทำให้เราได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นผ่านรูปแบบที่ต่างออกไป และอบอุ่นใจขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องพูดอะไรกันสักคำ

ที่มา : บทความ “THESE HEART-SHAPED DEVICES ARE HELPING PEOPLE STAY EMOTIONALLY CONNECTED DURING LOCKDOWN” โดย Sarang Sheth จาก yankodesign.com 
บทความ “AUT STUDENTS’ CONCEPT HEARTFELT CHOSEN FOR GLOBAL LEXUS DESIGN AWARD COMPETITION” จาก wrightcommunications.co.nz
บทความ “Heartfelt” จาก theindexproject.org
บทความ “NZ designers’ virtual hugs a finalist in Lexus Design Awards 2021” โดย Tom Holland จาก australiandesignreview.com 
บทความ “Can young designers change the world?” โดย Scott Garceau จาก philstarlife.com 
บทความ “HEARTFELT Lexus Design Awards” จาก epsilum.co.nz 

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง