3+3 นวัตกรรมดินสอ (ไม้?) ที่ช่วยได้ทั้งคนและโลก
Technology & Innovation

3+3 นวัตกรรมดินสอ (ไม้?) ที่ช่วยได้ทั้งคนและโลก

  • 22 Mar 2023
  • 2564

หากพูดถึงการขีดเขียนแล้ว หนึ่งในอุปกรณ์สำคัญที่ไม่ว่าใครก็คงต้องนึกถึงเป็นอันดับแรกคงไม่พ้น “ดินสอ” ไอเท็มสุดคลาสสิกที่นักสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะวาด จะเขียน จะร่าง จะแต่ง จะจด ต่างก็ต้องมีติดมือไว้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ดินสอถูกพัฒนาให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ต่างวัย ต่างบทบาทอย่างหลากหลาย เราอาจพบดินสอรูปร่างน่ารัก เปลี่ยนไส้หลากสี หรือดินสอกดได้ แต่ถ้าหากจะให้พูดถึงดินสอที่เป็นที่สุดแห่งความคลาสสิก ด้วยความชินมือและยังคงเป็นที่นิยมใช้กันในปัจจุบันก็คงไม่พ้น “ดินสอไม้” ที่ทุกคนคุ้นตา

ทุก ๆ ปี ต้นไม้จำนวนมหาศาลจะถูกโค่นลงเพื่อมาทำดินสอ กระนั้นหนึ่งในปัญหาสำคัญจากการใช้ดินสอไม้ก็คือ การใช้งานที่เรียกได้ว่าไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร อาจด้วยขนาดที่สั้นลงจนจับไม่ถนัดมือบ้าง หรือด้วยปัจจัยอื่น ๆ ข้อควรคำนึงนี้ส่งผลให้คนหลายกลุ่มต่างก็คิดหาแนวทางและเสนอนวัตกรรมให้ดินสอที่คุ้นมือได้อยู่คู่กับเหล่านักคิด นักสร้าง นานขึ้น คุ้มค่ามากขึ้น พร้อมทั้งยังพยายามสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ๆ ที่จะช่วยเราและโลกไปพร้อมกันด้วย

หลากแนวคิดตีโจทย์ “รักยาวให้บั่น ดินสอสั้นให้ต่อ”
แน่นอนว่าเมื่ออายุไขของดินสอแท่งโปรดสั้นลงตามจำนวนการเหลา สิ่งแรกที่หลาย ๆ คนเลือกทำก็คือการหาอุปกรณ์ต่าง ๆ มาต่อให้ยาวขึ้น กระทั่งใช้ดินสออีกแท่งมาชนแล้วพันด้วยเทปกาว กลายเป็นดินสอสองหัวสุดเก๋ แม้แนวคิดดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่พบเจอได้เป็นปกติ แต่ก็มีไอเดียอีกหลายอย่างที่เข้ามาต่อยอด และทำให้การต่อชีวิต ยืดอายุดินสอไม้เหล่านี้ “เท่” กว่าใคร 

Eco-Friendly Pencil Sharpener
จะเป็นอย่างไรถ้ากบเหลาดินสอไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อเหลาให้แหลม แต่ยังเหลาให้ขันเข้ากันได้ด้วย “Eco-Friendly Pencil Sharpener” โดย Wang Cheng คือไอเดียกบเหลาดินสอแบบทรีอินวันที่จะช่วยต่อดินสอสองแท่งให้แน่น “เหมือนกับ” การขันน็อต กบเหลาดินสอสามแฉกนี้ มีรูปร่างเพรียวบางและโค้งมน พร้อมไปด้วยสัญลักษณ์ที่ระบุถึงฟังก์ชั่นชัดเจน แฉกหนึ่งเพื่อการเหลาดินสอปกติ ส่วนอีกสองแฉกจะใช้สำหรับการเหลาให้เป็นเกลียวในและเกลียวนอก ในลักษณะเดียวกับสกรู 

ลักษณะการทำงานเพื่อต่อดินสอทั้ง 2 แท่งเข้าหากัน คือการเหลาปลายหนึ่งให้เป็นเกลียว ในขณะที่อีกแท่งจะเป็นลักษณะของหัวน็อตเพื่อให้ขันกันได้แน่นพอดีโดยไม่ต้องใช้เทปในการยึด นำไปสู่ผลลัพธ์ของการได้ดินสอที่ยาวขึ้น จับถนัดมือขึ้น ใช้ได้นานขึ้น ทั้งยังช่วยลดขยะผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จนได้เป็นหนึ่งในผู้ชนะรางวัล Red Dot Design Concept Award 2022 ด้วย

Loop Pencil
ชุดอุปกรณ์ “Loop Pencil” โดย Ye Feng, Yu Zhenfa, Lin Weifeng ,Tian Zhen และ Zhu Hengchang คือแนวคิดการนำดินสอมาผนวกเข้ากับอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามความพึงพอใจและการใช้งานของเจ้าของเพื่อยืดอายุการใช้งาน ลดขยะที่ไม่จำเป็น และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้ถึงขีดสูงสุด ผ่านสโลแกน “Min.pencil + Min.pencil > MAX.pencil” และ วิธีการใช้แบบ “หนึ่งรอบหมุน หนึ่งความเปลี่ยนแปลง” (one turn, one change)

ความสนุกของ “Loop Pencil” คือการแปลงร่างดินสอที่ดูธรรมดาให้ตอบโจทย์ความต้องการได้ถึง 4 ฟังก์ชั่น โดยมีอุปกรณ์หลักแยกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ตัวดินสอ อุปกรณ์ข้อต่อ และอุปกรณ์เสริมสำหรับ 3 (+1) ฟังก์ชั่น ที่จะเข้ามาแก้สารพันปัญหาของเหล่าผู้ใช้ดินสอ คือ ดินสอสั้น ยางลบปลายดินสอหมด พกพาไม่สะดวก และความเกะกะไม่เป็นระเบียบ ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้ดินสอหลายแท่งถูกทิ้งขว้าง บ้างก็หล่นหายไปโดยไม่ได้ตั้งใจ และทำให้เสียของเปล่าไปเสียอย่างนั้น

ในส่วนของการใช้งานก็ง่ายแสนง่าย เมื่อดินสอของ “Loop Pencil” ได้รับการออกแบบให้มีปลายเป็นเกลียวเล็ก ๆ ที่จะไขกับอุปกรณ์ข้อต่อได้อย่างแน่นหนาเพื่อต่อความยาวไปในตัว จากนั้นปลายของอุปกรณ์ข้อต่อ ก็สามารถเชื่อมกับสิ่งอื่น ๆ ได้อีก ทั้งดินสออีกแท่ง ตัวยางลบที่ยาวเป็นพิเศษ คลิปหนีบที่ช่วยให้ดินสอเหน็บเข้ากับสมุดได้เหมือนปากกา และตัวตั้งดินสอที่ยึดดินสอไว้กับโต๊ะ ช่วยเพิ่มความเป็นระเบียบและทำให้หาดินสอง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งทีมผู้พัฒนาก็เชื่อว่า แค่หนึ่งรอบหมุนที่เปลี่ยนฟังก์ชั่นต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์นี้ จะช่วยเปลี่ยนโลกให้มีขยะน้อยลงเช่นกัน 

TSUGITE: Extendable Pencil
“Tsugite” คือวิธีการเชื่อมไม้แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ที่ใช้กับการสร้างวัด ศาลเจ้า รวมถึงที่อยู่อาศัย ผ่านหลักการที่ว่า ปลายของท่อนไม้จะได้รับการตัดแต่งเป็นทรงพิเศษ เพื่อให้ไม้ทั้งสองสามารถต่อลงล็อกราวกับเป็นชิ้นจิ๊กซอว์ที่พอดี โดยไม่ต้องใช้ตะปูในกระบวนการ ความพิเศษของภูมิปัญญาดังกล่าว ช่วยจุดประกายแนวคิดให้ Jaewan Park ดีไซเนอร์จากเกาหลีใต้ ออกแบบดินสอแบบใหม่ที่จะใช้งานต่อเนื่องได้อย่าง “ไร้รอยต่อ”

แนวคิดดินสอ “Tsugite” เป็นแนวคิดการต่อดินสอที่ไร้ขยะโดยสมบูรณ์ ปาร์คได้ออกแบบดินสอให้มาในรูปแบบของแพ็ก 12 แท่ง ดินสอหนึ่งแท่งจะมีปลาย 2 ด้านที่มีรูปร่างต่างกัน โดยปลายส่วนหัวจะออกแบบให้มีลักษณะคล้ายลูกศรหัวทู่ ส่วนด้านปลายจะมีลักษณะเว้าแหว่งคล้ายรูปเกือกม้า ความแตกต่างนี้ กลายเป็นส่วนขาดและส่วนเกินที่เข้ากันได้อย่างพอดีและแนบสนิท เมื่อดินสอแท่งที่ใช้อยู่สั้นจนไม่สามารถเขียนได้อย่างถนัดมือแล้ว ผู้ใช้ก็เพียงแค่นำดินสออีกแท่งเข้ามาประกอบกันตามรอยต่อที่พอดีและใช้ต่อไป โดยไม่ต้องกังวลเลยว่าดินสอทั้งสองแท่งนี้จะหลุดออกจากกัน 

เพราะเราเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่กระบวนการผลิต
ไม่เพียงแต่ความพยายามในการใช้ดินสอให้คุ้มค่าเท่านั้นที่จะช่วยโลกได้ แต่การผลิตดินสอหนึ่งแท่งด้วยไอเดียหรือรูปแบบใหม่ ๆ ก็อาจช่วยโลกได้อีกทางเช่นกัน และดินสอที่จะพูดถึงต่อไปนี้ อาจทำให้ภาพดินสอในหัวของเราแตกต่างออกไป 

Stilform Aeon
จะเป็นอย่างไรถ้าดินสอแท่งหนึ่งสามารถใช้และส่งต่อรุ่นสู่รุ่นได้อย่างไม่รู้จบ หากใครยังคิดไม่ออก ก็ไม่จำเป็นต้องนั่งจินตนาการอีกต่อไป เมื่อ “Stilform Aeon” ได้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ให้เห็นแล้วในวันนี้ ดินสอที่ได้ชื่อว่าปฏิวัติวงการนี้ มีตัวชูโรงอยู่ที่หัวดินสอที่ทำมาจาก “โลหะ” ผสมระหว่างดีบุกและบิสมัทจากธรรมชาติและไม่เป็นพิษ เมื่อปลายดินสอขีดเขียนลงบนกระดาษจะเกิดปฏิกิริยาออกซิไดซ์ สร้างร่องรอยที่ขีดเขียนได้ไม่ต่างจากดินสอปกติที่มีไส้เป็นแกรไฟต์ แถมอาจจะดียิ่งกว่าเมื่อหัวดินสอโลหะนี้จะไม่กุดง่าย ๆ หนำซ้ำยังอาจตอบโจทย์ได้มากกว่าด้วยคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น การกันน้ำ กันรอยเปรอะในกระดาษจากการถู และไม่เลอะเสื้อผ้า ทำให้พกพาในกระเป๋าเสื้อได้อย่างไม่ต้องกังวล

หัวดินสอดังกล่าวไม่ได้ยึดกับตัวด้ามถาวร หากแต่ใช้แรงแม่เหล็กนีโอไดเมียม (Neodymium Magnet) ที่มีพลังมหาศาลยึดไว้ ดังนี้เองหัวของมันจึงสามารถเปลี่ยนเป็น “หัวแกรไฟต์” เพื่อทำงานที่อาจจะต้องใช้ความเข้มที่มากขึ้น เช่น การร่างภาพที่ต้องมีน้ำหนักเข้ม-อ่อน แต่ก็ยังสามารถลบได้ง่ายเหมือนเดิม ทำให้ดินสอนี้ตอบโจทย์กับทุกไลฟ์สไตล์ของนักสร้างสรรค์ ด้ามจับของ Stilform Aeon ทำมาจากโลหะ ซึ่งมีให้เลือกถึง 4 แบบ ได้แก่ อะลูมิเนียม ไทเทเนียม แมกนีเซียม และทองเหลือง ทำให้ตอบโจทย์ความหนักเบาและสัมผัสที่หลากหลายแล้วแต่คนชอบ ทั้งยังคงทน การออกแบบด้ามจับยังทำให้ดินสอสามารถหยุดกลิ้งได้ด้วยตัวเอง ป้องกันการตกหล่น ยืดอายุการใช้งาน และยังมีการเสริมให้ด้านหนึ่งของด้ามปากกามีความดั้งเดิมของดินสอไม้ ด้วยแผ่นไม้บาง ๆ ที่อาจเป็น ไม้วอลนัท ไม้มะเกลือ หรือไม้เมเปิ้ล เพื่อเพิ่มความสะดวกในการจับและคงความรู้สึกดั้งเดิมของการใช้ดินสอไม้เหมือนในวัยเยาว์ โดยทั้งกระบวนการการผลิตและวัสดุทั้งหมดรับประกันว่าปลอดภัยจากสารตะกั่วและยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเราและโลกในระยะยาวนั่นเอง

Pollution Capture Pencils
แล้วใครจะไปคิดว่ามลพิษที่ล่องลอยอยู่ในอากาศจะสามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งของดินสอได้ ถ้าไม่ใช่แบรนด์ยาพ่นจมูกอย่าง “Otrivin” ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นประเด็นสำคัญที่พบได้ทั่วโลก และยิ่งจะชัดจนตาเห็นได้มากขึ้นทุกที องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เด็กกว่า 93% ทั่วโลก หายใจเอาอากาศเป็นพิษเข้าปอดกันทุกวัน ในขณะที่เด็กนักเรียนอินเดียถึง 98% ต้องสูดอากาศที่เป็นพิษไม่ว่าจะอยู่ข้างนอกหรือข้างในอาคารก็ตาม มลพิษเหล่านี้แน่นอนว่าไม่ดีต่อสุขภาพเด็ก ๆ ในหลายด้านทั้งยังส่งผลต่อการเรียนรู้ด้วย

สถิติที่น่าเป็นห่วงนี้ยังผลให้ “Otrivin” จับมือร่วมกับ “Wunderman Thompson Singapore” เพื่อหาทางแก้ปัญหา รวมถึงเพิ่มความตระหนักรู้ให้แก่สังคม ผ่านการทำโปรเจ็กต์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Actions to Breathe Cleaner” ในระยะแรก โปรเจ็กต์ดังกล่าวเริ่มดำเนินการในพื้นที่ “บังกาลอร์” หรือที่หลายคนรู้จักกันในฐานะเมืองหลวงโรคหอบหืดของอินเดีย ณ โรงเรียน 3 แห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมจนทำให้อากาศรอบข้างนั้นแย่เป็นพิเศษ ซึ่งตัวโครงการได้เข้าไปติดตั้งเครื่องฟอกอากาศจำนวน 22 เครื่องที่สามารถกำจัดมลพิษในอากาศได้ถึง 74% ทั้งภายในและนอกอาคาร เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศสำหรับเด็กนักเรียนกว่า 1,500 คน

เครื่องฟอกอากาศนี้ได้ฟอกอากาศที่เป็นพิษไปแล้วกว่า 2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตภายในระเวลา 2 เดือน และได้เก็บเอาอนุภาคตกค้างจากกระบวนการมาผสมเข้ากับแกรไฟต์ ผลิตออกมาเป็น “ดินสอดักจับมลพิษ” (Pollution Capture Pencils) กว่า 10,000 แท่ง ให้เด็ก ๆ ได้ใช้วาดฝันอนาคตที่จะปกป้องโลกของเราต่อไป บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ใส่ดินสอได้รับการออกแบบโดย Gautum Dutta และวาดออกมาเป็น 3 แบบเพื่อสื่อถึงเอกลักษณ์ของโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง หลังจากที่เขาได้เข้าไปสัมผัสกับบุคลากรในโรงเรียนจริง ๆ โดยหวังว่าผลงานที่ออกแบบมานี้จะสื่อสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตในบังกาลอร์ และความหวังของเด็ก ๆ ทุกคนที่มีต่ออนาคต จากการได้เรียนรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศและวิถีทางที่เราทุกคนจะสามารถทำได้เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพของเราเอง

แม้จะมีส่วนประกอบของมลพิษ แต่มีการรับรองแล้วว่าดินสอนี้ปลอดภัยต่อการใช้งานอย่างแน่นอน ดินสอดักจับมลพิษนี้จะวางจำหน่ายเพื่อนำรายได้มาสานต่อโปรเจ็กต์นี้ไปสู่โรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป โดย Otrivin ตั้งเป้าไว้ว่า จะสามารถจัดหาเครื่องฟอกอากาศอีก 100 เครื่องให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ที่ขาดแคลนได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2023 “มลพิษทางอากาศไม่ได้หายไปอย่างรวดเร็ว” Aarti Nichlani ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ Wunderman Thompson Singapore กล่าว “ในขณะเดียวกัน เด็กที่ยากจนที่สุดคือผู้ที่ต้องแบกภาระหนักที่สุด นวัตกรรมอย่างดินสอดักจับมลพิษ ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในเวลาที่เด็ก ๆ ต้องการมากที่สุด...วันนี้”

MOMO Pencils
แล้วจะพูดได้ไหมว่าดินสอนี้ทำจากไม้ หากว่ามันทำมาจาก “กระดาษ” 

ในทุก ๆ วัน ต้นไม้จำนวนมากถูกตัดเพื่อสร้างสิ่งต่าง ๆ มาตอบสนองความต้องการของสังคม และ “หนังสือพิมพ์” ก็เป็นหนึ่งในความต้องการนั้น อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่มีชีวิตไม่เกินหนึ่งวัน ก่อนจะถูกทิ้งขว้างไปจบชีวิตอยู่ในหลุมฝังกลบ และก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อโลก ด้วยความตระหนักรู้ในปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท “MOMO Pencils” ก่อตั้งโดย Mahamud Omari และ Rashid Omari สองพี่น้องชาวเคนย่า จึงเริ่มนำเอากระดาษหนังสือพิมพ์เก่า ๆ มาชุบชีวิตทำเป็นดินสอเพื่อต่ออายุการใช้งานให้คุ้มกับที่ต้นไม้ได้สละชีวิตของมันให้เรา

วัสดุ 3 อย่างที่ใช้ทำดินสอนี้ ได้แก่ กระดาษหนังสือพิมพ์ กาว และแกรไฟต์ ส่วนใหญ่เป็นของที่หาได้ในพื้นที่ มีเพียงแค่แกรไฟต์เท่านั้นที่ต้องนำเข้า หนังสือพิมพ์ที่ใช้ผลิตดินสอรับมาจากร้านชั่งกิโลและบ้านเรือน รวมถึงภาคธุรกิจในเมืองไนโรบี เมืองหลวงของเคนย่า ก่อนที่จะนำมาตัดให้ได้ขนาดตามต้องการแล้วทากาวยึดติดกับแกรไฟต์ จากนั้นจึงจะนำเข้าเครื่องจักรเพื่อให้กระดาษม้วนเป็นทรงกระบอกและโดนอัดให้แน่นในเวลาเดียวกัน เมื่อได้ผลผลิตที่หน้าตาคล้ายดินสอแล้ว ก็จะต้องนำไปตากแดด ก่อนที่จะนำมาขัดด้วยกระดาษทรายให้พื้นผิวเรียบขึ้น และเหลาใส่บรรจุภัณฑ์สำหรับเตรียมขาย ขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้ส่วนมากใช้แรงงานที่มีความชำนาญทำ โดยเฉพาะขั้นตอนการทากาว เนื่องจากปริมาณที่มากเกินหรือน้อยเกิน อาจจะส่งผลให้กระบวนการผลิตช้าหรือผิดพลาดได้

MOMO Pencils ยังวางเป้าหมายของตัวเองไว้ในอนาคตด้วยว่า จะทำให้เด็กนักเรียนในเคนย่าทั่วประเทศได้มีโอกาสใช้ดินสอนี้แทนดินสอปกติ ทั้งยังได้จัดแคมเปญการแจกดินสอให้แก่เด็ก ๆ ในครอบครัวรายได้ต่ำ เพื่อหวังให้เด็กทุกคนได้มีสิทธิ์เข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น “มีเด็กที่ไปโรงเรียน พวกเขาไม่มีหนังสือ ไม่มีปากกา คุณมีนักเรียน ประมาณ 60 คนในห้องเรียน และครูมีนักเรียน 30 คนที่มีอุปกรณ์สำหรับเขียน ส่วนที่เหลือไม่มี... เราจึงตระหนักได้ว่ามีอิมแพ็กต์บางอย่างที่เราสามารถสร้างได้ โดยการบริจาคดินสอให้กับเด็ก ๆ เหล่านี้” Noel Omukubi เจ้าหน้าที่สื่อสารของ MOMO Pencils กล่าว 

ดินสอของ MOMO Pencils ไม่เพียงแต่สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาให้กับเด็ก ๆ แต่ยังให้ความหวัง ให้อนาคต และความตระหนักรู้ในเรื่อง “ภาวะโลกรวน” ด้วย การจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง จะมีการนำทีมเพื่อปลูกต้นไม้ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ปลูกรวมกันได้กว่าหมื่นต้นแล้ว และหวังว่าทั้งเด็กและต้นไม้จะสามารถเติบโตได้อย่างสวยงามเหมือนกัน

จากไอเดียที่สร้างสรรค์ สู่การลงมือทำจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ด้วยจินตนาการ ความต้องการเปลี่ยนแปลง และแรงกายแรงใจที่ช่วยกันสร้าง จนเรื่องราวในภาพร่างกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ความเป็นไปได้ของการขีดเขียนที่คุ้มค่าจะยังคงได้รับการพัฒนาต่อไป ตราบใดที่เหล่านักคิดยังไม่หยุดที่หาแนวทาง และไม่แน่ว่าในอนาคต ดินสอในมือของเหล่านักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ อาจจะเป็นไอเดียจากใครบางคนในวันนี้ก็ได้ 

ที่มา :
บทความ “This three-way pencil sharpener lets you connect small pencils by screwing them together” โดย Sarang Sheth จาก gizmodo.cz 
บทความ “Eco-Friendly Pencil Sharpener” จาก red-dot.org 
บทความ “The Conceptual 'Loop Pencil' Extends Stationery Lifespan” โดย Michael Hemsworth จาก trendhunter.com 
บทความ “THIS MODULAR PENCIL REDUCES WASTE & EXTENDS THE LIFE OF YOUR STATIONERY!” โดย Chi Thukral จาก yankodesign.com 
บทความ “LOOP PENCIL” จาก productdesignaward.eu 
บทความ “Jaewan Park’s Tsugite Pencil System: A Reusable Pencil with a Japanese Joinery Method” โดย Niyaz Huseynzade จาก freeyork.org 
บทความ “TSUGITE” โดย Jaewan Park จาก behance.net 
บทความ “The "everlasting" Stilform Aeon Pencil with magnetic tips is designed to write forever” โดย Jincy Iype จาก stirworld.com 
บทความ “Stilform AEON - An Everlasting Pencil with Magnetic Tips” จาก kickstarter.com 
บทความ “STILFORM AEON IS AN IMMORTAL PENCIL YOU WILL NEVER NEED TO SHARPEN” โดย JC Torres จาก yankodesign.com 
บทความ “Otrivin’s ‘Actions to Breathe Cleaner’ initiative turns air pollution into pencils for school children” จาก bestmediainfo.com 
บทความ “Turning toxic particles into pencils” โดย Eliza Williams จาก creativereview.co.uk 
บทความ “Otrivin turns air pollution into pencils, to make a fine point” จาก campaignasia.com 
บทความ “Otrivin captures polluted classroom air and turns it into pencils” โดย Liesbeth den Toom จาก trendwatching.com 
บทความ “Pencils made from old newspapers could reduce pollution” โดย Olivia Nemec, Lilian Manansala, Emily Newman และ  Will Storey จาก businessinsider.com 
บทความ “Momo Pencils: Enterprising Brothers Converting Recycled Newspapers To Pencils” โดย beauttah จาก whownskenya.com 
บทความ “Kenyan company turning newspapers into pencils, cutting deforestation in the process” จาก africanews.com 

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง