เปลี่ยนขยะสู่พลาสติกเส้นใย “Cotton Candy Plastic”...ให้ความนุ่มฟูโอบกอดมนุษย์
Technology & Innovation

เปลี่ยนขยะสู่พลาสติกเส้นใย “Cotton Candy Plastic”...ให้ความนุ่มฟูโอบกอดมนุษย์

  • 22 Mar 2023
  • 2503

หากกล่าวถึง “พลาสติก” ในบทบาทของความสำเร็จและความคิดสร้างสรรค์ มันคือนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นเพื่อเข้ามาช่วยทดแทนทรัพยากรธรรมชาติ รองรับการใช้งานในทุก ๆ อุตสาหกรรม แต่เมื่อความต้องการของมนุษย์ที่ไม่สิ้นสุดมาพร้อมกับการจัดสรรทรัพยากรที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำให้พลาสติกกลายเป็นขยะที่ยากต่อการสลายและกำลังจะล้นโลก ผู้คนจึงเริ่มหันมาใส่ใจปกป้องโลกกันมากขึ้นโดยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยแปรรูปขยะพลาสติกให้ใช้งานได้อย่างหลากหลาย

แต่ขั้นตอนการทำนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ด้วยชนิดของพลาสติกมีหลายแบบทำให้การหลอมละลายเข้าด้วยกันมีความยุ่งยากและใช้ต้นทุนสูง จากปัญหาเหล่านี้เองได้ส่งแรงบันดาลใจให้นักศึกษาออกแบบ 4 คนสร้างนวัตกรรมจากไอเดียสุดสร้างสรรค์ในโครงการ "Cotton Candy Plastic" พลาสติกเส้นใยที่จะมาช่วยลดขยะโลกและยังส่งต่อความอบอุ่นให้กับเพื่อนมนุษย์อีกด้วย


thepolyflossfactory.com

การออกแบบที่อยากเปลี่ยนแปลงโลก
ปัญหาการทิ้งขยะพลาสติกยังคงเกิดขึ้นทุกวันและมีขยะหลายพันล้านตันที่ยังไม่ได้ถูกรีไซเคิลซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี ด้วยระบบจัดการขยะที่ยังพึ่งพาแต่โรงงานใหญ่ ๆ ทำให้การรีไซเคิลไม่ได้ถูกกระจายไปตามแหล่งที่มาของขยะทั่วโลก อีกทั้งการรีไซเคิลมีความซับซ้อน กลุ่มนักศึกษาด้านวิศวกรรมการออกแบบจำนวน 4 คน ประกอบไปด้วย คริสโตฟี มาเชต (Christophe Machet) เอมิล ดี วิสเชอร์ (Emile De Vischer) ออเดรย์ กอลาร์ด (Audrey Gaulard) และนิก พาเกต (Nick Paget) จากมหาวิทยาลัย Royal College of Art (RCA) ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ จึงได้ระดมความคิดและปิ๊งไอเดียว่าจะทำอย่างไรให้สามารถกำจัดขยะพลาสติกได้อย่างสร้างสรรค์ มีประโยชน์ ใช้ต้นทุนต่ำ และติดตั้งง่ายซึ่งแม้แต่คนทั่วไปก็ทำได้


thepolyflossfactory.com

จากอุดมการณ์ร่วมกันในปี 2011 พวกเขาได้ก่อตั้ง Thepolyflossfactory เป็นโครงการศึกษาโดยทดลองสร้างนวัตกรรมที่จะมาช่วยรีไซเคิลขยะพลาสติกให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ "Cotton Candy Plastic"


thepolyflossfactory.com

แรงบันดาลใจจากเครื่องทำสายไหม
Thepolyflossfactory ได้ศึกษาหลักการใช้แรงหมุนเหวี่ยงกับความร้อนเพื่อช่วยเปลี่ยนขยะให้เป็นเส้นใยและตัวต้นแบบเครื่องรีไซเคิลชิ้นแรกก็มาจากอุปกรณ์ง่าย ๆ ในห้องทดลองอย่างกระป๋องอะลูมิเนียม แต่ด้วยโครงสร้างและการทำหลอมละลายพลาสติกยังทำงานได้ไม่ดีพอ พวกเขาจึงต้องแก้ไขจนค้นพบว่าจริง ๆ แล้วมีขนมชนิดหนึ่งที่ใช้หลักการเดียวกันในการทำขนมและสิ่งนี้เรียกว่า “สายไหม” ขนมรูปร่างคล้ายก้อนเมฆสีสันสดใสรสชาติหวาน ซึ่งการทำสายไหมจะต้องใช้เครื่องจักรทรงวงกลมในการปั่นน้ำตาลให้มีเส้นใยเล็ก ๆ ออกมาด้วยแรงหมุนเหวี่ยงของเครื่องที่น่าสนใจ อีกทั้งตัวเครื่องยังมีขนาดที่สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกและตรงต่อเป้าหมายของพวกเขา จึงเห็นพร้อมกันว่าควรนำมาพัฒนาต่อในโครงการ ทำให้เครื่องทำสายไหมกลายเป็นไอเดียต้นแบบของเครื่องรีไซเคิลขยะพลาสติกตั้งแต่นั้นมา


ภาพเครื่องรีไซเคิลขยะพลาสติกต้นแบบเครื่องแรก
thepolyflossfactory.com

อย่างไรก็ดี ในระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยี พวกเขาก็พบปัญหาในทุกการทดลอง คือขณะเครื่องจักรทำการหลอมละลายพลาสติกจะปล่อยควันพิษออกมา ทางทีมจึงต้องใช้ระยะเวลาหลายปีในการพัฒนาเครื่องต้นแบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนถึงปี 2014 เครื่องรีไซเคิลก็ได้ให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ เมื่อเส้นใยจากพลาสติกที่ถูกปั่นออกมามีความละเอียดเท่ากับไมโครไฟเบอร์ มีความยืดหยุ่นสูง และนำไปใช้งานได้หลากหลาย ต่อมาในปี 2018 Thepolyflossfactory ก็ได้ร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งเพื่อสำรวจศักยภาพเทคโนโลยีของเครื่องจักรในการทำงานร่วมกับผู้อื่น จากจุดนั้นเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าเครื่องจักรของพวกเขาไม่เพียงแต่จะช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในพื้นที่สำคัญกับการเผชิญปัญหาขยะเหล่านี้อีกด้วย

ตลอดการทดลองที่ยาวนานถึง 11 ปี Thepolyflossfactory ได้จัดทำเครื่องต้นแบบไปถึง 8 ตัว และแล้วในปี 2022 พวกเขาก็ได้เครื่องรีไซเคิลในรูปแบบที่ดีที่สุดและตั้งชื่อมันว่า “Ely” โดยมีรูปทรงแนวนอนแตกต่างจากเครื่องเก่าที่มีลักษณะกลม ๆ มีขนาดพอดีสำหรับพื้นที่ในอาคารหรือแหล่งชุมชน มีการใช้เทคโนโลยีทำความร้อนล่วงหน้าด้วยแผงควบคุมไฟฟ้า ทำให้กะปริมาณจำนวนงานได้ มีความสะดวกมากขึ้น ทั้งยังสามารถรีไซเคิลพลาสติก PET หรือ PP ซึ่งเป็นประเภทพลาสติกที่มนุษย์ใช้งานบ่อยในอุตสาหกรรมและพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน


thepolyflossfactory.com

สำหรับการทำงานของเครื่องรีไซเคิล Ely นั้นจะมี 2 ขั้นตอนหลัก ๆ คือ

  1. รวบรวมขยะพลาสติก คัดแยกประเภท นำไปบดเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วทำความสะอาด

  2. นำชิ้นส่วนพลาสติกที่ถูกบดแล้วเข้าเครื่องรีไซเคิล จากนั้นความร้อนจะทำให้พลาสติกละลายและใช้แรงหมุนเหวี่ยงเปลี่ยนเป็นเส้นใย โดยมีตะแกรงสี่เหลี่ยมไว้รองรับเส้นใยที่ถูกพ่นออกมาจากเครื่องเพื่อจับกันเป็นกลุ่มก้อน จากนั้นก็จะได้ Cotton Candy Plastic เป็นวัสดุตั้งต้นสำหรับใช้งานอื่น ๆ ต่อไป


ภาพกระบวนการผลิตพลาสติกเส้นใย
thepolyflossfactory.com

ความนุ่มฟูที่ส่งมอบความอบอุ่น
ด้วยคุณสมบัติของพลาสติกเส้นใยที่มีลักษณะบางเบา มีความละเอียดสูงแต่ยืดหยุ่นดี สามารถนำไปขึ้นรูปเป็นสิ่งของเครื่องใช้ได้ง่าย ทนทานและแข็งแรง และใช้ทำสิ่งทอ เช่น กระเป๋าหรือเสื้อผ้า ได้อย่างสวยงาม อีกทั้งยังเป็นฉนวนกันความร้อนและกันเสียงตามที่อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี Thepolyflossfactory จึงถูกนำไปประยุกต์ใช้กับโครงการต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งต่อความรู้และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในหลายพื้นที่ อาทิ

  • การจัดแสดงนิทรรศการเพื่อให้ความรู้ที่ยุโรปถึง 15 แห่งในระหว่างช่วงปี 2012- 2020 เช่น ลอนดอน ปารีส มิลาน และหนึ่งในนั้นก็มีประเทศฝั่งเอเชียด้วยคือที่เกาหลีใต้

  • การจัดทำเวิร์กช็อปเล็ก ๆ ให้กับเด็ก ๆ ในช่วงปี 2013-2014 เพื่อเรียนรู้เรื่องขยะพลาสติกและการรีไซเคิล นอกจากนี้ยังสอนวิธีนำขยะกลับมาใช้ใหม่ด้วยกระบวนการของ Polyfloss ที่เด็ก ๆ จะได้เห็นว่าขยะพลาสติกถูกรีไซเคิลเป็นเส้นใยได้อย่างไร

  • การให้ความรู้และศึกษาทดลองสร้างสถาปัตยกรรมต่าง ๆ เช่น การสร้างฉนวนกันความร้อนและการแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงรบกวนสำหรับหอพักนักศึกษาในเมืองดอร์เซ็ต ประเทศอังกฤษ เริ่มจากที่ Architectural Association ในปี 2013 ซึ่งได้ใช้วิทยาเขต Hooke Park โดยให้นักศึกษาทดลองใช้พลาสติกเส้นใยของ Thepolyflossfactory ประกอบการสร้างบ้าน โดยพบว่าพลาสติกเส้นใยของพวกเขาเป็นฉนวนกันความร้อนและเสียงได้เป็นอย่างดี จึงส่งต่อความรู้ให้แก่บริษัทรีไซเคิลท้องถิ่นที่มีขยะพลาสติกจำนวนมาก พร้อมทำการติดตั้งเครื่องรีไซเคิลและนำผลผลิตที่ได้ทำเป็นฉนวนต่อไป

  • การนำเทคโนโลยี Polyfloss ของพวกเขามาใช้ในการเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นเส้นใยสำหรับสิ่งทอเพื่อผลิตเสื้อผ้าผ่านโครงการ “Ndao Hanavao” (ปี 2018) ในเมืองอันตานานาริโว ประเทศมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการสร้างนวัตกรรมและสร้างสรรค์ผลงานที่ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน มีทั้งนักออกแบบรับเชิญ ผู้ฝึกงานรุ่นเยาว์ ช่างฝีมือ และวิศวกรท้องถิ่นมาช่วยกันออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ทั้งยังจัดกิจกรรมให้ผู้ที่สนใจได้เข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคนิคการออกแบบ การทอเส้นใย และผลิตชุดส่งออกสู่ตลาดท้องถิ่นอีกด้วย


rubismecenat.fr

  • ในปี 2020 ร่วมจัดทำโครงการ Waste for Warmth ที่ใช้คุณสมบัติของพลาสติกเส้นใยในการผลิตฉนวนกันความร้อนและให้ความอบอุ่นแก่ผู้ลี้ภัยทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย โดยมีการทดสอบภาคสนามแล้วพบว่า ฉนวนที่ทำจากพลาสติกเส้นใยมีความปลอดภัย ใช้งานได้จริง ทั้งยังเพิ่มความอบอุ่นได้ถึง 14 องศาในช่วงฤดูหนาว นอกจากนี้ยังเปลี่ยนเป็นให้ความเย็นได้เมื่อถึงช่วงฤดูร้อน เพราะพลาสติกเส้นใยนั้นถูกตัดเย็บและห่อหุ้มด้วยฟอยล์แผ่นใหญ่จึงสามารถเปลี่ยนอุณหภูมิได้ตามสภาพอากาศ ไม่เพียงแค่นั้น Thepolyflossfactory ยังพัฒนาโครงการต่อเนื่องด้วยการทดลองใช้พลาสติกเส้นใยมาปรับเปลี่ยนให้เป็นโครงสร้างที่แข็งแรงเหมาะสำหรับการทำฉนวนเต็นท์ในสนามกลางแจ้ง ซึ่งทางโครงการได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้พื้นที่ลี้ภัยเป็นแหล่งรีไซเคิลเนื่องจากมีขยะจำนวนมากตามที่พักอาศัย จะได้เป็นการสร้างฉนวนความร้อนให้กับพวกเขาต่อไป นอกจากนี้ยังมอบโอกาสในการทำงานให้กับผู้ลี้ภัยเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย


waste4warmth.org

ทำให้เรื่องขยะเป็นสิ่งที่ทุกคนจัดการได้
ปัจจุบันยังมีอีกหลายประเทศที่ต้องเผชิญกับกองขยะจำนวนมากที่เกิดจากการกำจัดขยะอันไร้ประสิทธิภาพของนายทุนจนทำให้พื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นแหล่งทิ้งขยะ ส่งผลให้ชุมชนเกิดความแออัดและกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ ดังนั้นเป้าหมายของ Thepolyflossfactory จึงต้องการทำให้เรื่องขยะเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงและจัดการได้ พวกเขาจึงจัดบริการให้ความรู้ด้วยการลงพื้นที่ต่าง ๆ และช่วยติดตั้งเครื่องรีไซเคิลขยะพลาสติกตามชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งคอยระบุแหล่งที่มาของขยะพลาสติกและให้แนวทางสำหรับการนำพลาสติกเส้นใยมาออกแบบสร้างเป็นมูลค่าให้กับพวกเขาได้

และหากถามว่าเป้าหมายสูงสุดของ Thepolyflossfactory คืออะไร คำตอบก็คือพวกเขาหวังว่าพลังความคิดที่อยากจะช่วยเปลี่ยนแปลงโลก จะทำให้ผู้คนในหลายพื้นที่หันมาสนใจและตระหนักถึงปัญหาการทิ้งขยะพลาสติกมากขึ้น สำหรับพวกเขาการทำฉนวนความร้อนเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

พวกเขาเชื่อว่า แม้ Cotton Candy Plastic จะเป็นเส้นใยขนาดเล็กแต่เมื่อรวมตัวกันแล้วก็นำพาไปสู่ก้าวที่ใหญ่ขึ้นได้ ทุกวันนี้พวกเขายังคงพัฒนาให้พลาสติกเส้นใยสามารถทำงานร่วมกับสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้นไปอีก เช่น เรื่องสุขาภิบาล การทำบรรจุภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต่าง ๆ

หากในอนาคตเราได้เห็นการส่งต่อพลังเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกผ่านโครงการ "Cotton Candy Plastic" ในประเทศไทยบ้างก็คงจะดีไม่น้อย

ที่มา :
บทความ “What is 'cotton candy' plastic, and how can it help keep refugee shelters warm?” โดย Lilian Manansala และ Emily Newman จาก www.businessinsider.com
บทความ “The Polyfloss Factory team of engineers and designers who want to make a change.” จาก www.thepolyflossfactory.com
บทความ “An Artisanal Way of Recycling Plastic, Inspired by Cotton Candy”โดย Belinda Lanks จาก www.fastcompany.com

เรื่อง : กาญจณี สุคะมะโน