เบื้องหลังการประดิษฐ์ “หลอดสี” ที่ขับเคลื่อนอาทิตย์ร้อนแรงในศิลปะอิมเพรสชันนิสม์
Technology & Innovation

เบื้องหลังการประดิษฐ์ “หลอดสี” ที่ขับเคลื่อนอาทิตย์ร้อนแรงในศิลปะอิมเพรสชันนิสม์

  • 18 Apr 2023
  • 1448

ภาพผืนทะเลยามเช้าและดวงอาทิตย์สีส้มเจิดจรัสสะท้อนผ่านผิวน้ำเป็นภาพเขียนสีน้ำมันอันโด่งดังของโคลด์ โมเนต์ (Claude Monet) ซึ่งเคยจัดแสดงใน "Exhibition of the Impressionists" ณ กรุงปารีส เดือนเมษายน ปี 1874 ได้กลายมาเป็นภาพสำคัญของวงการศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์


Wikimedia Commons

แต่กว่าจะมีอิมเพรสชันนิสม์ในทุกวันนี้ เบื้องหลังคือ “หลอดสี” ที่ประดิษฐ์โดยจอห์น จี. แรนด์ (John G. Rand) เพื่อกักเก็บสีน้ำมันให้ศิลปินสามารถออกไปวาดภาพนอกสตูดิโอได้ โดยที่ใครก็คาดไม่ถึงว่าสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ซับซ้อนอะไรอย่างหลอดสีจะเปลี่ยนขนบเดิม ๆ ของโลกศิลปะไปตลอดกาล

จาก Realism สู่ Impressionism ศิลปะที่ฉีกโลกเก่า
ศิลปะแบบสัจนิยม (Realism) และศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) เป็นการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ปฏิเสธศิลปะแบบจินตนิยม (Romanticism) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งนิยมเขียนภาพจากตำนานปรัมปรา และใช้เทคนิคสี เส้น และแสงเงาที่ทำให้เกิดการสะเทือนอารมณ์

ศิลปะแบบสัจนิยมค่อย ๆ ก่อเกิดขึ้นในราวต้นถึงกลางศตวรรษที่ 19 ในกรุงปารีส โดยเลือกจับภาพความเป็นจริงและชีวิตธรรมดาสามัญของผู้คน ดังนั้นแทนที่จะเป็นภาพนางไม้ตัวเล็ก ๆ เล่นน้ำเริงร่าอยู่ริมลำธารราวกับเทพนิยาย เรากลับเห็นเรื่องราวธรรมดา ๆ ที่ไม่ได้สูงส่งอะไรนัก อย่างภาพคนทำไร่ คนทำเหมือง หรือแม้แต่กลุ่มผู้ไว้อาลัยในงานศพ ดังเช่นผลงานชิ้นเอก Burial at Ornans ของกุสตาฟว์ กูร์แบ (Gustave Courbet) ที่เขียนขึ้นในปี 1851 ถือได้ว่าศิลปะแบบสัจนิยมเป็นศิลปะที่ไม่ได้ชวนฝัน แต่เป็นเพียงการสะท้อนความเย็นชาและแข็งกระด้างของโลกแห่งความเป็นจริงเท่านั้น

ศิลปะแบบสัจนิยมนี้เองเป็นรากฐานสำคัญของ “อิมเพรสชันนิสม์” ในเวลาต่อมา การเคลื่อนไหวทั้งสองเชื่อมโยงศิลปะเข้ากับชีวิตจริง ทำให้เข้าถึงผู้ชมในวงกว้างมากขึ้น และนำแนวคิดสมัยใหม่เกี่ยวกับศิลปะมาปรับใช้ ในขณะที่ศิลปะแนวสัจนิยมมักสะท้อนภาพชีวิตจริงอันมืดมน อึมครึม และน่าหดหู่ โดยเฉพาะภาพคนงานในฟาร์มผู้ทำงานซ้ำซากจำเจโดยได้รับผลตอบแทนเพียงน้อยนิด ทว่าในทางตรงข้าม ศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสต์มักสะท้อนภาพที่อ่อนละมุนกว่าและทั่วไปกว่า ทั้งภาพกิจกรรมยามว่างกลางแจ้ง วัฒนธรรมคาเฟ่ โรงละคร และชีวิตบนท้องถนนอันวุ่นวาย รวมทั้งภาพภูมิทัศน์และสวน จิตรกรแนวสัจนิยมมักวาดรูปที่เน้นรายละเอียด ทุก ๆ เส้นสีเป็นไปเพื่อตอกย้ำความจริงอันหดหู่ของชีวิตผู้ตรากตรำทำงานและทนทุกข์ ขณะที่จิตรกรแนวอิมเพรสชันนิสต์มักจับภาพบรรยากาศและความรู้สึก ณ ห้วงเวลาหนึ่งของผู้คนธรรมดา ผ่านฝีแปรงขนนกอันบางเบา ซึ่งทำให้เกิดลายเส้นเป็นระลอกคลื่นเหมือนแสงส่องผ่าน วิธีนี้ทำให้ศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสต์สามารถสื่อสารกับผู้ชมทั้งในด้านอารมณ์ความรู้สึก และความจริงอันแสนธรรมดาสามัญของคนตัวเล็กตัวน้อยในกรุงปารีส


Michael Barera / Wikimedia Commons

ห้วงเวลาของการเกิด “หลอดสี”
หากย้อนไปถึงที่มาของคำว่า “Impressionism” นั้น คำนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากภาพวาดอาทิตย์ร้อนแรงเหนืออ่าว Le Havre ของโคลด์ โมเนต์ ที่มีชื่อว่า Impression, Sunrise (Impression, soleil levant ในภาษาฝรั่งเศส) วาดขึ้นในปี 1873 และถูกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการ "Exhibition of the Impressionists" ในปี 1874 จนกลายเป็นชื่อเรียกศิลปะแนวใหม่ของศิลปินหัวขบถที่แหวกกรอบศิลปะจินตนิยมในยุคก่อนหน้า นักวิจารณ์ศิลปะนามว่าหลุยส์ เลอรัว (Louis Leroy) ก็มีส่วนให้กำเนิดคำคำนี้ขึ้นมาอย่างไม่ตั้งใจในบทวิจารณ์ศิลปะเชิงเสียดสีซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Le Charivari คำวิจารณ์ของเขาทำให้ภาพวาดของโคลด์ โมเนต์ เริ่มได้รับความสนใจ ทั้งยังทำให้ศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสต์ก้าวข้ามจากศิลปะกระแสรองขึ้นมาเป็นศิลปะกระแสหลักที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา

น่าสนใจที่ว่า ในช่วงแรก จิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยได้เดินเตร็ดเตร่ในที่สาธารณะเพื่อออกไปวาดภาพนัก พวกเขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน ภาพวาดส่วนใหญ่จึงยังคงสะท้อนช่วงเวลาแห่งความสุขอันเงียบสงบที่ประกอบขึ้นเป็นชีวิตปกติ ในบ้านเรือนหรือในสตูดิโอ ผ่านการแต่งแต้มด้วยสีเพียงไม่กี่สี จนกระทั่งเกิดการประดิษฐ์ “หลอดสี” ขึ้นในปี 1841 ที่เปลี่ยนขนบการวาดรูปของศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ไปตลอดกาล


Amy Lavine / Wikimedia Commons

ภาชนะเก็บสีที่ทำให้ศิลปินออกไปวาดภาพ “กลางแจ้ง”
หากไม่มีสิ่งประดิษฐ์อันเรียบง่ายอย่าง “หลอดสี” ศิลปินอิมเพรสชันนิสต์อย่างโคลด์ โมเนต์ คงจะไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานอันเต็มไปด้วยมนตร์ขลังจนกระทั่งปัจจุบันได้เลย จิตรกรอิมเพรสชันนิสต์มักให้ความสำคัญกับสีสันและแสงเงาที่สะท้อนความเคลื่อนไหวของชีวิตในทุกขณะ ทว่าการหลีกหนีจากพื้นที่สตูดิโออันอึดอัดคับแคบและออกไปเขียนภาพ “กลางแจ้ง” นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากสีน้ำมันที่ศิลปินอิมเพรสชันนิสต์นิยมใช้นั้นแห้งเร็วและไม่สามารถปล่อยให้สัมผัสกับอากาศได้

ในเวลานั้น ภาชนะเก็บสีที่ดีที่สุดคือ “กระเพาะปัสสาวะของหมู” จิตรกรจะทิ่มกระเพาะหมูด้วยตะปูเพื่อใส่สีลงไปและมัดปากด้วยเชือก แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะอุดรูได้อย่างสมบูรณ์ กระเพาะปัสสาวะหมูมักจะปริออกและทำให้สีหกเลอะเทอะ ไม่เหมาะกับการนำติดตัวออกจากบ้านสักเท่าไร

ในปี 1841 หลอดสีโลหะถูกประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกโดยจอห์น จี. แรนด์ จิตรกรสีน้ำมันชาวชาร์ลสตัน ที่อาศัยอยู่ในลอนดอน เขาพยายามหาทางไม่ให้สีน้ำมันแห้งก่อนที่จะนำไปใช้งาน โดยคิดค้นวิธีการบรรจุสีน้ำมันใน “หลอด” ซึ่งทำจากดีบุกและปิดผนึกด้วยฝาเกลียว


Wikimedia Commons

“สิ่งประดิษฐ์” ของเขานับเป็นการปฏิวัติวงการศิลปะขณะนั้นอย่างสิ้นเชิง เพราะหลอดสีของแรนด์ช่วยให้สีมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น ไม่รั่วไหล สามารถเปิดและปิดเพื่อใช้งานซ้ำ ๆ ได้


christies.com

หลอดสีพกพาอันโดดเด่นนี้ค่อย ๆ ได้รับการยอมรับจากศิลปินชาวฝรั่งเศสหลายคน ตอบโจทย์จิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ที่ต้องการหลีกหนีจากสตูดิโอ และออกไปหาแรงบันดาลใจโดยตรงจากโลกรอบตัวของพวกเขา ส่งต่อภาพชีวิตผ่านฝีแปรงบนผืนผ้าใบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับภาพแสงธรรมชาติในชั่วขณะต่าง ๆ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกศิลปะที่ศิลปินสามารถผลิตภาพวาดสีน้ำมันในสถานที่จริงได้ ไม่ว่าจะเป็นในสวน ร้านกาแฟ หรือบ้านเรือนตามชนบท


Chrysler Museum of Art

กำเนิดการใช้เม็ดสีใหม่ ๆ
นอกจากหลอดสีจะช่วยให้ศิลปินได้ออกไปวาดรูปกลางแจ้งได้อย่างสะดวกสบายแล้ว ยังช่วยกักเก็บเม็ดสีให้อยู่ในสภาพเดิม เนื่องจากสีน้ำมันใช้เวลาผลิตนานและแห้งเร็ว ก่อนหน้านี้ศิลปินจึงเตรียมสีเพียงไม่กี่สีเพื่อใช้ในระหว่างวาดภาพ แต่หลอดสีของแรนด์ช่วยให้ศิลปินแนวอิมเพรสชันนิสต์สามารถใช้ประโยชน์จากเม็ดสีใหม่ ๆ ได้ เช่น สีเหลืองโครเมียมและสีเขียวมรกต ซึ่งได้รับการคิดค้นโดยนักเคมีอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 ศิลปินสามารถระบายสีสันของแสงแดดในโทนส้มและเหลืองผ่านสีเหลืองโครเมียมที่เริ่มวางขายในปี 1809 ศิลปินอย่างปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) มักใช้สีนี้ร่วมกับสีสังเคราะห์อื่น ๆ เช่น สีน้ำเงินโคบอลต์ สีขาวตะกั่ว สีไวริเดียน ส่วนโมเนต์เองนิยมใช้สีสังเคราะห์อีกชนิดคือ สีส้มแคดเมียมซึ่งได้จากดินเหลืองธรรมชาติหรือรง 

สีสำเร็จรูปและภาชนะที่กักเก็บสีเหล่านี้สำคัญอย่างมากต่อขบวนการศิลปะ โดยขับเคลื่อนให้เหล่าศิลปินสามารถบันทึกชั่วขณะของธรรมชาติได้อย่างครบถ้วนผ่านสีสันที่หลากหลายขึ้น และความเหนียวที่คงเส้นคงวาของสีภายในหลอดยังทำให้ศิลปินสามารถใช้แปรงขนหมูปาดไปมาเพื่อให้เกิดเท็กซ์เจอร์ของภาพจากสีที่บีบออกมาจากหลอดโดยตรง รวมทั้งช่วยให้ศิลปินเกิดความยืดหยุ่นในการใช้สีได้มากยิ่งขึ้น

การปฏิวัติบางครั้งก็เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ไม่ต่างจากการประดิษฐ์หลอดสีของจอห์น จี. แรนด์ ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่ให้วงการศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ จนปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ ถึงกับกล่าวไว้ว่า “หากปราศจากสีสันต่าง ๆ ในหลอดสี ก็คงไม่มีเซซานน์ โมเนต์ ปิกัสโซ และปราศจากอิมเพรสชันนิสต์ด้วย”

ที่มา : บทความ “What Are the Differences Between Realism and Impressionism?” จาก www.thecollector.com
บทความ “Impression Sunrise by Claude Monet” จาก www.impressionists.org
บทความ “Never Underestimate the Power of a Paint Tube” โดย Perry Hurt จาก www.smithsonianmag.com
บทความ “From the archives: the history of the metal paint tube” จาก www.winsornewton.com

เรื่อง : ธัญสินี จิตตมานนท์กุล